xs
xsm
sm
md
lg

เนทันยาฮูงานเข้า! แกนนำวุฒิสภาสหรัฐฯ กดดันจัดเลือกตั้งใหม่ ไม่พอใจรับมือสงครามกาซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แกนนำวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (14มี.ค.) เรียกร้องให้อิสราเอลจัดการเลือกตั้งใหม่ ในการออกมาส่งเสียงวิพาพกษ์วิจารณ์หนักหน่วงที่สุดโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของอเมริกา ต่อแนวทางรับมือสงครามในกาซาของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู

เสียงตำหนิจากชัค ชูเมอร์ แกนนำวุฒิสภาสหรัฐฯ เชื้อสายยิว มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันที่หนักหน่วงขึ้นจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในความขัดแย้ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กระตุ้นให้อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีและรุกรานแก้แค้น

"ในฐานะชาติประชาธิปไตยหนึ่ง อิสราเอลมีสิทธิเลือกผู้นำของตนเอง และอะไรจะเกิดขึ้นเราควรปล่อยให้มันเกิด แต่สิ่งสำคัญคือชาวอิสราเอลได้เป็นคนเลือก" ชูเมอร์กล่าว ในฐานะแกนนำเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ชี้แนะเกี่ยวกับกรอบเวลาของการเลือกตั้ง "มีความจำเป็นที่ต้องถกเถียงรอบใหม่เกี่ยวกับอนาคตของอิสราเอล ตามหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม"

ในสัญญาณความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างวอชิงตันและรัฐบาลเนทันยาฮู ชูเมอร์กล่าวว่าผู้นำอิสราเอลเป็น 1 ใน 4 "อุปสรรคขัดขวาง" สันติภาพ เช่นเดียวกับ พวกฮามาส มาห์มูด อับบาส ผู้นำองค์การปาเลสไตน์ และพวกอิสราเอลฝ่ายขวาจัด

เขากล่าวหา เนทันยาฮู ห้อมล้อมไปด้วยพวกหัวรุนแรง โดยชี้ไปที่บรรดารัฐมนตรีอย่าง เบซัลเอล สมอตริช และอิตามาร์ เบน-กาวีร์ และดูมีเจตนาอนทนอดกลั้นเกินไปต่อจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตในกาซา ซึ่งเป็นสาเหตุให้แรงสนับสนุนอิสราเอลจากทั่วโลกดำดิ่งสุดเป็นประวัติการณ์ "อิสราเอลไม่อาจอยู่รอด หากพวกเขากลายเป็นพวกนอกคอก" ชูเมอร์บอกกับสมาชิกวุฒิสภา

ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้นเมื่อนักรบฉามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอล ในวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,160 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และจับตัวประกันไปอีกประมาณ 250 คน จากนั้นอิสราเอลประกาศทำลายล้างฮามาส ปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ทางอากาศแก้แค้นและรุกรานทางภาคพื้นในกาซาสังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 31,341 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ความเห็นของ ชูเมอร์ ได้รับเสียงขานรับด้วยความยินดีจากJ Street กลุ่มล็อบบี้หัวเสรี ในฐานะการปรับเปลี่ยนท่าทีครั้งประวัติศาสตร์ของสมาชิกพรรคเดโมแครตฝักใฝ่อิสราเอล ซึ่งมันสะท้อนมุมมองเสียงส่วนใหญ่ของชาวอเมริกาเชื้อสายยิว

อย่างไรก็ตาม มันกระตุ้นปฏิกิริยาตีโต้กลับอย่างดุเดือดจากพรรคลิคุดของเนทันยาฮู ซึ่งตอบโต้ว่า "อิสราเอลไม่ใช่สาธารณรัฐกล้วย แต่เป็นประเทศอิสระ และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ภาคภูมิใจ ที่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา"

มิชาเอล เฮอร์ซ็อก เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำวอชิงตัน เรียกความเห็นของ ชูเมอร์ ว่าไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ส่วนนาฟตาลี เบนเนตต์ อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกมันว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองจากภายนอกต่อกิจการภายในของอิสราเอล

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ สมาชิกวุฒิสภาจากเดโมแครต 8 ราย เรียกร้อง ไบเดน ให้ยุติมอบความช่วยเหลือของสหรัฐฯ แก่อิสราเอล หากอิสราเอลขัดขวางการส่งผ่านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอเมริกาอย่างปลอดภัยเข้าสู่ฉนวนกาซา ในขณะที่ ไบเดน ก็ยกระดับส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เนทันยาฮู หนักหน่วงขึ้นเช่นกัน

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าการรุกรานเมืองราฟาห์ ทางใต้ของกาซาจะเป็นการข้าม "เส้นตาย" หากปราศจากแผนการปกป้องพลเรือนที่มีความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปลีกตัวรัฐบาลกลางออกห่างจากความเห็นของ ชูเมอร์ โดยชี้แจงว่าแกนนำวุฒิสภารายนี้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง

จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผยว่า ชูเมอร์ ได้แจ้งกับทำเนียบขาวแล้วกับสิ่งที่เขามีแผนจะพูด พร้อมระบุรัฐบาลเคารพอย่างเต็มที่ต่อสิทธิการแสดงความคิดเห็นของเขา "ประเด็นของการเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางรัฐสภาของรัฐบาลอิสราเอล รัฐบาลที่ได้รับเลือกจากประชาชาชาวอิสราเอล"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น