ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ จะเปิดเผยแผนหนึ่งในเดือนหน้า สำหรับปรับโครงสร้างกองบัญชาการทหารอเมริกาในญี่ปุ่น ในความเคลื่อนไหวรับมือกับความกังวลร่วมเกี่ยวกับจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สในวันอาทิตย์ (24 มี.ค.)
ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับสถานการณ์ ระบุว่า แผนดังกล่าวจะช่วยเสริมความเข้มแข็งแก่แผนปฏิบัติการและการซ้อมรบทางทหารระหว่างทั้ง 2 ชาติ
ทำเนียบขาวมีกำหนดแถลงเกี่ยวกับแผนการนี้ในวันที่ 10 เมษายน ครั้งที่ ไบเดน จะเป็นเจ้าบ้านต้อนรับ คิชิดะ ในกิจกรรมอย่างเป็นทางการหนึ่ง ซึ่งในนั้นจะรวมถึงงานเลี้ยงแบบรัฐพิธีและการประชุมทางนโยบาย ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทม์ส
ญี่ปุ่นคือพันธมิตรใกล้ชิดและเป็นองค์ประกอบสำคัญในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน เกาหลีเหนือ และประเด็นความมั่นคงของชาติเอเชียอื่นๆ
ทำเนียบขาว สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ยังไม่แสดงความคิดเห็น หลังรอยเตอร์ติดต่อสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับทางรัฐบาลญี่ปุ่น
วอชิงตันได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในความเคลื่อนไหวยกระดับทางทหาร ในขณะที่ความร่วมมือด้านกิจกรรมการทหารและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรหลักๆ ในเอเชียของอเมริกามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
นานกว่า 1 ปีแล้วที่ญี่ปุ่นรับปากจะใช้งานด้านกลาโหมเพิ่มเป็นเท่าตัว สู่ระดับ 2% ของจีดีพี และจัดซื้อขีปนาวุธที่สามารถโจมตีเรือและเป้าหมายต่างๆ ทางภาคพื้นที่อยู่ห่างออกไป 1,000 กิโลเมตร
เมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นเรียกการขยายแสนยานุภาพทางทหารอย่างรวดเร็วของจีนว่าเป็น "ความกังวลใหญ่หลวง" สำหรับญี่ปุ่นและประชาคมนานาชาติ
ก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ญี่ปุ่นแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารโดยพฤตินัย ประจำไต้หวัน ความเคลื่อนไหวยกระดับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง ที่ดูเหมือนจะโหมกระพือความโกรธเคืองแก่จีน ซึ่งอ้างว่าเกาะยุทธศาสตร์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของตนเอง
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังก่อความเดือดดาลแก่จีน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการแสดงความยินดีกับ ไล่ ชิงเต๋อ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน หลังได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้ง
ญี่ปุ่นก็เหมือนประเทศส่วนใหญ่ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน เนื่องจากมันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
แต่ถึงกระนั้น โตเกียวควานหาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวัน สืบเนื่องจากญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทางประวัติศาสตร์กับเกาะแห่งนี้ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เช่นกัน ทั้งนี้อเมริกาคือผู้สนับสนุนรายสำคัญของไต้หวัน และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับจีนเช่นกัน
(ที่มา : รอยเตอร์)