(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Europe dangerously deluded on Ukraine’s lost war
By STEPHEN BRYEN
22/03/2024
พันธมิตรนาโต้ตระหนักกันแล้วว่าไม่สามารถช่วยรักษายูเครนให้รอดพ้นจากความพ่ายแพ้ในสงครามสู้รบกับรัสเซีย และสิ่งที่บรรดาผู้นำของยุโรปหวาดกลัวกันก็คือ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปถัดจากนั้น เมื่อวันเวลาที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวเดินทางมาถึง
ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ในยูเครน ขณะที่นโยบายว่าด้วยสงครามของพวกเขาอยู่ในอาการตุปัดตุเป๋ ยุโรปกำลังใช้วิธีการเข้าถึงปัญหาในลักษณะไม่สะท้อนความเป็นจริงในสมรภูมิมากขึ้นทุกที เวลาเดียวกับที่ความพยายามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเขาเพื่อมุ่งลงโทษรัสเซีย รวมทั้งการกระตุ้นส่งเสริมให้ร่วมด้วยช่วยกันจัดส่งกำลงทหารไปยังยูเครน ก็กลับบังเกิดผลในทางลบ
ตัวอย่างที่ดีมองเห็นได้ชัดของสถานการณ์ที่กล่าวมานี้ คือ เยอรมนี ซึ่งเพิ่งแสดงท่าทีจะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป รวมทั้งเร่งผลักดันเดินหน้าวาระต่อต้านรัสเซียของพวกเขา ทั้งนี้น่าสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ช็อลซ์ ไม่ได้เรียก วลาดิมีร์ ปูติน ว่าเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียอีกต่อไปแล้ว [1] โดยเวลานี้เอ่ยถึงผู้นำรัสเซียผู้นี้เพียงด้วยการเรียกชื่อท้ายของเขา คือ ปูติน เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีจะยังไม่จัดส่งขีปนาวุธทอรัส (Taurus) ที่สามารถยิงไปได้ระยะไกลของตนไปให้ยูเครน [2] โดยที่มีความเป็นห่วงกันว่าถ้าฝ่ายเคียฟได้ไว้ในครอบครองแล้วก็อาจนำไปใช้โจมตีกรุงมอสโก เพราะมาถึงเวลานี้รัสเซียรู้ทั้งหมดแล้วเกี่ยวกับแผนการนี้ สืบเนื่องจากการดักฟังการติดต่อสื่อสาร ฝ่ายรัสเซียได้บอกกับ ช็อลซ์ ไปแล้วว่าพวกเขาจะตอบโต้เอาคืนถ้าเขาส่งอาวุธเหล่านี้ไปให้เคียฟ –ส่วนจะเอาคืนอย่างไรแน่ๆ นั้นพวกเขาปล่อยให้ ช็อลซ์ จินตนาการเอาเอง
พฤติกรรมของ ช็อลซ์ ไม่ได้แตกต่างออกไปจากพวกผู้นำคนอื่นๆ ในยุโรป (คนอื่นๆ นอกเหนือจากผู้นำฮังการี) ตลอดจนพวกผู้นำขององค์การเหนือรัฐบาลยุโรปอย่างอียู พวกเขาทั้งหมดในเวลานี้เข้าใจดีแล้วว่าฝ่ายรัสเซียกำลังเป็นฝ่ายมีชัยในยูเครน ส่วนยูเครนกำลังพังทลายลงมา ทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆ
นี่คือเหตุผลที่ทำไมผู้นำฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง จึงกำลังพยายามอย่างหนักเหลือเกินในการสร้างกลุ่มพันธมิตรกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเพื่อร่วมกันจัดส่งกองทหารของประเทศนาโต้ไปยูเครน [3] ทว่าอย่างน้อยที่สุดจวบจนถึงเวลานี้ พวกเพื่อนๆ ผู้นำยุโรปของเขามีแต่รับฟังแต่ไม่เอาด้วย การขาดไร้แรงสนับสนุนสำหรับการจัดส่งกองทหารยูโรไปยังยูเครนนี้ไม่ใช่เรื่องชวนเซอร์ไพรซ์อะไรเลย
พิจารณาจากทัศนะมุมมองในแง่การปฏิบัติการเท่านั้น ก็จะเห็นกันได้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะเคลื่อนย้ายกองทหารนาโต้ไปยังยูเครน นอกเหนือไปจากพวกที่ถูกจัดส่งไปอยู่ที่นั่นเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พวกเขาอาจจะสามารถเอาทหารจำนวนหนึ่งไปประจำไว้ในภาคตะวันตกของยูเครน ซึ่งเวลานี้ไม่ได้มีการสู้รบกัน แต่พวกเขาก็ทราบดีว่าฝ่ายรัสเซียจะใช้พวกขีปนาวุธที่ยิงได้ไกลๆ รวมทั้งกองกำลังทางอากาศของแดนหมีขาว เข้าทำลายกองทหารเหล่านั้น
ฝ่ายยุโรปแทบไม่มีหนทางอะไรเลยในการนำเอาระบบป้องกันภัยทางอากาศเข้าไปติดตั้งประจำการในยูเครน [4] และถ้าพวกเขาขืนโยกย้ายอาวุธเช่นนี้เข้าไปมากขึ้นเพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองกองทหารของพวกเขาในดินแดนของฝ่ายเคียฟ ภายในดินแดนบ้านเกิดของพวกเขาก็จะตกอยู่ในสภาพเปลือยเปล่าไร้การป้องกัน ทั้งนี้ อันที่จริง พวกเขาก็ได้ยินยอมถอดถอนหรือลดระดับการป้องกันทางอากาศของพวกเขาลงมาจนถึงระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอยู่แล้ว เพื่อให้ความสนับสนุนแก่ยูเครนที่ผ่านมา
กองทัพของชาติต่างๆ ในยุโรปเวลานี้ส่วนใหญ่มีกำลังพลน้อยกว่าที่ควรจะเป็นและก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนน้อยกว่าที่ควรจะได้ พวกกองทัพภาคพื้นดินของยุโรปต่างมีขนาดเล็กๆ [5] และขาดไร้ประสบการณ์ในการสู้รบ การสู้รบในอัฟกานิสถาน, อิรัก, หรือในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ในแอฟริกา ที่กองทหารเหล่านี้เคยผ่านมาในระยะหลังๆ นี้ ไม่ได้เหมือนกันเลยกับการสู้รบกับกองทัพรัสเซียที่มีความทันสมัย ประกอบอาวุธชั้นดี และมีประสบการณ์โชกโชนในการทำสงครามขนาดใหญ่ๆ
น่าสังเกตว่า แผนการทั้งหลายทั้งปวงของฝ่ายตะวันตกในการยังความพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายรัสเซียนั้น จวบจนถึงเวลานี้ล้วนประสบความล้มเหลว เมื่อย้อนกลับไปวิเคราะห์พิจารณาถึงการโต้แย้งกล่าวโทษกันไปมาซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ถึงตอนนี้มันก็เป็นที่ชัดเจนว่า “แผนการ” อย่างที่ว่า คือแฟนตาซีความฝันเฟื่องเท่านั้น
ถ้าหากการรุกตอบโต้เมื่อปีที่แล้วของฝ่ายยูเครน ซึ่งมีทั้งการใช้ฮาร์ดแวร์ระดับเหนือชั้นของฝ่ายตะวันตก, การได้รับความสนับสนุนด้านข่าวกรองทางยุทธวิธีอย่างดีเยี่ยม, การใช้โดรนเป็นจำนวนพันๆ หมื่นๆ ลำ, และการใช้เครื่องกระสุนชนิดไร้ขีดจำกัด แต่แล้วมันกลับยังคงหงายท้องอย่างไม่เป็นท่า อนาคตจึงดูมืดมนมีแต่ความเลวร้าย มีรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ชิ้นหนึ่งที่รั่วไหลออกมา [6] ระบุเอาไว้ว่า ฝ่ายยูเครนมีอัตราผู้บาดเจ็บล้มตาย 7 คนต่อทุกๆ 1 คนของฝ่ายรัสเซีย (หรือกระทั่งเลวร้ายกว่านั้นอีก) นี่ย่อมเป็นสัญญาณอันชัดเจนของสิ่งไม่พึงปรารถนาที่กำลังจะเกิดขึ้นมา
ฝ่ายฝรั่งเศสเข้าอกเข้าใจดีถึงการคาดคำนวณเหล่านี้ ทว่า “แผนการ” ของมาครงยังคงเลวร้ายยิ่งเสียกว่าหลุมพรางที่วางขึ้นมาโดยเพนตากอนเสียอีก มาครงพูดเป็นนัยๆ ถึงการจัดส่งกองทหารฝรั่งเศสจำนวน 20,000 คนไปยังโอเดสซา (Odesa) แต่พวกเขาจะไปทำอะไรตรงนั้นล่ะ?
(หมายเหตุผู้แปล: Odesa หรือบางทีเรียกกันว่า Odessa เป็นแคว้นที่อยู่ทางตอนใต้-ตะวันตก ของยูเครน โดยที่เมืองโอเดสซา ซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นนี้ อยู่ติดทะเลดำ เป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดของยูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Odesa)
ฝ่ายรัสเซียก็กำลังขบคิดเกี่ยวกับเรื่องโอเดสซาอยู่เหมือนกัน และอาจจะรู้สึกว่ามันช่างยั่วยวนใจสำหรับไอเดียในแบบคำพังเพยที่ว่า “ใช้กระสุนนัดเดียวสังหารนกได้ถึง 2 ตัว” ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dimitry Medvedev) ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานของสภาความมั่นคงรัสเซีย โดยที่ในอดีตเคยเป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของแดนหมีขาว กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ดังนี้:
“พวกเราต่างคิดถึงถวิลหาให้โอเดสซาเข้ามาอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซีย สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ของนครแห่งนั้น, ประชาชนผู้พำนักอาศัยที่นั่น, และภาษาที่พวกเขาพูด นี่คือนครของชาวรัสเซียเรา”
กองทหารฝรั่งเศสในโอเดสซาจะไม่ทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการทหารใดๆ เลย นอกเหนือจากกระตุ้นส่งเสริมให้ฝ่ายรัสเซียเข้าโจมตีเมืองนี้เท่านั้น
ฝ่ายรัสเซียไม่ได้เริ่มต้นสงครามยูเครนในสภาพที่มีฟอร์มดีในทางการทหารแต่อย่างใด รวมทั้งยังทำความผิดพลาดทางยุทธวิธีจำนวนมาก ทว่าหลังจากนั้นมาก็ได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งกองทัพรัสเซียมีความเข้มแข็งเหนียวแน่นยิ่งขึ้น และการบังคับบัญชาของพวกเขา โดยอาจจะยกเว้นแต่กองทัพเรือรัสเซียเท่านั้น ก็มีการปรับปรุงดีขึ้นมากในทุกๆ ระดับ
อุตสาหกรรมของรัสเซียเวลานี้กำลังผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นกว่าเก่าและดีขึ้นกว่าเดิม [7] และกำลังแซงหน้าฝ่ายตะวันตกทุกๆ ชาติรวมทั้งสหรัฐฯด้วย ขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯก็กำลังพยายามอย่างกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตในด้านกลาโหม ทว่ามันยังจะต้องใช้เวลาอีกเป็นแรมปี [8] แม้กระทั่งเพียงแค่การผลิตอาวุธขึ้นมาทดแทนพวกซึ่งถูกทำลายไปในสงครามยูเครน
ทุกวันนี้ ยุโรปกำลังถูกครอบงำด้วยความหวาดกลัวรัสเซีย เป็นความกลัวซึ่งไม่ใช่ว่าผิดที่ผิดทางไปเสียทั้งหมด มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) ที่เป็นผู้นำในรัฐสภาของพรรคเนชั่นแนล แรลลี่ (National Rally) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติของฝรั่งเศส กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคมแก่โทรทัศน์ บีเอฟเอ็ม-ทีวี (BFM-TV) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีสว่า รัสเซียไม่น่าที่จะเข้าโจมตียุโรป เพราะพวกเขาขาดกองทัพขนาดใหญ่เพียงพอที่จะกระทำภารกิจดังกล่าว
แต่การประเมินค่าของเธอไม่ได้เป็นที่ยอมรับของพวกซึ่งอยู่ในอำนาจในฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, หรือโปแลนด์ ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ถ้อยคำฟังดูกล้าหาญขนาดไหนกับท่านผู้ชมในประเทศของพวกเขา ความเป็นจริงยังคงมีอยู่ว่า พวกเขาต่างหวาดกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเมื่อยูเครนประสบความพ่ายแพ้
“มีอะไรบางอย่างที่ดิฉันไม่สามารถยอมรับได้เลยในพฤติกรรมของเอมมานูเอล มาครง นั่นคือการที่เขาเอาสงครามมาเล่นการเมืองด้วย เอมมานูเอล มาครง กำลังหาทางสร้างกับดักขึ้นมาเล่นงานพวกปรปักษ์ของเขา เมื่อพิจารณาจากหลักการที่เขาเที่ยวพูดไม่หยุดไม่หย่อนที่ว่า ‘คุณควรต้องเป็นพวกโปรมาครง แล้วถ้าคุณไม่ใช่พวกโปรมาครงแล้ว คุณก็เป็นคนที่โปรปูติน’ เราไม่สามารถเอาสงครามหรือเอาสันติภาพมาเล่นการเมืองอย่างนี้”
--มารีน เลอ เปน
ยุโรปกำลังมีการตอบสนองอย่างไม่ปกติต่อความหวาดกลัวที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเขา แทนที่จะพยายามหาหนทางเพื่อหลีกเลี่ยงจากความหายนะในยูเครน ยุโรปกลับทุ่มเทมากขึ้นอีกให้แก่ความพยายามในการ “ลงโทษ” รัสเซีย ด้วยการเพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นมากขึ้น และด้วยการเตรียมพร้อมสำหรับเข้ายึดสินทรัพย์ของรัสเซียที่พวกเขาอายัดเอาไว้แล้ว และนำเอามาส่งมอบให้แก่เคียฟ [9] พวกยุโรปดูเหมือนอยู่ในอาการหลงลืม หรือกระทั่งไม่แคร์เลยว่า การกระทำต่างๆ ของพวกเขานั้นจะถูกมองอย่างไรในมอสโก
พิจารณากันแบบภาววิสัยตามเนื้อผ้าแล้ว มันไม่มีอะไรมากนักหรอกที่ยุโรปจะสามารถกระทำได้จริงๆ เพื่อรักษายูเครนไม่ให้ประสบความปราชัย มีปัจจัยต่างๆ อยู่มากมายที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเครื่องกระสุนขึ้นมาในยูเครน ทั้งนี้เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ทว่ากลับแทบไม่มีการพูดถึงกันเลยว่ามันไม่มีเครื่องกระสุนอะไรเหลือแล้ว [10] ที่จะจัดส่งไปที่นั่นได้
นอกจากนั้น ปัญหาที่แท้จริงของยูเครนอยู่ที่เรื่องกำลังคน [11] พวกเขาไม่เหลือผู้คนซึ่งมีความยินดีที่จะเข้าเป็นทหารเสียแล้ว ขณะที่ขวัญกำลังใจ [12] ในกองทัพยูเครนก็กำลังเริ่มสั่นคลอนแตกร้าว การมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ายูเครนกำลังพังทลาย แน่นอนทีเดียวว่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเคียฟ
บางส่วนของการดำเนินไปสู่ความล่มสลายดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นในรูปของยุทธวิธีทางทหารประหลาดๆ ที่ฝ่ายยูเครนกำลังนำมาใช้ ซึ่งเข้าข่ายว่าถ้าไม่ใช่ยุทธวิธีมุ่งฆ่าตัวตายก็เป็นยุทธวิธีที่โง่เขลาไร้สติปัญญา การสูญเสียกำลังคนไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ในการเข้าโจมตีอย่างไร้ความหมายที่หมู่บ้านครินคี (Krynky) คือภารกิจแบบฆ่าตัวตาย เฉกเช่นเดียวกับความพยายามปักหลักยึดที่มั่นในเมืองอัฟดิอิฟกา (Avdiivka) เอาไว้ ซึ่งส่งผลทำให้ฝ่ายยูเครนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และฝ่ายรัสเซียประสบชัยชนะครั้งใหญ่
(ครินคี เป็นหมู่บ้านในพื้นที่ของแคว้นเคียร์ซอน Kherson ทางภาคใต้ของยูเครน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ ฝ่ายยูเครนพยายามยึดหมู่บ้านแห่งนี้เอาไว้ โดยดูเหมือนด้วยความหวังที่จะใช้เป็นหัวหาดสำหรับการรุกคืบไปตามพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของฝ่ายรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Krynky)
การโจมตีเล่นงานดินแดนของรัสเซียรอบๆ เบลโกร็อด (Belgorod) ระลอกล่าสุด ก็สามารถจัดเป็นภารกิจมุ่งฆ่าตัวตายซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างสูงลิ่ว ความสนใจของยูเครนดูเหมือนจะอยู่ที่การเข้ายึดอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายรัสเซียที่เก็บเอาไว้ใกล้ๆ เมืองเบลโกร็อด [13] ในสถานที่ซึ่งเรียกกันว่า เบลโกร็อด-22 (Belgorod-22) [14] และการใช้ขีปนาวุธตลอดจนโดรนเข้าโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคอร์ชาตอฟ (Kurchatov nuclear plant) [15]ทั้งสองเรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นการกระทำแบบไร้ความยั้งคิด มันเป็นพฤติกรรมประเภทการปฏิบัติการดิ้นรนอย่างสิ้นหวังที่พวกผู้นำยอมกระทำเมื่อพวกเขาทราบแล้วว่าพวกเขาตกอยู่ในกับดัก
นายกรัฐมนตรีช็อลซ์ของเยอรมนีบอกว่า เขาจะไม่ยอมรับสันติภาพที่ปูตินเป็นผู้บงการให้เกิดขึ้นในยูเครน คำพูดเช่นนี้เปรียบเทียบอย่างคร่าวๆ ก็เหมือนกับ ช็อลซ์ กำลังพูดว่าเขาจะไม่ยอมให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่จุดยืนเช่นนี้ของ ช็อลซ์ ไร้เหตุผลเท่านั้น มันยังเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดอีกด้วย
จุดจบของการสู้รบขัดแย้งในยูเครนที่น่าจะเกิดขึ้นมานี้ จะมาถึงเมื่อกองทัพยูเครนตัดสินใจว่าพวกเขาไม่สามารถทำการสู้รบต่อไปได้แล้ว จากนั้นกองทัพก็จะปฏิเสธไม่รับคำสั่งการจากเคียฟ หรือไม่ก่องทัพก็จะหาทางเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำของรัฐบาลยูเครน
เวลานี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วที่หน่วยทหารบางหน่วยปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำสั่งของหน่วยเหนือ และกระทั่งมีทหารหมวดหนึ่งยอมจนนต่อฝ่ายรัสเซียโดยขอเงื่อนไขว่า ทหารยูเครนหมวดนี้จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเชลยศึกใดๆ กับฝ่ายยูเครน เนื่องจากพวกเขาทราบดีว่าหลังจากกลับไปอยู่กับฝ่ายเคียฟ พวกเขาหากไม่ถูกส่งตัวไปเข้าเรือนจำ ก็จะถูกใช้ให้ประจำอยู่แนวหน้าอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าต้องตายอย่างแน่นอน
ยูเครนกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่จุดที่ว่ากองทัพยูเครน หรือประชาชนชาวยูเครน หรือไม่ก็ทั้งสองฝ่าย ต้องตัดสินใจว่าการยังคงทำสงครามต่อไปนั้นเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติจริงหรือไม่ หรือกระทั่งต้องตอบให้ได้ว่าพวกเขายังสามารถวาดหวังที่จะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่ถ้าหากพวกเขายังคงสู้รบต่อไปอีก
ในระดับหนึ่ง พวกผู้นำของยุโรปต่างทราบดีว่าทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือการมุ่งหน้าไปสู่ที่ไหนในยูเครน ทว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะทำตัวเป็นคนซื่อตรง ไม่ว่าต่อประชาชนของพวกเขาหรือต่อตัวพวกเขาเองก็ตามที ดังนั้นพวกเขาจึงกำลังทุ่มเทเพิ่มความพยายามอย่างน่ากลัวอันตรายในการสนับสนุนสงครามซึ่งประสบความพ่ายแพ้ไปแล้ว
สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
เชิงอรรถ
[1]https://www.hindustantimes.com/videos/world-news/stupid-scholz-russia-rips-germany-after-berlin-vows-not-use-putins-official-title-watch-101710852072646.html
[2]https://www.cnbc.com/2024/03/19/germany-is-refusing-to-send-taurus-missiles-to-ukraine-heres-why.html
[3]https://www.wsws.org/en/articles/2024/03/17/jzyz-m17.html
[4]https://www.csis.org/analysis/revitalizing-european-air-defense
[5]https://www.wsj.com/world/europe/alarm-nato-weak-military-empty-arsenals-europe-a72b23f4
[6] https://apnews.com/article/leaked-documents-classified-russia-ukraine-e351c6613e69bf8d714b03e367543da8
[7]https://www.theguardian.com/world/2024/feb/15/rate-of-russian-military-production-worries-european-war-planners
[8]https://www.washingtonpost.com/national-security/2023/03/08/us-weapons-manufacturing-ukraine/
[9]https://www.wsj.com/world/europe/europe-will-tap-frozen-russian-assets-for-ukraine-arms-germanys-scholz-says-659ed672
[10]https://www.silencercentral.com/blog/everything-to-know-about-the-u-s-ammo-shortage-for-2022/
[11]https://www.washingtonpost.com/world/2024/02/08/ukraine-soldiers-shortage-infantry-russia/
[12]https://www.npr.org/2022/11/22/1134602004/ukraine-soldiers-war-morale
[13] https://www.newsweek.com/russia-belgorod-putin-nuclear-threat-defectors-1880236
[14]https://informnapalm.org/en/belgorod-22-and-the-uragan-stir/
[15] https://www.newsweek.com/russian-nuclear-plant-kursk-drone-attack-1881138