xs
xsm
sm
md
lg

ของเล่นใหม่! เกาหลีเหนืออวดทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งสำเร็จ ส่อเค้าอาจได้เทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกจากรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้นำคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ (ขวา) เฝ้าชมการทดสอบจุดระเบิดเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งสำหรับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกแบบใหม่ที่ใช้ได้กับขีปนาวุธพิสัยกลางจนถึงพิสัยไกล ณ ฐานปล่อยดาวเทียมโซแฮ ในแดนโสมแดง ภาพนี้เผยแพร่เมื่อวันพุธ (20 มี.ค.) โดยสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือ ที่ระบุว่าถ่ายเมื่อวันอังคาร (19)
เกาหลีเหนืออ้างในวันพุธ (20 มี.ค.) ว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งสำหรับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกพิสัยกลางชนิดใหม่เมื่อวันอังคาร (19) โดยมีผู้นำคิม จองอึนเป็นผู้ควบคุม ด้านนักวิชาการเกาหลีใต้ชี้ความเคลื่อนไหวนี้น่ากังวล เนื่องจากขีปนาวุธแบบนี้อาจจะสามารถต่อต้านระบบป้องกันขีปนาวุธของโสมขาว-อเมริกา นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียที่เมื่อเร็วๆ นี้กระชับความสัมพันธ์กับเปียงยาง เป็นผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเทคความเร็วสูงนี้

สำนักข่าวโคเรียน เซ็นทรัล นิวส์ (เคซีเอ็นเอ) ของทางการเปียงยางรายงานวันพุธว่า การทดสอบทางภาคพื้นดินดังกล่าวซึ่งดำเนินการเมื่อวันอังคารโดยสำนักงานขีปนาวุธเกาหลีเหนือ ณ ฐานปล่อยดาวเทียมโซแฮ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

ตามรายงานของเคซีเอ็นเอ ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน กล่าวว่า ระบบอาวุธนี้มีคุณค่าเชิงยุทธศาสตร์การทหารเทียบเท่าขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) และเสริมว่า การทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งสำหรับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกพิสัยกลางชนิดใหม่ครั้งนี้ช่วยยืนยันกรอบเวลาที่ระบบขีปนาวุธใหม่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ

ปลายปีที่แล้ว เปียงยางประกาศว่า ได้ทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งชนิดใหม่สำหรับขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยกลาง (ไออาร์บีเอ็ม)

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันจันทร์ (18) เกาหลีเหนือเพิ่งประกาศว่า คิมเดินทางไปควบคุมการซ้อมรบที่มีการใช้ระบบจรวดหลายลำกล้องขนาดใหญ่รุ่นใหม่ ซึ่งตอกย้ำการเตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับการล่มสลายของเมืองหลวงของศัตรู

ทั้งนี้ ไฮเปอร์โซนิกหมายถึงระดับความเร็วอย่างน้อย 5 มัค นั่นคือเร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่าขึ้นไป นอกจากนั้นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกมักมีความสามารถในการหลบหลีกเปลี่ยนทิศทางขณะอยู่กลางอากาศ ทำให้ยากต่อการติดตามหรือการสกัด นอกจากนั้นยังสามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบตามแบบแผนและหัวรบนิวเคลียร์ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ

ขณะเดียวกัน รัสเซียที่เพิ่งกระชับความสัมพันธ์กับเปียงยาง ถูกมองว่า เป็นผู้นำโลกในเทคโนโลยีนี้ แม้อเมริกาและจีนทำการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเช่นกันก็ตาม

ยาง มูจิน ประธานของมหาวิทยาลัยเพื่อเกาหลีเหนือศึกษา ในกรุงโซล ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเปียงยางเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งมีศักยภาพที่จะต่อต้านระบบป้องกันขีปนาวุธของเกาหลีใต้-อเมริกา

การทดสอบขีปนาวุธเชื้อเพลิงแข็งที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยยิ่งขึ้น ถือเป็นเป้าหมายหลักของคิมมานานแล้ว

ปีที่ผ่านมา เปียงยางอ้างว่า ประสบความสำเร็จในการทดสอบไอซีบีเอ็มที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง และประกาศว่า เป็นความก้าวหน้าสำคัญของสมรรถนะในการโจมตีตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปกติแล้วขีปนาวุธเชื้อเพลิงแข็งใช้งานง่ายและปลอดภัยกว่าขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลว นอกจากนั้นยังไม่ต้องคอยบรรจุเชื้อเพลิงก่อนปล่อย ทำให้ตรวจพบและทำลายได้ยาก เนื่องจากใช้เวลาจัดเตรียมสั้น

โจเซฟ เดมพ์ซีย์ ผู้ช่วยนักวิจัยการวิเคราะห์ด้านกลาโหมของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (IISS) ระบุว่า ยังไม่มีการยืนยันว่า การทดสอบครั้งนี้เกี่ยวข้องกับระบบที่เกาหลีเหนือทำทดสอบเมื่อเดือนพฤศจิกายนและมกราคมที่ผ่านมาหรือไม่

ทางด้านอเมริกาและเกาหลีใต้เพิ่งเสร็จสิ้นหนึ่งในการซ้อมรบใหญ่ประจำปีของพวกตนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่เปียงยางซึ่งประณามว่า การซ้อมรบของโซลและวอชิงตันเป็นการซ้อมรุกรานเกาหลีเหนือนั้น ตอบโต้ด้วยการจัดซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของตัวเอง

เดือนนี้เกาหลีเหนือเตือนอเมริกาและเกาหลีใต้ว่า จะต้อง “จ่ายแพง” จากการซ้อมรบ และต่อมาประกาศว่า คิมควบคุมการซ้อมรบของหน่วยปืนใหญ่ที่สามารถโจมตีถึงโซล

สัปดาห์ที่แล้ว คิมยังควบคุมการซ้อมปฏิบัติการของหน่วยพลร่มที่ต้องการโชว์ความสามารถของทหารเกาหลีเหนือในการยึดครองดินแดนของศัตรู “ในชั่วพริบตา”

การทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวในวันจันทร์ (18) ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่เปียงยางทดสอบขีปนาวุธติดตั้งหัวรบไฮเปอร์โซนิก

นอกจากนั้นเมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีเหนือได้ประกาศว่า เกาหลีใต้เป็น “ศัตรูหลัก” และสั่งยุบหน่วยงานที่เคยจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการรวมชาติ พร้อมขู่เปิดสงครามหากดินแดนของตนถูกรุกล้ำแม้เพียง 0.001 มิลลิเมตร

(ที่มา: เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น