xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนโฟกัสที่ปักกิ่ง ผู้ชิงชังจีนอย่าง‘เคิร์ต แคมป์เบลล์’ จึงได้เป็นรมช.ต่างปท.สหรัฐฯ ไม่ใช่ตัวเก็งที่เป็นผู้ชิงชังรัสเซียอย่าง‘วิกตอเรีย นูแลนด์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เซียร์เก สโตรคาน


เคิร์ต แคมป์เบลล์ (ซ้าย)  วิกตอเรีย นูแลนด์ (ขวา) ภาพจากวิกิพีเดีย นำมารวมเป็นภาพเดียวโดย MGRออนไลน์
Is this the real reason why Victoria Nuland quit?
By Sergey Strokan
08/03/2024

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเคน เลือกผู้เกลียดชังจีนให้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศคนใหม่ ไม่ใช่หัวหน้าผู้หวาดกลัวชิงชังรัสเซียที่เป็นตัวเก็งมานาน เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นสาเหตุทำให้เธอตัดสินใจอำลาจากไป

การลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯของ วิกตอเรีย นูแลนด์ ซึ่งจะมีผลบังคับในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้เกิดทฤษฎีขึ้นมาหลายหลากทีเดียว เกี่ยวกับเหตุผลซึ่งทำให้เธออำลาจากกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันอย่างไม่คาดหมายเช่นนี้ มอสโกนั้นเชื่อว่ามันเนื่องมาจากความล้มเหลว ของ “เส้นทางแห่งการต่อต้านรัสเซีย” และของ “โครงการยูเครน” โดยรวมของทางฝ่ายอเมริกัน เวลาเดียวกันนั้น สายตาในวอชิงตันยังกำลังหันมามองดูการเสนอชื่อแต่งตั้ง เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอินโด-แปซิฟิก ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ซึ่งก็คือบุคคลหมายเลขสองในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นนูแลนด์ พวกสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ตีความเรื่องนี้ว่าเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เอเชียกำลังกลายเป็นจุดสำคัญลำดับท็อปของวอชิงตันไปแล้ว ในท่ามกลางฉากหลังของการที่สหรัฐฯลดความสนใจในยูเครนลงมา

การประกาศอำลาของนูแลนด์ เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกเซอร์ไพรซ์ นักการทูตสหรัฐฯมากประสบการณ์ผู้นี้ ซึ่งแสดงบทบาทอย่างกระตือรือร้นมากในเหตุการณ์เมดาน ปี 2014 (2014 Maidan events) ในยูเครน เป็นที่จดจำกันได้ดีไม่เพียงแค่จากการนำเอาขนมคุกกี้ไปแจกพวกผู้ประท้วงที่จัตุรัสใจกลางกรุงเคียฟแห่งนั้น แต่ยังจากการที่เธอมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันในวิกฤตการณ์และการสู้รบขัดแย้งระดับระหว่างประเทศครั้งใหญ่ๆ ในช่วงเวลาสองสามทศวรรษที่ผ่านมาอีกด้วย

ประวัติการทำงานอย่างยาวนานกว่า 35 ปีในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯภายใต้คณะรัฐบาลชุดต่างๆ หลายหลาก แลดูน่าประทับใจกว่าประวัติย่อการทำงานของ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบันเสียอีก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ในตอนที่ทางกระทรวงประกาศข่าวการลาออกของนูแลนด์ ตัวบลิงเคนเองยังต้องเพิ่มเติมด้วยคำแถลงซึ่งมีเนื้อหายกย่องผลงานความสำเร็จต่างๆ ของนูแลนด์ ขณะพูดทบทวนว่าเธอได้ทำงานสนองประธานาธิบดีมาถึง 6 คน และรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 คน บลิงเคนย้ำด้วยว่าในตำแหน่งท้ายสุดของเธอในคณะบริหารโจ ไบเดน นั้น เธอได้ทำให้ความปรารถนาที่จะฟื้นฟู “ความเป็นผู้นำในทั่วโลกของอเมริกา” ขึ้นมาใหม่ กลายเป็นรูปธรรม

เจ้ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้กล่าวยกย่องเป็นพิเศษถึงบทบาทของนูแลนด์ ในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัสเซียขึ้นมา หลังจากการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้น โดยเรียกสิ่งที่เธอลงแรงใช้ความพยายามลงไปว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขาดหายไปได้ นอกจากนั้นยังกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้จะได้รับการศึกษาเรียนรู้โดยพวกนักการทูตและนักศึกษานโยบายการต่างประเทศในอนาคต

ภารกิจหลักที่นูแลนด์ปฏิบัติงานในช่วงปีท้ายๆ นี้ บลิงเคนบอกว่าคือการหาทางทำให้รัสเซีย “พ่ายแพ้ปราชัยในทางยุทธศาสตร์” และช่วยเหลือยูเครน “ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยขาของตนเองอย่างเป็นประชาธิปไตย ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทหาร” ทว่าทั้งๆ ที่เธอมีประสบการณ์และอิทธิพลอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ บลิงเคนก็ดูเหมือนไม่ได้พยายามที่จะโน้มน้าวให้เธอเลิกล้มความคิดในการลาออก ขณะเดียวกัน ข่าวนี้ก็กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงราวหิมะถล่มจากบรรดานักการเมือง, นักการทูต, ผู้เชี่ยวชาญ, และสื่อชั้นนำทั้งหลายของรัสเซีย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรียน ซาคาโรวา กล่าวว่า นูแลนด์ถูกบังคับให้ลาออก สืบเนื่องจากความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายว่าด้วยรัสเซียของไบเดน

“นี่คือความล้มเหลวของนโยบายที่ผูกพันเกี่ยวข้องอยู่กับนูแลนด์ เพราะเธอเป็นบุคคลแกนกลางในการผลักดันให้ใช้นโยบายแบบเกลียดกลัวรัสเซียต่อประเทศของเรา เรื่องนี้ตลอดทั้งเรื่องเลยผูกพันอยู่กับนูแลนด์” ซาคาโรวา กล่าว ตามคำพูดของเธอ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งผู้นี้ “ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนระดับสูงคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลระดับตัวหลักคนหนึ่งในการติดต่อประสานงานสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯอีกด้วย”

“เธอเป็นผู้ประสานงานของอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านรัสเซีย และของนโยบายต่อต้านรัสเซียของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของยูเครน ดิฉันไม่สามารถพูดได้ว่าเธอเป็นนักทฤษฎีนักอุดมการณ์คนหนึ่ง มีผู้คนที่นั่นคนอื่นๆ อีกที่เกลียดชังเรามากกว่า แต่เธอเป็นผู้ประสานงานอย่างแท้จริง เธอผูกพันอยู่กับนโยบายดังกล่าว และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำไมพวกเขาจึงกล่าวอำลาเธอในตอนนี้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอก

ขณะเดียวกัน ในวอชิงตันปรากฏมีทฤษฎีหนึ่งผงาดขึ้นมา ระบุว่าการลาออกของนูแลนด์เป็นผลลัพธ์ของการต่อสู้ชิงอำนาจกันซึ่งตัวเธอตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการแข่งขันแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ

ผู้รู้บางคนมองว่ามันเป็นสงครามของการสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาแข่งขันกัน โดยที่มีการวิ่งเต้นกับคนดังๆ อยู่หลังฉาก ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการพิพาทโต้แย้งกันเกี่ยวกับรูปโฉมในระยะยาวของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ และการจัดลำดับความสำคัญในนโยบายนี้

ทั้งนี้สมควรที่จะต้องระลึกเอาไว้ด้วยว่า หลังจาก เวนดี้ เชอร์แมน (Wendy Sherman) ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯในฤดูร้อนปีที่แล้ว หน้าที่การงานของเธอก็มี นูแลนด์ นี่แหละเป็นผู้รักษาการอยู่เป็นเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงสิ้นปี 2023 ทำเนียบขาวได้ตัดสินใจอย่างไม่เคยคาดคิดกันมาก่อนด้วยการเสนอชื่อแคมป์เบลล์ ซึ่งเป็นลูกหม้อมากประสบการณ์อีกคนหนึ่งของวงการทูตอเมริกัน เข้าครองตำแหน่งหมายเลขสองในกระทรวงการต่างประเทศ แคมป์เบลล์ ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นบิ๊กเนมในโลกการทูตระดับเดียวกับนูแลนด์ มีเส้นทางงานอาชีพของเขาไม่ใช่ในย่านยุโรป-แอตแลนติก หากแต่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

“คุณนูแลนด์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นคู่แข่งขันผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยธรรมชาติที่จะได้เข้าแทนที่คุณเชอร์แมนในแบบถาวร แต่แล้วคุณบลิงเคนกลับเสนอชื่อ เคิร์ต แคมป์เบลล์ อดีตผู้แทนด้านเอเชียในสภาความมั่นคงแห่งชาติ” หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งครั้งนี้ ส่วน เจมส์ คาร์เดน (James Carden) อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสติ (RIA Novosti) ของทางการรัสเซียดังนี้: “ผมรู้สึกเซอร์ไพรซ์จริงๆ ที่เธอ (นูแลนด์) ยังอยู่ต่อมานานได้ถึงขนาดนี้ ผมตระหนักได้ทีเดียวว่าเวลาของเธอหมดแล้ว เมื่อ เคิร์ต แคมป์เบลล์ ได้ตำแหน่งหมายเลขสองของกระทรวงไปครอง” ในการลงคะแนนเสียงของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์นั้น ญัตติการสนอชื่อแคมป์เบลล์ได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางท่วมท้นจากทั้งสองพรรค นั่นคือ วุฒิสมาชิก 92 คนออกเสียงเห็นชอบ มี 5 คนเท่านั้นออกเสียงคัดค้าน

“การที่ประธานาธิบดีไบเดนเลือกเคิร์ต แคมป์เบลล์ เป็นการส่งสัญญาณแสดงความปรารถนาที่จะต่อเนื่องความพยายามที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาโดยประธานาธิบดีคนก่อนๆ หน้าเขาเมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว ที่จะปรับเปลี่ยนโฟกัสของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯมาที่จีน ในฐานะที่เป็นตัวท้าทายใหญ่ที่เผชิญหน้าอเมริกาในอนาคต” สำนักข่าวเอพีแสดงความเห็นเช่นนี้สำหรับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งคราวนี้

“เคิร์ต แคมป์เบลล์ เป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการพัฒนานโยบาย “ปักหมุดที่เอเชีย” (pivot to Asia) ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มาเป็นยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของประธานาธิบดีไบเดน” ยูริ ทัฟรอฟสกี (Yuri Tavrovsky) ประธานของสภาผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยมิตรภาพรัสเซีย-จีน (chairman of the expert council of the Russian-Chinese Friendship) แห่งคณะกรรมาธิการสันติภาพและการพัฒนา (Peace and Development Committee) บอกกับหนังสือพิมพ์คอมเมอร์ซันต์ (Kommersant)

“ในแง่มุมทางปฏิบัติแล้ว เขามีความแข็งขันเป็นพิเศษในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารมุ่งต่อต้านจีนอย่าง ออคัส (AUKUS ซึ่งเป็นชื่อที่เกิดจากการรวมอักษรย่อชื่อ ประเทศทั้ง 3 ที่เข้าร่วม คือ ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐฯเข้าด้วยกัน) และในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ส่วนประกอบทางการทหารของกลุ่มคว็อด (QUAD group ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า การสนทนาทางด้านความมั่นคงจตุรภาคี Quadrilateral Security Dialogue โดย 4 ชาติที่เข้าร่วม คือ ออสเตรเลีย, อินเดีย, สหรัฐฯ, และญี่ปุ่น)” ทัฟรอฟสกี กล่าว “การแต่งตั้งแคมป์เบลล์ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอันดับสองในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นการสาธิตให้เห็นถึงเส้นทางระยะยาวของทำเนียบขาวคือการมุ่งปิดล้อมจีน ถึงแม้มีคำพูดหรือท่าทางต่างๆ ที่ดูเหมือนกับมีความปรารถนาที่จะปรองดองกันก็ตามที”

ด้วยเหตุนี้เอง ตามความเห็นของ ทัฟรอฟสกี “ตำแหน่งหมายเลขสองในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจึงไม่ได้ตกเป็นของผู้เกลียดชังรัสเซียรายใหญ่ที่สุด แต่เป็นของผู้เกลียดชังจีนรายใหญ่ที่สุด”

เซียร์เก สโตรคาน เป็นคอลัมนิสต์ของคอมเมอร์ซันต์ หนังสือพิมพ์รายวันระดับชาติแนวธุรกิจของรัสเซีย

(ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยคอมเมอร์ซันต์ ทีมงานของ RT สื่อทางการรัสเซียนำมาแปลเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ โดยสามารถดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่
https://www.rt.com/news/593959-why-victoria-nuland-quit/)

กำลังโหลดความคิดเห็น