(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China has a plan, and it’s working
By DAVID P. GOLDMAN AND UWE PARPART
14/03/2024
“การประชุมสองสภา” ของจีนมิได้เมีมติเกี่ยวกับการปฏิบัตการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สำคัญใดๆ อย่างที่บัณฑิตผู้รู้ทางฝ่ายตะวันตกคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายทางการเงิน หรือมาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือแผนการกอบกู้ช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ให้พ้นภาวะล้มละลาย แต่คณะผู้นำของจีนกลับโฟกัสอย่างแน่วแน่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมจีนอย่างขนานใหญ่ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ พวกเขาให้งบประมาณอีก 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่กองทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นอีก 10%
“การประชุมสองสภา” ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา -นั่นคือ การประชุม (เต็มคณะ) ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (ซึ่งก็คือรัฐสภาจีน) และการประชุม(เต็มคณะ)ของสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติของประชาชนจีน—ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สำคัญใดๆ สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่เหล่าบัณฑิตผู้รู้ซึ่งพากันคาดหวังว่าจะได้เห็นการปฏิบัติการอย่างน่าตื่นตาตื่นใจจากปักกิ่งในรูปของการผ่อนคลายทางการเงิน หรือมาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือแผนการกอบกู้ช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ให้พ้นภาวะล้มละลาย
คณะผู้นำของจีนกลับโฟกัสอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงแปรรูปโฉมของอุตสาหกรรมจีนผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ พวกเขาเรียกร้อง (โดยจะไม่ยอมจำนนอ่อนข้อใดๆ ให้แก่การปิดล้อมทางเทคโนโลยีของอเมริกา) ให้พึ่งพาอาศัย “การใช้ความพยายามทั้งมวลของทั่วประเทศชาติ” เพื่อบรรลุการพึ่งตนเองในด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีที่สำคัญอื่นๆ
นอกเหนือจากอย่างอื่นๆ แล้ว พวกเขายังให้งบประมาณอีก 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่กองทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กองทุนหนึ่ง เป็นการเพิ่มเติมขึ้นจากคำมั่นสัญญาผูกพันมูลค่ามหาศาลที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตลอดจนประกาศเพิ่มงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นอีก 10%
ทัศนะความคิดเห็นจากภายในประเทศและจากต่างแดนเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศจีน เวลานี้ อยู่ในสภาพที่แตกแยกไปกันคนละทางอย่างเห็นถนัดชัดเจนที่สุด
ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS องค์การคลังสมองทรงอิทธิพลในสหรัฐฯซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน) ที่ถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางทางสติปัญญาตามแบบแผน (ของสหรัฐฯ) เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ว่า “เศรษฐกิจของจีนกำลังแสดงให้เห็นสัญญาณความอ่อนแอในหลายๆ ด้าน อัตราเติบโตแท้จริงดูน่าจะต่ำกว่าตัวเลขของทางการ, มีภาวะเงินฝืดอย่างเป็นจริงเป็นจังเกิดขึ้นมา, และพวกตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศก็พากันร่วงหล่นลงอย่างสำคัญ”
ในทางตรงกันข้าม ปักกิ่งกลับแทบไม่ให้ความสนใจในสิ่งซึ่งเป็นความพะวงหลงใหลเหล่านี้ของพวกนักเศรษฐศาสตร์มหภาคชาวตะวันตกผู้ซึ่งเรียกร้องให้จีนต้องเข้ามาบริหารจัดการ ทั้งนี้ปักกิ่งยังคงมุ่งโฟกัสอยู่ที่เรื่องนโยบายทางอุตสาหกรรม
รายงานข้อมูลตัวเลขสำคัญสองสามอย่างที่ออกมานับตั้งแต่ “การประชุมสองสภา” สิ้นสุดลง เป็นไปในทางหนุนส่งทัศนะแบบไม่รุนแรงของปักกิ่งเกี่ยวกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ตรงกันข้ามกับมุกขำขันล้อเลียนในเรื่องภาวะเงินฝืดซึ่งมีการเผยแพร่ออกมา ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core consumer price index หรือ Core CPI) ของจีน กลับแสดงให้เห็นว่าขยับสูงขึ้น 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังจากขึ้นมา 0.4% ในเดือนมกราคม ดัชนี Core CPI นี้ ไม่รวมเอาราคาสินค้าอาหารที่มีการแปรปรวนสูงเข้ามาคำนวณด้วย โดยที่ราคาอาหารนี้เองเป็นตัวฉุดให้ตัวเลข CPI ทั่วไป (headline CPI) เข้าไปสู่พื้นที่แดนลบ ทั้งนี้ CPI ทั่วไปก็ติดลบเช่นกันในเดือนมกราคม
ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิต (producer prices index หรือ PPI) นั้น ยังคงลดต่ำลงต่อไปอีก ทว่านี่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องเลวร้าย กล่าวคือ ราคาผู้ผลิตที่ลดต่ำลง แต่ราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น บ่งชี้ถึงผลกำไรที่สูงขึ้นของพวกบริษัทต่างๆ ทั้งนี้เรื่องเช่นนี้เป็นแบบแผนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ มูลค่าการส่งออกที่คำนวณเป็นสกุลเงินเหรินหมินปี้ [1] เพิ่มสูงขึ้นในระดับ 10.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าทั้งในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ นี่เป็นการเอื้ออำนวยสนับสนุนอย่างสำคัญยิ่งยวดแก่อุตสาหกรรมไฮเทคของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจำพวกแผงวงจรไฟฟ้า, อุปกรณ์โทรคมนาคม, และอิเล็กทรอนิกส์
จีนนั้นติดตั้งพวกหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรมไปแล้ว มากกว่าที่มีการติดตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกันเสียอีก นั่นคืออยู่ในระดับ 52% ของทั่วทั้งโลก และการผสมผสานกันของระบบอัตโนมัติทั้งหลาย กับภาวะความประหยัดอันเนื่องมาจากขนาด (economies of scale) ก็ทำให้จีนสามารถผลิตแผงวงจรไฟฟ้า, ยานยนต์ไฟฟ้า, และผลิตภัณฑ์สำคัญอื่นๆ ได้ในราคาถูกกว่าอย่างทิ้งห่างไม่ว่าเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันรายไหนๆ
แต่ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ซึ่งรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ระบบสื่อสารไร้สาย 5จี ขั้นก้าวหน้า (สิ่งที่ หัวเว่ย ติดป้ายเรียกว่าระบบ 5.5 จี) และปัญญาประดิษฐ์นั้น กำลังอยู่เพียงแค่ขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังกำลังผลักดันให้มีการทะลุทะลวงคืบหน้าไปในพวกเทคโนโลยีสำหรับอนาคต (frontier technologies) อีกด้วย รวมทั้งด้านนิวเคลียร์ ฟิวชั่น (nuclear fusion)
งบประมาณทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้เพิ่มขึ้นมา 10% คราวนี้ ถือเป็นการเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในหมวดหมู่รายการด้านงบประมาณสำคัญๆ ทั้งหลายไม่ว่าหมวดหมู่ใด ตรงนี้ขอไฮไลต์แผนการริเริ่มสำคัญเพียง 2 อย่าง ได้แก่ การเร่งรัดพัฒนา เทอร์โมนิวเคลียร์ ฟิวชั่น (thermonuclear fusion) ในฐานะที่จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญแหล่งหนึ่งในอนาคต และการก่อสร้าง เครื่องชนอนุภาค (particle collider) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก [2] ซึ่งจะนำเอาพวกนักวิทยาศาสตร์นานาชาติระดับท็อปจำนวนเป็นพันๆ คนเข้ามายังประเทศจีน
ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งกิจการร่วมค้า (consortium) แห่งหนึ่งที่นำโดยบรรษัทนิวเคลียร์แห่งชาติประเทศจีน (China National Nuclear Corp) เพื่อผสมผสานศักยภาพความสามารถของบรรดานักวิทยาศาสตร์และยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรม เข้ามาผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่น โดยมุ่งหมายให้สามารถสร้างเตาปฏิกรณ์สำหรับการผลิตพลังงานขึ้นมาได้ภายในปี 2030
กลุ่มที่กล่าวถึงนี้ ประกอบด้วยวิสาหกิจและสถาบันวิจัยที่เป็นของรัฐบาลกลางของจีนรวม 25 แห่ง โดยที่บางแห่งเป็นกิจการด้านพลังงานใหญ่ที่สุดและกิจการด้านเหล็กกล้าใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นต้นว่า บรรษัทโครงข่ายไฟฟ้าแห่งรัฐ (State Grid Corp), บรรษัทสามผาประเทศจีน (China Three Gorges Corp ), และบรรษัทกลุ่มเหล็กกล้าเป่าอู๋ประเทศจีนจำกัด (China BaowuSteel Group Corp Ltd)
สำหรับแผนการริเริ่มสำคัญอย่างที่สองนั้น อยู่ในแวดวงฟิสิกส์อนุภาคระดับก้าวหน้า การก่อสร้าง เครื่องชนอนุภาควงแหวนโพสิตรอน (Circular Electron Positron Collider หรือ CEPC) ของจีนนี้ ซึ่งอยู่ในประเภทโรงงานสำหรับสร้างอนุภาคฮิกส์โบซอน (Higgs factory) จะใช้เวลา 1 ทศวรรษจึงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และกลายเป็นศูนย์กลางของฟิสิกส์อนุภาคแห่งต่อไปของทั่วโลก ... ด้วยค่าใช้จ่ายราว 36,000 ล้านเหรินหมินปี้ (5,000 ล้านดอลลาร์)
โฟกัสที่พวกเมืองรองระดับสอง (second-tier cities) และเมืองรองระดับสาม (third-tier cities)
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนมีความสนใจทางการเมืองอย่างลึกซึ้งในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันอย่างมหาศาลของความมั่งคั่งและของรายได้ซึ่งเกิดขึ้นจากกระแสคลื่นใหญ่แห่งการแปรประเทศจีนให้กลายเป็นชุมชนเมือง ที่เริ่มต้นโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ เมื่อปี 1979 คำขวัญที่ใช้กันบ่อยๆ ของ สี จิ้นผิง เกี่ยวกับการให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่เรื่องนี้คือ วลีที่ว่า “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (common prosperity)
ชาวจีนส่วนน้อยซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้น, กว่างโจว, ปักกิ่ง, และเมืองหลักระดับ 1 (Tier 1 cities) แห่งอื่นๆ ต่างมีมาตรฐานการครองชีพใกล้เคียงกับของพวกประเทศอุตสาหกรรมกันแล้ว ขณะที่พื้นที่อื่นๆ จำนวนมากของประเทศยังคงตามมาอย่างห่างมากอยู่ข้างหลัง
เฉิน เฟิง (Chen Feng) คอลัมนิสต์ของ “ออบเซอร์เวอร์” (Observer ภาษาจีนคือ กวนฉา) [3] เว็บไซต์ข่าวทรงอิทธิพลของจีน เขียนเอาไว้ในวันที่ 6 มีนาคมว่า เป้าหมายของปักกิ่ง “คือการทำให้ขนมพายที่จะนำมาแบ่งปันกันมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น ด้วยการลดช่วงห่างระหว่างพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบท และลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคต่างๆ” เฉินอธิบายว่า การใช้จ่ายเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของจีนจะโฟกัสอยู่ที่การยกระดับพวกเมืองขนาดเล็กกว่า โดยผ่านการขยายเครือข่ายรางรถไฟไฮสปีด และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
“สภาพของการมีประชากรรวมศูนย์อยู่กันมากเกินไป ยังนำไปสู่ภาวะความบิดเบือนของการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ และโอกาสต่างๆ ในระหว่างภูมิภาคทั้งหลาย” เฉินเขียนเอาไว้เช่นนี้ “การจัดให้มี เมืองบริวาร, พื้นที่เมืองใหม่ๆ, และศูนย์ย่อยต่างๆ คือหนทางแก้ไขปัญหาเป็นบางส่วน ทว่าพื้นที่เหล่านี้ในที่สุดแล้วยังคงต้องพึ่งพาอาศัยกระบวนการกระจายตัวของพวกเมืองใหญ่, เมืองกลาง, และเมืองเล็ก ซึ่งเป็นอิสระจากพื้นที่เขตมหานคร” ระหว่างปี 2003 ถึงปี 2022 จำนวนเมืองที่มีประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นจาก 32 เมือง เป็น 72 เมือง ซึ่งนี่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่นำเอาทรัพยากรของรัฐจำนวนมหึมาไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือพวกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย โดยที่บริษัทเหล่านี้เองก็ได้ขี่กระแสคลื่นการแปรประเทศจีนให้กลายเป็นชุมชนเมือง ซึ่งทำให้ราคาบ้านในย่านใจกลางเมืองเซินเจิ้น มีราคาแพงเป็น 10 เท่าตัวของบ้านอย่างเดียวกันในแถบชานเมืองเฉิงตู
ทั้งนี้ มองกันโดยภาพรวม ราคาเฉลี่ยของอสังหาริมทรัพย์จีนได้เพิ่มขึ้นมาเกือบสองเท่าตัว จาก 6,200 เหรินหมินปี้ต่อตารางเมตรในปี 2015 เป็น 11,000 เหรินหมินปี้ในปี 2021 ก่อนตกลงมาเป็นมากกว่า 10,000 เล็กน้อยในปี 2023 ทว่าในเซี่ยงไฮ้ราคาทะยานขึ้นจากราวๆ 15,000 เหรินหมินปี้ต่อตารางเมตร ไปอยู่ที่เกือบๆ 50,000 เหรินหมินปี้/ตารางเมตรในปี 2021
การสนับสนุนรายได้ที่ได้มาแบบลาภลอยของพวกเจ้าบ้านที่อยู่อาศัยผู้มั่งคั่งตามเมืองหลักระดับ 1 ไม่ได้อยู่ในวาระของปักกิ่ง ตรงกันข้าม ตามบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมในเว็บไซต์ “ออบเซอร์เวอร์” [4] ระบุว่าภาระของการปรับตัวเพื่อคลี่คลายปัญหาคราวนี้จะถูกแบ่งสรรกระจายไปในฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อันได้แก่ พวกผู้ถือหุ้นในบริษัทอสังหาริมทรัพย์, พวกถือครองตราสารหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์, ธนาคารต่างๆ, และพวกเจ้าของที่อยู่อาศัย
ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ซึ่งก็คือแบงก์ชาติของจีน มีความโน้มเอียงที่จะเห็นชอบกับการให้พวกธนาคารพาณิชย์ที่รัฐเป็นเจ้าของ จัดหาความสนับสนุนแก่พวกบริษัทอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เวลาเดียวกันก็ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะยาวของธนาคารลงมาเล็กน้อยเพื่อเป็นการสนับสนุนพวกผู้ซื้อที่อยู่อาศัย แต่นี่คือสไตล์การเจรจาต่อรองแบบจีน ที่ทุกๆ คนได้รับการคาดหมายว่าจะต้องยอมรับการขาดทุนการสูญเสียเป็นบางส่วน และ -ยกเว้นแต่พวกผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่กี่คนแล้ว- ก็จะไม่มีชามข้าวของใครถึงขั้นต้องแตกหักยับเยิน
(รายงานชิ้นนี้ปรากฏครั้งแรกสุดใมนรายงาน “เอเชียไทมส์ โกลบอล ริกส์/รีวอร์ด มอนิเตอร์ Asia Times Global Risk/Reward Monitor ประจำวสันที่ 13 มีนาคม 2024)
เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2024/03/chinas-global-south-exports-surge-in-1st-2-months/
[2] http://xn--the%20chart%20isnt%20showing%20up%20in%20the%20published%20story-6h34b.%20can%20you%20send%20it%20to%20me%20as%20a%20separate%20document%20as%20usual/?
[3]https://www.guancha.cn/ChenFeng3/2024_03_06_727349_s.shtml
[4]https://www.guancha.cn/luming2/2024_03_11_727953_s.shtml