xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจริง!! นักวิทย์อียูยืนยัน ก.พ.2024เป็นกุมภาพันธ์ร้อนจัดที่สุด ยืดช่วงอุณหภูมิโลกสูงทำลายสถิติต่อเนื่องเป็น 9 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) ชายผู้หนึ่งซื้อเครื่องดื่มเย็นๆ จากแผงข้างถนนในวันที่แดดเริงแรง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ทั้งนี้ โคเปอร์นิคัส หน่วยงานติดตามสภาพภูมิอากาศของอียูเพิ่มออกรายงานว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2024 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอุณหภูมิร้อนที่สุดของโลกเท่าที่มีบันทึกกันเอาไว้
โคเปอร์นิคัส ไคลเมต เชนจ์ เซอร์วิส (C3S) หน่วยงานติดตามสภาพภูมิอากาศของยุโรปแถลงในวันพุธ (6 มี.ค.) เดือนที่ผ่านมาคือเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อนที่สุด และนับเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันแล้วที่อุณหภูมิทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้นฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนที่แล้วยังเป็นฤดูหนาวที่อุ่นที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยคาดว่า “ปรากฏการณ์ลานีญา” จะมาถึงเร็วกว่าที่คาด และช่วยลดแนวโน้มที่ปีนี้จะเป็นอีกปีที่โลกร้อนที่สุด

ก่อนหน้านี้ โคเปอร์นิคัส เคยระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่า ช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ถึงเดือนมกราคม 2024 เป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิโลกสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียสยาวนาน 12 เดือนติดต่อกัน

ในรายงานประจำเดือนที่เผยแพร่ล่าสุดนี้ ยืนยันว่าแนวโน้มดังกล่าวยังคงอยู่ โดยอุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.54 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนกุมภาพันธ์ปี 1850-1900 ซึ่งเป็นระยะเวลาอ้างอิงของยุคก่อนอุตสาหกรรมอยู่ 1.77 องศาเซลเซียส

โคเปอร์นิคัสแจงว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนที่แล้ว อุณหภูมิรายวันของทั่วโลก “สูงผิดปกติ” โดยมี 4 วันติดต่อกันที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่ายุคอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา

อย่างไรก็ตาม แม้อุณหภูมิในช่วง 4 วันดังกล่าวสูงกว่าขีดจำกัดของข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีส 2015 ที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสจากยุคอุตสาหกรรม แต่คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S อธิบายว่า เป้าหมายของข้อตกลงปารีสวัดจากอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 20 ปี

ขณะเดียวกัน ฤดูหนาวที่ผ่านมาคือระหว่างเดือนธันวาคม 2023 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ยังเป็นฤดูหนาวที่อุ่นที่สุด ทำลายสถิติเดิมของฤดูหนาวปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ

รายงานยังพบว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเดือนกุมภาพันธ์สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

ทั้งนี้ มหาสมุทรครอบคลุมอาณาบริเวณ 70% ของโลก และช่วยดูดซับความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากมลพิษจากคาร์บอนจากกิจกรรมของมนุษย์ไว้ถึง 90% และมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นหมายถึงความชื้นในบรรยากาศ ซึ่งจะนำไปสู่สภาพอากาศที่ผิดปกติ เช่น ลมกรรโชกแรงและฝนตกหนักมาก

บูออนเทมโปกล่าวว่า แม้อุณหภูมิทั่วโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันในช่วง 9 เดือนล่าสุด แต่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบ เช่น วัฎจักรธรรมชาติ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ พฤติกรรมของดวงอาทิตย์ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แม้อุณหภูมิโลกโดยรวมยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิจัย แต่บูออนเทมโปเตือนว่า สภาพภูมิอากาศได้เข้าสู่รูปแบบที่มนุษยชาติ ตลอดจนถึงเมือง วัฒนธรรม ระบบขนส่ง ระบบพลังงานไม่เคยเผชิญมาก่อน

อย่างไรก็ตาม บูออนเทมโปคาดว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้ผิวน้ำทะเลตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นและทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นนั้น จะสิ้นสุดลงต้นฤดูร้อนนี้ และการเปลี่ยนผ่านสู่ปรากฏการณ์ลานีญาที่อุณหภูมิโลกเย็นลง อาจเร็วกว่าที่คาดไว้ ช่วยลดแนวโน้มที่ปี 2024 จะกลายเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกร้อนเป็นประวัติการณ์

(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น