ราคาน้ำมันแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ในวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) หลังทบวงพลังงานสากลคาดตลาดตึงตัวในปี 2024 ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบและทองคำขยับลง การดีดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตก่อความคลางแคลงใจเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.54 ดอลลาร์ ปิดที่ 81.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์ ปิดที่ 85.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทบวงพลังงานสากลปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์พลังงานสำหรับปี 2024 เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ในขณะที่การโจมตีของพวกกบฏฮูตีก่อความปั่นป่วนแก่เส้นทางการเดินเรือสินค้าอันสำคัญ แต่เตือนว่า "เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจเป็นแรงต้านเพิ่มเติมต่อการใช้น้ำมัน"
ทั้งนี้ ทบวงพลังงานสากลคาดการณ์ว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 110,000 บาร์เรล แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ทบวงพลังงานสากลยังปรับลดคาดการณ์อุปทานพลังงานในปี 2024 และตอนนี้คาดหมายว่าอุปทานน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียง 800,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 102.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบในวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) หลังหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปแกว่งตัวลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน และการดีดตัวของราคาผู้ผลิต ก่อความสงสัยว่าเฟดอาจรอนานขึ้นกว่าที่คาดก่อนปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ดาวโจนส์ ลดลง 137.66 จุด (0.35 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 38,905.66 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 14.83 จุด (0.29 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,150.48 จุด แนสแดค ลดลง 49.24 จุด (0.30 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16,128.53 จุด
เอ็นวิเดียร่วงลงพร้อมๆ กับดัชนีเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่ดัชนีดังกล่าวขยับลงมาแล้วมากกว่า 3% ในสัปดาห์นี้ จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน หลังปรับขึ้นต่อเนื่องเมื่อเร็วๆ นี้
ข้อมูลพบว่าดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่ราคาสินค้าต่างๆ อย่างเบนซินและอาหารดีดตัวสูงขึ้น
FedWatch Tool ของ CME Group ระบุว่า เฟดถูกคาดหมายว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม ณ ที่ประชุมทางนโยบายในสัปดาห์หน้า เวลานี้ตลาดลดคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอดเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในเดือนมิถุนายน จากเดิมที่อยู่ระดับความเป็นไปได้ 81.7% เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน
ส่วนราคาทองคำปรับลดในวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) จากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อันเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 13.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,167.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)