โรงพยาบาลหลายแห่งในจีนเริ่มหยุดให้บริการทำคลอดในปีนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนภาวะ “ฤดูหนาวทางสูติศาสตร์” (obstetric winter) เนื่องจากคนจีนรุ่นใหม่ๆ นิยมมีบุตรกันน้อยลง ส่งผลให้อุปสงค์การทำคลอดในโรงพยาบาลต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โรงพยาบาลในหลายมณฑลของจีนเริ่มประกาศปิดแผนกสูติศาสตร์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล The Fifth People's Hospital ในเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ซึ่งประกาศผ่านบัญชี WeChat ว่าจะหยุดให้บริการด้านสูติศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ขณะที่โรงพยาบาลแพทย์แผนโบราณเมืองเจียงซาน มณฑลเจ้อเจียง ก็โพสต์ WeChat ว่าจะปิดแผนกสูติศาสตร์เช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.
การปิดแผนกทำคลอดในโรงพยาบาลหลายแห่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายของจีนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการโน้มน้าวให้ประชาชนหันมามีบุตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ
อัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ บวกกับจำนวนคนเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ประชากรจีนลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2023 และภาครัฐเกรงว่าแนวโน้มเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว
ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) พบว่า โรงพยาบาลแม่และเด็กในประเทศลดลงจาก 807 แห่งในปี 2020 เหลือเพียง 793 แห่งในปี 2021
สื่อจีนหลายสำนัก รวมถึงหนังสือพิมพ์ Daily Economic News รายงานว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงทำให้การเปิดแผนกสูติศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่ “ไม่คุ้มค่า” สำหรับสถานพยาบาลหลายแห่งในจีน
“ฤดูหนาวทางสูติศาสตร์กำลังจะมาถึงอย่างเงียบๆ” Daily Economic News รายงานเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (15)
ผู้หญิงจีนจำนวนมากเลือกที่จะไม่มีบุตรเพราะกลัวเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู และบ้างก็ไม่อยากแต่งงาน เพราะกลัวจะถูกบังคับให้ต้องลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกตามค่านิยมดั้งเดิมของคนจีน
รัฐบาลจีนพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจคู่รักหนุ่มสาวให้มีบุตรกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวันลาคลอด มอบสิทธิประโยชน์ทางการเงินและภาษีสำหรับคนมีบุตร รวมถึงอุดหนุนที่พักอาศัยด้วย
อย่างไรก็ตาม สถาบันคลังสมองชั้นนำแห่งหนึ่งในจีนระบุเมื่อเดือน ก.พ. ว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบ GDP ต่อหัวประชากร และผู้หญิงต้องสูญเสียต้นทุนเวลาและโอกาสไปมากในการที่จะให้กำเนิดบุตร
เว็บไซต์ข่าวการเงิน Yicai รายงานว่า การมาถึงของ “ปีมังกร” ซึ่งถือเป็นปีมงคลที่สุดตามความเชื่อของชาวจีนทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่กระนั้นนักประชากรศาสตร์ก็เชื่อว่ากระแส “เด็กปีมังกร” คงจะบูมแค่ในระยะสั้นๆ
ที่มา : รอยเตอร์