xs
xsm
sm
md
lg

G7 เล็งห้าม ‘อิหร่านแอร์’ เข้าน่านฟ้ายุโรป หากเตหะรานส่งขีปนาวุธทิ้งตัวช่วย ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 เตรียมกำหนดมาตรการตอบโต้ชุดใหญ่ ซึ่งรวมถึงการห้ามไม่ให้สายการบินอิหร่านแอร์ (Iran Air) ผ่านเข้าน่านฟ้ายุโรป หากรัฐบาลอิหร่านเดินหน้าจัดส่งขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ให้รัสเซีย ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 

สหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรอีก 6 ประเทศในกลุ่ม G7 ได้แก่ อิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา ออกคำแถลงร่วมเตือนอิหร่านให้ล้มเลิกแผนส่งขีปนาวุธไปช่วยรัสเซีย ไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา

“หากอิหร่านยังคิดที่จะส่งขีปนาวุธทิ้งตัวหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้รัสเซีย เราก็พร้อมจะตอบโต้อย่างรวดเร็วและสอดประสานกันด้วยมาตรการใหม่ที่รุนแรงต่ออิหร่าน” คำแถลงร่วมของ G7 ระบุ

สหรัฐฯ ใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในการตอบโต้พฤติกรรมของก้าวร้าวต่างๆ ของอิหร่าน เช่น การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคที่ลงมือโจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ รวมถึงข้อครหาที่ว่าอิหร่านมีการใช้ “แฮกเกอร์” โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ด้วย

ท่าทีของ G7 มีขึ้นหลังจากที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อิหร่านมีการส่งขีปนาวุธทิ้งตัวชนิดยิงจากพื้นดินสู่พื้นดิน (surface-to-surface ballistic missiles) จำนวนมากไปให้รัสเซียใช้ทำสงครามในยูเครน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งเผยวานนี้ (15 มี.ค.) ว่า หนึ่งในทางเลือกที่ G7 กำลังพิจารณาอยู่ก็คือ การห้ามไม่ให้ “อิหร่านแอร์” ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของอิหร่านบินเข้าน่านฟ้ายุโรป

ปัจจุบัน สายการบินอิหร่านแอร์มีเที่ยวบินเดินทางสู่เมืองสำคัญๆ หลายเมืองในยุโรป

เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกด้วยว่า แม้สหรัฐฯ จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการส่งมอบขีปนาวุธเกิดขึ้นตามที่รอยเตอร์อ้างแล้วหรือยัง แต่เป็นที่รับรู้ชัดเจนว่า เตหะรานมีความพยายามเจรจากับมอสโกในเรื่องขีปนาวุธจริง

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงเวียนนาเมื่อวานนี้ (15) ว่า “สำหรับคำถามเกี่ยวกับขีปนาวุธอิหร่านที่ถูกส่งไปให้รัสเซียใช้ในยูเครนนั้น... เราได้ส่งคำเตือนที่ชัดเจนไปยังอิหร่านแล้วว่าอย่าทำ”

ถ้อยแถลงของ G7 ระบุว่า การที่อิหร่านส่งมอบขีปนาวุธให้รัสเซียนั้นจะถือเป็น “การยกระดับสนับสนุนสงครามของรัสเซียในยูเครนในทางวัตถุอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่ฝ่าฝืนทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรยูเอ็น”

แม้คำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่จำกัดไม่ให้อิหร่านส่งออกขีปนาวุธ โดรน และเทคโนโลยีบางประเภทจะหมดอายุลงไปแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค. ทว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงมาตรการคว่ำบาตรโครงการขีปนาวุธของอิหร่านไว้ ด้วยความกังวลว่าอาวุธจากประเทศแห่งนี้อาจถูกส่งไปให้กลุ่มติดอาวุธตัวแทน (proxies) ในตะวันออกกลาง รวมถึงรัสเซียด้วย

ขีปนาวุธทิ้งตัวถือเป็นอีกหนึ่งอาวุธอันทรงพลังที่จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้ฝ่ายรัสเซียในการทำสงครามรุกรานดินแดนยูเครน

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ พบว่าอิหร่านได้ส่งทั้งโดรน ระเบิดนำวิถี และพวกเครื่องกระสุนต่างๆ ให้มอสโก ซึ่งถูกนำไปใช้โจมตีเป้าหมายต่างๆ ในยูเครนมาแล้ว

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น