ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งยูเครนจะลุกลามขยายวงสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 จากความเห็นของ มานูเอล วาลล์ส อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยุโรป-1 พร้อมระบุดังนั้นการเอาชนะรัสเซียจึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ควรตัดความเป็นไปได้ในการส่งทหารนาโตเข้าไปกำราบกองทัพของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
วาลล์ส กล่าวว่า ชะตากรรมของชาวฝรั่งเศสและคนอื่นๆ ทั่วยุโรป "มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด" กับความเป็นปรปักษ์ระหว่างมอสโกกับเคียฟ นั่นหมายความว่าพวกเขา "ต้องดำเนินการอย่างแน่วแน่มากกว่านี้" ในการสนับสนุนยูเครน ในนั้นรวมถึงความช่วยเหลือด้านการทหาร
"เราไม่อาจยอมรับสมมติฐานชัยชนะเป็นของ วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งจะเป็นตัวแทนของจุดจบของประชาธิปไตยยูเครน และเป็นตัวแทนความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ การทหาร การเมืองและความดีงามของยุโรป" วาลล์ส กล่าว
"การเอาชนะรัสเซียเป็นสิ่งจำเป็น และสำหรับสิ่งนั้น เราต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วยิ่งขึ้น และไม่ขัดขวางไปทุกๆ เรื่อง" เขากล่าว ดูเหมือนเป็นการอ้างถึงความเห็นของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บอกว่าไม่ควรตัดความเป็นไปได้ของการส่งทหารนาโตเข้าไปยังยูเครน
ตามหลังความคิดเห็นของมาครงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ นานาประเทศ ในนั้นรวมถึงโปแลนด์ เยอรมนี สหรัฐฯ อิตาลี สหราชอาณาจักร และสมาชิกอื่นๆ ในนาโตต่างออกมาปฏิเสธแนวคิดของการส่งกองกำลังของพันธมิตรทหารแห่งนี้เข้าไปยังยูเครน ขณะที่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก็ปฏิเสธความเป็นไปได้ของกรณีนี้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นหนึ่งที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ Le Figaro ของฝรั่งเศส ในวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) เผยให้เห็นว่าพลเมืองชาวฝรั่งเศสมากกว่า 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ มาครง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการประจำการกองกำลังนาโตในยูเครน
กระนั้นก็ตาม มาครง เน้นย้ำความเห็นของตนเอง ยืนยันว่ามันเป็นมาตรการที่มีน้ำหนักและผ่านการทบทวนมาเป็นอย่างดีแล้ว จนถึงตอนนี้มีรัฐสมาชิกนาโตเพียง 2 ชาติ ได้แก่ เอสโตเนีย และลิทัวเนียที่สนับสนุนความคิดของประธานาธิบดีฝรั่งเศส บ่งชี้ว่าไม่ควรตัดความเป็นไปได้ของการส่งทหารเข้าไปยูเครนสู้รบกับรัสเซีย
รัสเซียประณามความเห็นของมาครง พร้อมเตือนว่าการประจำการกองกำลังนาโตใดๆ ในยูเครน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มันจะนำมาซึ่งการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)