xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เทอิสราเอล!? งดออกเสียงไม่วีโต้ ปล่อย UNSC ผ่านมติร้องหยุดยิงในกาซาได้เป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เห็นชอบมติหนึ่งในวันจันทร์ (25 มี.ค.) ที่เรียกร้องให้อิสราเอลและนักรบปาเลสไตน์ฮามาส หยุดยิงในทันที หลังจากสหรัฐฯ งดออกเสียง ท่าทีที่เปลี่ยนไปที่โหมกระพือประเด็นโต้เถียงกับพันธมิตรอย่างอิสราเอล

นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่งดออกเสียง บรรดา 14 ชาติสมาชิกที่เหลือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยกมือผ่านมติดังกล่าว ที่เสนอโดย 10 ชาติสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หลังผลโหวตปรากฏออกมา เสียงปรบมือดังกึกก้องทั่วที่ประชุม "มตินี้ต้องถูกนำไปปฏิบัติ ความล้มเหลวจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้อภัยได้" อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์

นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซาเริ่มขึ้นเมื่อเกือบ 6 เดือนก่อน ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สามารถผ่านมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงได้สำเร็จ เนื่องจากความพยายาม 3 ครั้งที่ผ่านมา ถูกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหามิตรของอิสราเอลและอยู่ในสถานะสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ใช้สิทธิ์วีโต้ (คัดค้าน) มาตลอด

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ส่งเสียงโวยวายว่าท่าทีของสหรัฐฯ ที่ล้มเหลวในการวีโต้มติดังกล่าว เป็นการล่าถอยอย่างชัดเจนจากจุดยืนเดิม และจะบั่นทอนความพยายามทำสงครามของอิสราเอล เช่นเดียวกับความพยายามปล่อยตัวประกันอีกมากกว่า 130 คน ที่ยังคงอยู่ในเงื้อมมือพวกฮามาส

อย่างไรก็ตาม จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "ผมขอเน้นย้ำว่า การโหวตของเราไม่ได้เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายของเรา"

ตามหลังการลงมติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทาง เนทันยาฮู ยกเลิกการเดินทางเยือนวอชิงตัน ซึ่งเดิมทีผู้แทนทางการทูตระดับสูงมีกำหนดหารือกันเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในเมืองราฟาห์ ทางใต้ของฉนวนกาซา บริเวณที่ชาวปาเลสไตน์ราว 1.5 ล้านคน เข้าไปหลบภัย

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม กล่าวว่า อเมริการู้สึกงงงวยต่อการตัดสินใจของอิสราเอล และมองว่ามันเป็นปฏิกิริยาที่เลยเถิดเกินไป

ก่อนหน้า วอชิงตันมักหลีกเลี่ยงใช้คำว่าหยุดยิงในสงครามที่ลากยาวมานานเกือบ 6 เดือนในฉนวนกาซา และใช้สิทธิวีโต้มาตลอด เพื่อปกป้องพันธมิตรอย่างอิสราเอล ในขณะที่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นพวกนักรบฮามาส ที่บุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,200 ราย

แต่เค้าลางความอดอยากในกาซา และท่ามกลางแรงกดดันที่หนักหน่วงขึ้นจากทั่วโลก ซึ่งเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในสงคราม ที่มีชาวปาเลสไตน์ในกาซาถูกสังหารไปแล้วกว่า 32,000 คน ทางสหรัฐฯ จึงงดออกเสียงในวันจันทร์ (25มี.ค.) เปิดทางให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องหยุดยิงในทันทีในช่วงเทศกาลถือศีลอด เดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ซึ่งจะสิ้นสุดในอีก 2 สัปดาห์

กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า "การสังหารหมู่ของฮามาส คือจุดเริ่มต้นของสงครมนี้ มติที่เพิ่งผ่านการโหวตทำมันให้ดูเหมือนว่าสงครามเริ่มต้นด้วยตัวมันเอง ข้อเท็จจริงคือ อิสราเอล ไม่ได้เริ่มสงครามนี้"

พวกฮามาส แสดงความยินดีกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยระบุในถ้อยแถลงว่า "พวกเขาเน้นย้ำจุดยืน พร้อมประสานงานแลกเปลี่ยนเชลยระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายในทันที"

ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ กล่าวว่าอเมริกาสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ "เป้าหมายที่สำคัญยิ่งบางอย่างในมติที่ไม่มีผลผูกพันนี้" แต่บอกว่าวอชิงตันไม่เห็นด้วยกับทุกๆ อย่างในร่างดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ประณามฮามาสด้วยเช่นกัน

ส่วน จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ แสดงความเห็นต่างออกไป โดยชี้ว่ามติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีผลผูกพัน "สำหรับประชาชนหลายล้านคนในกาซา ที่ยังคงติดอยู่ในหล่มแห่งหายนะด้านมนุษยธรรมครั้งเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มตินี้ถ้ามีการบังคับใช้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ มันจะยังคงนำมาซึ่งความหวังที่เฝ้ารอกันมานาน"

เช่นเดียวกับ ฟาร์ฮาน ฮัก รองโฆษกของสหประชาชาติ ที่บอกว่ามติต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือกฎหมายระหว่างประเทศ "ดังนั้นภายใต้ขอบเขตดังกล่าว มันจึงมีผลผูกพันแบบเดียวกับกฎหมายระหว่างประเทศ"

อย่างไรก็ตาม หากในท้ายที่สุดแล้วไม่มีการหยุดยิงในกาซา ก็ดูเหมือนว่าทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะไม่ดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติม

มติล่าสุดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยังได้เน้นย้ำเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายการไหลบ่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา รวมถึงยกระดับการปกป้องพลเรือนในดินแดนแห่งนี้ และเรียกร้องอีกครั้งให้ยกเลิกอุปสรรคที่ขวางกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมด

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องสงครามกาซา มาแล้ว 3 รอบ และเคยงดออกเสียงออกมา 2 รอบ ซึ่งการงดออกเสียง 2 ครั้ง เป็นการเปิดทางให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเห็นชอบมติที่มีเป้าหมายเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซา และข้อเรียกร้องสำหรับขยายกรอบเวลาการหยุดสู้รบ

ขณะเดียวกัน รัสเซีย และจีนก็เคยใช้สิทธิวีโต้มติเกี่ยวกับความขัดแย้งนี้ที่ร่างโดยสหรัฐฯ 2 รอบ ในเดือนตุลาคมและเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) "มันอาจเป็นจุดเปลี่ยน" ริชาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตของปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ กล่าวด้วยอารมณ์ความรู้สึก หลังผลโหวตในวันจันทร์ (25 มี.ค.) "มันอาจนำไปสู่การปกป้องหลายชีวิตในพื้นที่"

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น