มาเลเซียกำลังผลักดันให้มีการค้นหารอบใหม่สำหรับเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีคมนาคมแดนเสือเหลืองเมื่อวันอาทิตย์ (3 มี.ค.) ในวาระใกล้ครบรอบ 10 ปี ของหนึ่งในปริศนาด้านการบินที่ลี้ลับที่สุดในโลก
เครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH370 บรรทุกผู้โดยสาร 227 คน และลูกเรือ 12 คน สูญหายไประหว่างเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014
เบื้องต้น ทีมสืบสวนมาเลเซียไม่ตัดความเป็นไปได้ที่มีคนจงใจนำพาเครื่องบินออกนอกเส้นทาง และเศษซากบางส่วนยืนยันและบางส่วนเชื่อว่ามาจากเครื่องบินลำดังกล่าวลอยเกยตื้นตามแนวชายฝั่งแอฟริกาและตามหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย
แอนโทนี โลค รัฐมนตรีคมนาคมของมาเลเซีย เปิดเผยว่าได้เชิญ Ocean Infinity บริษัทสำรวจก้นทะเลสัญชาติสหรัฐฯ หารือเกี่ยวกับข้อเสนอค้นหาล่าสุด หลังจากความพยายาม 2 ครั้งก่อนหน้านี้จบลงด้วยความล้มเหลว
"รัฐบาลมาเลเซียมีพันธสัญญาต่อการค้นหา (MH370) และการค้นหาต้องเดินหน้าต่อไป" โลค กล่าวในพิธีระลึกถึงเที่ยวบินในวันอาทิตย์ (3 มี.ค.)
มาเลเซียเคยประสานงานกับ Ocean Infinity ในปี 2018 ในการค้นหาทางใต้ของมหาสมุทรอินเดีย เสนอจ่ายเงินสูงสุดถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากพบเครื่องบิน
ก่อนหน้านั้น มาเลเซีย จีน และออสเตรเลียได้ยุติความพยายาม 2 ปีแต่ไร้ผล ในปฏิบัติการค้นหาใต้น้ำที่ใช้งบประมาณไปกว่า 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 130.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนมกราคม 2017
โลค เผยว่า มาเลเซียจะพูดคุยกับ ออสเตรเลียเกี่ยวกับความร่วมมือในการกลับมาค้นหาอีกรอบ ครั้งที่ข้อเสนอของทาง Ocean Infinity ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาเลเซียแล้ว
วี.พี.อาร์. สามีของ แอนนี ไดซี หนึ่งในผู้โดยสารของเที่ยวบินดังกล่าวยินดีต่อข้อเสนอของทาง Ocean Infinity ซึ่งในนั้นรวมถึงออปชันไม่พบไม่คิดเงิน "เราต้องการให้เดินหน้าค้นหา แต่เราจำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นกัน เราไม่อาจคาดหวังว่ารัฐบาลจะทุ่มเงินอีกหลายพันล้านในการค้นหา"
เจียง ฮุ้ย พลเมืองจีน ซึ่งมารดาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 เรียกร้องมาเลเซีย มอบข้อมูลล่าสุดที่ได้รับให้แก่บรรดาญาติของผู้โดยสาร "ตราบใดที่มีการสื่อสาร เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดๆ" เจียงกล่าว ขณะที่เธอเป็นหนึ่งในหลายครอบครัวที่ยื่นฟ้องดำเนินคดีในจีน เรียกค่าชดใช้ต่อการสูญหายของเครื่องบิน
ศาลแห่งหนึ่งในปักกิ่งได้เริ่มเปิดพิจารณาคดีเกี่ยวกับการยื่นฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
บนเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้โดยสารชาวจีนอยู่มากกว่า 150 คน ในขณะที่พวกญาติๆ ต่างเรียกร้องขอเงินชดเชย จากทั้งมาเลเซีย แอร์ไลน์ส โบอิ้ง โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ และอัลลิอันซ์ กลุ่มบริษัทประกันภัย เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ
(ที่มา : รอยเตอร์)