xs
xsm
sm
md
lg

ฟังแล้วสะดุ้งไหม! สื่อนอกชี้ 'ทักษิณ' เหมือนไม่ใช่นักโทษ ได้รับการปฏิบัติเยี่ยง 'รัฐบุรุษ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยเหล่านักการเมืองหลั่งไหลไปต้อนรับ พร้อมร่วมรับประทานอาหารกับนายกรัฐมนตรีของไทย และมีตำรวจคอยอารักขาตอนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร ดูเหมือนจะเป็น "รัฐบุรุษ" มากกว่านักโทษผู้ถูกพิพากษามีความผิดทางอาญาที่ได้รับการพักโทษเสียอีก ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.)

รอยเตอร์รายงานว่า เหล่าผู้ภักดี คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พากันมุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดเมืองนอนของทักษิณ เพื่อเยี่ยมเยือนและขอคำปรึกษาจากเขา ภาพที่สะท้อนถึงอิทธิพลของมหาเศรษฐีที่ยังคงปกคลุมเหนือการเมืองไทย ตลอด 15 ปี ที่หลบหนีโทษจำคุก ออกไปลี้ภัยในต่างแดน ในฐานความผิดใช้อำนาจโดยมิชอบและผลประโยชน์ขัดแย้ง

ทักษิณ เดินทางกลับมายังเมืองไทยเมื่อเดือนสิงหาคม และได้รับการพักโทษในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ แค่ราว 6 เดือน หลังเข้าเรือนจำชดใช้โทษจำคุก 8 ปี ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ด้วยพรรคการเมืองของตระกูลและพันธมิตรอย่างนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในอำนาจ พวกนักวิเคาราะห์จึงพากันคาดการณ์ว่า คงไม่อีกนานที่ ทักษิณ จะพยายามเข้าควบคุมทางการเมือง ซึ่งมันจะเป็นบททดสอบข้อจำกัดในข้อตกลงระหว่างเขากับฝ่ายอนุรักษนิยมและทหาร ที่โค่นอำนาจรัฐบาลของตระกูลชินวัตรมาแล้ว 3 รอบ โดย 2 ในนั้น ผ่านการทำรัฐประหาร

ทักษิณ วัย 74 ปี ซึ่งเป็นผู้นำไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัย ดูเหมือนจะมีสุขภาพแข็งแรงดีระหว่างเดินทางไปทั่วเชียงใหม่ โดยเขาได้รับการต้อนรับจากบรรดาผู้สนับสนุนและพบปะกับเหล่าคณะรัฐมนตรี มันถือเป็นครั้งแรกที่เขาเดินทางเยือนบ้านเกิดเมืองนอน นับตั้งแต่ถูกโค่นอำนาจในปี 2006

ภาพดังกล่าวสวนทางโดยสิ้นเชิงกับเมื่อราว 1 เดือนก่อน ที่เขาออกจากโรงพยาบาลในสภาพสวมอุปกรณ์พยุงคอและสวมเฝือกที่แขนขวา ท่าทางฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของ ทักษิณ กระพือเสียงความเห็นถากถางจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเกี่ยวกับบริบทการเจ็บไข้ได้ป่วยของอดีตผู้นำรายนี้ และเสียงโกรธเคืองที่เขาได้รับการผ่อนผันบทลงโทษและไม่ยอมเข้าคุกแม้แต่คืนเดียว ตามรายงานของรอยเตอร์

"ตอนนี้ผมกลับมาแล้ว ใครไม่ชอบหน้าก็ต่างคนต่างอยู่ไป ผมก็จะใช้ชีวิตของผม" ทักษิณบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันเสาร์ (16 มี.ค.) พร้อมยืนยันว่าเขาไม่ค่อยแข็งแรง มีปัญหาที่ตอและกระดูกกับเส้นประสาท

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ระบุว่า ด้วยที่เมื่อปีที่แล้ว พรรคการเมืองของทักษิณ ไม่สามารถคว้าชัยในศึกเลือกตั้งหนึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งแสดงถึงความอ่อนแอกว่าที่ผ่านมา คำถามก็คือ ทักษิณ ยังคงเหลืออิทธิพลมากน้อยแต่ไหนที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่พวกผู้สัดทัดกรณีบางส่วนไม่สงสัยเลยเกี่ยวกับความยุ่งเกี่ยวทางการเมืองของทักษิณ

"เรากำลังมองว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปอย่างราบรื่นแค่ไหน ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังปั่นป่วนสังคมไทย" รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโส ระหว่างจัดรายการทางออนไลน์เมื่อวันเสาร์ (16 มี.ค.) "เราเห็นความแตกต่างระหว่างการเมืองเก่าๆ ที่เราพบเห็นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กับการเมืองใหม่ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ต้องการเห็นกลุ่มคนที่ใช้เงินและอำนาจ วางตนเองเหนือเหนือกฎเกณฑ์ต่างๆ"

รอยเตอร์ระบุว่า การกลับสู่มาตุภูมิของทักษิณ และการได้รับปล่อยตัวอย่างรวดเร็ว โหมกระพือข่าวลือว่ามีการตกลงกันกับศัตรูของเขาในสถาบันทหาร สำหรับกำจัดภัยคุกคามอย่างปัจจุบันทันด่วนกว่าที่มีต่อทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือพรรคการเมืองต่อต้านสถาบันอย่างพรรคก้าวไกล ซึ่งคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งหนล่าสุด แต่ถูกขัดขวางจากการจัดตั้งรัฐบาล โดยเหล่าสมาชิกรัฐสภาหัวอนุรักษนิยม แม้ครอบครัวของทักษิณ และพรรคเพื่อไทยปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยการผงาดขึ้นมาของพรรคก้าวไกล ที่ยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ความสำคัญของ ทักษิณ ในภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ลดน้อยลงไป "มันจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาในการทวงเสียงโหวตกลับคืนมา" ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกกับรอยเตอร์ "เขาอาจยังคงมีอิทธิพลในหมู่นักการเมืองอยู่บ้าง แต่ความน่าดึงดูดใจของเขาต่อประชาชนได้เปลี่ยนไป หลังจากหลายปีที่ผ่านมา"

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น