แรงกดดันถาโถมเข้าใส่อิสราเอลหนักหน่วงขึ้นในวันศุกร์ (1 มี.ค.) ตามหลังเหตุการณ์ทหารยิวในกาซา ก่อเหตุเปิดฉากยิงใส่ฝูงชนที่ห้อมล้อมขบวนรถบรรทุกสิ่งของบรรเทาทุกข์ ณ จุดแจกจ่ายแห่งหนึ่งในวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) สังหารชาวปาเลสไตน์ไปนับร้อยคน โดยหลายประเทศสนับสนุนเสียงเรียกร้องที่ขอให้สหประชาชาติเปิดการสืบสวน
พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกาซา ระบุว่ากองกำลังอิสราเอลสังหารผู้คนไปมากกว่า 100 ราย ที่กำลังพยายามเข้าถึงขบวนรถบรรทุกสิ่งของบรรเทาทุกข์ ใกล้เมืองกาซา ซิตี เมื่อวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) ท่ามกลางเค้าลางความอดอยากในสงครามที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 5 เดือน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่พวกฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
อิสราเอลกล่าวโทษการเสียชีวิตทั้งหมดไปที่ฝูงชนที่ห้อมล้อมรถบรรทุกสิ่งของบรรเทาทุกข์ โดยบอกว่าเหยื่อเหล่านั้นทั้งเหยียบกันและทับกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อิสราเอลรายหนึ่งยังอ้างด้วยว่าทหารได้ "ตอบโต้อย่างจำกัด" ในเวลาต่อมา ยิงเข้าสู่ฝูงชนที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามเท่านั้น
แม้คำกล่าวอ้างของในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เหตุการณ์นี้ตอกย้ำให้เห็นถึงภาวะล่มสลายของความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการส่งมอบความช่วยเหลือตามพื้นที่ต่างๆ ในฉนวนกาซา ที่ถูกยึดครองโดยกองกำลังอิสราเอล ไม่มีฝ่ายบริหารในพื้นที่และหน่วยงานหลักของสหประชาชาติ UNRWA อยู่ในภาวะไร้ศักยภาพ เนื่องจากถูกสืบสวนตามคำกล่าวหามีความเกี่ยวข้องกับพวกฮามาส
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ (1 มี.ค.) ว่า "เราขอให้รัฐบาลอิสราเอลทำการสืบสวน และจากการประเมินของเรา เราคิดว่าพวกเขาจริงจังกับเรื่องนี้ พวกเขากำลังตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เรื่องน่าเศร้านี้เกิดซ้ำอีก และรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ไว้วางใจอิสราเอลทำการสืบสวนให้เสร็จสิ้น ในขณะที่เราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น"
นักรบฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และจับตัวประกันไปอีกประมาณ 253 คน นับตั้งแต่นั้นอิสราเอลแก้แค้นด้วยการเปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตีและรุกรานฉนวนกาซา สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วมากกว่า 30,000 ราย
ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ก่อตัวในฉนวนกาซา หลายประเทศเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิง แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุว่าเหตุการณ์ในวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) จะก่อความซับซ้อนต่อการเจรจาข้อตกลงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการหยุดยิงและการปล่อยตัวประกัน
อินเดียบอกว่าพวกเขารู้สึกช็อกอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนบราซิลระบุเหตุการณ์นี้เลยเถิดเกินกว่าข้อจำกัดทางจริยธรรมหรือกฎหมายใดๆ ขณะที่แอฟริกาใต้ ซึ่งยื่นฟ้องร้องเอาผิดอิสราเอล ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประณามเหตุเสียชีวิตในครั้งนี้
ฝรั่งเศสและเยอรมนี สนับสนุนเสียงเรียกร้องให้สืบสวนในระดับนานาชาติ โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แสดงความขุ่นเคืองอย่างรุนแรงและประณามหนักหน่วงที่สุดต่อพวกที่ลงมือยิง ส่วนเยอรมนีบอกว่า "กองทัพอิสราเอลจำเป็นต้องอธิบายอย่างครบถ้วนว่าเหตุการณ์ตื่นตระหนกและกราดยิงหมู่ครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร"
ในอิสราเอล อิตามาร์ เบน-กาวีร์ รับมนตรีความมั่นคง หัวขวาจัดของอิสราเอล เรียกร้องให้ "สนับสนุนอย่างมั่นคง" ต่อทหารอิสราเอล "ที่ดำเนินการอย่างยอดเยี่ยมกับม็อบกาซาที่พยายามทำร้ายพวกเขา"
เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเรียกร้องให้เปิดการสืบสวนเช่นกัน บอกว่าอิสราเอลมีหน้าที่รับผิดชอบ รับประกันความช่วยเหลือจะเข้าสู่ฉนวนกาซาเพิ่มเติม ด้วยการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม รื้อถอนคอขวดและอุปสรรคต่างๆ ทางราชการ "มันต้องไม่เกิดขึ้นอีก" เขากล่าวในถ้อยแถลง "เราไม่อาจแยกสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ออกจากสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ไม่พอเพียง"
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหประชาชาติเปิดเผยว่ากระแสความช่วยเหลือที่ไหลบ่าไปยังกาซา กำลังเหือดแห้งลง และกำลังเจองานยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ในการแจกจ่ายความช่วยเหลือภายในฉนวนแห่งนี้ สืบเนื่องจากภาวะล่มสลายด้านความมั่นคง
อิสราเอลอ้างว่าไม่จำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซา และบอกว่าปริมาณและอัตราการส่งมอบความช่วยเหลือขึ้นอยู่กับสหประชาชาติ
(ที่มา : รอยเตอร์)