วิกตอเรีย นูแลนด์ นักการทูตที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ และตกเป็นเป้าหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งจากทัศนะสายเหยี่ยวของเธอต่อรัสเซีย ตลอดจนการปฏิบัติการของมอสโกในยูเครน จะเกษียณอายุและอำลาตำแหน่งของเธอในเดือนนี้ กระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาแถลงในวันอังคาร (5 มี.ค.)
นูแลนด์ เจ้าหน้าที่มืออาชีพทำงานด้านกิจการต่างประเทศ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการยุโรป (Assistant Secretary of State for Europe) ในช่วงคณะบริหารบารัค โอบามา แต่ลาออกหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และได้หวนกลับเข้าทำงานภาครัฐบาลอีกครั้งในตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมือง (Under Secretary of State for Political Affairs) ในคณะบริหารโจ ไบเดน
เธอเคยเป็นแคนดิเดตคนหนึ่งที่จะได้สืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ (deputy Secretary of State) ต่อจาก เวนดี เชอร์แมน และได้เข้ารักษาการในตำแหน่งนี้ด้วยซ้ำตั้งแต่ที่เชอร์แมน ขอเกษียณอายุลาออกเมื่อหลายเดือนก่อน ทว่าเธอตกเป็นผู้พ่ายแพ้ในศึกชิงตำแหน่งระหว่างบุคลากรภายในคณะบริหาร เมื่อประธานาธิบดีไบเดน เสนอชื่อแต่งตั้ง เคิร์ต แคมป์เบลล์ ให้ขึ้นครองตำแหน่งเบอร์สองของกระทรวง โดยที่แคมป์เบลล์เข้ารับหน้าที่นี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นูแลนด์เคยเป็นข้าราชการทำงานอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมอสโก ในช่วงทศวรรษ 1990 ที่เต็มไปด้วยความอลหม่านวุ่นวาย และอยู่ในกรุงมอสโกระหว่างที่เกิดความพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ของรัสเซีย
จากนั้นเธอได้ครองตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การนาโต ก่อนจะได้รับการทาบทามให้เป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอนที่ ฮิลลารี คลินตัน ขึ้นเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงนี้ ในสมัยแรกของประธานาธิบดีโอบามา
ในฐานะที่เป็นโฆษกของกระทรวง และต่อมาในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรป นูแลนด์ได้สร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่พวกผู้นำรัสเซียหลายต่อหลายคน จากท่าทีปกป้องยูเครนอย่างกระตือรือร้นของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัสเซียประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียในปี 2014
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ที่ดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยสองของประธานาธิบดีโอบามา เคยเล่าอยู่หลายครั้งว่า ตอนที่นูแลนด์ออกจากตำแหน่งโฆษกกระทรวงเพื่อไปเป็นนักการทูตระดับท็อปของสหรัฐฯ ในกิจการด้านยุโรป ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลาที่เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น รัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซียได้กล่าวแสดงความยินดี จากการที่เขา “กำจัดผู้หญิงคนนั้น” เคร์รีเล่าว่าเขาได้ตอบลาฟรอฟไปว่าเขาไม่ได้กำจัดเธอ “ผมเลื่อนตำแหน่งให้เธอ”
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนปัจจุบันได้กล่าวยกย่องสรรเสริญนูแลนด์สำหรับการรับราชการมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษครึ่ง และขอบคุณเธอสำหรับบทบาทของเธอในการปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ในตลอดทั่วโลกภายใต้ประธานาธิบดี 6 คน และรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 คน
“แต่มันเป็นความเป็นผู้นำของ ตอเรีย ในเรื่องยูเครน ซึ่งบรรดานักการทูตและนักศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศจะศึกษาเรียนรู้ในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป” บลิงเคนระบุในคำแถลงซึ่งออกมาหลังจากเธอประกาศลาออก
“ความพยายามของเธอเป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถแยกออกจากการเข้าเผชิญหน้ากับเรื่องที่ปูตินเข้ารุกรานยูเครนอย่างเต็มพิกัด ระดมกำลังของกลุ่มพันธมิตรระดับโลกเพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะประสบความล้มเหลวในทางยุทธศาสตร์ และช่วยเหลือยูเครนทำงานมุ่งหน้าสู่วันเวลาที่พวกเขาจะสามารถยืนอย่างแข็งแรงบนขาของพวกเขาเอง—อย่างเป็นประชาธิปไตย ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทหาร”
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้รีบหาประโยชน์จากข่าวการลาออกของนูแลนด์ในทันที โดยเรียกว่ามันคือการยอมรับถึงความล้มเหลวของนโยบายสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซีย
“พวกเขาจะไม่บอกคุณถึงเหตุผลนี้หรอก” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา แถลง “แต่มันเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ –ความล้มเหลวของเส้นทางแอนตี้รัสเซียของคณะบริหารไบเดน แนวความคิดเกลียดกลัวรัสเซีย (Russophobia) ซึ่งวิกตอเรีย นูแลนด์ เสนอออกมาให้เป็นความคิดหลักทางด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ กำลังลากถ่วงพวกพรรคเดโมแครตให้จมลงสู่ก้นเหว เหมือนกับเป็นก้อนหินก้อนหนึ่ง”
นูแลนด์ จะถูกแทนที่ชั่วคราวในตำแหน่งปลัดกระทรวง โดยนักการทูตอาชีพอีกผู้หนึ่ง นั่นคือ จอห์น เบสส์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นผู้ดูแลเมื่อตอนที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากประเทศนั้น ปัจจุบันนี้เขามีตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการบริหาร (undersecretary of state for management)
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนบอกว่า ตัวเก็งที่น่าจะได้สืบทอดตำแหน่งต่อจากนูแลนด์อย่างถาวรคือ จูเลียนน์ สมิธ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำนาโตคนปัจจุบัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมมาก่อน และเคยทำหน้าที่เป็นรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติให้แก่ไบเดน ในตอนที่ไบเดนยังเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
(ที่มา : เอพี)