xs
xsm
sm
md
lg

PLANET#3: เพี้ยนขั้นสุด ‘ซัคเคอร์เบิร์ก’ ทุ่มเกือบหมื่นล้าน ผุดอาณาจักรพิศวงที่ฮาวาย ไว้รับมือวันสิ้นโลก พี่แกซื้อทั้งที่ดิน NGO & นักการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทเมตา แพลตฟอร์ม อิงค์ เป็นคุณพ่อลูกสาม หญิงล้วน ภาพต่างๆ ที่ถูกนำขึ้นบนอินสตาแกรม บ่งบอกชัดเจนว่า คุณพ่อคนนี้รักลูกอย่างที่สุด อาณาจักรที่ซัคเคอร์เบิร์กไปสร้างไว้บนเกาะคาไว ในส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นความมั่นคงปลอดภัยของลูกสาวทั้งสาม ว่าหากเกิดวิกฤติการณ์ใดขึ้นมา ลูกๆ สามารถปักหลักอยู่ในอาณาจักรที่มีแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง ทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนทีเดียว
ฤทธิ์เพี้ยนของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เป็นอะไรที่เลื่องลือกันมาเนิ่นนาน อาทิ ซื้อเสื้อเป็นโหล แบบเดียวกันคือทรงฮูดีมีฮู้ดคลุมหัว สีเดียวกันคือสีเทา ไซส์เท่ากันหมด เจริญรอยตามอัจฉริยะคนโปรด อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แล้วนามบัตรรุ่นแรกของซีอีโอซัคเคอร์เบิร์ก ก็เขียนตำแหน่งว่า “I’m a CEO, Bitch.” แปลว่า “ผมเป็นซีอีโอ, อีด อก.” โดยอันนี้ เจริญรอยตามสุดยอดไอดอล สตีฟ จอบส์ และ ซัคเคอร์เบิร์กเคยประกาศว่าจะรับประทานเนื้อสัตว์ เฉพาะตัวที่ตนเองสังหารกับมือ และแล้วก็มีอยู่วันหนึ่ง ซัคเคอร์เบิร์กโพสต์เฟซบุ๊กว่า วันนี้ฆ่าหมูกับแพะ ranker.com เล่าไว้

แต่ลีลาเพี้ยนเลือดพล่านล่าสุดๆ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนคับแค้นใจในชุมชนชาวบ้าน อีกยังผลาญเงินทองของคนขี้เหนียวนายนี้ไปมหาศาล ปรากฏออกมาเป็น “เมกก้าโปรเจ็กต์ลี้ลับ” มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อเนรมิตอาณาจักร “ไร่คูเลาแรนช์” อันประกอบด้วยอาคารจำนวนมาก พร้อมอพาร์ตเมนต์ใต้ดินที่ยอดเยี่ยมและมโหฬาร

โดยมหาอาณาจักรนี้ =ที่ ไวร์ด.คอม นิตยสารออนไลน์ค่ายยักษ์ใหญ่ ระบุว่าสร้างกันแบบสุดยอดลึกลับ ปิดปากไม่ให้คนงานก่อสร้างของแต่ละไซต์งาน เอารายละเอียดไปเมาท์กันข้ามไซต์ และห้ามเด็ดขาดไม่ให้เอาไปเล่าสู่ใครๆ ทั้งนั้น= ไปผุดขึ้นบนเกาะคาไว เกาะหลักอันดับ 4 ของหมู่เกาะฮาวาย

โปรเจ็กต์ขนาด 3,540 ไร่ ซึ่งไวร์ด.คอมเล่าว่า ค่อยๆ ทยอยซื้อที่ดินจากชาวบ้านมาตั้งแต่สิงหาคม 2014 ได้ทำการก่อกำแพงสูง 6 ฟุตบังวิวบรรดาเพื่อนบ้านกันยาวไปตลอดแนวขนานกับถนนเส้นหลัก และมีทีมรักษาความปลอดภัยกำกับดูแลเข้มงวดอย่างยิ่งบริเวณรั้วประตูทางเข้า โดยทีม รปภ. จะคอยลาดตระเวนด้วยรถเอทีวีไปตามชายหาดด้วย

ทั้งนี้ ในระหว่างวันก็จะมีรถกระบะปิคอัพวิ่งเข้าวิ่งออก ขนส่งคนงานมากมาย ตลอดจนวัสดุก่อสร้างจำนวนมหาศาล

ทุกคนที่ทำงานในโปรเจ็กต์นี้ ไม่ว่าจะช่างไม้ไปถึงช่างไฟ อีกทั้งช่างทาสีไปถึงเจ้าหน้าที่ รปภ. ถูกห้ามคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าใครทำอะไรอยู่ ใครเห็นอะไรบ้าง โดยคำสั่งห้ามนี้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายใต้ข้อตกลงรักษาความลับ ซึ่งจัดทำไว้เข้มงวดเหลือแสน

กระนั้นก็ตาม ความลับก็แพลมถึงนักข่าวบ้าง เช่น เรื่องโจษจันว่าคนงานเยอะเลยถูกเลิกจ้างให้พ้นออกจากโปรเจ็กต์ เพราะไปโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่าได้พบเห็นโน่นนี่ในระหว่างทำงานก่อสร้าง อาทิ บางรายแอบถ่ายภาพเซลฟีแบบมีสถานที่ก่อสร้างเป็นแบคกราวน์ แล้วไปนำขึ้นบนสแนปแชท

แม้แต่สิ่งหยุมหยิมไม่มีความสำคัญใดๆ ก็ถูกห้ามเล่าออกไปตามข้อตกลงรักษาความลับ โดยบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้ข้อตกลงนี้ ก็คือ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอแห่งเมตา แพลตฟอร์ม อิงค์

(ซ้าย) อารมณ์เพี้ยนอันโด่งดังของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก กระหึ่มทั่ว เมื่อชาวโลกได้เห็นทั่นซีอีโอเล่นเซิร์ฟโต้คลื่นฉิวไปตามผิวทะเล โดยฉาบใบหน้าขาววอกหนาเตอะด้วยครีมกันแดดกันน้ำ เมื่อสิงหาคม 2020 ต่อมาหนึ่งเดือนเจ้าตัวให้คำเฉลยว่า “ผมไม่อยากให้ปาปารัสซีจำผมได้ แล้วคุณรู้มั้ย ผมทำยังไง ผมก็เอาซันสกรีนโปะหน้าตัวเองซะหนึ่งตันไปเลย แล้วมันก็ย้อนกลับมาฟาดผม” เล่าความเป็นมาเสร็จแล้ว ซัคเคอร์เบิร์กก็แสดงความใจกว้างยอมรับเสียงแซวเสียงฮาของผู้คนด้วยการบอกว่า “ใครเอาภาพไปทำซันสกรีนมีม ก็เข้าท่าดีครับ ผมแฮปปีที่คนได้หัวเราะกันเพราะภาพนี้ ผมเองยังขำเองเลย มันตลกจริงๆ อะ” ในเมื่อเจ้าตัวใจกว้างขนาดนี้ เจ้าของแอคเคาท์ bornmiserable ก็นำภาพติงต๊องนี้ไปโพสต์ที่แอคเคาท์บนเอ็กซ์ ฉลองศรัทธาสะหน่อย   (ขวา) สีหน้าแบบเด็กถูกขัดใจแต่ต้องกลั้นโมโห ระวังปากคำไม่ให้หลุด เพราะขณะที่ถูกถ่ายภาพนี้ ซัคเคอร์เบิร์กอยู่ระหว่างการที่ถูกวุฒิสมาชิกแห่งกรรมาธิการยุติธรรม ซักไซ้ไล่ต้อนด้วยข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธ ขณะให้ปากคำกรณีความไม่ปลอดภัยของเด็กขณะใช้เฟซบุ๊ก/อินสตาแกรม ที่สภาคองเกรส เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2024 โดยในรายการเดียวกันนี้ ซีอีโอของบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียค่ายอื่นๆ อีก 4 ราย ไม่มีใครสำแดงอารมณ์เด็กเจ้าโทโสออกมาเลย

แอคเคาท์ Entrepreneur Georgia นำนามบัตรของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก มาถ่ายภาพทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และนำขึ้นบนเฟซบุ๊ก ให้ได้เห็นกันทั่วๆ กับการที่ ซีอีโอซัคเคอร์เบิร์ก เขียนตำแหน่งของตนว่า “I’m a CEO, Bitch.” แปลว่า “ผมเป็นซีอีโอ, อีด อก.”
มหาอาณาจักร 3,540 ไร่ มี 12 อาคาร 2 คฤหาสน์ 11 บ้านต้นไม้ พื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 1 ไร่ พร้อมอพาร์ตเมนต์ใต้ดินขนาด 116 ตร.วา เผื่อไว้ลี้ภัยในวันสิ้นโลก

ถาม: ร่ำรวยมหาศาล แล้วจะเอาเงินไปทำอะไรดี

ตอบ: ต้องเอาไปสร้างความมั่นคงหากต้องเผชิญกับวันสิ้นโลกในกาลข้างหน้า อันได้แก่ มหาอาณาจักรริมทะเลที่มีปัจจัยยังชีพทุกหมวด เป็นของตัวเอง พร้อมอพาร์ตเมนต์หลบภัยใต้ดินเพื่อให้อยู่รอดได้เมื่อโลกถล่มฟ้าทลาย

และแล้ว มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก อภิมหาเศรษฐีระดับ 130,000 ล้านดอลลาร์ ก็ทุ่มงบไม่น้อยกว่า 270 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,680 ล้านบาท) ไปสร้างมหาอาณาจักรให้ตนเองและบุตรภรรยา รวม 5 ชีวิต ตลอดจนข้ารับใช้และบริวารหลายสิบรายได้อยู่อาศัยอย่างโอฬาร ด้วยอาคารต่างๆ 12 อาคาร บ้านบนต้นไม้ไว้รับแขก 11 หลังที่มีทางเดินเชื่อมถึงกัน พร้อมสระว่ายน้ำ ฯลฯ

ตลอดตั้งแต่เริ่มกว้านซื้อที่ดินในปี 2014 มาจนปัจจุบัน การวางแผนและการก่อสร้างต่างๆ ถูกเก็บเป็นความลับไปเสียหมด ไวร์ด.คอมบอกว่าจากข้อมูลที่จดทะเบียนไว้กับทางการและเอกสารที่มอบเป็นหลักฐานไว้กับสำนักงานศาล ตลอดจนคำให้สัมภาษณ์ของใครต่อใครหลายรายที่เกี่ยวข้องอยู่กับโปรเจ็กต์มูลค่ากว่า 270 ล้านดอลลาร์ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ทำให้ได้ทราบว่า ไร่คูเลาแรนช์ถูกออกแบบให้มีอพาร์ตเมนต์ใช้ชีวิตใต้ดิน อันใหญ่โตโอฬารถึง 116 ตร.วา

โดยพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยใต้ดินกว่า 116 ตร.วานี้ มีระบบสนับสนุนการดำรงชีวิตอย่างเอกเทศต่างหากจากสาธารณูปโภคระดับพื้นผิว คือ มีแหล่งพลังงาน แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารเป็นของตนเอง

ไวร์ด.คอมรายงานด้วยว่า จากหลักฐานที่ได้ศึกษามาอย่างดี โปรเจ็กต์นี้ดำเนินเดินหน้าประสบความสำเร็จได้ด้วยช่องทางทางกฎหมาย และด้วยความเอื้อเฟื้อจากเครือข่ายทางการเมือง แถมหน่วยงานเอ็นจีโอจำนวนหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ยังเดินหน้าด้วยหัวใจที่มี “จิตแข็งๆ” สามารถเมินมองข้ามทุกข์สุขของคนอื่นๆ ในท้องถิ่น


ทั้งหลายทั้งปวงนี้ อาจกล่าวได้ว่า มันก็คือการที่ ซัคเคอร์เบิร์ก กับ คุณหมอพริสซิลลา ชาน ผู้เป็นภรรยา กำลังสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไวร์ด.คอม บอกอย่างนั้น

Pop Crave นำภาพแปลนจำลองอพาร์ตเมนต์ใต้ดินในไร่คูเลาแรนช์ของมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก มาโพสต์บนเอ็กซ์ เมื่อไม่นานมานี้ ณ 17 ธันวาคม 2023

เมื่อนำแปลนจำลองอพาร์ตเมนต์ใต้ดินในไร่คูเลาแรนช์ของมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก มาขยาย ก็น่าทึ่งใช้ได้ อพาร์ตเมนต์ซึ่งฝังอยู่ใต้ชั้นดินลึกทีเดียว เป็นสองชั้น มีฟังก์ชันสำหรับการอยู่อาศัยและการทำงานอย่างครบครัน
เกาะคาไวเป็นเกาะหลักไซส์เล็กสุดในบรรดาเกาะหลักทั้ง 4 ของหมู่เกาะฮาวาย บนเกาะคาไวมีชาวเกาะอาศัยอยู่เป็นชุมชน 73,000 รายที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ผู้คนส่วนใหญ่มีแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฉากทัศน์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาหลังจากบรรดาเจ้าของไร่อ้อยแห่อพยพออกไปหาแหล่งผลิตใหม่ ที่อุดมด้วยแรงงานราคาถูกกว่าในคาไว

บนเกาะมีแรงงานด้านก่อสร้างมากพอใช้ได้ สืบเนื่องจากการที่เคยเร่งพัฒนาสถานที่หรูหราต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนบรรดาเศรษฐีที่ย้ายจากแผ่นดินใหญ่มาสร้างบ้านหลังที่สองบนเกาะสวาทหาดสวรรค์ในห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ดังนั้น ซัคเคอร์เบิร์กจึงมีแรงงานและช่างสาขาต่างๆ เพียงพอแก่การเนรมิตอาณาจักรอันสมบูรณ์แบบด้วยเทคโนโลยี ที่ประกอบด้วยอาคารต่างๆ 12 หลัง พร้อมห้องนอน 30 ห้อง กับห้องน้ำ 30 ห้องกันเลยทีเดียว

อาคารทั้งหมดจะล้อมวงอยู่รอบๆ คฤหาสน์หลัก 2 หลัง

ในการนี้ เมื่อรวมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดทั้งปวงก็จะได้ประมาณ 1,300 ตร.วา หรือก็คือว่าขาดอีกไม่มากก็จะเท่ากับพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 3 ไร่ เทียบอีกทีก็จะไล่เลี่ยกับขนาดของสนามกีฬาแอนฟิลด์ซึ่งครอบครองโดยสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลนั่นเอง


ภายในสิ่งก่อสร้างอันมากมายเหล่านี้ แน่นอนว่าจะครบเครื่องด้วยลิฟต์และบันไดเลื่อน สำนักงาน ห้องประชุม ตลอดจนอภิโรงครัวระดับครัวอุตสาหกรรม

ส่วนสำหรับแหล่งกบดานใต้ดิน จะมีทีเด็ดอยู่ที่การแก้ปัญหาเรื่องประตู ซึ่งมักจะเป็นจุดอ่อนของอาคารอันแข็งแกร่ง ทั้งนี้ จะเป็นประตูวิเศษทำด้วยโลหะและสอดไส้คอนกรีตเพื่อให้ต้านทานแรงระเบิดได้

พ.ญ.พริสซิลลา ชาน และซีอีโอมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ร่วมกันตั้งโครงการสาธารณกุศล เพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของผู้คน ชื่อว่า Chan Zuckerberg Initiative หรือก็คือ โครงการความริเริ่มของดร.ชาน ซัคเคอร์เบิร์ก ในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับภูมิหลังทางการศึกษาของเธอ ซึ่งเธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการนี้ พื้นที่อันมโหฬารของไร่คูเลาแรนช์ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนานี้ได้
มีบ้านรับแขกหรูหราขั้นสุด 11 หลัง โดยเป็นบ้านบนต้นไม้แบบหมู่บ้านอีวอคในสตาร์วอร์ พร้อมสะพานเชือกเชื่อมให้เดินหากันกลางอากาศ

พื้นที่ป่าโปร่งของคูเลาแรนช์ ซึ่งอยู่ทางปีกหนึ่งของคฤหาสน์คู่ จะถูกเนรมิตให้เป็นกลุ่มบ้านบนต้นไม้รูปทรงเหมือนแผ่นดิสก์ จำนวน 11 หลัง โดยแต่ละบ้านจะหรูหราขั้นสุดเพราะจะติดตั้งทุกสิ่งที่มหาเศรษฐีต้องมีเพื่อดำรงชีวิตเก๋ๆ ในถิ่นป่าแดนไพร

พร้อมนี้ ความฟรุ้งฟริ้งที่ขาดไม่ได้สำหรับอาณาจักรของซีอีโอหนุ่มเนิร์ดสุดขั้ว อย่างซัคเคอร์เบิร์ก คือ โครงสร้างไฮไลท์ที่ถอดออกมาจากฉากหนึ่งของหนัง Return of the Jedi อันได้แก่ ระบบสะพานเชือกอันซับซ้อนที่เชื่อมโยงทุกบ้านแสนหรูล้ำบนต้นไม้ เพื่อที่แขกที่มาพักจะสามารถเดินไปมาหาสู่กันกลางอากาศ

เหล่านี้น่าจะเป็นความรอบคอบของซีอีโอซัคเคอร์เบิร์ก ที่ต้องสร้างระบบซึ่งทั้งไฉไล และทั้งชาญฉลาด แบบว่า.. เผื่อศัตรูส่ง วอล์กเกอร์ขาไก่ AT-ST (All Terrain Scout Transport) มาไล่ล่าตัวเขาในไร่คูเลาแรนช์ นี่จะเป็นระบบป้องกันที่ตอบโจทย์สุดๆ นิตยสารออนไลน์ NYmag.com แซวไว้อย่างนั้น พร้อมบอกด้วยว่า แล้วถ้าต้องเผชิญกับอันตรายอื่นๆ ซัคเคอร์เบิร์กก็เตรียมรับมือไว้แล้ว ด้วยประตูลับและห้องเก็บเสียง

ในการนี้ ไวร์ด.คอม เล่าว่าคฤหาสน์ศูนย์กลางสองหลังจะมีทางอุโมงค์เชื่อมไว้ระหว่างกัน อีกทั้งยังเชื่อมไปสู่อพาร์ตเมนต์ใต้ดินขนาดพื้นที่ใช้สอย 116 ตร.วา ซึ่งมีห้องส่วนกลางกว้างขวาง ห้องช่างเครื่อง และพื้นที่ปลีกวิเวกซึ่งเข้าถึงได้ด้วยบันไดปีนเท่านั้น


ส่วนที่เป็นทีเด็ดแห่งการหลบหนีอันตรายทั้งปวง คือ กล้อง 20 กว่าตัวที่ติดตั้งไว้ทุกๆๆๆๆ จุด และประตูป้องภัย บ้างจะเป็นระบบควบคุมแบบคีย์แพด บ้างจะเป็นประตูตัดเสียง แต่ประตูเข้า-ออกต้องเป็นประตูโลหะซึ่งสอดไส้ด้วยคอนกรีต ประเภทที่ใช้กับห้องป้องกันภัยระเบิด

ไวร์ด.คอมบอกว่าจากที่ได้เห็นแปลนและได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวหลายราย พบว่าอพาร์ตเมนต์ใต้ดินก็มีความพึ่งพาตนเองสมบูรณ์แบบเหมือนกับระบบภาคพื้นดิน อันได้แก่ แหล่งน้ำยักษ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 55 ฟุต x ความสูง 18 ฟุต พร้อมระบบปั๊มน้ำครบครัน

ส่วนสำหรับอาณาบริเวณทางอีกปีกหนึ่งของคฤหาสน์คู่ จะมีอาคารสันทนาการอันทันสมัยที่สุดเท่าที่โลกได้เคยเห็นกันมา นั่นคือ คอมเพล็กซ์ที่พรั่งพร้อมด้วยโรงยิม สระว่ายน้ำหลายสระ ซาวนา อ่างอาบน้ำร้อน สระน้ำสำหรับการกระโดดดิ่งดำน้ำ ตลอดจนสนามเทนนิส

ในเวลาเดียวกัน พื้นที่ในปีกด้านนี้จะมีบ้านรับแขกบนพื้นดินแบบปกติหลายหลัง และอาคารปฏิบัติการอีกหลายหลังด้วย


ในการนี้ เว็บนิตยสารข่าว NYmag.com เมาท์มอยเม็กกาโปรเจ็กต์ของซัคเคอร์เบิร์กว่า แม้โฆษกสาวของซัคเคอร์เบิร์กและดร.ชานจะบอกว่า เจ้านายทั้งสองของเธอถือว่าการมาพักผ่อนที่ไร่คูเลาแรนช์ เป็นกิจกรรมของครอบครัว พร้อมกับตั้งใจจะอนุรักษ์ความงดงามของธรรมชาติไว้ทั้งหมด

กระนั้นก็ตาม ด้วยขนาดของโปรเจ็กต์ที่มโหฬารถึง 3,540 ไร่ และด้วยสถิติการจัดอีเวนต์ธุรกิจที่ไร่คูเลาแรนช์แล้ว 2 งาน ซึ่งชาวบ้านบ่นอื้ออึงว่าอึกทึกเหลือแสน วี่แววแนวโน้มของไร่คูเลาแรนช์จึงจะเป็นอะไรที่มากกว่าบ้านพักริมทะเลของ ครอบครัวซัคเคอร์เบิร์ก อย่างแน่นอน

โฉมหน้าของวอล์กเกอร์ขาไก่ AT-ST (All Terrain Scout Transport) แห่งสตาร์วอร์ ซึ่งจะไม่สามารถไล่ล่า มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ไปบนสะพานเชือกระหว่างบ้านต้นไม้ต่างๆ ได้
ขออำนาจศาลไปหักคอซื้อที่ดินชาวบ้าน แต่ไม่สำเร็จ หันมาซื้อใจผู้กว้างขวางในชุมชนให้มาเป็นนอมินี วิธีนี้สร้างสัมฤทธิผลยอดเยี่ยม

เมื่อการกว้านซื้อที่ดินเพื่อสร้างมหาอาณาจักรสามพันกว่าไร่ของซัคเคอร์เบิร์ก บนเกาะคาไว เริ่มลงตัวในปี 2016 กำแพงสูง 6 ฟุตก็ถูกสร้างขึ้นล้อมรอบพื้นที่ เพื่อให้ซีอีโอของบริษัทเมตา รู้สึกพอใจกับความเป็นส่วนตัว แต่ส่งผลกระทบแก่บรรดาเจ้าของที่ดินซึ่งต่อเนื่องกับกำแพงแสดงความเป็นเจ้าของดังกล่าว เพราะ... อะไรจะขะไหนหนาด มาถึงก็บังวิวกันเลย

โฮป คัลลาอิ คุณผู้หญิงเจ้าของที่ดิน 12 ไร่ติดกันกับผืนแผ่นดินไพศาลของซัคเคอร์เบิร์ก เล่าสู่ ไวร์ด.คอม ว่านอกจากที่เซ็งอย่างยิ่งกับการที่กำแพง 6 ฟุตมาตัดสิทธิ์ของตัวเธอและเจ้าของที่ดินรายอื่นๆ ไม่ให้ได้เห็นวิวท้องทะเลดั่งที่เคยเป็นมาแล้ว การระดมก่อสร้างสารพัดอาคารและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ กันเป็นขนานใหญ่ที่เริ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้ท้องถิ่นที่เคยสงบสุข ถูกรบกวนด้วยความขวักไขว่ของรถยนต์และรถบรรทุกทั้งปวงซึ่งเวียนเข้าเวียนออกมากมาย ตลอดจนเสียงโครมครามจากพื้นที่ก่อสร้างตลอดทั้งวัน

อันที่จริง การก่อสร้างอันมหาศาลบนที่ดินขนาดมโหฬาร เทียบได้กับ 3 เท่าของอาณาบริเวณจากถนนพระราม 1 หน้าสยามสแควร์ ถึงถนนพระราม 4 และจากถนนอังรีดูนังต์ ถึงถนนบรรทัดทอง นั้น จะต้องผ่านกระบวนการขอความเห็นจากสาธารณชนก่อน เพราะชาวบ้านจะได้รับผลกระทบอย่างมากมาย จากการก่อสร้างอันมหาศาลนี้

แต่ก็เจ้ากรรมเหลือเกิน กฎหมายของเกาะคาไวกำหนดเรื่องนี้ไว้เฉพาะในพื้นที่บริหารจัดการพิเศษซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นได้ว่าด้วยกฎหมายแบบนี้ พื้นที่บริเวณนี้จึงเข้าตาอภิมหาเสี่ยอันดับ 6 ของโลก ใครเลยจะรู้

หลังจากกำแพง 6 ฟุต ก็ตามมาด้วยหมายศาล ฟ้องร้องบังคับชาวบ้านซึ่งมีที่ดินจ่อมเป็นหย่อมต่างๆ ภายในอาณาบริเวณสามพันกว่าไร่ของซัคเคอร์เบิร์ก ให้ต้องยอมขายถวายอภิมหาเศรษฐีอันดับ 6 ของโลก

ในเวลาที่พวกซูเปอร์เสี่ยกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากๆ จากประดาชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย แท็กติกที่นิยมกันมากคือ ตั้งบริษัทเปลือกขึ้นมาคั่นกลางระหว่างชาวบ้านกับนายทุนเจ้าของโปรเจ็กต์ (บริษัทเปลือก คือ บริษัทที่ไม่มีทรัพย์สินหรือการดำเนินงานเป็นของตัวเองที่ชัดเจน แต่จัดตั้งกันขึ้นเพื่อให้เป็นตัวเชื่อมโยงหรือเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการทำธุรกรรมทางธุรกิจต่างๆ)

กำแพงสูง 6 ฟุตซึ่งทำหน้าที่กั้นอาณาบริเวณของไร่คูเลาแรนช์ อันเป็นกำแพงขยี้ความรู้สึกของผู้คนที่ความซ.ว.ย.หล่นทับ ต้องตกเป็นเพื่อนบ้านของอภิมหาเศรษฐี ความสุขใจที่เคยมีวิวทะเลให้ชื่นชมขณะทำงานเกษตรบนผืนดินของตนเอง ปลาสนาการไปหมดสิ้น ในภาพนี้ สตรีทางขวาเป็นนักข่าวของเว็บข่าวออนไลน์ AJ+ ซึ่งสนทนากับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากซัคเคอร์เบิร์ก
สำหรับกรณีอาณาจักรของซัคเคอร์เบิร์กบนเกาะคาไวนั้น ไวร์ด.คอมรายงานว่ามีการตั้งบริษัทเปลือกประมาณ 10 บริษัทขึ้นมาครองกรรมสิทธิ์ในฐานะตัวแทน และเมื่อกว้านซื้อที่ดินผืนต่างๆ ไปตามแผนหลักแล้ว ก็จะมาจัดการกับที่ดินของชาวบ้านรายเล็กรายน้อยที่ไม่ประสงค์จะขาย ซึ่งหลายๆ รายผูกพันกับพื้นที่ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน แต่ก็มีเวรกรรมต่อกัน เพราะที่ดินที่เจ้าของไม่ขาย เป็นแปลงซึ่งอยู่ในแวดล้อมของที่ดินที่ตกเป็นของซัคเคอร์เบิร์กไปแล้ว และจึงกลายเป็นหย่อมฟันหลออยู่ในอาณาบริเวณผืนมหึมา

ในเวลาเดียวกัน เวรกรรมที่มีต่อกันยังซับซ้อนมากขึ้นไปอีก กล่าวคือ ที่ดินเหล่านี้จำนวน 12 แปลงเล็กๆ ซึ่งแต่ละแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของหลายครอบครัวรวมแล้วหลายร้อยคนนั้น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์แบบ “คูลีอานา” หมายถึงว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายการถือครองแบบสืบทอดลงมาภายในวงศ์ตระกูลโดยไม่มีโฉนดอย่างเป็นทางการ

ยิ่งกว่านั้น บรรดาเจ้าของร่วมหลายร้อยรายนั้น มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเดินตัดที่ดินของซัคเคอร์เบิร์ก เพื่อเข้าสู่ที่ดินของตน

ในการนี้ 1 ในบรรดาบริษัทเปลือก คือ นอร์ธชอร์ คาโล ได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลในเดือนธันวาคม 2016 เพื่อขออำนาจศาลบังคับให้บรรดาชาวบ้านต้องยอมขายที่ดินเหล่านี้ให้แก่อภิมหาเสี่ยเมตา โดยจะใช้วิธีขายกรรมสิทธิ์ในสัดส่วนของตนไปให้ซัคเคอร์เบิร์กโดยตรงก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็นำกรรมสิทธิ์ในสัดส่วนของตนขึ้นไปประมูล

เมื่อคดีความเริ่มเดินเครื่องในเดือนมกราคม 2017 ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้และโต้ตอบอย่างดุเดือด ส่งผลให้ฝ่ายซัคเคอร์เบิร์กตัดสินใจถอยออกไปตั้งหลักและเปลี่ยนกลยุทธ์ ไวร์ด.คอมเล่าอย่างนั้น และรายงานเพิ่มเติมว่า ซัคเคอร์เบิร์กเขียนแถลงบนคอลัมน์ความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ The Garden Island ของเกาะคาไว ว่าจะถอนตัวจากการฟ้องร้อง และ “จะดำเนินการในความร่วมมือด้วยกันกับชุมชนในแนวทางใหม่”

ทั้งนี้ ซัคเคอร์เบิร์กสามารถเจาะเข้าไปซื้อใจของอาจารย์คาร์ลอส อันดราเด ผู้กว้างขวางรายสำคัญของชุมชน ได้สำเร็จ โดยอาจารย์ผู้เคยเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยฮาวาย วิทยาเขตมาโนอา เป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์แบบ “คูลีอานา” ในสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด


นอกจากนั้น ในเวลาเดียวกัน บริษัทนอร์ธชอร์ คาโล ก็ตลุยเข้าไปซื้อกรรมสิทธิ์สัดส่วนยิบย่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ที่เจ้าของตัดสินใจขายเพื่อพ้นออกมาจากปัญหา ไวร์ด.คอมรายงานอย่างนั้น

พร้อมนี้ ไวร์ด.ดอมแจ้งตัวเลขที่ได้จากข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า สัดส่วนกรรมสิทธิ์ที่บริษัทนอร์ธชอร์ คาโล รวบรวมซื้อขึ้นมาได้ในระหว่างปี 2017-2018 สามารถขยายสัดส่วนกรรมสิทธิ์ในครอบครองของบริษัท ให้ทวีตัวขึ้นมากเลย จาก 24.1% ที่เคยกว้านซื้อได้ กลายเป็น 43.9% ด้วยจำนวนเงินที่จ่ายออกไปในแต่ละรายการรวม 71 รายการ เป็นเงินมากกว่า 450,000 ดอลลาร์

สรุปส่งท้ายปลายปี 2018 มีผู้ร่วมกรรมสิทธิ์ที่ท้อใจไม่สู้ต่อ และผู้ที่พอใจว่าได้ราคาดี ยอมเทขายสัดส่วนกรรมสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 8 แปลง เหลืออีก 4 แปลงยังสู้ต่อ ในปี 2019

เทอรี เฟอร์ไรรา หนึ่งในเจ้าของร่วมบนที่ดินกรรมสิทธิ์แบบ “คูลีอานา” ซึ่งถูกบริษัทนอมินีของ ซัคเคอร์เบิร์ก ฟ้องร้องขออำนาจศาลบังคับให้ยอมขายกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งค้างคาอยู่ในแวดล้อมของผืนดินของซัคเคอร์เบิร์ก
การต่อสู้จบในปี 2019 โดยผู้กว้างขวางของซัคเคอร์เบิร์ก จัดเต็มจนสมประสงค์ 100% กลยุทธ์ต่อมาคือ ซื้อใจนักการเมือง-NGO ในบทซูเปอร์ป๋าจอมบริจาค

ในเดือนมิถุนายน 2019 ที่ดินส่วนที่ยังไม่ถูกขายจำนวน 4 แปลง ถูกนำไปประมูลแข่งกันระหว่างฝ่ายของ คาร์ลอส อันเดรเด ผู้กว้างขวางในชุมชนชาวคาไว ที่ถูกมองว่าเป็นนอมินีสุดซี้แห่งซัคเคอร์เบิร์กที่ทำการกว้านซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยเงินของซัคเคอร์เบิร์ก และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของชาวบ้านที่ต่อต้านคาร์ลอส อันเดรเด อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกษียณแล้วและอยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง แต่สามารถมีเงิน 2.14 ล้านดอลลาร์มาชนะการประมูลที่ดินทั้งหมด

“เราคิดว่าการที่อาจารย์มหาวิทยาลัย เกษียณอายุแล้ว มีเงิน 2,145,000 ดอลลาร์มาชนะประมูลเหนือพวกเราได้น่ะ มันฟ้องออกมาชัดเจนว่าต้องมีบางอย่างไม่ปกติ” กล่าวโดย เวย์เน ราโปโซ ผู้สืบเชื้อสายชาวเกาะและมีกรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งในที่ดินเจ้าปัญหานี้ โดย ราโปโซ เป็นตัวแทนกลุ่มผู้สืบเชื้อสาย ไปร่วมแข่งกันประมูลครั้งสำคัญ ไวร์ด.คอมรายงาน

ด้านโฆษกของซัคเคอร์เบิร์กและดร.ชาน กล่าวกับไวร์ด.คอม โดยไม่ตอบตรงคำถามว่า ซัคเคอร์เบิร์กให้การสนับสนุนเงินเพื่อการประมูลของอาจารย์อันดราเดหรือไม่ แต่บอกเพียงว่า ซัคเคอร์เบิร์กสนับสนุนอาจารย์อันดราเด เพราะอาจารย์ผู้เฒ่านี้มีความเกี่ยวข้องอยู่กับที่ดิน ซึ่งเขาอาศัยพักพิง สร้างครอบครัว และจ่ายภาษีมาโดยตลอด

ปัจจุบันนี้ คาลอส อันดราเด เสียชีวิตแล้วในปี 2022 และ ที่ดินกรรมสิทธิ์แบบ “คูลีอานา” ซึ่งอยู่ในความครอบครองของอันดราเด ได้รับการบริหารดูอลในรูปแบบของทรัสต์แห่งครอบครัว ซึ่งแท็กติกนี้สามารถการันตีได้ว่า จะไม่มีชาวบ้านรายใดกล้าเดินเข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของซัคเคอร์เบิร์กและดร.ชาน ตลอดจนลูกๆ

ในการนี้ บรรยากาศในปี 2020 ตึงเครียดกันอย่างที่สุด ผู้คนพากันมองภาพของซัคเคอร์เป็นเจ้าอาณานิคมผิวขาวยุคใหม่ ซึ่งมาจากแผ่นดินใหญ่ มาบีฑาชาวเกาะ ละม้ายเมื่อ 2-3 ศตวรรษแห่งการล่าอาณานิคมและแย่งชิงที่ดิน

ความพยายามต่อต้านซัคเคอร์เบิร์กเป็นไปอย่างหนักหน่วง ก่อนจะกลายเป็นกรณีอื้อฉาวซึ่งระเบิดออกมาในแคมเปญหนังสือร้องทุกข์เมื่อมิถุนายน 2020 เรียกร้องให้ “ยุติมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ไม่ให้มาสร้างอาณานิคมบนเกาะคาไว” ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนฉบับนี้มีชาวบ้านมาร่วมลงนามอย่างท่วมท้น คือ มากกว่า 1 ล้านรายชื่อ

ซัคเคอร์เบิร์กและ ดร.ชาน ทยอยพลิกเกมเพื่อบรรเทากระแสต่อต้านเกลียดชังกันตั้งแต่ปี 2018 ด้วยการหว่านเงินบริจาคสาดเข้าไปอย่างมหาศาล ทั้งในชุมชน ทั้งในเครือข่ายนักการเมือง และทั้งในแวดวงเอ็นจีโอ ผ่านการจัดตั้งกองทุนชาน-ซัคเคอร์เบิร์กเพื่อชุมชนคาไว กลยุทธ์นี้ซึ่งมีความทรหดและยืนหยัดตลอดหลายปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ส่งอานิสงส์ให้เห็นชัดเจนในห้วง 2-3 ปีนี้


ทั้งนี้ ยอดบริจาครวมจากปี 2018 ถึงปีปัจจุบัน 2024 อยู่ที่ระดับมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์กันเลยทีเดียว

เคโอลา เวอร์ทิงตัน เป็นแกนนำคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ตัวแทนแห่งเจ้าของร่วมบนที่ดินกรรมสิทธิ์แบบ “คูลีอานา” ในการต่อสู้คัดค้านแรงบีบบังคับจากบริษัทนอมินีของ ซัคเคอร์เบิร์ก
รายการบริจาคและส่งเสริมการพัฒนาที่โดดเด่น ได้แก่ ความช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนในวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2018 กับความช่วยเหลือในช่วงโรคระบาดโควิด 19 โดยในเดือนมีนาคม 2021 มีการบริจาคสนับสนุนโครงการสร้างงานระดับเทศมณฑล จำนวนถึง 4.2 ล้านดอลลาร์ และบริจาคสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความซบเซาทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากวิกฤติโควิด 19 เป็นจำนวนเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์

ในเมื่อมีการสถาปนาความเป็นนักบริจาคระดับป๋าใหญ่ของเกาะ สายสัมพันธ์ทางการเมืองจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีตั้งแต่ระดับนายกเทศมนตรีเดเรค คาวาคามิ กันเลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น ในระดับของสภาแห่งเทศมนตรีคาไว ซัคเคอร์เบิร์กก็เข้าไปสานสัมพันธ์ด้วย โดยมีการจ้างประธานสภาผู้ทรงอิทธิพลรายหนึ่ง นามว่า อาร์ริล คาเนชิโระ ไปเป็นที่ปรึกษาด้านเกษตรกรรมของไร่คูเลาแรนช์

ในการนี้ ไวร์ด.คอมรายงานว่าประธานคาเนชิโระได้รับค่าที่ปรึกษาในปี 2021 เป็นจำนวนถึง 100,000 ดอลลาร์

ประธานคาเนชิโระ เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่โด่งดัง สามารถชนะเลือกตั้งมาแล้ว 4 สมัยติดต่อกันนับจากปี 2014-2022 ในเวลาเดียวกัน คาเนชิโระก็เป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์มืออาชีพ

เมื่อ ไวร์ด.คอม ถามโฆษกว่าซัคเคอร์เบิร์กและ ดร.ชาน เข้าไปมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นเพียงไร คำตอบที่ได้รับคือ บนเกาะเล็กๆ อย่างคาไว นั้น การคาบเกี่ยวในบทบาทของเทศมนตรีมักที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ และตัวซัคเคอร์เบิร์กกับทีมงานก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือชุมชน

ด้านการซื้อใจเอ็นจีโอที่เกาะคาไว ซัคเคอร์เบิร์กและ ดร.ชาน ก็เต็มที่เช่นกัน อาทิ ในเดือนพฤศจิกายน 2021 มีการบริจาคเงิน 4 ล้านดอลลาร์ ให้เป็นกองทุนเพื่อซื้อบ่อปลาโบราณของฮาวาย ซึ่งบริหารจัดการโดยองค์การไม่แสวงกำไร ชื่อว่า มาลามา ฮูไลอา ซึ่งทำงานฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ

ทั้งนี้มีความอัปลักษณ์สอดไส้อยู่ คือ ในทางปฏิบัตินั้น องค์การไม่แสวงกำไรอย่าง มาลามา ฮูไลอา ก็มีความแนบแน่นกับฝ่ายการเมือง กล่าวคือ ในปี 2021 นั้น รองประธานสภาแห่งเทศมนตรีก็นั่งเป็นประธานองค์การมาลามา ฮูไลอา

บิลลี เดอคอสตา สมาชิกสภาแห่งเทศมนตรีคาไว กล่าวกับ ไวร์ด.คอม ว่ากรณีเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนบ่อปลาภายใต้การดำเนินงานของมาลามา ฮูไลอา และกรณีการจ้างประธานคาเนชิโระ นั้น จุดประกายให้ต้องถามกันว่า ซัคเคอร์เบิร์กมี “แผนยุทธศาสตร์ที่จะดึงเอาสุนัขตัวโตๆ ทั้งหมดไปอยู่ฝ่ายเดียวกับเขาหรืออย่างไร”

ภาพจากคลิปวิดีโอของ AJ+ ที่เผยให้เห็นถึงความงดงามของแนวชายทะเลด้านหน้าผืนแผ่นดิน 3,540 ไร่ของซัคเคอร์เบิร์ก ตลอดจนความชอุ่มสมบูรณ์ของพื้นที่ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก บุกเข้ากว้านซื้อที่ดินเกรดเยี่ยมของเกาะคาไวตั้งแต่ปีที่ลูกสาวคนแรกยังอยู่ในครรภ์มารดา
“ปรากฏการณ์ซัคเคอร์เบิร์กตลุยสร้างอาณานิคมใหม่บนเกาะคาไว” ด้วยการไล่กว้านซื้อและไล่ที่ชาวเกาะนั้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์เอกเทศ ยังมีรายอื่นอีกที่เป็นมหาเศรษฐีจากข้างนอก บุกเข้าไปซื้อที่ดิน และสร้างอสังหาริมทรัพย์ขึ้นเป็นบ้านตากอากาศ ไม่ไกลจากไร่คูเลาแรนช์สักกี่มากน้อย ได้แก่ มหาเศรษฐีพันล้าน นามว่า แฟรงก์ ฟานเดอร์สลูต เจ้าของกิจการเมลาลูกาเพื่อชีวิตและสุขภาพ ผู้ซึ่งทุ่มเงินแค่ 51 ล้านดอลลาร์ ซื้อที่ดิน 5,000 ไร่

ขณะที่แผ่นดินอันจำกัดของฮาวายเกิดจะเป็นที่ต้องการของสารพันมหาเศรษฐีจากแผ่นดินใหญ่ ราคาที่ดินพากันพุ่งทะยานสูงลิ่ว ส่งผลให้ชาวบ้านถูกขับไล่ และเด็กๆ ในเจเนอเรชันใหม่ๆ ก็ยากที่จะซื้อหาแผ่นดินเพื่อสร้างครอบครัวเป็นของตนเอง เพราะสู้ราคาไม่ไหว

“คนที่ถือกำเนิดและเติบโตที่นี่ไม่มีปัญญาจะดำรงชีวิตในแผ่นดินเกิดกันได้แล้ว” ลอเรล ไบรเออร์ อดีตที่ปรึกษาด้านอาชีวศึกษาบนเกาะคาไว กล่าวกับ ไวร์ด.คอม

“และเรายังต้องเผชิญกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มุ่งแต่จะตอบสนองพวกคนรวยต่างถิ่นให้ได้ในทุกอำเภอใจของพวกเขา มันสร้างงานในชุมชนได้บ้าง แต่ก็ไม่ทราบว่างานพวกนี้จะมั่นคงได้แค่ไหน”

ด้านอินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญที่ทำงานผ่านสื่อวิทยุของเกาะคาไว นามว่า ไคอูลานี มาฮูกา บอกกับนักข่าวของกลุ่มเอเจพลัส ที่จัดทำสกู๊ปเรื่องศึกแย่งชิงดินแดนระหว่างซัคเคอร์เบิร์ก กับชาวเกาะคาไว ว่า

“เราต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มใจยิ่งค่ะ แต่เราอยากจะขอร้องว่า มาแล้ว กรุณากลับบ้านไปนะคะ อย่ามาหลงใหลจะมีบ้านที่เกาะของเราเลย เพราะเมื่อพวกคุณบุกเข้ามา พวกเราจะไม่มีที่ไปจริงๆ”


ไคอูลานี มาฮูกา เป็นอินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญที่ทำงานผ่านสื่อวิทยุของเกาะคาไว ในอันที่จะคัดค้านต่อต้านสถานการณ์ที่เรียกกันว่าการสร้างอาณานิคมซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งใช้หลายแท็กติกในการผลักดันให้ชาวเกาะคาไวแห่งรัฐฮาวายต้องออกจากที่ดินที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
คอลัมน์ PLANET No.3

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า


(ที่มา: ranker.com ไวร์ด.คอม NYmag.com เอเจพลัส)

กำลังโหลดความคิดเห็น