หนังใหม่ที่ให้ภาพประธานาธิบดีครองตำแหน่ง 3 สมัยต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในรัฐแคลิฟอร์เนียและเทกซัส กลายเป็นสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ในอนาคตอันใกล้ ตอกย้ำความกลัวของอเมริกันชนเกี่ยวกับความแตกแยกในประเทศ ขณะที่การเลือกตั้งกำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยหลายคนกังวลว่า ประธานาธิบดีต่อไปข้างหน้าซึ่งจะไม่ยอมลงจากตำแหน่งหลังครบสมัยที่สอง อาจเป็น โดนัลด์ ทรัมป์
“Civil War” หรือสงครามกลางเมือง ที่เพิ่งเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเอสเอ็กซ์เอสดับเบิลยูเฟสติวัล และมีกำหนดลงโรงวันที่ 12 เดือนหน้า ให้ภาพประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ครองตำแหน่ง 3 สมัยต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในรัฐแคลิฟอร์เนียและเทกซัส
ในเรื่องนี้ คริสเตน ดันสต์ รับบทผู้สื่อข่าวสาวที่ตระเวนไปทั่วประเทศที่แตกแยกและสับสนอลหม่าน ขณะที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ถูกยุบ และกองทัพใช้โดรนไล่โจมตีประชาชน
นิตยสารดิ แอตแลนติก ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนที่ไม่น่าอภิรมย์ในช่วงเวลาที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองชัดเจนในอเมริกา ขณะที่นิตยสารโรลลิ่ง สโตนระบุว่า ผู้ชมอาจบังเอิญเข้าใจผิดว่า หนังเรื่องนี้เป็นหลักฐานในอนาคตสำหรับเหตุการณ์ปัจจุบัน
หลายคนสงสัยว่า สถานการณ์ในหนังมีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนในขณะนี้
เมื่อไม่นานมานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดหมายได้อย่างมั่นใจว่า จะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้นั้น เพิ่งถูกวิจารณ์กรณีที่พูดติดตลกว่า ตัวเขาจะเป็น “เผด็จการ” ตั้งแต่วันแรกถ้าได้ครองทำเนียบขาวสมัยที่ 2 นอกจากนั้นเขายังเผชิญข้อกล่าวหาสมรู้ร่วมคิดล้มล้างผลการเลือกตั้งปี 2020 ที่ตัวเองแพ้โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต
ด้านประธานาธิบดีไบเดนกล่าวหาทรัมป์อ้าแขนรับความรุนแรงทางการเมือง
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจที่สถาบันบรูคกิงส์ และพับลิก รีลิเจียน รีเสิร์ช อินสติติวต์ (พีอาร์อาร์ไอ) จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วพบว่า มีคนอเมริกัน 23% เห็นด้วยว่า ผู้รักชาติที่แท้จริงอาจใช้ความรุนแรงเป็นทางออกเพื่อปกป้องอเมริกา
ทว่า วิลเลียม โฮเวลล์ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ท้วงว่า แม้มีสาเหตุให้กังวลเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองที่คุกรุ่นขึ้น แต่การพูดถึงกรณีที่ทหารรบกันเองในศตวรรษที่ 21 ดูไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ นอกจากนั้นแม้ชนชั้นนำทางการเมืองและสมาชิกรัฐสภาแตกแยกกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่การแบ่งขั้วในหมู่ประชาชนเป็นเรื่องที่พูดหะรเกินจริง
โฮเวลล์เสริมว่า คำตอบสำหรับคำถามที่คลุมเครือในแบบสำรวจ ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงว่าผู้คนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และเขาไม่คิดว่า อเมริกากำลังจะเผชิญสงครามกลางเมืองเหมือนเมื่อปี 1861 ที่คนมากมายไล่ฆ่ากันเอง
แต่ในมุมมองของสตีเฟน มาร์ช ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “เดอะ เน็กซต์ ซีวิล วอร์: ดิสแพชต์ ฟรอม เดอะ อเมริกัน ฟิวเจอร์” อเมริกาคือกรณีศึกษาของประเทศที่กำลังมุ่งหน้าสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่ในลักษณะที่บรรยายในหนังเรื่องนี้เท่านั้น
ในหนังสือเล่มดังกล่าว มีการใช้โมเดลรัฐศาสตร์ซึ่งบ่งชี้ 5 ฉากทัศน์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่มีการต่อสู้กันเองในวงกว้าง เป็นต้นว่า สถานการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลปะทะกับกองกำลังของรัฐบาลกลาง หรือประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร
มาร์ชชี้ว่า ความรุนแรงทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้มากขึ้น หรือกระทั่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในบางกรณี เนื่องจากผู้คนไม่รู้สึกว่า รัฐบาลมีความชอบธรรม ดังนั้น ความรุนแรงจึงเป็นคำตอบเดียว
อย่างไรก็ดี มาร์ชซึ่งย้ำว่าเขายังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ระบุว่าไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดการสู้รบตามเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์แบบเดียวกับสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในอเมริกาในทศวรรษ 1860 แต่น่าจะเหมือนความวุ่นวายแตกแยกรุนแรงแบบ “ทรอบเบิลส์” ในไอร์แลนด์เหนือในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มากกว่า
ในหนังสือของมาร์ชนั้น มีพันเอกปีเตอร์ แมนซูร์ที่ปลดเกษียณแล้ว ให้ความเห็นว่า ความขัดแย้งใหม่จะไม่เหมือนสงครามกลางเมืองครั้งแรกที่มีกองทัพของแต่ละฝ่ายรบกันในสนามรบ แต่จะเป็นการปะทะกันอย่างน่ากลัวระหว่างย่านชุมชนกับย่านชุมชน โดยอิงกับความเชื่อ สีผิว และศาสนา
ขณะเดียวกัน ในภาพยนตร์ที่มี อเล็กซ์ การ์แลนด์ เป็นผู้กำกับเรื่องนี้มี “ประธานาธิบดีสามสมัย” ซึ่งดูจะมุ่งยั่วยุความหวาดกลัวของคนอเมริกันจำนวนมากที่ว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ทรัมป์อาจเพิกเฉยต่อรัฐธรรมนูญอเมริกาที่กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้เพียงสองสมัย และไม่ยอมลาออกหลังครบ 4 ปี
โฮเวลล์บอกว่า ถ้าพิจารณาจากคำพูดของทรัมป์ คงยากที่จะคิดเป็นอย่างอื่นได้
ขณะที่มาร์ชทิ้งท้ายว่า ถ้ามีประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งสามสมัย คงไม่มีสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป
(ที่มา: เอเอฟพี)