โครงการลับ "สตาร์ชิลด์" ของอีลอน มัสก์ จะเปิดทางให้กองทัพสหรัฐฯ ติดตามเป้าหมายและสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นของอเมริกาและพันธมิตรแบบเรียลไทม์ ในเกือบทุกหนทุกแห่งของโลก ตามรายงานของรอยเตอร์ ที่เปิดเผยรายละเอียดใหม่ในข้อตกลงระหว่างอภิมหาเศรษฐีรายนี้กับเพนตากอน
ที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ บริษัทขนส่งทางอากาศได้ปล่อยต้นแบบดาวเทียมทางทหาร เช่นเดียวกับสิ่งของบรรทุกทางพลเรือน ขึ้นไปกับจรวดฟัลคอน 9 มาตั้งแต่อย่างน้อยก็ปี 2020 ก่อนท้ายที่สุดจะคว้าสัญญาอันงดงามมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับสำนักงานลาดตระเวนแห่งชาติ (เอ็นอาร์โอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในปี 2021 ตามรายงานพิเศษของรอยเตอร์เมื่อวันเสาร์ (16 มี.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม 5 คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้
แหล่งข่าวกล่าวอ้างว่าโครงข่ายกลุ่มดาวเทียววงโคจรต่ำจะสามารถติดตามเป้าหมายต่างๆ บนภาคพื้นแบบเรียลไทม์ เกือบทุกหนทุกแห่งในโลก และหนึ่งในนั้นโอ้อวดว่า สตาร์ชิลด์ จะรับประกันว่า "จะไม่มีใครสามารถหลบซ่อนจากรัฐบาลสหรัฐฯ" ในขณะที่ระบบนี้มีเป้าหมายมีความยืดหยุ่นกว่าเดิมในการรับมือการโจมตีจากบรรดามหาอำนาจอวกาศคู่อริ
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีดาวเทียมสตาร์ชิลด์มากน้อยแค่ไหนที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อไหร่ที่ระบบนี้จะปฏิบัติการเต็มรูปแบบ เนื่องจากสเปซเอ็กซ์และเพนตากอนไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เมื่อถูกสอบถามโดยรอยเตอร์
สำนักงานลาดตระเวนแห่งชาติสหรัฐฯ อ้างว่ากำลัง "พัฒนาระบบข่าวกรอง ลาดตระเวณและสอดแนมบนอวกาศที่มีศักยภาพสูงสุด หลากหลายและมีความยืดหยุ่นมากที่สุดเท่าที่โลกใบนี้เคยพบเห็นมา" อย่างไรก็ตาม พวกเขาปฏิเสธแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อบทบาทของสเปซเอ็กซ์ในโครงการดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ เคยยอมรับว่าได้พัฒนาทางเลือกด้านการทหารนอกเหนือจากระบบ "สตาร์ลิงค์" สำหรับพลเรือน โดยบอกเมื่อเดือนกันยายนว่ามันจะมีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของและควบคุมโดยกระทรวงกลาโหม "สตาร์ลิงค์จำเป็นต้องเป็นเครือข่ายพลเรือน ไม่มีส่วนร่วมกับการสู้รบ" มัสก์ อ้างถึงการใช้ดาวเทียมต่างๆ ในยูเคน ตลอดความขัดแย้งกับรัสเซีย
มัสก์ บริจาคสถานีสตาร์ลิงค์ราว 20,000 แห่งแก่ยูเครน ไม่นานหลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 นับตั้งแต่นั้นกองทัพเคียฟก็จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบนี้เป็นอย่างมาก เพื่อคงไว้ซึ่งการสื่อสารและปฏิบัติการโดรนสู้รบในแนวหน้า
แม้รับปากสนับสนุนยูเครน แต่ มัสก์ เน้นย้ำว่าเขาอยากเห็นทางออกอย่างสันติในความขัดแย้งนี้มากกว่า มหาเศรษฐีรายนี้ถูกตำหนิอย่างหนักหน่วงจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ โทษฐานที่ปฏิเสธเสียงร้องขอของเคียฟ ต่อการใช้เครือข่ายสตาร์ลิงค์ ช่วยในการโจมตีกองเรือทะเลดำของรัสเซีย
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สมาชิกสภาคอสเกรสสหรัฐฯ ได้เปิดการตรวจสอบสเปซเอ็กซ์อีกครั้ง หลังยูเครนอ้างมีคำกล่าวหาว่าทหารรัสเซียใช้บริการดาวเทียมสตาร์ลิงค์ในแนวหน้าของความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม มัสก์ ปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว ยืนยันว่าไม่เคยขายสตาร์ลิงค์ทั้งโดยตรงและทางอ้อมแก่รัสเซีย ในขณะที่ เครมลิน ก็ยืนยันเช่นกันว่ากองทัพรัสเซียไม่เคยสั่งซื้อสถานีสตาร์ลิงค์
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/รอยเตอร์)