ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในวันอังคาร (5 มี.ค.) เรียกร้องพวกฮามาสตอบรับข้อตกลงหยุดยิงกาซา ในช่วงเทศกาลรอมฎอน เดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ขณะที่นักรบปาเลสไตน์ส่งเสียงเตือนกลับมา ว่าการเจรจาหยุดยิงและปล่อยตัวประกันนั้นไม่อาจลากยาวโดยไม่มีกำหนด
ท่ามกลางความอดอยากกำลังคุกคามชาวกาซา เป็นอีกครั้งที่เครื่องบินสหรัฐฯ และจอร์แดนทำการทิ้งอาหารลงสู่ดินแดนที่ถูกปิดล้อมแห่งนี้ที่มีประชากร 2.4 ล้านคน ในปฏิบัติการร่วมกับอียิปต์ และฝรั่งเศส
การทิ้งบอมบ์และการสู้รบในสงครามได้สังหารผู้คนเพิ่มเติมอีก 97 รายในกาซาในวันอังคาร (5 มี.ค.) จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขของดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของฮามาส ในขณะที่อิสราเอลเปิดเผยว่าเครื่องบินรบของพวกเขาได้โจมตีเป้าหมายต่างๆ มากกว่า 50 เป้าหมายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ในไคโร คณะผู้แทนสหรัฐฯ และฮามาส ประชุมร่วมกับคนกลางอียิปต์และกาตาร์ ในการเจรจาที่ยืดเยื้อ ที่มีเป้าหมายเพื่อยุติการสู้รบและปล่อยตัวประกันก่อนเทศกาลรอมฎอนจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 หรือ 11 มีนาคม
สำนักข่าวอัล-กาเฮรา ของอียิปต์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองของประเทศ บอกว่าการกำลังดำเนินการอยู่ และจะเดินหน้าเข้าสู่วันที่ 4 ติดต่อกันในวันพุธ (6 มี.ค.)
ฝ่ายต่างๆ ในอียิปต์ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีอิสราเอลเข้าร่วมด้วย ได้หารือถึงแผนการหนึ่งสำหรับหยุดยิง 6 สัปดาห์ การแลกเปลี่ยนตัวประกันหลายสิบคนกับนักโทษปาเลสไตน์หลายร้อยคน และเพิ่มความช่วยเหลือที่ป้อนเข้าสู่ฉนวนกาซา
อุซามะ ฮัมดาน เจ้าหน้าที่ฮามาสในเบรุต บอกว่าทางกลุ่มจะไม่ปล่อยให้เส้นทางการเจรจาดำเนินไปอย่างไม่มีกำหนด กระตุ้นให้ประธานาธิบดีไบเดน แห่งสหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนฮามาส ให้ตอบรับข้อตกลงหยุดยิงกาซาในช่วงรอมฎอน หลังจาก แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา เรียกร้องนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้ให้ตอบรับข้อตกลงหยุดยิงในทันที
"มันอยู่ในมือของฮามาสแล้วในตอนนี้" ประธานาธิบดีไบเดนบอกกับผู้สื่อข่าว "จำเป็นต้องหยุดยิงสืบเนื่องจากเทศกาลรอมฎอน ถ้ากรณีแวดล้อมเช่นนี้ลากยาวเข้าสู่รอมฎอน อิสราเอล และเยรูซาเลมจะอันตรายมาก"
เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ เรียกร้องให้อิสราเอล อนุญาตให้ชาวมุสลิมไปแสวงบุญที่จุดล่อแหลมมัสยิดอัล-อักซอ ในเยรูซาเลม ระหว่างเทศกาลรอมฎอน ซึ่งต่อมารัฐบาลอิสราเอลบอกว่าจะเปิดทางให้ผู้แสดงบุญมุสลิมเข้าถึงมัสยิดแห่งนี้ระหว่างรอมฎอน "ในจำนวนเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา"
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เสื่อมทรามลงในกาซา อิสราเอลต้องเผชิญเสียงตำหนิจากวอชิงตันหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเป็น กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงความกังวลใหญ่หลวงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนแห่งนี้ ระหว่างพูดคุยกับสมาชิกรัฐบาลสงครามของอิสราเอล เบนนี แกนท์ซ นักการเมืองสายกลาง คู่อริกับ เบนามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวา
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนอิสราเอลรายงานว่าจนถึงตอนนี้ทีมเจรจาของประเทศยังคงบอยคอตการเจรจาในไคโร หลังจากฮามาสล้มเหลวในการมอบรายชื่อตัวประกันที่ยังมชีวิตอยู่ โดยอิสราเอลเชื่อว่า ณ ปัจจุบัน มีตัวประกันราว 130 คน จากทั้งหมดที่ถูกจับตัวไปประมาณ 250 คน ที่ยังอยู่ในกาซา แต่ในนั้น 31 รายเสียชีวิตแล้ว
บาสเซม นาอิม แกนนำระดับสูงของฮามาส เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ทางกลุ่มไม่ทราบว่าบรรดาตัวประกันนั้นยังมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว เสียชีวิตจากการโจมตีหรือเพราะความหิวโหย เนื่องจากตัวประกันเหล่านี้ถูกควบคุมตัวโดยหลายกลุ่มในหลายสถานที่ เขาอ้างว่าเพื่อค้นหาตำแหน่งที่แน่ชัดของทั้งหมด "ข้อตกลงหยุดยิงจึงมีความจำเป็น"
สงครามเริ่มต้นขึ้นครั้งที่พวกฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานทางใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,160 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน อิสราเอลแก้แค้นด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มทางอากาศและเปิดปฏิบัติการจู่โจมทางภาคพื้น ปลิดชีพไปแล้ว 30,631 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับสหประชาชาติปะทุขึ้นในวันจันทร์ (4 มี.ค.) โดยอิสราเอลเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ ประท้วงแนวทางจัดการของสหประชาชาติ ต่อคำกล่าวหามีการประทุษร้ายทางเพศระหว่างเหตุจู่โจมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
อิสราเอลกล่าวหาสหประชาชาติใช้เวลานานเกินไปในการตอบสนองคำกล่าวหาดังกล่าว หลังจากองค์กรแห่งนี้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งระบุว่ามีเหตุอันควรที่เชื่อว่ามีเหตุข่มขืนเกิดขึ้น และตัวประกันที่ถูกพาตัวไปยังกาซาก็เผชิญกับความรุนแรงทางเพศเช่นกัน "ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่เหล่านี้ ตอนแรกเหยื่อถูกข่มขืนก่อน แล้วจากนั้นก็ถูกฆ่า และมีอย่างน้อย 2 เหตุการณ์เกี่ยวกับการข่มขืนศพผู้หญิง" รายงานระบุ
โฆษกของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามสกัดรายงานดังกล่าว
(ที่มา : เอเอฟพี)