จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงของอิตาลี เรียกเงินชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 ยูโร (ราว 3.9 ล้านบาท) จากผู้ชาย 2 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าตัดต่อภาพดิจิทัลใส่ใบหน้าของเธอเข้าไปในคลิปวิดีโอลามกอนาจาร ซึ่งมีผู้เข้าชมบนโลกออนไลน์หลายล้านวิว
สำนักข่าวอันซาของอิตาลี รายงานว่า ศาลแห่งหนึ่งในเมืองซาร์ดิเนีย เมื่อวันอังคาร (19 มี.ค.) ขอให้นายกรัฐมนตรีเมโลนี เข้าเป็นพยานให้ปากคำเอาผิด 2 ชายคนในเดือนกรกฎาคม หลังจาก เมโลนี ฟ้องร้องเอาผิดทั้งคู่ ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ตามข้อกล่าวหาใส่ร้ายหมิ่นประมาท
ทนายความของเมโลนี ระบุว่าชาย 2 คน หนึ่งคนอายุ 42 ปี และอีกคนอายุ 37 ปี ซึ่งเป็นพ่อคนด้วย ตัดต่อใส่ใบหน้าของนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทนใบหน้าดาวโป๊หญิง และโพสต์คลิปวิดีโอโป๊หลายคลิปลงบนเว็บไซต์หนังผู้ใหญ่สหรัฐฯ แห่งหนึ่ง โดยสำนักข่าวอันซา รายงานว่าวิดีโอเหล่านี้ปรากฏบนสื่อออนไลน์เป็นเวลานานหลายเดือน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกเข้าชมหลายล้านวิว
วิดีโอนี้ถูกจัดทำขึ้นมาตั้งแต่ก่อน เมโลนี ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2022 และพวกต้องสงสัยถูกจับกุมในปี 2020 หลังจากตำรวจสืบหาตัวจนรู้ว่าเป็นใครและติดตามหาตัวจนพบ ผ่านโทรศัพท์มือถือที่โพสต์คลิปลงบนสื่อสังคมออนไลน์
ทนายความของ เมโลนี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ว่าจำนวนเงิน 100,000 ยูโร ถือเป็นการเรียกเงินชดเชยเชิงสัญลักษณ์ และนายกรัฐมนตรีจะนำเงินไปบริจาคให้องค์กรการกุศลต่างๆ ที่สนับสนุนเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว "เธอยื่นฟ้องเพื่อเป็นการส่งสารถึงพวกผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้กำลังโดยมิชอบ ว่าจงอย่ากลัวต่อการเดินหน้าฟ้องร้องเอาผิดใดๆ"
คำจำกัดความ "ดีปเฟก" คือเทคโนโลยีที่ใช้สร้างสื่อสังเคราะห์เพื่อปลอมแปลงลักษณะบุคคลต่างๆ ผ่านสื่อวิดีโอ รวมถึงภาพถ่าย และการบันทึกเสียง โดยใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบ "การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning)" หรือโปรแกรมฝึกสอนของ AI ที่เลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์ (Neural Network) ซึ่งทำให้ Deepfake มีความสามารถในการปลอมบุคคลต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ และแนบเนียนสุด จากการที่มันได้เรียนรู้ใบหน้าและเสียงของคนเหล่านั้นนั่นเอง
หน่วยข่าวกรองต่างๆ ของสหรัฐฯ เตือนว่าเทคโนโลยี Deepfake อาจถูกใช้ก่ออิทธิพลต่อศึกเลือกตั้งหรือช่วยพวกอาชญากรทางไซเบอร์เข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว ในขณะที่รัฐบาลอินเดียขู่ลงโทษทางกฎหมายบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย หลังปรากฏภาพวิดีโอ Deepfake นักแสดงและนักการเมืองของประเทศหลายคน ซึ่งก่อความขุ่นเคืองแก่สาธารณชนในวงกว้างเมื่อปีที่แล้ว
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)