(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Saving America’s future from the Blob
By DAVID P. GOLDMAN
16/02/2024
“เดอะ บล็อบ” หรือพวกชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศในวอชิงตัน ที่เอาแต่ผลักดันให้เดินไปในแนวทางเดิมๆ สร้างความเสียหายถึงขั้นวิบัติหายนะอีกแล้ว จากการทำให้จีนและรัสเซียบาดเจ็บสาหัส ทว่าไม่ถึงขนาดพิการหมดความสามารถที่จะแก้เผ็ดเอาคืนกับสหรัฐฯ
อย่าไปหลงเชื่อเป็นอันขาด สิ่งที่พวกมือระดับดาดๆ ภายในชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศของพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันก็ตามที พูดออกมาเกี่ยวจีนและรัสเซีย กระทั่งพวกเขาเองก็ไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาพูดเหมือนกัน สิ่งที่ “เดอะ บล็อบ” (the Blob) ) (ตามคำจำกัดความที่ เบน โรดส์ Ben Rhodes ผู้ช่วยคนหนึ่งของบารัค โอบามา นำมาใช้ ในเวลากล่าวถึงพวกนี้) ได้เรียนรู้ผ่านจากการกระทำความผิดพลาดอย่างโง่เขลาในทางยุทธศาสตร์มาแล้วรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็คือว่า ถ้าทุกๆ คนร่วมมือกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขากันเองเอาไว้และยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่กับการพูดอะไรให้เหมือนๆ กันเข้าไว้ สมาชิกของพวกเขาก็จะสามารถอยู่รอดผ่านพ้นความหายนะในทางยุทธศาสตร์ไม่ว่ามันจะมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน พร้อมกับที่รักษาอาชีพการงานของพวกเขาเอาไว้ได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
(หมายเหตุผู้แปล - บล็อบ blob หมายถึงหยดเมือก หรือรอยเปื้อน ที่มีรูปร่างลักษณะกลมๆ อ้วนๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเกรดบีแนววิทยาศาสตร์สยองขวัญใช้ชื่อเรื่องว่า The Blob ซึ่งได้รับความนิยมและอิทธิพลพอสมควร โดยที่ เดอะ บล็อบ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเอเลี่ยนจากนอกโลกที่มีรูปร่างเป็นเมือกๆ คล้ายเยลลี แต่สามารถเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยๆ โดยเข้าห่อหุ้มสิ่งมีชีวิตต่างๆ เอาไว้ จากนั้นมันก็มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ รวมทั้งก้าวร้าวขึ้นทุกที ในช่วงทศวรรษ 2010 เดอะ บล็อบ ถูก เบน โรดส์ Ben Rhodes รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา นำมาใช้โดยหมายถึงพวกชนชั้นนำทรงอิทธิพลในแวดวงนโยบายการต่างประเทศในวอชิงตัน ซึ่งยังคงเดินตามแนวทางนโยบายที่ใช้กันเรื่อยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในเวลาต่อมา คำๆ นี้ได้รับความนิยมนำมาพูดกันในหมู่พวกนักการเมืองและสื่อมวลชนอเมริกัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Blob และ https://www.vox.com/22153765/joe-biden-foreign-policy-team-revenge-blob)
หลักการอย่างเดียวกันนี้ยังสามารถนำมาใช้อธิบายได้ว่า ทำไมจึงไม่มีนายแบงก์อเมริกันแม้แต่คนเดียวต้องติดคุกภายหลังเกิดวิกฤตซับไพรม์พังครืน (subprime collapse) เมื่อปี 2008 ซึ่งถือเป็นความฉ้อฉลทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ทางการเงินทั้งหลายทั้งปวง หลักตรรกะของเดอะ บล็อบ นั้น มีอยู่ง่ายๆ ว่า ถ้าพวกคุณตามล่ามุ่งเล่นงานพวกเราคนใดคนหนึ่งแล้ว พวกคุณก็จะต้องตามล่าพวกเราทั้งหมดทุกคน แล้วยังจะเหลือใครมาคอยทำให้สิ่งต่างๆ กลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้งหนึ่งล่ะ?
ไม่ว่ามันถูกหรือมันผิดก็ตามที สำหรับการที่อเมริกาออกไปยังต่างแดนเที่ยวมองหาพวกปีศาจร้ายในมอสโกและในปักกิ่งเพื่อทำลายให้ย่อยยับ แต่วิธีการที่เราใช้ในเรื่องนี้นั้นมันช่างงี่เง่าอย่างน่ารังเกียจเอามากๆ
แมคเคียเวลลี เคยแนะนำเอาไว้แล้วว่า “ถ้าจะทำให้ใครสักคนหนึ่งบาดเจ็บแล้ว มันก็ควรเป็นการบาดเจ็บที่สาหัสร้ายแรงเสียจนกระทั่งไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวการแก้แค้นเอาคืนของเขาเลย”
วอชิงตันได้ทำให้รัสเซียและจีนบาดเจ็บ ทว่าไม่ได้ถึงขั้นทำให้พวกเขาพิการหมดความสามารถ และกลับกลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดการตอบโต้อย่างน่าเศร้าใจต่อเนื่องติดตามมา ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุดจะนำไปสู่สงคราม และที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือจะทำให้สหรัฐฯตกอยู่ฐานะซึ่งที่มั่นทางยุทธศาสตร์มีอันหดเหี้ยนเสียหายไปอย่างใหญ่โตกว้างขวาง
จีนยังคงสามารถผงาดขึ้นมา และรัสเซียก็แสดงให้เห็นการหยุ่นตัวอย่างทรหดเหนียวแน่น แม้ต้องเผชิญกับการถูกจำกัดกีดกั้นทางเทคระลอกแล้วระลอกเล่า, ความสนับสนุนที่พวกชาติพันธมิตรองค์การนาโต้ให้แก่ยูเครนที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 125,000 ล้านดอลลาร์แล้ว, รวมทั้งการใช้ระบบแซงก์ชั่นคว่ำบาตรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยเข้าเล่นงานรัสเซีย ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ แล้ว หนึ่งได้นั้นคือการอายัดทุนสำรองของรัสเซียเอาไว้เป็นมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์
การโฆษณาชวนเชื่อแบบมุ่งป้ายสีให้ร้ายโดยพวกรัฐเดอะ บล็อบทั้งหลาย ที่มุ่งเสนอภาพว่าจีนอยู่ในจุดที่กำลังจะเข้ารุกรานไต้หวันแล้วเพราะพวกผู้นำคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่เกลียดชังประชาธิปไตย และเพราะพวกเขาต้องหันเหความสนใจของพลเมืองของพวกเขาออกมาจากความทุกข์ยากเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ การเที่ยวป่าวร้องอ้างเอาว่า วลาดิมีร์ ปูติน ต้องการฟื้นฟูจักรวรรดิรัสเซียขึ้นมาใหม่ และการที่เขารุกรานยูเครน ก็เนื่องจากยูเครน [1] “เป็นประเทศที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย ตลอดจนมีสิทธิที่จะเลือกชะตากรรมของตนเองมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว”
ในความเป็นจริง จีนกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน ทว่าไม่ได้มีวิกฤตแต่อย่างใด และก็ไม่มีกระแสความไม่พอใจของประชาชนอย่างกว้างขวางอะไรด้วย พวกเขาต้องการที่จะรักษาสถานะเดิมเอาไว้ ด้วยการห้ามปรามไม่ให้ไต้หวันเคลื่อนไหวมุ่งหน้าไปในทางเรียกร้องอธิปไตย ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้ถือได้ว่าถูกปฏิเสธไม่สามารถดำเนินไปได้อยู่แล้ว ด้วยผลลัพธ์ของการเลือกตั้งระดับชาติของไต้หวันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
จีนเป็นคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ที่น่าเกรงขาม แต่แผนการระดับโลกของพวกเขารวมศูนย์อยู่ที่การมีฐานะครอบงำเหนืออุตสาหกรรมสำคัญๆ และตลาดส่งออกหลักๆ ทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นการจัดส่งกำลังทหารออกไปครอบงำทั่วโลก โดยที่แผนการดังกล่าวนี้ของจีนยังคงสามารถเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ฝ่ายอเมริกันลงแรงใช้ความพยายามเพื่อไม่ให้มันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
สำหรับรัสเซียได้ประกาศอย่างชัดเจนมา 1 ทศวรรษแล้วว่า พวกเขาจะไม่อดทนอดกลั้นต่อการที่นาโต้ขยายพรมแดนออกมาจนจรดชายแดนของพวกเขาที่ติดต่อกับยูเครน อย่างที่ทั้ง เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ผู้ล่วงลับ, วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงมอสโก ที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการองค์การซีไอเอ, ตลอดจนคนอื่นๆ ได้เคยเตือนเอาไว้หลายครั้งหลายครา [2]
วลาดิมีร์ ปูติน [3] ได้ประกาศในวันสุกดิบก่อนหน้าการรุกรานยูเครนของเขา ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 เอาไว้ดังนี้ “ถ้าหาก (อาวุธของนาโต้) ถูกนำมาติดตั้งประจำการในยูเครน มันก็จะสามารถโจมตีเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนส่วนยุโรปของรัสเซียทั้งหมด ระยะเวลาที่ขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก (Tomahawk cruise missiles) ต้องใช้ในการบินให้มาถึงมอสโก จะอยู่ในช่วงไม่ถึง 35 นาที, ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) ที่ยิงออกจากเมืองคาร์คอฟ (Kharkov เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ใกล้ๆ ชายแดนรัสเซีย ปัจจุบันฝ่ายตะวันตกนิยมเรียกชื่อเมืองนี้ตามภาษายูเครนว่า คาร์คิฟ Kharkiv) จะใช้เวลา 7 ถึง 8 นาที, และพวกอาวุธโจมตีระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic อัตราความเร็วเท่ากับ 5 เท่าตัวของความเร็วเสียงขึ้นไป) 4 ถึง 8 นาที มันจึงเหมือนกับการมีมีดมาจ่อคอหอย”
คณะบริหารไบเดนเวลานั้นเชื่อว่า เศรษฐกิจของรัสเซียจะพังครืนจากการถูกมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2022 ประธานาธิบดีไบเดน [4] ถึงกับประกาศว่า “เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะถูกตัดหั่นลงมาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง”
แต่เศรษฐกิจของรัสเซียในทุกวันนี้ไม่เพียงใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่เมื่อ 2 ปีก่อนเท่านั้น หากยังมีสามารถเพิ่มการผลิตอาวุธต่างๆ ได้มากขึ้นเป็นสิบเท่าตัว [5], ผลิตกระสุนปืนใหญ่ได้มากขึ้นเป็น 7 เท่าตัว [6] ของที่ฝ่ายตะวันตกทั้งหมดผลิตได้รวมกัน ทั้งนี้ตามการประเมินของฝ่ายข่าวกรองของลิทัวเนีย การบาดเจ็บล้มตายราวๆ 70% ในสงครามที่ยูเครนนั้นเกิดขึ้นจากพวกปืนใหญ่ และรัสเซียมีความได้เปรียบอย่างท่วมท้น รวมทั้งยังมีความล้ำหน้ากว่าในด้านการสนับสนุนทางอากาศเชิงยุทธวิธี และการใช้ขีปนาวุธโจมตีและโดรนโจมตี
รัสเซียยังสามารถผลิตพวกรถถังหลัก (main battle tank) ได้เดือนละ 100 คัน [7] ขณะที่เยอรมนีผลิตได้ปีละ 50 คัน ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากเป็น 5 เท่าตัวของยูเครน รัสเซียจะเป็นผู้ชนะในสงครามที่สู้รบกันแบบสงครามพร่ากำลัง (war of attrition) อย่างในปัจจุบัน ยกเว้นแต่มอสโกเกิดทำความผิดพลาดถึงขั้นหายนะอย่างโง่เขลาบางอย่างบางประการขึ้นมา
รัสเซียทำเช่นนี้ได้อย่างไร? ทั้งจีน, อินเดีย, ตุรกี, และประเทศอื่นๆ ได้มีการปรับเปลี่ยนโปรไฟล์ด้านการค้าและการอุดหนุนทางการเงินเพื่อการค้าของพวกเขา ให้มาสนับสนุนตลาดของรัสเซีย การส่งออกของจีนไปยังรัสเซียสูงขึ้นเกือบเป็น 3 เท่าตัวของระดับที่ทำเอาไว้ในช่วงก่อนสงคราม ขณะที่อินเดียกลายเป็นลูกค้ารายท็อปของน้ำมันรัสเซีย อีกทั้งส่งออกเครื่องจักรกลไปยังรัสเซียมากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว [8] ในระหว่างปี 2023 สำหรับตุรกีและอีกหลายประเทศที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของโซเวียต ก็กลายเป็นช่องทางสำหรับการส่งออกพวกสินค้าที่ไม่มีการรายงานเปิดเผยต่อภายนอกเข้าไปยังรัสเซีย
ยูเครนอยู่ในภาวะขาดแคลนทั้งเครื่องกระสุนสำหรับพวกอาวุธปืนใหญ่ และระบบการป้องกันภัยทางอากาศ [9] ขณะที่รัสเซียมีโดรน ชาฮีด (Shaheed) ที่ออกแบบโดยอิหร่านและมีราคาถูก ซึ่งเวลานี้กำลังเจาะทะลุทะลวงการป้องกันทางอากาศของยูเครน เข้าเล่นงานพวกสถานที่ตั้งทางทหารตลอดจนพวกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดของยูเครน สหรัฐฯนั้นไม่ได้มีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในคลังแสงเพียงพอที่จะจัดหาจัดส่งให้แก่ยูเครนได้อย่างไม่ขาดสาย
รัสเซียกำลังค่อยๆ บรรลุวัตถุประสงค์ที่พวกเขาประกาศเอาไว้ อันได้แก่การทำให้ยูเครนกลายเป็นดินแดนที่ปลอดจากแสนยานุภาพทางทหาร [10] ทรัพยากรด้านกำลังคนของยูเครนกำลังเบาบางลง และฝ่ายทหารกำลังนำเอาทหารวัย 50 ปีเข้าประจำการยังแนวหน้า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ช่วยคนหนึ่งของ (ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์) เซเลนสกี บอกกับนิตยสารไทม์ (Time) [11] ว่า กระทั่งถ้าฝ่ายตะวันตกจัดหาจัดส่งอาวุธให้ยูเครนได้เพิ่มมากขึ้น “เราก็ไม่มีคนที่นำเอาพวกมันไปใช้”
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่มีเรื่องไหนเลยที่ถูกท้าทายคัดค้านว่าไม่จริง ทว่าความกระตือรือร้นในเรื่องสงครามยูเครนของพวกเดอะ บล็อบ กลับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนด้านกลับกับลู่ทางโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในสงครามนี้ การตั้งคำถามว่าการทำสงครามนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องมีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ถูกพิจารณาว่าเป็นกระทำที่สุดแสนอันตราย ดังที่ บิลล์ คริสโตล [12] (Bill Kristol นักคิดนักเขียนชาวอเมริกันที่ถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มอนุรักษนิยมใหม่) เสนอให้สั่งห้าม ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) เดินทางกลับมาสหรัฐฯ หลังจากที่คาร์ลสันไปสัมภาษณ์ปูตินที่มอสโกตามที่กำหนดวางแผนเอาไว้
ภายหลังส่งเสียงท้าทายหมีให้ออกมา แล้วตนเองกลับถูกหมีขย้ำบาดเจ็บ พวกเดอะ บล็อบ ก็ได้เห็นผลพ่วงต่อเนื่องของสิ่งที่พวกเขาอาจจะต้องเผชิญ เยอรมนีนั้นตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากการตัดรอนไม่ซื้อก๊าซราคาถูกจากรัสเซียจนทำให้ต้นทุนด้านพลังงานพุ่งขึ้นสูง และเรตติ้งความยอมรับผลงานของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ช็อลซ์ หล่นลงมาอยู่ที่ 17% ส่วนของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสอยู่ที่ 23%
หลังจากสามารถเรียกร้องเอาความจงรักภักดีแบบไม่มีการตั้งคำถามใดๆ และเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (หรือที่เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า นีเบอลุงเงนทรอยเออ Nibelungentreue) จากพวกชาติพันธมิตรนาโต้ที่ยังรู้สึกลังเล ให้ยอมเดินหน้าทำสงครามกันต่อไปแล้ว วอชิงตันก็ต้องเผชิญกับการก่อกบฎประชานิยมที่นำโดยพรรคฟรีดอม (Freedom Party) ของ เคร์ต วิลเดิร์ส (Geert Wilders) ในเนเธอร์แลนด์ , พรรคอัลเทอร์เนทีฟ เฟือ ดอยต์ชลันด์ (Alternative für Deutschland) ในเยอรมนี, และ พรรคเนชั่นแนล แรลลี (National Rally) ในฝรั่งเศส
ความผิดพลาดขนาดนี้ ควรต้องมีคนถูกตัดหัวกันบ้าง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรต้องมีคนที่กระเด็นหลุดออกจากอาชีพการงานกันบ้าง ทว่ายิ่งกระทำความผิดพลาดด้วยความงี่เง่าเอาไว้อย่างใหญ่โตขึ้นเท่าใด ความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกันของเดอะ บล็อบ ก็ยิ่งแข็งแรงขึ้นเท่านั้น พวกเขากำหนดเรื่องราวที่จะเล่าขึ้นมา และพวกเขาก็จะยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่กับเรื่องราวที่ว่านี้
แน่ใจได้เลยว่า ยูเครน เป็นเพียงฉากอุ่นเครื่องสำหรับเหตุการณ์ทางยุทธศาสตร์ตัวหลักในทศวรรษหน้า นั่นคือการแข่งขันต่อสู้กันของอเมริกากับจีน จีนเวลานี้ซื้อน้ำมันจากรัสเซียมากกว่าซื้อจากซาอุดีอาระเบียแล้ว และส่งออกไปยังรัสเซียเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 3 เท่าตัวเมื่อดูจากตัวเลขของทางการ (โดยที่บางทีอาจจะสูงกว่านั้นมากเมื่อคำนวณส่วนที่ส่งออกผ่านฝ่ายที่สามด้วย) แต่จีนก็ยังคงยืนอยู่เฉยๆ ที่ด้านข้าง ปล่อยให้รัสเซียเป็นฝ่ายที่ต้องหลั่งเลือด
ด้วยศักยภาพความสามารถในด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่สูงกว่าสหรัฐฯ 3 เท่าตัว แล้วยังนำหน้าไปอย่างสำคัญในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ระบบอัตโนมัติ จีนได้ทำให้ตัวเองกลายเป็นป้อมปราการที่อุดมไปด้วยขีปนาวุธต่อสู้เรือชนิดนำวิถีด้วยดาวเทียมจำนวนเป็นพันๆ ลูก, เครื่องบินทันสมัยที่บางทีอาจจะมีจำนวนถึง 1 พันลำ, สมรรถนะด้านการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเกรงขาม, ตลอดจนเครื่องมืออื่นๆ สำหรับการครองฐานะครอบงำเหนือยุทธบริเวณบ้านเกิดของตัวเอง แมคเคนซี อีเกลน (Mackenzie Eaglen) [13] แห่งสถาบันวิสาหกิจอเมริกัน (American Enterprise Institute องค์การรคลังสมองแนวทางอนุรักษนิยมชื่อดัง) เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ดังนี้:
ขณะที่ (สหรัฐฯ) มีระบบจัดเก็บพวกเครื่องกระสุนคัดสรรพิเศษบางอย่างบางประเภทเอาไว้ในคลังแสง แต่สงครามในยูเครนก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ข้อกำหนดว่าด้วยเครื่องกระสุนที่ได้ใช้มาในอดีตนั้น [14] ยึดโยงอยู่กับพวกสมมุติฐานเกี่ยวกับสงครามที่ให้ภาพสดใสดีงามไปหมด ทว่าประมาณการต่ำเกินไปอย่างมหาศาลถึงปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการทำสงครามสมัยใหม่ ตามข้อมูลของบริษัท RTX ผู้รับเหมารับจ้างรายหลักในการผลิตขีปนาวุธ SM-6 สต็อกเก็บ SM-6 ที่มีกันอยู่เวลานี้มีขีปนาวุธประเภทนี้ในระดับมากกว่า 500 ลูก [15] นี่ไม่ได้ใกล้เคลียงระดับที่เพียงพอเลย สำหรับการสู้รบขัดแย้งซึ่งยาวนานผิดธรรมดากับปรปักษ์ซึ่งมีชื่อชั้นพอฟัดพอเหวี่ยงกัน หรือเป็นไปได้ว่ากระทั่งกับปรปักษ์ที่ต่ำชั้นกว่าไม่ว่ารายใดด้วยซ้ำ
ปักกิ่งตระหนักดีถึงจุดอ่อนต่างๆ ของเรา ดังมีหลักฐานจากการที่จีนเร่งรัดทั้งการขยายและการลงทุน [16] ในด้านกองกำลังขีปนาวุธของพวกเขา ทั้งนี้กองกำลังขีปนาวุธประเภทตั้งฐานอยู่ทางภาคพื้นดินของจีนเติบโตขึ้นมาเกือบเป็น 2 เท่าตัวทีเดียว [17] ในช่วงทศวรรษที่แล้ว โดยที่เพนตากอนประมาณการเอาไว้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสต็อกขีปนาวุธเป็นพันๆ ลูก [18] เก็บสำรองเอาไว้ ทั้งหมดเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่จะระดมยิงขีปนาวุธออกมาอย่างท่วมท้น [19] เพื่อเอาชนะประดาเรือรบสหรัฐฯในการสู้รบขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นมา
การปะทะกันแบบประปรายที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างพวกนักรบจรยุทธ์กลุ่มฮูตี (Houthi guerrillas) กับกองทัพเรือสหรัฐฯในทะเลแดง เป็นเสมือนการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งเปิดทางให้ปักกิ่งสามารถเฝ้าชมและประเมินสมรรถนะด้านการต่อสู้ขีปนาวุธของสหรัฐฯ และผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้เราต้องรู้สึกกังวลกันทีเดียว เรือพิฆาต ยูเอสเอส เกรฟลี (USS Gravely) [20] ต้องหันมาพึ่งพาระบบปืนยิงเร็วอัตโนมัติ ฟาลังซ์ แกตลิง (Phalanx Gatling guns) ของตน เพื่อทำลายขีปนาวุธร่อนลูกหนึ่งที่กำลังบินตรงเข้ามา โดยเหลือเวลาเพียงแค่ 4 วินาทีก่อนที่มันจะถึงตัวเรือ เรื่องนี้ส่อให้เห็นว่าระบบขีปนาวุธต่างๆ ของเรือล้มเหลว ไม่สามารถสกัดกั้นอาวุธที่โจมตีเข้ามาได้สำเร็จตั้งแต่ก่อนหน้านั้น
เรือพิฆาตอเมริกันลำหนึ่งๆ บรรทุกขีปนาวุธต่อสู้เรือประมาณ 100 ลูก จีนอวดอ้างว่ามีโรงงานอัตโนมัติที่สามารถผลิตขีปนาวุธร่อนได้ 1,000 ลูกต่อวัน [21] เรื่องนี้ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ยืนยัน แต่ว่าจีนมีโรงงานหลายแห่งซึ่งสามารถประกอบยานยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่า 1,000 คันในเวลา 1 วันแน่ๆ ผมเคยไปเยี่ยมชมโรงงานจีนแห่งหนึ่งซึ่งผลิตสถานีฐานของระบบสื่อสาร 5จี ได้ 2,400 ชุดต่อวันโดยใช้คนงานเพียงแค่ 45 คน
กองทัพเรือสหรัฐฯอยู่ในสภาพที่มีกำลังอาวุธด้อยกว่าอย่างห่างไกลเหลือเกินในทะเลจีนใต้ พวกนักยุทธศาสตร์อเมริกันพากันป่าวร้องฉากทัศน์สงครามแบบที่กองกำลังต่อต้านของไต้หวันเข้าสู้รบต้านทานกองทัพจีนซึ่งดำเนินการยกพลขึ้นบกข้ามช่องแคบไต้หวันที่มีความกว้าง 70 ไมล์ในสไตล์ของวันดีเดย์ (D-Day) ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายจีนน่ะไม่ได้โง่เขลาเบาปัญญาจนกระทั่งส่งกองเรือซึ่งเคลื่อนที่ได้อย่างเชื่องช้ามาต่อกรกับไต้หวันหรอก พวกเขาไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน ในเมื่อพวกเขามีศักยภาพถึงขนาดที่จะจมอะไรก็ตามที่ลอยน้ำได้ ภายในรัศมี 1,000 ไมล์รอบๆ ตัวเกาะ
ถือว่าเป็นโชคดี การประจันหน้ากันในเรื่องไต้หวัน ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาแล้ว ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งส่งพรรคก้าวหน้าประชาธิปไตย (Democratic Progressive Party) ให้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีกสมัย ทว่าโดยได้คะแนนเสียง 40% ไม่ใช่ระดับเกินกึ่งหนึ่งเฉกเช่นการเลือกตั้งคราวก่อนที่ได้ไป 57% เวลาเดียวกัน พรรคประชาชน (People’s Party) ที่สามารถผงาดขึ้นมาเป็นพรรคชั้นนำอีกพรรคหนึ่ง ก็ทำหน้าที่รักษาดุลย์อำนาจเอาไว้ โดยผู้นำของพรรคนี้ได้ครองตำแหน่งประธานรัฐสภาของไต้หวัน ปักกิ่งดูเหมือนพึงพอใจกับสภาพยันกันทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาคราวนี้
แข่งขันเพื่อก้าวผงาด
เรื่องเล่าที่นิยมใช้กันทั่วไปในเดอะ บล็อบ ก็คือว่า จีนน่าจะเข้าโจมตีไต้หวันในเร็วๆ นี้ เนื่องจาก สี จิ้นผิง มีความหลงใหลคลั่งไคล้การแสวงหาเกียรติยศส่วนตัว รวมทั้งเพราะการทำเช่นนี้จะช่วยหันเหความสนใจออกไปจากพวกปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฮัล แบรนด์ส (Hal Brands) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพคินส์ (Johns Hopkins University) และ ไมเคิล เบกคลีย์ (Michael Beckley) แห่งสถาบันวิสาหกิจอเมริกัน (American Enterprise Institute) เขียน [22] ถึงจีนเอาไว้ว่า “เงื่อนไขต่างๆ จำนวนมากที่ครั้งหนึ่งสามารถทำให้เกิดการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ เวลานี้อาจจะกำลังกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการไหลรูดลงมาอย่างรุนแรง”
แน่นอนทีเดียวว่า จีนมีปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ จำนวนหนึ่ง ทว่าสิ่งที่พวกเขามีคือพวกปัญหาเศรษฐกิจระดับไฮคลาส เมื่อตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นการปฏิรูปด้านต่างๆ ในปี 1979 ซึ่งทำให้ขนาดเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้น 16 เท่าตัวถ้าคำนวณกันด้วยตัวเลขแท้จริง (real terms นั่นคือตัดปัจจัยผันแปรด้านอัตราเงินเฟ้อออกไป) ทั้งนี้ตามการประมาณการของธนาคารโลก มีชาวจีนเพียง 3% แค่นั้นที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทุกวันนี้ ตัวเลขนี้พุ่งพรวดขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63% สูงพอๆ กับเยอรมนี
จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อทำการงานอาชีพเป็นวิศวกรและนักวิทยาการคอมพิวเตอร์จำนวนราวๆ 1.2 ล้านคนในแต่ละปี เปรียบเทียบกับสหรัฐฯซึ่งมีอยู่ในระดับเกิน 200,000 คนเล็กน้อย พวกมหาวิทยาลัยของจีน ตามการสำรวจในระดับระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ได้ผลระบุออกมาว่า อยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงระดับเดียวกันกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ
เมื่อปี 1979 ประชากรของจีนเพียงแค่ 16% เท่านั้นที่พำนักอาศัยกันอยู่ในเขตตัวเมือง เปรียบเทียบกับทุกวันนี้ที่มี 64% ทั้งนี้ จีนได้เคลื่อนย้ายประชาชน 700 ล้านคนจากพื้นที่ชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง และเปลี่ยนชาวนาที่ทำมาหากินแบบพอยังชีพให้กลายเป็นคนงานทางอุตสาหกรรม เหล่านี้กลายเป็นแรงขับดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในตัวเมืองพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ครัวเรือนต่างๆ ของจีนสั่งสมความมั่งคั่งของพวกเขาราว 70% เอาไว้ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ และราคาของที่อยู่อาศัยในเมืองหลักระดับ 1 (Tier 1 cities) เวลานี้ขึ้นสูงลิบลิ่วจนคนทั่วไปไม่อาจไขว่คว้า การปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เคลื่อนออกจากอสังหาริมทรัพย์มาเป็นอุตสาหกรรม เป็นกิจการที่สร้างความว้าวุ่นใจและความวุ่นวายยุ่งเหยิง และที่ผ่านมาพวกผู้มีอำนาจหน้าที่ชาวจีนได้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ด้วยความกระด้างและเข้มงวดอย่างเห็นได้ชัด ภาคที่อยู่อาศัยของจีนเวลานี้อยู่ในภาวะเจ็บปวดชนิดชวนให้กังวลใจ ทว่านี่ยังคงถือเป็นส่วนที่น่าสนใจน้อยที่สุดของเรื่องราวเท่านั้น
ในภาวะที่กำลังแรงงานของประเทศกำลังลดน้อยเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จีนจำเป็นต้องยกระดับผลิตภาพโดยเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ ด้วยการหันไปพึ่งพาเครื่องจักรแทนแรงคน และจัดการส่งออกพวกอุตสาหกรรมเน้นใช้แรงงานของตนไปยังประเทศอื่นๆ ที่ประชากรอยู่ในวัยหนุ่มสาวมากกว่า พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสของการลงทุนจากอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อดูดซับการอพยพของผู้คนมากมายมหาศาลจากเขตชนบท) มาสู่ด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งต้องยกระดับอุตสาหกรรมของตนเองอีกด้วย
บางคนอาจบอกว่าจีนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ความจริงแล้วจีนก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเสมอมา จีนเป็นชาติที่มีความโดดเด่นแตกต่างออกไปอย่างชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ในโลก เศรษฐกิจของจีนตั้งแต่โบราณกาลนั้นสร้างขึ้นบนพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซี ซึ่งเรียกร้องต้องการอยู่เรื่อยๆ ให้ต้องมีการลงทุนอย่างมโหฬารในด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการชลประทาน, การควบคุมน้ำท่วม, และการคมนาคมขนส่ง
ทุกวันนี้จีนกำลังระดมรวบรวมทรัพยากรต่างๆ ของพวกเขาเข้าสู่ความพยายามอย่างใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเอาชนะความพยายามของวอชิงตันที่จะจำกัดกีดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้า ราคาของการบรรลุความเป็นอิสระทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ขณะต้องเผชิญหน้ากับการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯเช่นนี้ อยู่ในระดับสูงลิบทีเดียว เวลานี้จีนกำลังสร้างโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมา 22 แห่ง และกำลังขยายแห่งอื่นๆ ไปด้วย โดยต้องใช้จ่ายในระดับอาจจะสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ คำนวณกันอย่างหยาบๆ ก็เท่ากับยอดการใช้จ่ายด้านการลงทุนรายปี (annual CapEx) ของพวกบริษัทในดัชนีหลักทรัพย์ CSI 300 ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (เปรียบเทียบได้อย่างหยาบๆ กับดัชนี S&P 500 ของอเมริกา)
ถึงแม้ปักกิ่งให้การอุดหนุนการผลิตชิปอย่างชนิดมากมาย แต่กระนั้นต้นทุนของการลอกเลียนส่วนประกอบใหญ่ๆ ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจีน ก็จะยังสามารถท้าทายสร้างปัญหาให้แก่ผลกำไรสุดท้ายของบริษัทต่างๆ ในวงการนี้ได้อยู่ดี
จีนสร้างความตื่นตะลึงให้แก่พวกผู้วางนโยบายชาวอเมริกันมาแล้วในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อ หัวเว่ย เปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ที่ได้ใช้พลังจากชิปขนาด 7 นาโนเมตรซึ่งผลิตขึ้นในแดนมังกรเองแถมยังสามารถใช้ในการสื่อสารระดับ 5จี ได้เสียด้วย มันจึงกลายเป็นเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) ถึงขั้นออกปากว่า “เป็นเรื่องที่รบกวนใจอย่างเหลือเชื่อ” ตามรายงานข่าวหลายกระแส [23] จีนยังกำลังอยู่ในจุดที่จะสามารถผลิตชิป 5 นาโนเมตรได้อีกด้วย นี่จะเท่ากับล้าหลังเพียงแค่เจเนอเรชั่นเดียวจากชิปชั้นดีที่สุดซึ่งไต้หวันและเกาหลีใต้สามารถทำได้ในตอนนี้
พวกผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันไม่คิดว่าเรื่องเช่นนี้จะเป็นไปได้ เพราะมันไม่เป็นการประหยัดเอาเลยที่จะใช้เครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการพิมพ์ลายบนแผ่นชิป (lithography equipment) รุ่นเก่าๆ มาทำชิประดับไฮเอนด์ แต่จีนตอนนี้ไม่ได้สนใจเรื่องหลักเศรษฐศาสตร์ เพราะผลกระทบภายนอกที่จะเกิดจากการผลิตชิปไฮเอนด์ (ซึ่งสามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในทางอุตสาหกรรมการผลิต, โลจิสติกส์, และในการบริการต่างๆ) มีน้ำหนักเหนือกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมา
สงครามเทคที่อเมริกาทำกับจีนนั้นประสบความสำเร็จในการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายขึ้นมาอย่างสำคัญทีเดียวกับเศรษฐกิจของจีน โดยตามการคาดเดาของผมนั้น มันกำลังตัดลดอัตราการเติบโตรายปีของจีดีพีจีนลงมาระหว่าง 0.5 ถึง 1% ทว่านี่เพียงแค่ทำให้พลังอันมหึมามหาศาลของจีนชะลอตัวลง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งมันได้
ถึงแม้ต้องเสียต้นทุนค่าใช้จ่ายเช่นนี้ จีนก็ยังคงก้าวกระโดดแซงญี่ปุ่นและเยอรมนีได้สำเร็จจนกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนั้นพวกเขายังคงเป็นผู้ผลิตที่อยู่ในฐานะทรงอำนาจอิทธิพลเหนือคนอื่นๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม และแผงโซล่าเซลล์ ตลอดจนทางด้านเหล็กกล้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ การลงทุนอย่างมโหฬารของพวกเขาในด้านโรงงานทำเซมิคอนดักเตอร์ น่าที่จะทำให้จีนอยู่ในฐานะทรงอิทธิพลเหนือกว่าใครๆ ในภาคส่วนที่เรียกกันว่า ชิปรุ่นเก่า (legacy chips) ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 95% ของตลาดโลก
เวลาเดียวกันนี้ จีนได้เพิ่มการส่งออกไปยังซีกโลกใต้ (Global South) เป็นสองเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2017 และปัจจุบันพวกเขาส่งออกไปยังพวกประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มากยิ่งกว่าที่ส่งไปยังตลาดพัฒนาแล้วทั้งหลายรวมกันเสียอีก แรงขับดันด้านการส่งออกของพวกเขานี้ได้รับการหนุนหลังจากเม็ดเงินสินเชื่อและการลงทุนราวๆ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) พวกเขากำลังสร้างการสื่อสารด้วยบรอดแบนด์ดิจิตอลขึ้นมาในตลอดทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนา พร้อมด้วยผลทางการเปลี่ยนผ่าน (transformative effects) [24] ที่ติดตามมา ซึ่งจะล็อกประเทศจำนวนมากให้เข้าไปอยู่ในเขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน
ความพยายามของอเมริกาที่จะ “หย่าร้างตัดขาดความเสี่ยง” (de-risk) ของการต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากประเทศจีน มีแต่เพียงทำให้กระแสไหลเวียนของการค้ามายังสหรัฐฯ ถูกหักเหออกไปอ้อมผ่านพวกประเทศคนกลางซึ่งแท้จริงแล้วยังคงพึ่งพาอาศัยจีนอยู่ดี อย่างที่คณะนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) [25] เขียนเอาไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า “พวกประเทศซึ่งเข้าแทนที่จีน มีความโน้มเอียงที่จะถูกบูรณาการเข้าไปอยู่ในสายโซ่อุปทานของจีนอย่างล้ำลึก และกำลังมีประสบการณ์กับอัตราการนำเข้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพวกอุตสาหกรรมทางยุทธศาสตร์ทั้งหลาย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อให้สามารถแทนที่จีนในด้านการเป็นผู้ส่งออก ประเทศต่างๆ ต้องยินยอมรับเอาสายโซ่อุปทานของจีน”
การขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีนของอเมริกา กำลังทำให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย (และในบางระดับก็รวมไปถึงพวกประเทศละตินอเมริกาด้วย) ทั้งหมดต้องพึ่งพาอาศัยสายโซ่อุปทานของจีนเพิ่มมากขึ้น
ทัศนะจากปักกิ่งที่มองสหรัฐฯนั้นเต็มไปด้วยความร้ายกาจถมึงทึง พวกผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทราบดีว่า จีนจะต้องเปลี่ยนผ่านตัวเองไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องลำบากเดือดร้อนจากผลพ่วงต่อเนื่องที่มีอันตรายยิ่งของภาวะที่ประชากรจีนสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาของจีนแล้ว ความพยายามของอเมริกาที่มุ่งจำกัดกีดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ระดับไฮเอนด์ ซึ่งเป็นรากฐานพื้นฐานของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) มันก็คือความพยายามที่จะทำลายประเทศจีน ไม่ใช่แค่การจำกัดกีดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าถึงเทคโนโลยีทางทหารเท่านั้น
ด้วยการทำให้จีนบาดเจ็บแต่ไม่ถึงขั้นทำให้พวกเขาพิกลพิการไร้ความสามารถ วอชิงตันจึงกำลังให้แรงจูงใจแก่จีนในการบ่อนทำลายผลประโยชน์ต่างๆ ของอเมริกัน ณ ที่ใดก็ตามที่มีช่องทางกระทำได้ เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนในตะวันออกกลาง ซึ่งจีนมองเห็นโอกาสในการทำให้สหรัฐฯ “เหน็ดเหนื่อยหมดแรง” อย่างที่ศาสตราจารย์ หลิว จงหมิน (Liu Zhongmin) [26] พูดเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์
การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงด้วยความงี่เง่าของพวกเดอะ บล็อบ นั้น เป็นไปอย่างครอบคลุมรอบด้านเหลือเกิน, เป็นไปอย่างละเอียดถี่ยิบเหลือเกิน, และก็สร้างความเสียหายอย่างมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งไม่มีหนทางซ่อมแซมระยะสั้นสำหรับใช้แก้ไขความเสียหายเหล่านี้ ซึ่งสหรัฐฯนั่นเองจะต้องประสบความลำบากทุกข์ยากจากผลพ่วงต่อเนื่องที่จะติดตามมา อย่างไรก็ตาม นี่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าฐานะความเป็นหนึ่งของอเมริกันบนเวทีโลกจะเป็นอันถึงคราวต้องสิ้นสุดลง การสูญเสียเวียดนามได้นำมาซึ่งการถูกตีกระหน่ำใส่อย่างร้ายแรงชนิดวิบัติหายนะแก่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของอเมริกัน มันไปจนถึงจุดที่ว่าพวกชนชั้นนำทั้งของสหรัฐฯและของยุโรปจำนวนมากทีเดียวเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะกลายเป็นผู้ชนะในสงครามเย็น
ทว่าสิ่งนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นมา เพราะอเมริกาตอบโต้ความเพลี่ยงพล้ำทางยุทธศาสตร์ของตนเองด้วยการประดิษฐ์สร้างกลวิธีในการทำศึกสงครามขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะทำสิ่งที่ว่านี้ เราก็ได้ประดิษฐ์สร้างยุคดิจิตอล (Digital Age) ขึ้น ในปี 1973 เทคโนโลยีทางการทหารของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลของการตัดสินชี้ขาดอย่างด้านการป้องกันภัยทางอากาศ ถือว่าดีเยี่ยมเป็นเลิศที่สุดในโลก แต่เมื่อถึงปี 1982 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์การบิน (avionics) ของอเมริกัน และพวกอาวุธอัจฉริยะทั้งหลายก็สามารถพลิกสถานการณ์ให้ตัวเองกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ศักยภาพในด้านนวัตกรรมของอเมริกายังคงเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา
เราจำเป็นที่จะต้องทบทวนอย่างเคร่งครัดจริงจังเกี่ยวกับฐานะของเรา และแก้ไขความผิดพลาดทางนโยบายต่างๆ ซึ่งปล่อยให้เราไม่เหลือศักยภาพสำหรับการผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ให้เพียงพอแก่การจัดส่งให้พวกพันธมิตรของเรา ทั้งนี้ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการทำขีปนาวุธระดับไฮเปอร์โซนิก เราจำเป็นต้องมีพลังขับดันทางด้านกลาโหมสำหรับการวิจัยและการพัฒนาทางด้านไฮเทค และสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตทางด้านไฮเทค ในระดับเดียวกับความมุ่งมั่นที่จะไปยังดวงจันทร์ของยุค (ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ.) เคนเนดี้ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างแผนการริเริ่มการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative หรือที่มีสมญาว่า โปรแกรม สตาร์ วอร์) ในยุค (ประธานาธิบดีโรนัลด์ ) เรแกน
ผมเคยเสนอแผนการสำหรับการบรรลุสิ่งนี้เอาไว้เอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งจัดทำให้แก่สถาบันแคร์มองต์ (Claremont Institute) เมื่อปี 2023 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Restoring American Manufacturing: A Practical Guide (ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตอเมริกันขึ้นมาใหม่: คำแนะนำชี้แนวทางในทางปฏิบัติ) [27] ผมมีความเชื่อมั่นว่านี่คือนโยบายที่ถูกต้อง เพราะเราได้เคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว 3 ครั้ง 3 ครา นั่นคือ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, ระหว่างช่วงทศวรรษ 1960, และระหว่างช่วงทศวรรษ 1980
สิ่งที่เราเคยทำสำเร็จมาก่อนแล้ว เราสามารถทำให้สำเร็จขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการผงาดขึ้นมาของจีน แต่เราสามารถผงาดขึ้นมาด้วยความรวดเร็วยิ่งกว่า
เดวิด พี. โกลด์แมน เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยของเอเชียไทมส์ และเป็นนักวิจัยประจำวอชิงตันของสถาบันแคร์มองต์ บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดย ดิ อเมริกัน มายด์ (The American Mind) [28] สิ่งพิมพ์ของสถาบันแคลร์มองต์
เชิงอรรถ
[1]https://x.com/BorisJohnson/status/1496928461717327906?s=20
[2] https://theconversation.com/ukraine-war-follows-decades-of-warnings-that-nato-expansion-into-eastern-europe-could-provoke-russia-177999
[3]https://www.theamericanconservative.com/hawks-or-pigeons-in-a-bad-mood/
[4]https://twitter.com/POTUS/status/1507842574865866763
[5]https://www.reuters.com/world/europe/russia-ramps-up-output-some-military-hardware-by-more-than-tenfold-state-company-2023-09-19/
[6]https://apa.az/en/america/russias-current-ammunition-production-is-seven-times-greater-than-that-of-the-west-new-york-times-411719
[7]https://twitter.com/DefenceHQ/status/1751898118436655191?s=20
[8]https://www.reuters.com/world/india/rupee-payments-double-value-indias-engineering-exports-russia-2024-01-31/
[9] https://apnews.com/article/russia-ukraine-war-air-defense-missiles-95cf7f351d05c0c4b704d9fe8a0c5f39
[10]https://www.reuters.com/world/europe/putin-tells-russians-war-ukraine-will-go-unless-kyiv-does-deal-2023-12-14/
[11] https://i0.wp.com/asiatimes.com/wp-content/uploads/2023/06/AT-logo-wide-banner-1.png?w=706&ssl=1
[12]https://twitter.com/BillKristol/status/1753949177023795467
[13] https://www.aei.org/op-eds/the-u-s-navy-doesnt-have-enough-air-defense-missiles/
[14] https://www.aei.org/foreign-and-defense-policy/wars-of-mass-and-attrition-demand-a-military-sized-for-three-theaters/
[15] https://www.rtx.com/raytheon/what-we-do/sea/sm-6-missile#:~:text=The%20SM%2D6%20is%20deployable,Redstone%20Arsenal%20in%20Huntsville%2C%20Alabama.
[16] https://news.usni.org/2021/01/27/u-s-admiral-china-can-keep-pouring-money-into-anti-ship-ballistic-missiles
[17]https://chinapower.csis.org/conventional-missiles/
[18]https://media.defense.gov/2023/Oct/19/2003323409/-1/-1/1/2023-MILITARY-AND-SECURITY-DEVELOPMENTS-INVOLVING-THE-PEOPLES-REPUBLIC-OF-CHINA.PDF#page=85
[19] https://cimsec.org/fighting-dmo-pt-8-chinas-anti-ship-firepower-and-mass-firing-schemes/
[20]https://www.cnn.com/2024/02/02/middleeast/phalanx-gun-last-line-of-defense-us-navy-intl-hnk-ml/index.html
[21]https://www.youtube.com/watch?v=RoObgUTsZ0M&t=274s
[22] https://www.aei.org/op-eds/how-primed-for-war-is-china/
[23]https://www.ft.com/content/b5e0dba3-689f-4d0e-88f6-673ff4452977
[24]https://americanaffairsjournal.org/2023/11/broadband-business-formation-and-economic-growth-in-the-global-south-assessing-chinas-impact/
[25]https://openknowledge.worldbank.org/entities/publication/4edfe909-2761-4b03-b8a7-153650da7cf6
[26]https://www.guancha.cn/LiuZhongMin/2024_02_06_724634_s.shtml
[27] https://dc.claremont.org/restoring-american-manufacturing-a-practical-guide/
[28]https://americanmind.org/salvo/saving-americas-future-from-the-blob/