xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 60% คือการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯพังครืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Donald Trump’s 60% solution
By DAVID P. GOLDMAN
14/02/2024

ข้อเสนอของ ทรัมป์ ที่จะให้ขึ้นภาษีศุลกากรซึ่งเก็บจากสินค้าเข้าจีนอีก 60% รวด จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเองไปไม่รอด เพราะเวลานี้อเมริกาต้องพึ่งพาสินค้าทุนที่นำเข้าจากแดนมังกรเป็นปริมาณมหาศาล

ต้องมีใครสักคนไปพูดจาโน้มน้าวให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ถอยกลับออกมาจากแนวความคิดที่เปรียบเหมือนกับการฆ่าตัวตาย

ระหว่างการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ ฟ็อกซ์ นิวส์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯมาแล้ว 1 สมัย และอาจจะได้เป็นอีกสมัยหนึ่งในอนาคตผู้นี้ ถูกถามว่าเขาต้องการที่จะขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 60% รวดเอากับสินค้าเข้าทั้งหลายซึ่งมาจากประเทศจีนจริงๆ หรือ คำตอบที่ได้จากทรัมป์ คือ “ไม่ใช่หรอก ผมขอบอกว่ามันอาจจะขึ้นไปมากกว่านั้นอีก”

แน่นอนทีเดียว เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นมาหรอก สหรัฐฯจะไม่สามารถขึ้นภาษีศุลกากรอีก 60% เอากับสินค้านำเข้าจากจีน พอๆ กับที่ตัวทรัมป์เองจะไม่สามารถบินออกมาจากหลังคาอาคารทรัมป์ทาวเวอร์ (Trump Tower) นั่นแหละ ถึงแม้ว่าผลต่อเนื่องของความพยายามที่จะแสดงโลดโผนทั้งสองอย่างนี้ อาจจะออกมาคล้ายๆ กัน


เมื่อตอนที่ โรนัลด์ เรแกน ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ การนำเข้าพวกสินค้าทุนจากต่างประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสิบของยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางธุรกิจของสหรัฐฯ แต่เมื่อมาถึงปี 2023 การนำเข้าได้พุ่งพรวดไปอยู่ในระดับทำให้ตะลึงอ้าปากค้าง นั่นคือ 63% ของยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางธุรกิจของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯเวลานี้นำเข้าสินค้าทุนมากยิ่งกว่าสินค้าเพื่อการบริโภคเสียอีก


ประเทศจีนในปัจจุบันไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของการนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของอเมริกาอีกต่อไปแล้ว เม็กซิโกต่างหากที่อยู่ในอันดับหนึ่ง เหตุผลสำคัญก็เพราะเม็กซิโกนำเข้าพวกส่วนประกอบต่างๆ ของจีน เอามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วก็จัดส่งมายังสหรัฐฯ ทว่าสหรัฐฯยังคงนำเข้าสินค้าทุนปริมาณมหาศาลจากจีนอยู่ดี ตั้งแต่พวกแผ่นวงจรซึ่งเป็นตัวให้พลังแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง, เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์สวิตซิ่งสำหรับการสาธารณูปโภค, เครื่องกังหันทางอุตสาหกรรม, และ แน่นอนทีเดียว พวกวัตถุดิบซึ่งยากที่จะหาจากแหล่งอื่นใดๆ ทดแทนได้ อย่างเช่น พวกโลหะแรร์เอิร์ธ –นี่แค่ยกตัวอย่างเท่านั้นนะครับ

ทรัมป์ต้องการให้สหรัฐฯลดการขาดดุลการค้าของตัวเองลงไปเยอะๆ หลังจากที่การขาดดุลนี้ได้ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อันที่จริง ในท้ายที่สุดแล้ว สหรัฐฯย่อมจะต้องทำเช่นนั้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะสหรัฐฯกำลังใช้วิธีขายสินทรัพย์ของตัวเองให้ชาวต่างประเทศ เพื่อนำเอาเงินที่ได้มาโป๊ะส่วนต่างที่ตนเองหารายรับได้ไม่พอกับรายจ่าย ตลอดจนนำเอามาใช้เป็นค่าซื้อสินค้าต่างๆ ในทางการพาณิชย์ จนกระทั่งสหรัฐฯอยู่ในฐานะเป็นผู้รับเงินลงทุนต่างประเทศมากกว่าการไปลงทุนในต่างแดนสุทธิแล้วเกือบๆ 20 ล้านล้านดอลลาร์

ทว่าการบำบัดรักษาด้วยวิธีช็อกอย่างแรงแบบที่เขาเสนอมานี้ มีแต่จะผลักดันให้พวกธุรกิจอเมริกันพากันตกเหวเท่านั้น การขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีนอย่างมโหฬาร จะไม่ช่วยเร่งรัดให้พวกธุรกิจอเมริกันเข้าลงทุนและผลิตสินค้าอย่างเดียวกันขึ้นมาภายในประเทศหรอก ก่อนที่พวกบริษัทอเมริกันจะสามารถผลิตอะไรได้ พวกเขาจำเป็นจะต้องซื้อหาประดาสินค้าทุน ซึ่งที่สำคัญแล้วย่อมได้มาจากการนำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน ประเทศอื่นๆ สามารถที่จะชดเชยสินค้าทุนที่อเมริกามีอยู่ไม่เพียงพอเหล่านี้ได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่จีนต่างหากซึ่งมีฐานะเป็นผู้ทำการผลิตทางอุตสาหกรรมรวมแล้วประมาณหนึ่งในสามของทั่วโลก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้มีทรัพยากรที่อยู่นอกประเทศจีนอย่างมากมายเพียงพอที่จะชดเชยจนไม่ต้องอาศัยการนำเข้าจากแดนมังกรหรอก


ไม่เพียงแต่พวกธุรกิจพลเรือนเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมด้านกลาโหมของสหรัฐฯก็จะประสบปัญหาทำนองเดียวกัน อย่างที่ ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2023 ว่า: เกร็ก เฮย์ส (Greg Hayes) ซีอีโอของบริษัทอุตสาหกรรมกลาโหมรายยักษ์อย่าง เรย์ทีออน (Raytheon) พูดเอาไว้ว่า บริษัทของเขามี “ซัปพลายเออร์หลายๆ พันรายอยู่ในจีน และการหย่าร้างแยกขาด (decoupling) จากจีน ... เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/d0b94966-d6fa-4042-a918-37e71eb7282e)

“เราสามารถที่จะลดทอนความเสี่ยงให้น้อยลง (de-risk) แต่ไม่สามารถที่จะหย่าร้างแยกขาดได้ (decouple)” เฮย์ส บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ในการให้สัมภาษณ์คราวนี้ พร้อมกับพูดต่อไปว่า เขาเชื่อว่านี่คือกรณีที่เกิดขึ้น “กับทุกๆ คน” ด้วย

“ลองคิดดูเรื่องที่การค้ามูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งออกจากจีนมายังสหรัฐฯเป็นประจำอยู่ทุกๆ ปี หรือกว่า 96% ของพวกวัสดุหรือโลหะแรร์เอิร์ธนั้น มาจากจีนหรือไม่ก็ผ่านการแปรรูปในจีน มันไม่ได้มีทางเลือกอื่นเลย” เฮย์ส กล่าว “ถ้าเราต้องการที่จะถอนตัวออกจากจีนแล้ว เราจะต้องใช้เวลาหลายๆ ปีมากๆ กว่าที่จะสามารถจัดตั้งระบบต่างๆ ขึ้นมาได้ใหม่ซึ่งมีสมรรถนะเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นภายในสหรัฐฯเอง หรือในพวกประเทศเพื่อนมิตรแห่งอื่นๆ”

หลังจากช่วงเศรษฐกิจถดถอยปี 2000 – 2001 พวกธุรกิจอเมริกันได้ค้นพบวิธีการลงทุนแบบ “ใช้เงินทุนแค่น้อยๆ” (“capital light” investing) เราได้หันมาผลิตพวกซอฟต์แวร์ราคาแพง ขณะที่ปล่อยให้เอเชียเป็นผู้ทำพวกฮาร์ดแวร์ที่มีอัตราผลกำไรต่ำ --ตอนแรกสุดคือที่ญี่ปุ่น จากนั้นก็เป็นเกาหลีใต้และไต้หวัน แล้วจากนั้นก็ที่จีน

สต็อกเงินทุนทางด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตของเราไม่ได้มีการเติบโตขยายตัวขึ้นเลยนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามการประมาณการของธนาคารกลางสหรัฐฯ เราอยู่ในสภาพที่การลงทุนด้านเงินทุนในเรื่องเครื่องจักรอุปกรณ์ขาดแคลนไม่เพียงพอคิดเป็นมูลค่าเกือบๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ณ ระดับราคาในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในระยะยาว ตัวเลขนี้เท่ากับยอดมูลค่าการลงทุนในเงินทุนทางด้านเครื่องจักรอุปกรณ์เมื่อคำนวณเป็นอัตราปัจจุบัน ระยะเวลา 5 ปีทีเดียว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.federalreserve.gov/releases/g17/related_data/manuf_invest_capital.htm)


การสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกันขึ้นมาใหม่จะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ โดยที่ต้องได้รับการกระตุ้นส่งเสริมจากรัฐบาลสหรัฐฯอย่างแข็งแรงที่สุดอีกด้วย มันยังไม่อาจทำได้สำเร็จหากปราศจากการนำเข้า เพราะอุตสาหกรรมสินค้าทุนของสหรัฐฯเวลานี้อยู่ในสภาพกลวงโบ๋ และพวกอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกันต่างต้องพึ่งพาอาศัยการนำเข้า นี่เป็นเรื่องของการคำนวณทางเลขคณิตธรรมดาๆ นี่เอง ทรัมป์พูดได้ถูกต้องแล้วที่บอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯกำลังป่วย ทว่าวิธีการบำบัดรักษาที่เขาเสนอออกมานั้นมีแต่จะฆ่าคนไข้ให้ตายเท่านั้น

การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกัน อย่างที่ผมได้เขียนเสนอแนะเอาไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆ ตีพิมพ์โดยสถาบันแคลร์มองต์ (Claremont Institute) เรียกร้องต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ๆ ทั้งในเรื่องระเบียบกฎหมายในการจัดเก็บภาษี, กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม, การฝึกอบรมคนงาน, และการสนับสนุนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯที่ให้แก่การวิจัยและการพัฒนาทางด้านไฮเทค ด้วยความพยายามอย่างที่ทุกๆ ฝ่ายพากันทุ่มเทเช่นนี้ สหรัฐฯสามารถที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าลงไปได้อย่างมากมายทีเดียวในระยะเวลา 5 ปี มันเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ ทว่าไม่ใช่ด้วยวิธีการที่ทรัมป์เสนอให้กระทำหรอก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://dc.claremont.org/restoring-american-manufacturing-a-practical-guide/)
กำลังโหลดความคิดเห็น