xs
xsm
sm
md
lg

มาครงทำท่าฮึกเหิมพร้อมทำศึกสู้รบกับรัสเซีย แต่ความเป็นจริงก็คืออียูไม่ได้ตระเตรียม “แผนบี” ใดๆ เผื่อไว้ใช้กรณีมอสโกเป็นผู้ชนะในสงครามยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ขณะเข้าร่วมการประชุมแถลงข่าวในตอนท้ายของการประชุมเพื่อแสดงความสนับสนุนยูเครน ที่จัดขึ้นอย่างกะทันหัน ณ พระราชวังเอลิเซ่ อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Macron pushes war against Russia, EU has no Plan B
By STEPHEN BRYEN
28/02/2024

พวกประเทศสมาชิกนาโต้บอกว่าคัดค้านการส่งทหารไปยังยูเครน ทว่ามีกรณีที่สามารถหยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นได้ว่าแท้ที่จริงพวกเขาได้กระทำเช่นนั้นไปเรียบร้อยแล้ว มิหนำซ้ำจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของ “อาสาสมัคร”ชาวต่างชาติ ที่ปฏิบัติการอยู่ในยูเครนเหล่านี้ ยังทำให้เป็นเรื่องลำบากยากเย็นขึ้นทุกทีสำหรับพวกรัฐนาโต้ที่จะหาเหตุผลข้อแก้ตัวอย่างชนิดที่พอดูน่าเชื่อถืออยู่บ้าง

โทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น รายงาน [1] การแสดงความคิดเห็นของ มาครง เอาไว้ ดังนี้:

มาครงกล่าวว่า “เขาและพวกผู้นำยุโรปอื่นๆ อีก 21 ชาติที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้เห็นชอบเกี่ยวกับการจัดส่งบุคลากรทางทหารไปประจำ” ที่ยูเครน -แต่ได้มีการหารือถกเถียงกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสในเรื่องนี้

“ไม่มีสิ่งไหนเลยที่สมควรถูกบอกปัดออกไป” [มาครง] กล่าว “เราจะทำอะไรก็ตามที่จะทำให้เราสามารถป้องกันไม่ให้รัสเซียได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้”

อย่างไรก็ดี ให้หลังกันไม่นานนัก นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ช็อลซ์ ของเยอรมนี ผู้ซึ่งเข้าร่วมการประชุมหนนี้ที่จัดขึ้นในกรุงปารีสด้วย ก็ออกมาระบุว่าคำถามดังกล่าวนี้มีการถกเถียงกันจริง แต่บรรดาผู้นำยุโรปทั้งหลายต่างพากันปฏิเสธอย่างเป็นเอกฉันท์ไม่เอาด้วยกับเรื่องการส่งทหารไปสู้รบกับรัสเซียในยูเครน นอกจากนั้นแล้วคำพูดนี้ของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังได้รับการสนับสนุนจากเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (คนเดียวกับที่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ได้ “อนุญาต” ให้ยูเครนบอมบ์รัสเซียด้วยเครื่องบิน เอฟ-16 ที่พวกชาตินาโต้กำลังจะจัดส่งไปให้แก่พวกเขา)

ทั้งข้อเสนอของมาครงในเรื่องการจัดส่งกองทหารนาโต้ไปยูเครน และการที่ข้อเสนอนี้ดูเหมือนถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง บ่งชี้ให้เห็นว่ายุโรปไม่ได้มี “แผนบี” ในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน นอกเหนือจากการผลักดันให้มีการจัดส่งอาวุธเพิ่มมากขึ้นแก่เคียฟ ด้วยความคาดหวังอย่างลับๆ ล่อๆ ว่า อาวุธเหล่านี้อาจจะสามารถส่งผลให้มีการชะลอเวลาสำหรับการเกิดสิ่งที่จริงๆ แล้วก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้

สำหรับปฏิกิริยาของสาธารณชนต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของมาครงครั้งนี้ ออกมาในทางลบเอามากๆ โดยในการสำรวจความคิดเห็นแบบทันทีทันควันด้วยการตั้งคำถามว่า “คุณยินดีไหมที่จะให้จัดส่งกองทหารภาคพื้นดินของฝรั่งเศสไปยังยูเครน?” ปรากฏว่าสาธารณชนชาวฝรั่งเศสตอบว่า “ไม่ยินดี” ในสัดส่วนมากกว่า 3 ต่อ 1

ผลโพลสำรวจความคิดเห็นแบบทันทีทันควัน ซึ่งชาวฝรั่งเศสจำนวนท่วมท้นบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดส่งทหารภาคพื้นดินของฝรั่งเศสไปยังยูเครน
มารี เลอ เปน (Marie Le Pen) ผู้นำฝ่ายค้านของฝรั่งเศส ออกมาเอาเรื่องกับมาครงในทันที โดยเธอบอกว่า “ดิฉันไม่ทราบว่าทุกๆ คนตระหนักกันหรือไม่ถึงความสาหัสร้ายแรงของคำแถลงแบบนี้ เอมมานูเอล มาครง กำลังแสดงบทบาทเป็นผู้นำในยามสงคราม แต่ว่ามันเป็นชีวิตของลูกๆ ของเรานะที่เขากำลังพูดถึงด้วยอาการขาดไร้ความระมัดระวังใส่ใจถึงขนาดนี้ ทั้งนี้สิ่งที่ถูกเขานำเอามาวางเป็นเดิมพัน คือสันติภาพหรือสงครามในประเทศของเราทีเดียวนะ”

สำหรับการประชุมที่ปารีสคราวนี้ถูกจัดขึ้นมาโดยอียู เพื่อมุ่งแสดงความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกับยูเครน ในเวลาที่ความสนับสนุนซึ่งให้แก่ยูเครนกำลังลดถอยลงทั้งในยุโรปและในสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ช็อลซ์ ของเยอรมนี (ขวา) และเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของ มาครง ที่ให้จัดส่งกองทหารนาโต้ไปยูเครน
นอกเหนือจาก มาครง และ ช็อลซ์ แล้ว ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมคราวนี้ยังมีอาทิ ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดา แห่งโปแลนด์ และนายกรัฐมนตรีมาร์ก รึตเตอ ของเนเธอร์แลนด์ รึตเตอกำลังอยู่บนเส้นทางสิ้นสุดอำนาจลงในแดนดัตช์ และเล็งที่จะเป็นเลขาธิการองค์การนาโต้คนต่อไป ส่วนประธานาธิบดีดูดาของโปแลนด์กำลังประสบปัญหาสูญเสียความนิยมลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเผชิญกับการลุกฮือประท้วงของพวกเกษตรกรซึ่งออกมาขัดขวางไม่ให้ยูเครนสามารถขนส่งข้าวโพดและข้าวสาลี (ที่มีราคาถูกกว่าผลผลิตของโปแลนด์) ผ่านดินแดนโปแลนด์เข้าสู่อียู

ขบวนรถแทร็กเตอร์ของเกษตรกรชาวโปแลนด์ เข้าร่วมการประท้วงปิดถนนสายต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประณามการนำเข้าผลผลิตการเกษตรจากยูเครน ซึ่งกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างแรง
หรือในรายของ ช็อลซ์ ความนิยมในตัวเขาก็ดูเหมือนดำดิ่งสู่ก้นเหวในเยอรมนี แรงสนับสนุนเขาเวลานี้เหลืออยู่แค่ระดับ 28% และอาจจะลงลึกต่อไปอีกขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้าเกาะกุมเยอรมนีอย่างแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ

ผลลัพธ์ประการหนึ่งจากการจัดประชุมของอียูที่ปารีสคราวนี้ ได้แก่เรื่องความสนับสนุนในการจัดส่งพวกอาวุธที่มีพิสัยทำการไกลขึ้นไปให้แก่ยูเครน ถึงแม้ ช็อลซ์ กล่าวย้ำในระยะหลังๆ มานี้ว่า เยอรมนีจะไม่จัดส่งขีปนาวุธร่อน “ทอรัส” (Taurus cruise missiles) ไปให้ยูเครน [2] ก็ตามที ขีปนาวุธทอรัสนั้นมีพิสัยทำการไกล 500 กิโลเมตร (311 ไมล์)

คำถามว่าด้วยทหารรับจ้าง

ในยูเครนเวลานี้ มี “อาสาสมัคร” ชาวต่างชาติเป็นจำนวนหลายร้อยคน ถ้าหากไม่ใช่หลายๆ พันคน กองกำลังชาวต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมาจากโรมาเนีย, โปแลนด์, และฝรั่งเศส แล้วยังเพิ่มเติมสมทบด้วยพวกทหารจากสหราชอาณาจักร, เยอรมนี, และต่างชาติรายอื่นๆ ชาวอเมริกันก็มีอยู่ในยูเครนเป็นจำนวนอุ่นหนาฝาคั่งทีเดียว โดยที่มีบางคนถูกสังหารเสียชีวิตจากการถูกโจมตีทิ้งระเบิดหรือจากการปฏิบัติการในแนวหน้า

“อาสาสมัคร” เหล่านี้ ดูเหมือนได้รับค่าตอบแทนอย่างงาม และได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากพวกรัฐบาลยุโรป พวกเขาสามารถแบ่งอย่างหยาบๆ ออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ นั่นคือ ผู้ดำเนินการใช้อาวุธ(ที่มีความสลับซับซ้อน) ซึ่งผ่านการฝึกในทางเทคนิคมาแล้ว, ที่ปรึกษาทางด้านข่าวกรองและทางยุทธวิธี, และนักรบในแนวหน้า

รัสเซียเคยอ้างว่าได้สังหาร “อาสาสมัคร” ชาวฝรั่งเศสตายไปราว 60 คน ตอนที่พวกเขาโจมตีโรงแรมแห่งหนึ่งที่ถูกใช้เป็นค่ายทหารในเมืองคาร์คิฟ ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเรื่องเป็นอย่างที่มอสโกว่ามา [3] ครั้นแล้วก็เรียกเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำปารีสมาประท้วงตักเตือนที่สังหารพลเมืองชาวฝรั่งเศส ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายรัสเซียยังได้โจมตีใส่หน่วยซึ่งทำหน้าที่ใช้ระบบต่อสู้ขีปนาวุธ “แพทริออต” [4] , ตลอดจนพวกสนามบิน, และศูนย์สั่งการบัญชาการต่างๆ ซึ่งได้คร่าชีวิต “อาสาสมัคร” ต่างชาติไปจำนวนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน นิวยอร์กไทมส์ [5] เพิ่งเผยแพร่รายงานเปิดเผยว่า สหรัฐฯกำลังดำเนินการสถานีของซีไอเออย่างน้อย 12 แห่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวชายแดนติดต่อกับรัสเซีย ศูนย์ข่าวกรองเหล่านี้กำลังช่วยเหลือยูเครนในการระบุชี้เป้าหมายต่างๆ ภายในรัสเซีย ซึ่งนี่แหละคือวัตถุประสงค์หลักของพวกมัน ไม่เพียงแต่การปฏิบัติการด้านข่าวกรองเหล่านี้นำไปสู่การจัดหาจัดส่งข่าวกรองทางทหารที่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงให้แก่ยูเครนเท่านั้น สถานีเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับการระบุพวกเป้าหมายทางพลเรือนและทางทหารซึ่งอาวุธพิสัยทำการไกลๆ ของยูเครนสามารถยิงไปถึงอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ซีไอเอยังกำลังให้ความสนับสนุนแก่กองกำลังปฏิบัติการพิเศษหน่วย 2245 ของยูเครน (Ukrainian Special Forces Unit 2245) ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการโจมตีด้วยกองกำลังคอมมานโดข้ามเข้าไปภายในพรมแดนของรัสเซีย ตลอดจนให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มที่เรียกกันว่า “กรมที่ 5” (Fifth Directorate) [6] ซึ่งประกอบด้วยทีมลอบสังหารที่ปฏิบัติการอยู่ในดินแดนซึ่งฝ่ายรัสเซียยึดครองอยู่ รวมทั้งในรัสเซียเองด้วย

มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ว่า โดรนโจมตีลำที่ทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียไปลำหนึ่ง [7] นั้น พึ่งพาอาศัยข่าวกรองที่จัดหาให้โดยซีไอเอ (การโจมตีนี้ได้รับการรายงานโดยหน่วยข่าวกรองสหราชอาณาจักร[8] )

รัสเซียสูญเสียเครื่องบินทิ้งระเบิดแบ็คไฟร์ ตู—22เอ็ม3 (Tu-22M3 Backfire bomber) [9] ที่ว่านี้ไปลำหนึ่ง ขณะจอดอยู่ที่ฐานทัพอากาศโซลซี-2 (Soltsy-2 airbase) [10] ห่างจากชายแดนติดต่อกับยูเครน 400 ไมล์ (650 กิโลเมตร) จากการถูกโจมตีด้วยโดรนกามิกาเซ่พิสัยทำการไกลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมปีที่แล้ว สิ่งที่ควรต้องพิจารณากันก็คือว่าการโจมตีนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งอาจจะมีการติดตั้งอยู่ที่เครื่องบินในขณะนั้นก็ได้

ภาพที่ดูเหมือนแสดงให้เห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลความเร็วเหนือเสียงแบบ Tu-22M3 ของกองทัพอากาศรัสเซีย ตกอยู่ท่ามกลางกองเพลิง ภายหลังหน่วยข่าวกรองทหารของสหราชอาณาจักรอ้างว่าโดรนยูเครนลำหนึ่งประสบความสำเร็จในการโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย
พวกสถานีซีไอเอเหล่านี้มีลักษณะ “เป็นทางการ” ทว่าก็ปิดลับ กระนั้น แน่ใจได้เลยว่าฝ่ายรัสเซียทราบดีเกี่ยวกับพวกมัน อย่างที่พวกเขาทราบดีเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอดแนมและชี้เป้าที่กระทำกันอยู่บ่อยๆ [11] โดยอากาศยานและโดรนของสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, และอื่นๆ เหนือพื้นที่น่านน้ำสากลในทะเลดำ

จำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของ “อาสาสมัคร” ที่ปฏิบัติการอยู่ในยูเครน ทำให้เป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกรัฐนาโต้ที่จะยังคงใช้ท่าทีปฏิเสธอย่างชนิดที่พอดูน่าเชื่อถืออยู่บ้าง เวลาเดียวกันนั้น พวกประเทศนาโต้บอกว่าพวกเขาคัดค้านการส่งทหารไปยังยูเครน ทว่ามีกรณีที่สามารถหยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นได้ว่าแท้ที่จริงพวกเขาได้กระทำเช่นนั้นไปเรียบร้อยแล้ว

ข้อสรุปที่ยังปิดบังกันไว้ของการประชุมที่ปารีส

อียูกำลังแสดงบทบาทในยุโรปเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ [12] บางทีมันอาจจะเป็นการมุ่งเสริมมุ่งเติมถ้ายังไม่ใช่การเข้าแทนที่นาโต้เสียทีเดียว ฝ่ายยุโรปนั้นมีความกังวลว่าถ้าทรัมป์ชนะการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสหรัฐฯที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้ เขาอาจจะลดความสนับสนุนของสหรัฐฯที่ให้แก่นาโต้ลงมาอย่างสำคัญ อียูกำลังหาทางที่จะเข้าเติมสุญญากาศดังกล่าวนี้

ปัญหาหนึ่งสำหรับอียูก็คือ สหภาพยุโรปไม่ได้เป็นองค์การทางการทหาร และการปฏิบัติการขององค์การนี้ก็ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสนธิสัญญาหรือข้อตกลงทางการทหารใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเวลานี้อียูจึงกำลังขี่อยู่บนหลังของนาโต้ และพยายามที่จะขับดันให้นาโต้ออกมติต่างๆ ตามที่ตนเองต้องการ

คำแถลงในครั้งนี้ของ มาครง มีพื้นฐานมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปในเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรป [13] ที่ว่ายูเครนกำลังพ่ายแพ้และรัสเซียกำลังจะชนะสงครามในประเทศนั้น มีความเป็นไปได้อย่างมากที่อารมณ์ความรู้สึกนี้มีที่มาจากรายงานซึ่งพวกผู้นำยุโรปกำลังได้รับจากเหล่านักวิเคราะห์ของนาโต้ และจากหน่วยงานข่าวกรองของพวกเขาเอง

ไม่มีแผนบี

แม้กระทั่งในการจัดหาจัดส่งอาวุธให้ยูเครน ฝ่ายยุโรปมีน้อยครั้งนักที่จัดส่งทุกสิ่งทุกอย่างให้ไปตามที่พวกเขาให้สัญญาเอาไว้ [14] ยูเครนร้องทุกข์ว่ามีข้าวของเพียงแค่ราวๆ ครึ่งหนึ่ง [15] ของที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้เท่านั้นที่จัดส่งมาถึงพวกเขาจริงๆ ในท้ายที่สุด สภาพเช่นนี้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในทางปฏิบัติ ตั้งแต่พวกขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ ไปจนถึงกระสุนปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ (ยูเครนยังร้องทุกข์ว่าอาวุธจำนวนมากที่พวกเขาได้รับ ไม่ได้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หรือไม่ก็เก่าหรือกระทั่งไม่สามารถใช้งานได้)

กระทั่งฝ่ายฝรั่งเศสเองก็ยังรู้สึกต้องระมัดระวังตัว ถึงแม้การคุยโวครั้งนี้ออกมาจากตัวมาครงเองก็ตามที ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงว่า การกล่าวอ้างของฝ่ายยูเครนที่ว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจากันเพื่อถ่ายโอนเครื่องบินขับไล่มิราจ (Mirage) ไปให้ยูเครนนั้นไม่เป็นความจริง และฝรั่งเศสไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะจัดส่งเครื่องบินขับไล่มิราจไปให้ยูเครนเลย [16]

ทว่าภาวะความขาดแคลนไม่เพียงพอจริงๆ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่กับฝ่ายยุโรปเท่านั้น หากกับสหรัฐอเมริกาด้วย มันไม่มีแผนการทางเลือกอื่นใดเลย ไม่มีแผนบีอะไรทั้งนั้น ที่จะนำมาใช้รับมือกับชัยชนะของรัสเซียในยูเครน แม้กระทั่งพวกผู้นำยูเครนตอนนี้ก็เข้าใจกันแล้วว่าพวกเขาตกเข้าไปอยู่ในกับดักเรียบร้อยแล้ว

ด้วยการปฏิเสธไม่ยอมเจรจาต่อรองอย่างทันกาลกับรัสเซีย สหรัฐฯและนาโต้ก็ได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพที่จะต้องประสบความปราชัยอย่างน่าอับอายขายหน้า และบางทีชาวยูเครนอาจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับชัยชนะของรัสเซีย ไม่ว่าจะด้วยความฝืนใจสักเพียงไหนก็ตามที

สตีเฟน ไบรเอนเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

เชิงอรรถ

[1]https://substack.com/redirect/17041786-1793-4854-bb02-8896722bb92e?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[2]https://substack.com/redirect/d6e98e96-fb84-4c57-be20-d6a89a8301f4?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[3]https://substack.com/redirect/031d7a45-dcbf-4906-85b3-e9a5c6a21fe3?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[4]https://substack.com/redirect/0b41d6e5-936d-407e-9df5-b66d3b8ce0bd?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[5]https://substack.com/redirect/8bd8cb2d-f513-4ef5-a479-46520195eaac?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[6]https://substack.com/redirect/f18fc698-4b4f-45ce-ab63-c5d392bb1097?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[7]https://substack.com/redirect/69ef46a6-dc47-4850-a1f3-26d53818a88c?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[8]https://substack.com/redirect/9b07881b-18fc-4622-a3a0-64214c816d60?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[9]https://substack.com/redirect/707ce850-5661-4a25-b60a-10b5a2610593?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[10]https://substack.com/redirect/87beabe1-bf17-438a-ba52-7820525cc73b?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[11]https://substack.com/redirect/2c741e95-3c35-4ae5-821e-085c652ac839?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[12]https://substack.com/redirect/c7937451-0531-41ed-87f0-de15707c7d5c?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[13]https://substack.com/redirect/a2242ccc-39a6-4075-bacc-2c9a750a98b2?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[14]https://substack.com/redirect/e3ae0dce-b8af-4d2b-bf3b-e1c296329b1f?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[15]https://substack.com/redirect/82fd69fa-5c11-4448-90fc-2d3abbb30ec6?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[16]https://substack.com/redirect/43c8dc5c-6ba5-41e6-8237-121d60e3df37?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
กำลังโหลดความคิดเห็น