รัฐบาลรัสเซียประกาศยืนยันในวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) ว่าจะงดส่งออกน้ำมันเบนซิน (gasoline) เป็นเวลา 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เพื่อพยุงเสถียรภาพของราคาน้ำมัน
รัฐบาลหมีขาวระบุในคำแถลงที่เผยแพร่ผ่าน Telegram ว่า “การตัดสินใจเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดน้ำมันมีเสถียรภาพ ในช่วงเวลาที่อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นจากการทำเกษตรในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูกาลท่องเที่ยว และการซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันตามกำหนด”
รัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก
โฆษกของรองนายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ โนวัก มือขวาของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งรับผิดชอบดูแลภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ออกมายืนยันเมื่อวันอังคาร (27) ว่ามาตรการห้ามส่งออกจะถูกนำมาบังคับใช้จริง
ราคาน้ำมันเบนซินภายในประเทศถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับผู้ใช้ยานพาหนะและเกษตรกรในรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.นี้
โรงกลั่นน้ำมันในรัสเซียหลายแห่งยังถูกยูเครนส่ง “โดรน” เข้ามาโจมตีจนได้รับความเสียหายตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดสำหรับรัสเซีย และเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศที่ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจแดนหมีขาวซึ่งมีขนาดประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่มอสโกใช้สร้างอิทธิพลต่อรองทางการเมืองกับประเทศอื่นๆ
ทำเนียบเครมลินได้ทำงานร่วมกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นชาติผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลกเพื่อพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงตามกลไกของ OPEC+ ซึ่งประกอบด้วยองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) บวกกับพันธมิตรหลักอื่นๆ
รัสเซียสมัครใจลดการส่งออกน้ำมันและเชื้อเพลิงลง 500,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อช่วยพยุงราคาเชื้อเพลิงตามเป้าหมายของ OPEC+
ที่มา : รอยเตอร์