xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติญี่ปุ่นประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ17ปี ชี้ค่าแรง-เงินเฟ้อขยับขึ้น-เศรษฐกิจฟื้นพอประมาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี เมื่อวันอังคาร (19 มี.ค.) ปิดฉากนโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อต่อสู้ภาวะเงินฝืด หลังจากทั้งค่าแรงและอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ขณะที่คำแถลงของแบงก์ชาติซามูไรระบุด้วยว่า เวลานี้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระดับพอประมาณ

บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมชั่วข้ามคืนสำหรับธนาคารจาก -0.1% อยู่ที่ 0-0.1% ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายเมื่อวันอังคาร เป็นการยืนยันการคาดการณ์อย่างกว้างขวางก่อนหน้านี้ ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นพร้อมแล้วที่จะยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามาอย่างยาวนาน

นอกจากนั้นบีโอเจยังยกเลิกนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร แต่ยืนยันว่า จะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลในมูลค่าเท่าเดิมและซื้อเพิ่มหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2007 โดย คาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจ แถลงว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ประกอบกับมาตรการอื่นๆ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและตรึงต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำ เวลานี้ได้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการแล้ว

บีโอเจได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2% เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการชี้วัดว่า ญี่ปุ่นสามารถหลุดพ้นจากแนวโน้มเงินฝืดแล้วหรือยัง อย่างไรก็ดี หลังจากข้อมูลบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขยับมาอยู่ที่ 2% แล้ว บีโอเจก็ยังคงระมัดระวังตัวมากเกี่ยวกับการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติ หรือการยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบ

อูเอดะบอกว่า ระดับค่าแรงและระดับราคาในญี่ปุ่นเวลานี้มีการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกันนั้นเขาก็ย้ำว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนไปอีกระยะ

ผู้ว่าการบีโอเจสำทับว่า แม้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงินอื่นๆ จะตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยได้เอง แต่เขาไม่คิดว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง พร้อมอธิบายว่า การตัดสินใจล่าสุดของแบงก์ชาตินั้นอิงกับการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ 2% รวมถึงการที่พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้ประกาศขึ้นค่าแรง 5.28% ซึ่งถือว่า สูงที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ระหว่างการเจรจาค่าแรงสำหรับปีนี้กับสหภาพแรงงานเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

คำแถลงของบีโอเจระบุว่า ค่าแรงและกำไรของบริษัทต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในระดับพอประมาณ

ค่าแรงในญี่ปุ่นหยุดนิ่งนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ขณะที่ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นช้ามากหรือกระทั่งลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนถึงภาวะเงินฝืด

การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของบีโอเจคราวนี้ ตลาดการเงินมีปฏิกิริยาไม่มาก เนื่องจากคาดการณ์เรื่องนี้มาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยดัชนีนิกเกอิ 225 ขยับขึ้นเกือบ 0.7% ในวันอังคาร ขณะที่ค่าดอลลาร์ทรงอยู่ที่ราว 150 เยน

นักวิเคราะห์คาดว่า บีโอเจจะไม่รีบร้อนเปลี่ยนกรอบนโยบายการกู้ยืมแบบผ่อนคลายโดยรวม และจะเฝ้าติดตามอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ฮารูมิ ทากูชิ นักเศรษฐศาสตร์หลักของเอสแอนด์พี โกลบัล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ มองภาพยังไม่ค่อยดีนัก โดยเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอาจเริ่มลดลงต่ำกว่า 2% และการขึ้นค่าแรงไม่ได้นำไปสู่การใช้จ่ายอย่างเข้มแข็งเสมอไป หากผู้บริโภคเลือกที่จะเก็บออมแทนการใช้จ่าย

เอสแอนด์พี โกลบัล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ยังชี้ว่า แม้การตัดสินใจของบีโอเจจะช่วยสร้างความคึกคักให้ตลาดการเงิน แต่ผลกระทบซึ่งมีต่อเศรษฐกิจภาคแท้จริงนั้นคาดว่า จะมีจำกัดเท่านั้น

ทางด้าน โนบูโกะ โคบายาชิ จากบริษัทที่ปรึกษา อีวาย-พาร์เธนอน ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ฟื้นตัวขยับขึ้นแล้วอาจถือเป็นข่าวดี ถ้าทำให้ญี่ปุ่นกระตุ้นผลผลิตและการบริโภคภายในได้ แต่ต้องถือเป็นข่าวร้าย ถ้าการขึ้นอัตราเงินเฟ้อยังคงถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

อนึ่ง ญี่ปุ่นเพิ่งประกาศในเดือนนี้ว่ารอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หลังจากผลทบทวนอัตราเติบโตอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสุดท้ายของปีที่แล้วผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, บีบีซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น