พรานลามกจอมล่าเหยื่อวัยทีน – อาชญากรแปะภาพสาวสวย ล่อลวงขอแลกเปลี่ยนรูปถ่ายเปิดเปลือย แล้วแบล็กเมล – ภัยคุกคามจิกกัดด้วยถ้อยอักษรหยาบคายร้ายกาจ – นักค้ายาเสพติดหลอกให้ลอง – เรื่องราวเนื้อหามอมเมาให้หลงเพ้อติดตามงอมแงม – มาตรฐานความสวยที่ไม่มีอยู่จริง – คอนเทนต์หดหู่ท้อแท้ทำร้ายตัวเอง – เด็กฆ่าตัวตาย – เด็กอดอาหารจะผอมจะเพรียวให้สำเร็จตามสูตรเก๊!! เหล่านี้เป็นบางส่วนของปัญหาที่เยาวชนคนทีนเอจอเมริกัน เผชิญอยู่ขณะเข้าไปใช้แอปโซเชียลมีเดีย
ในการนี้ หน่วยงานช่วยเหลือเยาวชนประสบภัย และบรรดาสมาชิกสภาคองเกรส ประกาศกันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า บริษัทบิ๊กเทคโนโลยีทั้งหลายไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอในอันที่จะปกป้องลูกๆ หลานๆ อเมริกันชน ยูเอสเอทูเดย์รายงาน
‘เด็กทีนเอจในสหรัฐอเมริกา อายุระหว่าง 13 ถึง 17 ปี เกือบร้อยละ 95 ทีเดียว ที่เล่นโซเชียลมีเดีย แต่แล้ว... ในเวลาเดียวกัน โซเชียลมีเดียก็สามารถสร้างความเสี่ยงอันตรายอย่างลึกซึ้งต่อสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของเด็กๆ ทั้งนี้ต้องถือว่าพวกบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้’ นี่เป็นคำประกาศเตือนจากสำนักแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ หรือ US Surgeon General ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว 2023
ขณะที่บรรยากาศแห่งความไม่พอใจต่อบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคม ปรากฏแผ่ลามไปในวงกว้าง ความรู้สึกทุกข์ตรมเจ็บปวดที่ครอบครัวของเหยื่อ (ที่ได้รับความเสียหายและสูญเสีย) มีต่อผู้บริหารและซีอีโอของบริษัทเจ้าของแอปโซเชียลมีเดีย ก็เข้มข้นเกินพรรณนา ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอแห่งเมตาเจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซีอีโอแห่งเอ็กซ์(ทวิตเตอร์) ซีอีโอแห่งติ๊กต๊อก ซีอีโอแห่งสแนปแชท ตลอดจนซีอีโอแห่งดิสคอร์ท ล้วนตกเป็นจำเลยสังคม
ในวันที่ซีอีโอจอมไททันของแอปดังกล่าวทั้ง 5 ค่ายรายสำคัญ ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ในประเด็นปัญหาความปลอดภัยของเด็กๆ ขณะเข้าใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการไต่สวนที่อาคารรัฐสภา แคปิตอลฮิลล์ เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2024 นั้น คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ พร้อมใจกันทำให้พวกซีอีโอ 5 เสือร้าย ต้องได้อาย
โดยขณะที่คณะจำเลยสังคมเคลื่อนขบวนเข้าไปยังที่นั่งในห้อง Senate Press Gallery เสียงฮึดฮัดขัดเคืองปรากฏให้ได้ยินถนัดหู ดังออกมาจากบริเวณแถวที่นั่งของกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของเด็กผู้เสียหาย ทุกคนพากันส่งสายตาจ้องเขม็งจอมไททันเหล่านั้นแบบไม่ยอมลดละสายตา พลางประณามเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูภาพของเด็กๆ ซึ่งบางคนฆ่าตัวตายไปแล้ว บางคนอยู่ในสภาพร่างกายและจิตใจบอบช้ำเสียหายหนักภายหลังจากตกเป็นเหยื่อของพวกวายร้ายนักล่า เพราะแอปโซเชียลมีเดียช่วยเชื่อมโยงให้เข้าถึงตัวเด็กๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดาย
“อเล็กซ์ อายุ 17 ไปตลอดกาล” ข้อความในภาพของเหยื่อวัยทีนเอจเขียนไว้อย่างนั้น
“คาร์สัน ไบรด์ อายุ 16 ไปตลอดกาล” เป็นข้อความในอีกภาพหนึ่ง และ “เมสัน โบการ์ด อายุ 15 ไปตลอดกาล” ข้อความในภาพที่สามเขียนเช่นนั้น
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปภาพมากกว่า 20 ภาพซึ่งคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อเพราะโซเชียลมีเดีย พากันชูขึ้นมาตอกย้ำความจริงอันโหดร้ายว่า การละเลยของบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่ปล่อยปละให้อัลกอริทึมของตนนำความเดือดร้อนความสูญเสียไปยังเด็กๆ และครอบครัวนั้น เลวร้ายมากมายเพียงใด
“ติ๊กต็อกให้ แมทธิว ลูกชายสิบสองขวบของผมดูคลิปการเล่น ‘เกมชาเลนจ์รัดคอตัวเอง’ เขาลองทำชาเลนจ์นี้ แล้วมันก็ฆ่าเขาตาย” ทอดด์ ไมเนอร์ คุณพ่อของแมทธิว เล่าไว้กับสื่อมวลชนหลังการไต่สวนยุติแล้ว
“ติ๊กต็อกและแพลตฟอร์มอื่นๆ ปล่อยให้คลิปฆาตกรระบาดเป็นไวรัลแพร่หลายออกไปเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว เรื่องนี้ทำให้มีการตายเป็นร้อยๆ รายแบบเดียวกับแมทธิว” นิวยอร์กโพสต์รายงานเรื่องราวของน้องแมทธิว ไมเนอร์
“ไรลีย์ ลูกชายดิฉัน ฆ่าตัวตาย น้องถูกแบล็กเมลทางเพศบน เฟซบุ๊ก ค่ะ” คุณแม่ แมรี โรดี บอกขณะชูภาพลูกชายวัย 15 ปีซึ่งปลิดชีวิตตัวเองเมื่อปี 2021 เพียง 6 ชั่วโมงหลังจากถูกอาชญากรนักล่าเหยื่อโลกไซเบอร์บังคับข่มขู่จะแบล็กเมล
“โอลิเวีย ลูกสาวดิฉันกลายเป็นเด็กอายุ 15 ปีไปตลอดกาล เพราะ สแนปแชท เชื่อมต่อให้คนแปลกหน้าพ่อค้ายาเสพติดเข้าถึงเธอ ผู้ชายคนนี้มาค้ากำไรแสวงประโยชน์จากเด็กอ่อนโลก” เดสพินา โพรโดรมิดิส เล่าไว้เช่นนี้ “เขาชักจูงโน้มน้าวให้เธอลองกินยาเม็ดชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่ามันคือยาเสพติดเฟนทานีลบริสุทธิ์” ยูเอสเอทูเดย์รายงาน
“แจ๊สมิน ตกเป็นเหยื่อของการบูลลีชั่วร้ายที่มุ่งเหยียดผิวบนอินสตาแกรม พวกที่มาบูลลีน้อง ส่งทั้งคอมเมนต์และคำขู่แบบเหยียดผิว และกระทั่งใช้โปรแกรมตัดแต่งนำเอาภาพศีรษะของน้องต่อเข้ากับร่างของ เอมมิต ทิลล์” ลาควอนตา เฮอร์นันเดซ คุณแม่ของแจ๊สมินเปิดเผยความทุกข์ของลูกสาวและตัวเธอเอง
“ดิฉันแจ้งไปที่อินสตาแกรมเรื่องคอนเทนต์ร้ายๆ พวกนี้หลายต่อหลายครั้ง แต่อินสตาแกรมก็ปฏิเสธไม่ยอมลบทิ้งอยู่ตั้งหลายวัน มันน่าสยดสยองมากนะคะที่ อินสตาแกรมไม่ยอมลบทิ้งคำขู่ฆ่าที่ทำกับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อินสตาแกรมทำให้มันง่ายดายเหลือเกินที่ใครสักคนนึ่งที่จะกลั่นแกล้งรังควาญ รังแก และข่มเหงเด็กๆ บนแพลตฟอร์มของพวกเขา”
อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียต่างๆ นำ อาชญากร ความเจ็บปวด การล้มป่วย ความตาย การสูญเสียอนาคต อีกทั้งการปลิดชีพตนเองเพื่อตัดจบชะตากรรมขมขื่น ไปสู่เด็กเล็กและเด็กวัยรุ่น ตลอดจนคุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ อย่างไรและเพียงไรบ้าง มาดูกัน
“แอปโซเชียลมีเดียฆ่าลูกฉัน” พ่อแม่เด็กวัยทีน เหยื่อเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม สแนปแชท X ติ๊กต๊อก: เปิดชีวิตย่อยยับ แอปฯ เชื่อมให้อาชญากรเข้าถึงเด็กๆ
ในบรรดาครอบครัวมากมายที่เข้าฟังการไต่สวน ณ ห้อง Senator Press Gallery อาคารรัฐสภาอเมริกัน มีสมาชิกของหลายต่อหลายครอบครัวมาบอกเล่าถึงลูกๆ หลานๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของพวกอาชญากรนักล่าที่ใช้อัลกอริทึมของแอปโซเชียลมีเดีย เข้าถึงเด็กๆ โดยที่บริษัทเจ้าของแอปก็ปล่อยปละและไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เช่น แม้แต่คำเตือนบนแพลตฟอร์มอินสตาแกรม ที่บอกว่าการค้นหาของยูสเซอร์อาจจะนำไปสู่ภาพอนาจารเด็กเล็กเด็กทีนเอจ แต่ในบรรทัดล่างของคำเตือนกลับให้ลิงก์ที่จะพาไปสู่ภาพอนาจารเหล่านั้น หรือการที่ผู้ปกครองพบปัญหาว่าระบบของแอปสแนปแชท ช่วยเชื่อมโยงให้พวกค้ายาเสพติดเข้าถึงลูกๆ หลานๆ ได้ง่ายๆ
แดเนียล ปวยร์ตา จอห์นสัน วัย 16 ปี ตายเพราะยาเสพติดร้ายแรง หลัง “สแนปแชท” เชื่อมโยงให้พ่อค้ายาเข้าถึงตัวน้องได้ โดยน้องเข้าใจว่าเป็นยาแก้ปวดอ็อกซีคอนติน
คุณพ่อไฮเม่ ปวยร์ตา พบน้องแดเนียล ลูกชายวัย 16 ปี นอนหมดสติในห้องของน้องที่บ้านในเมืองซานตาคลาริตา รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเมษายน 2020 คุณพ่อมาทราบภายหลังว่าลูกกินยาที่ลูกเข้าใจว่าเป็นยาเม็ดแก้ปวดอ็อกซีคอนติน แต่แท้จริงแล้วเป็นยาเสพติดร้ายแรงชื่อว่า เฟนทานีล ซึ่งคุณพ่อเชื่อว่าลูกซื้อจากคนที่ติดต่อกันผ่านแพลตฟอร์ม สแนปแชท ซึ่งเป็นแอปโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงให้พ่อค้ายาเสพติดเข้าถึงตัวแดเนียลได้
“ผมรีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจาก 911 ซึ่งก็สามารถทำให้หัวใจของลูกกลับมาได้” คุณพ่อไฮเม่ เล่าอย่างนั้น แต่บอกเพิ่มเติมมาว่าเมื่อแดเนียลถึงมือคุณหมอที่โรงพยาบาลเด็กลอสแอนเจลิส คุณหมอแจ้งว่าน้องอยู่ในภาวะสมองตาย เอ็นบีซีนิวส์รายงาน
หลังจากนั้นหลายวัน คุณพ่อไฮเม่ ปวยร์ตา กับคุณแม่เดนีส จอห์นสัน ต้องตัดสินใจในสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดของชีวิต คือ ยอมให้ถอดอุปกรณ์พยุงชีวิต
“แดเนียลจากไปอย่างสงบครับ มีคุณแม่ลูบผมให้เบาๆ ส่วนผมก็จับมือลูกไว้ตลอด” คุณพ่อไฮเม่บอก
สำนักงานนายอำเภอของเคาน์ตีลอสแอนเจลิสเข้ามาไต่สวนคดี และขอนำโทรศัพท์มือถือของแดเนียลไปหาเบาะแส พร้อมกับขอรหัสเข้า โดยบอกว่าต้องการจะตรวจดูแอคเคาท์ สแนปแชท ของน้อง แต่คุณพ่อไฮเม่ไม่ทราบ นักสืบจึงขอหมายศาลเรียกข้อมูลจากบริษัทสแนป เจ้าของแพลตฟอร์มสแนปแชท
คุณพ่อไฮเม่เล่าว่าโกรธบริษัทสแนปอย่างยิ่ง เพราะบริษัทใช้เวลาเนิ่นนานเหลือเกินกว่าจะดำเนินการตามที่ทางการลอสแอนเจลิสสั่งไป ทั้งนี้ พวกพ่อค้ายาเสพติดที่เป็นผู้ต้องสงสัย ได้หนีการตรวจจับโดยปิดแอคเคาท์
หลังการตายของแดเนียล คุณพ่อไฮเม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หลายสิบรายที่ลูกๆ เสียชีวิตเพราะพิษของเฟนทานีล สิ่งที่คุณพ่อไฮเม่ได้ข้อสรุปขึ้นมาคือ ส่วนใหญ่จะบอกว่าลูกๆ ซื้อยาปลอมผ่านแพลตฟอร์มสแนปแชท
สแนปแชทน่าจะรายงานข้อมูลพวกพ่อค้ายาเสพติดทั้งหลายไปยังหน่วยงานทางการที่บังคับใช้กฎหมาย แทนที่จะแค่ลบแอคเคาท์ของอาชญากรไปให้พ้นภาระ คุณพ่อไฮเม่บอกกับเอ็นบีซีนิวส์
เซเรนา โรดริเกซ เสพติดโซเชียลมีเดียอย่างงอมแงม แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น คือ อัลกอริทึมของ อินสตาแกรม และ สแนปแชท เชื่อมโยงให้อาชญากรเข้าถึงตัวน้อง ในท้ายที่สุด น้องเซเรนาตัดสินใจฆ่าตัวตาย
สำหรับน้องเซเลนา โรดริเกซ ความปลอดภัยของเด็กๆ ขณะเข้าใช้อินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องของความเป็นความตายอย่างแท้จริง
เด็กหญิงวัย 11 ปีคนนี้ที่เติบโตตัวสูงใหญ่ไหล่กว้างเกินอายุ ฆ่าตัวตายหลังจากที่มีอาการเสพติดโซเชียลมีเดียอย่างงอมแงม ซึ่งพาน้องไปสู่การถูกพวกพรานล่าเหยื่อบำเรอกาม ล่อลวงเอาเปรียบในทางเพศ คุณแม่แทมมีเล่าอย่างเปิดใจ
รายละเอียดของชะตากรรมน่าสะเทือนใจของน้องเซเลนา มีโดยสรุป ดังนี้
นี่เป็นกรณีเด็กเล็กฆ่าตัวตายในวัยเพียง 11 ปี คือ ด.ญ.เซเลนา โรดริเกซ ชาวเมืองเอนฟิลด์ รัฐคอนเนทิคัต และเป็นโศกนาฏกรรมที่ส่งผลให้ผู้คนทวีความตระหนักต่อปัญหาผลกระทบที่สื่อสังคมมีต่อเด็กๆ และเยาวชน
ด.ญ.เซเลนา ปลิดชีพตนเองเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2021 หลังได้รับความกดดันรุนแรงจากหลายปัญหา อาทิ อาการป่วยหนักเพราะ “การเสพติด ‘อินสตาแกรม’ และ ‘สแนปแชท’ ในขั้นสุดขั้ว” เอกสารที่สำนักข่าวทั้งหลายได้รับจากศูนย์กฎหมายเพื่อเหยื่อแห่งโซเชียลมีเดีย (SMVLC) แถลงไว้ตามข้อมูลจากมารดาของเด็กซึ่งขอให้ศูนย์ฯ ช่วยดำเนินการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีบริษัทเจ้าของแอปสื่อสังคมทั้งอินสตาแกรม และสแนปแชท นิวยอร์กโพสต์รายงาน
ข้อมูลจากมารดาของด.ญ.เซเลนา เปิดเผยด้วยว่าได้มีการใช้วิธีต่างๆ เพื่อให้ลูกสาวเลิกเล่นแอปทั้งสอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยหนึ่งในหลายๆ วิธี ได้แก่ การพาเข้าคอร์สบำบัดสุขภาพจิตใจ
“ในหลายๆ โอกาสที่เซเลนาเข้ารับการบำบัดสุขภาพจิตใจให้หายจากภาวะเสพติด นักบำบัดรายหนึ่งประเมินสภาพอาการของเซเลนาว่า ไม่เคยพบผู้ป่วยรายใดที่เสพติดสื่อสังคมอย่างงอมแงมหนักมากเท่ากับกรณีของเซเลนา” บีบีซีรายงานเนื้อหาในเอกสารเผยแพร่ของ SMVLC
ในช่วงปี 2021 แรงกดดันหนักๆ ที่ทำร้ายจิตใจของ ด.ญ.เซเลนา เป็นสถานการณ์ที่ลุกลามมาจากการเสพติดอินสตาแกรมและสแนปแชทในขั้นสุดขั้ว กล่าวคือ แวดวงคนร้ายที่เข้าถึง เซเลนา ผ่าน สแนปแชท ได้มาคะยั้นคะยอให้เด็กผู้หญิง 11 ปีที่ร่างกายเติบโตเกินวัย นำคอนเทนต์แนวเปิดเปลือยร่างกายขึ้นไปโพสต์แชร์ และในที่สุดเซเลนาก็ทำตามการชักชวนดังกล่าว รายละเอียดในเอกสารประกอบคำฟ้องได้แถลงไว้เช่นนั้น
การณ์ปรากฏว่าภาพเหล่านั้นหลุดรั่วและมีการแชร์ต่อๆ กันในบรรดาเพื่อนร่วมชั้นเรียน ส่งผลให้เซเลนาวัย 11 ปีสะเทือนใจร้ายแรง อาการหดหู่เศร้าหมองและนอนไม่ได้ซึ่งออกฤทธิ์มาอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งทวีความรุนแรง ความกดดันมากมายทั้งหลายทั้งปวงส่งผลไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด บีบีซีรายงาน
ในการยื่นเรื่องฟ้องร้องบริษัทเจ้าของอินสตาแกรม และสแนปแชท ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาว่าบริษัทเทคยักษ์ด้านโซเชียลมีเดียทั้งสองนี้ออกแบบแอป อีกทั้งทำการตลาดให้แก่แอปซึ่งมีอันตรายอย่างที่สุดต่อยูสเซอร์อายุน้อยจำนวนมหาศาล “โดยที่รู้อยู่กับใจและโดยจงใจ”
สองบริษัทนี้จงใจสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์อันร้ายกาจ ซึ่งมีพลังดึงดูดใจของเด็กเล็กเด็กทีนเอจตลอดจนเยาวชน แต่ก็ไม่ได้สร้างระบบป้องกันอย่างเพียงพอ ในอันที่จะปิดกั้นผลกระทบอันตรายอันมากมายที่จะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มที่พวกเขาเป็นเจ้าของและควบคุมได้ตามต้องการ คำบรรยายฟ้องแถลงเช่นนั้น
“ดิฉันไม่ทราบเลยว่าปัญหาจะลุกลามไปถึงขนาดนั้นได้ ถ้าดิฉันทราบ ดิฉันไม่มีทางจะให้ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นมา” คุณแม่แทมมีกล่าวอย่างนั้นกับนักข่าวซีบีเอสนิวส์ และวิเคราะห์ออกมาดังนี้
“เงื่อนไขและปัจจัยทั้งหลายถูกซ่อนไว้ค่ะ ดิฉันมองดูแล้วมันเป็นประมาณว่าพวกบริษัทเทค รายใหญ่ๆ น่ะ รู้หมดทุกสิ่งทุกอย่างว่าจะทำให้กลไกต่างๆ ทำงานเพื่อประโยชน์ของบริษัทได้อย่างไร โดยที่ทางด้านผู้ปกครองก็คือ ไม่ทราบเลยว่ามีอะไรเกิดขึ้น”
ในกรณีของน้องเซเลนา คุณแม่บอกว่า “ดิฉันให้น้องถ่ายภาพสแนปแชทไป ภาพเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในเครื่องมือถือ เราก็เข้าใจไปว่าไม่มีอะไรมากกว่านั้น
“ดิฉันอนุญาตให้แกเต้นระบำอัดคลิปไป แล้วจะมีการเก็บคลิปเป็นฉบับร่าง ซึ่งก็ดูว่าโอเคน่ะนะคะ คลิปเก็บในเครื่องมือถือของเรา ทุกอย่างแลดูว่ามีความเป็นส่วนตัว
“แต่แล้ว สิ่งต่างๆ กลับเป็นปัญหาวุ่นวาย แล้วก็ลุกลามหนักหนาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว แบบว่าไม่ทันจะสามารถคุมอะไรได้เลย” คุณแม่แทมมีเล่าไว้กับซีบีเอสนิวส์อย่างนั้น และบอกสภาพการณ์แวดล้อมเพิ่มเติมว่า
“มีหลายๆ คืนเลยนะคะที่น้องนั่งบนเตียง มีเครื่อง 4 ตัว เปิดใช้งานพร้อมกัน เรียงรายรอบกาย และก็มีสิ่งต่างๆ ดำเนินของมันไปบนแต่ละเครื่อง”
คุณแม่แทมมีบอกด้วยว่าหลังจากที่ลูกเสียชีวิตไปแล้ว พวกเจ้าหน้าที่สอบสวนตรวจพบว่า น้องเซเลนามีแอคเคาท์อินสตาแกรมมากมายถึง 7 แอคเคาท์
“ดิฉันไม่เคยทราบอะไรเกี่ยวกับแอคเคาท์อินสตาแกรม 7 แอคเคาท์ของลูกเลยค่ะ โดยจะมีพวกผู้ชายติดต่อเข้ามาถึงลูก มาล่อลวงหลอกใช้ มาเอาเปรียบทางเพศ” คุณแม่แทมมีเล่าไว้กับซีบีเอสนิวส์
เกรซ แมคโคมาส ถูกนักเรียนรุ่นพี่ข่มขืน แล้วชายคนร้ายถูกชุมชนในเมืองกดดัน มันแก้แค้นสังคมโดยบูลลีหยาบคายร้ายกาจใส่ เกรซ เพราะมี “ทวิตเตอร์” เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้
น้องเกรซ แมคโคมาส สาวทีนเอจแสนสวยสดใสร่าเริงมีน้ำใจช่างช่วยเหลือ วัยเพียง 15 ปี ปลิดชีพตนเองให้พ้นจากความเจ็บปวดอันมากมายในจิตใจเมื่อวันอาทิตย์อีสเตอร์ปี 2012 หรือก็คือ 8 เมษายน หลังจากต้องเผชิญวิกฤติชีวิตและแบกรับแรงกดดันอันร้าวรานจากชายโฉดนักเรียนรุ่นพี่ที่ใช้กำลังข่มขืนเธอ แล้วยังร่วมกับพรรคพวกอันธพาลระดมกันบูลลี เกรซ ด้วยการโพสต์ข้อความสุดที่จะรุนแรงและหยาบคายขึ้นบน ทวิตเตอร์ อย่างยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 10 เดือนก่อนจะเลิกราเพราะ เกรซ ผู้เป็นเหยื่อ ฆ่าตัวตาย
วิกฤติชีวิตของเด็กหญิงเกรซ นักเรียนเกรด 9 - ปีแรกของไฮสกูล ที่ทำให้โลกสดใสของน้องถล่มทลาย อุบัติขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2011 เมื่อน้องถูกมอมยาและข่มขืนแบบใช้กำลังหักหาญโดยนักเรียนรุ่นพี่ ซึ่งปกติก็สนิทสนมคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นพี่ชายของเพื่อนสนิทชื่อกลอเรีย และบ้านสวนของครอบครัวแต่ละฝ่ายมีรั้วติดกัน
เมื่อคุณแม่คริสทีนของน้องเกรซได้ทราบเรื่องการข่มขืน จึงรีบแจ้งความกับตำรวจ ซึ่งคุณแม่เล่าไว้บนเว็บไซต์ mccomastruth.wordpress.com ว่า คุณตำรวจหนุ่มที่มาทำคดีเพียงคนเดียว ไม่ได้ไต่สวนตรวจสอบอะไรนัก อีกทั้งไม่ได้เก็บรวบรวมหลักฐานแต่อย่างใด
อาชญากรรมครั้งนี้เป็นที่ล่วงรู้ไปทั่วเมืองเอลลิคอตต์ซิตี เมืองเอกของเคาน์ตีฮาวเวิร์ด รัฐแมริแลนด์ เพราะนอกจากที่ เอลลิคอตต์ซิตี จะมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก ประมาณ 73,000 รายแล้ว บิดามารดาของนักเรียนชายใจทรามรายนี้ยังเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคู่หนึ่งของเมือง
ขณะที่คดีไม่มีหลักฐานเพียงพอแก่การการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ด้วยปัจจัยสองประการดังกล่าว แม้สภาพการณ์ภายในเมืองไม่มีการลุกขึ้นมาติเตียนเล่นงานบุตรชายไฮโซ แต่บรรยากาศของชุมชนจะเต็มไปด้วยความตึงเครียด วายร้ายข่มขืนเด็กผู้หญิงถูกกดดันภายใต้การลงโทษทางสังคมแบบนอกรูปแบบ หนำซ้ำบิดามารดาซึ่งมีหัวโขนหนึ่งในหลายๆ หัวโขน เป็นผู้นำทางศาสนากับผู้อภิบาลคณะลูกเสือหญิงก็พลอยที่จะต้องอับอาย
แรงกดดันทางสังคมทำให้มันแค้นเคืองเดือดดาล แต่ปฏิกิริยาโต้ตอบของวายร้ายนายนี้และพรรคพวกอันธพาลของมัน ไปลงที่ เกรซ แมคโคมาส เด็กผู้หญิงวัยเพียง 14 ปี เพียงคนเดียว
ลูกชายไฮโซชักชวนพรรคพวกในโรงเรียนให้ช่วยกันรังแกด่าทอหยาบคายไปถึง น้องเกรซ บนทวิตเตอร์ แล้วยกระดับขึ้นถึงขั้นขู่ฆ่า เพราะแค้นเคืองว่าเหยื่อทางเพศที่ตัวเองทำร้ายไว้อย่างสาหัส บังอาจนำเอาเรื่องไปฟ้องตำรวจ ทำให้ชาวเมืองรู้กันทั่ว จนตัวมันเดือดร้อนชีวิตพัง
ในการนี้ คุณแม่คริสทีนเล่ากับนักข่าวว่าไม่ได้ซื้อสมาร์ทโฟนให้น้องเกรซใช้ แต่เพื่อนๆ ของน้องจะไปรู้ไปเห็น แล้วมาบอกให้เกรซทราบว่าชายอาชญากรคนนั้น อีกทั้งพรรคพวกโพสต์ข้อความร้ายกาจและมากมายด้วยความเท็จเกี่ยวกับเกรซอะไรขึ้นบน ทวิตเตอร์ บ้าง
ด้าน น้องดานา ซาวโร หนึ่งในเพื่อนสนิทของเด็กหญิงเกรซ เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นนักจิตวิทยา เธอนำความทรงจำต่อเรื่องทั้งปวงนี้ที่เธอเจ็บปวดฝังลึกกับชะตากรรมน่าสลดใจของเกรซ ไปเขียนเป็นอุทธาหรณ์บนเว็บไซต์รณรงค์ช่วยเหลือป้องกันการฆ่าตัวตาย thewishdish.com/a-touch-of-grace โดยดานา ซาวโร เล่าว่ารุ่นพี่นักเรียนชายคนร้ายรายนี้ซื้อยาและพกติดตัวไว้ เมื่อสบโอกาสก็มอมยาและข่มขืนเกรซ แล้วยังบูลลีเกรซทางไซเบอร์แบบที่หยาบคายผิดมนุษย์ ตลอดจนชวนให้พรรคพวกเพื่อนฝูงไปประณามด่าทอเกรซที่โรงเรียน กระทั่งว่า ในที่สุดแล้ว เกรซไม่กล้าไปโรงเรียน หลบอยู่บ้านกับโรงพยาบาล
ดานา ซาวโร บันทึกด้วยว่าคนพวกนี้โหดร้ายและไม่มีวันเข้าใจหรอกว่าข้อเขียนและถ้อยคำรุนแรงหยาบคายทั้งหลาย มีผลกระทบเพียงใด คนพวกนี้ล้อเลียนเกรซให้กลายเป็นตัวตลก เขียนและพูดคำหยาบคายเย้ยหยันการฆ่าตัวตาย ตลอดจนท้าทายให้เกรซตายๆ ไปเสียที แล้วมีกระทั่งถ้อยคำเหยียดหยามว่าเกรซเป็นคนสำส่อนแปดเปื้อนโลกีย์ ดานาบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่ใช่แต่เกรซเท่านั้นที่ร้าวรานเจ็บปวด ตัวดานาเองและเพื่อนสนิทในกลุ่มทุกคนล้วนแต่หัวใจสลาย
ตลอดห้วงเวลามากกว่า 10 เดือนนับจากการล่วงละเมิดทางเพศ (มิถุนายน 2011 - เมษายน 2012) น้องเกรซต้องเผชิญกับแคมเปญของพรรคพวกคนชั่ว ซึ่งระดมกันบูลลีด้วยคอนเทนต์ด่าทอหยาบคายที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นขู่ฆ่า หนำซ้ำคนพวกนี้ยังไปแพร่ข่าวลือโกหกในอันที่จะทำลายชื่อเสียงกัน ใช่แต่เท่านั้น เพื่อนนักเรียนเกเรของชายจิตทรามไปดักด่าน้องที่หลังโรงเรียน ดีว่าเกรซมีเพื่อนอยู่ด้วยคนหนึ่งและพากันหนีเสียขวัญพ้นออกมาได้
ข้อความด่าทอเกลียดชังเกินมนุษย์ปกติซึ่งหลั่งไหลขึ้นไปบน ทวิตเตอร์ มันล้วนเป็นถ้อยคำแห่งความโกรธแค้นเกลียดชังที่ถูกทวิตเข้าไปท่วมความรู้สึกและจิตใจของเกรซ มันโหดร้ายที่สุดสำหรับเด็กหญิงวัยเพียง 14-15 ปี ด้านคุณแม่คริสทีนของน้องเกรซได้รวบรวมขึ้นมา 8 ทวิต ซึ่งดูได้ไม่ยากว่าใครเขียน และนิวยอร์กโพสต์นำขึ้นเป็นภาพประกอบการรายงานเรื่องราวการข่มเหงรังแกกันบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบน “ทวิตเตอร์” ดังนี้
=ฉันเกลียด เกลียด เกลียด เกลียด เกลียด เกลียด เกลียด แก ในคราวหน้า ถ้าชื่อของฉันหลุดออกมาจากลิ้นแก ขอให้แกสำลัก แล้วก็ตายๆ ไปซะ
=ฉันหวังว่าแกจะเห็นทวิตนี้ แล้วก็ร้องไห้ไปจนหลับ พอตื่นขึ้นมาก็ฆ่าตัวเองให้ตาย... แกมันคือกองอึไร้ค่า
=คนขี้ฟ้อง ฉันจะฆ่าแก
=ไม่มีใครชอบแกหรอก ฉันสมเพชแกว่ะ
=“พวกคนขี้ฟ้องจะต้องถูกตัดนิ้วทีละนิ้วทีละนิ้ว แล้วก็ต้องเฝ้ามองคนในครอบครัวถูกเผาทั้งเป็น”
=นึกไปถึงที่ฟอลโลเวอร์คนหนึ่งไปพรินต์คำทวิตของฉัน ใครแม่งจะเรื่องมากไปเวอร์ได้ขนาดนั้น #คนมันควรตาย
=โง่จริงๆ ที่คนๆ หนึ่งจะต้องชีวิตพังไปหมด #นังพวกโยนี
=ฉันไปเจอศพเน่ามาเยอะ แต่ยังน่าสะอิดสะเอียนน้อยกว่าแก
ในความทุกข์ที่แบกรับและเก็บกดไว้เพียงลำพังในใจ น้องเกรซมีอาการช็อกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2011 และเนื่องจากคุณแม่ได้เห็นข้อความในโทรศัพท์มือถือที่น้องส่งถึงเพื่อนบอกว่าเธอขอตาย คุณแม่จึงรีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากรถฉุกเฉิน
ในห้วงหนึ่งของวิกฤติ น้องมีภาวะเพ้อ และเหตุการณ์เจ็บปวดที่ฝังลึกใต้จิตใจ หลอนให้เธอเข้าใจผิดว่า ตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังถูกรุ่นพี่คนชั่วพยายามข่มขืน น้องกรีดร้องอย่างหวาดกลัว และเพ้อตะโกนซ้ำๆ
“อย่านะ! ไปให้พ้นตัวฉัน อย่ามาถูกตัวฉัน!”
คุณแม่น้ำตาพรั่งพรู จับไหล่ลูกสาว บอกปลอบลูกว่าแม่อยู่ตรงนี้แล้ว ลูกปลอดภัยแล้ว
ในเวลาเหล่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายซึ่งมาถึงก่อนรถฉุกเฉิน ได้ยินและได้รู้เห็นเหตุการณ์จากหน้าประตูห้องนอน และเมื่อคุณแม่คริสทีนขอแรงคุณตำรวจช่วยเอาเกรซลงจากเตียงตัวบนของเตียงสองชั้นที่เกรซแชร์กับพี่สาว คุณตำรวจบอกว่าอย่าเลย เด็กกำลังช็อกจากเรื่องที่ผู้ชายล่วงเกินร่างกายของเธอ คุณตำรวจไม่อยากให้เธอยิ่งผวาหวาดมากขึ้น คุณแม่เล่าไว้อย่างนั้นบนเว็บไซต์ mccomastruth พร้อมกับชี้ว่าตำรวจได้ยินและเข้าใจได้เลยว่าเกรซไปประสบกับการถูกข่มขืนมา
คุณแม่คริสทีนเล่าเพิ่มเติมว่าเมื่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉินมาถึง และนำร่างกายที่หมดสติของน้องไปขึ้นรถแอมบูแลนซ์ คุณแม่ไปถอยรถของครอบครัวจะขับตามไปกับรถฉุกเฉิน ปรากฏว่ารถฉุกเฉินขับออกจากถนนวิ่งรถภายในบ้านสวน จะวิ่งตัดบนพื้นหญ้า แต่ติดหล่ม คุณแม่จึงทันได้เห็นว่า บิดาของคนร้ายข่มขืนน้องเกรซ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านรั้วติดกัน ที่เคยนับถือสนิทสนมกันมาก เดินมาชะแง้ส่องมองดูเกรซจากข้างรถฉุกเฉิน
เพื่อนบ้านคนสำคัญรายดังกล่าวถามว่า เกรซดีขึ้นบ้างหรือยัง ด้านคุณแม่ซึ่งเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกจากคำเพ้อของลูกสาวว่า การข่มขืนที่เกิดขึ้นเมื่อสี่เดือนก่อน เป็นการใช้กำลังหักหาญร้ายกาจ คุณแม่จึงยังโกรธเดือดในใจ แล้วตอบว่า “ก็ยังไม่ทราบเหมือนกัน แต่เกรซเป็นอย่างนี้ก็เพราะลูกชายคุณน่ะแหละ”
หลังเหตุการณ์ 29 ตุลาคมดังกล่าวผ่านไป เพื่อนสนิทของเกรซ ชื่อ กลอเรีย ซึ่งเป็นน้องสาวของอาชญากรข่มขืน มาเล่าแก่เกรซว่าในช่วงค่ำของวันที่ 29 ตุลาคมนั้น เมื่อกลอเรียกับบิดากลับเข้าบ้าน คุณแม่ของกลอเรียพูดว่าเกรซตั้งใจเรียกร้องความสนใจแบบ ดรามาควีน (ราชินีเวทีละคร หรือก็คือ จอมมารยาเสแสร้งเรียกคะแนนน่าสงสาร)
แม้จะมีเหตุร้ายแรงขนาดนี้ แต่การคุกคามรังแกน้องเกรซบนทวิตเตอร์ก็ไม่ได้ยุติ คุณแม่คริสทีนและคุณพ่อเดวิดพยายามขอความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในศาล แต่ไม่เป็นผล หนำซ้ำ การรณรงค์คุกคามรังแกบนไซเบอร์โดยคนร้ายกับพวกพ้องมีแต่จะหนักข้อมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นขู่ฆ่า คุณพ่อคุณแม่ได้แต่เฝ้ามองอาการของน้องเกรซที่ย่ำแย่ทรุดลงอย่างรวดเร็ว
“เกรซจมอยู่ในวิกฤติ น้องขมขื่นใจ ทุกข์ตรม เครียดจัดและหดหู่ ทานอาหารไม่ได้ นอนไม่ได้ เหมือนกับรถยนต์ที่ทรุดโทรมและพังหมดสภาพ
“เราพาเกรซไปเข้ารับการบำบัดช่วยเหลือสภาพจิตใจ เราให้ความรักแก่น้องมากมายเท่าที่จะสามารถ แต่น้องผวากลัวไปหมด บ้านของเราอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ กระนั้นก็ตาม เกรซไม่กล้าแม้จะเดินออกจากตัวบ้านไปที่ประตูรั้ว” คุณแม่คริสทีนเล่าไว้
เมื่อมาถึงวันอาทิตย์อีสเตอร์ปี 2012 น้องเกรซซึ่งสิ้นหวังและทดท้อ ขอตัดจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย กลายเป็นสาวทีนเอจ 15 ปีไปตลอดกาล โดยน้องอยู่ในภาวะโคมาตลอดคืน และหมดลมหายใจ หัวใจหยุดเต้นในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2012
คุณพ่อคุณแม่ช่วยให้น้องเกรซได้ทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นครั้งสำคัญที่สุดของชีวิตน้อง คือการบริจาคอวัยวะหลายรายการ
เรื่องราวต้นเหตุแห่งการฆ่าตัวตายของเกรซ เป็นข่าวสะเทือนขวัญสะเทือนใจกันไปทั่วรัฐแมริแลนด์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีเด็กเล็กและเยาวชนฆ่าตัวตายเพราะการถูกบูลลีร้ายกาจบนอินเทอร์เน็ต ปีละหลายสิบชีวิต
บุญของชาวรัฐแมริแลนด์ ภาคการเมืองของแมริแลนด์มีมากมายด้วยมนุษย์เดินดินดวงใจเทวดา
ภายในเวลาที่ยังไม่เต็มหนึ่งปีหลังการฆ่าตัวตายของเด็กผู้หญิง 15 ปีที่ถูกบูลลีดุเดือดโดยที่ฝ่ายต่างๆ ในเมืองไม่ลุกขึ้นมาดำเนินการเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหานั้น รัฐแมริแลนด์ได้ผ่านกฎหมาย “เกรซ ลอว์” ในเดือนเมษายน 2013 ซึ่งกำหนดว่าการใช้อินเทอร์เน็ตไปรังควาญด่าทอรังแกผู้เยาว์ ถือเป็นอาชญากรรม และผู้ที่สนับสนุนการกระทำเหล่านี้จะต้องได้รับโทษด้วย นิวยอร์กโพสต์รายงาน
เมื่อคุณแม่คริสทีนประสบความสำเร็จได้รับกฎหมายในระดับรัฐ ว่าด้วยการคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กเล็กและเยาวชนขณะใช้อินเทอร์เน็ต คุณแม่ซึ่งต้องทำเกษตรสวนดอกไม้สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ก็แบ่งเวลาไปผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองเด็กเล็กและเยาวชนในระดับชาติต่อไป
แมเรียม ฟอว์ซี นักกีฬาโรงเรียน ไปงมงายกับคอนเทนต์ ติ๊กต๊อก เฟซบุ๊ก ที่โปรโมทความผอมผ่านการกินยอดแย่ ส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ ลงท้ายคือป่วยหนัก นั่งวีลแชร์ไปทั้งชีวิต
น้องแมเรียม ฟอว์ซี เคยเป็นนักกีฬาของโรงเรียนไฮสกูล ก่อนที่น้องจะถูกพาตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉินไปรับการช่วยชีวิตเร่งด่วนที่โรงพยาบาล เพราะมีอาการหัวใจหยุดทำงาน สืบเนื่องจากที่น้องติดตามเฝ้าชมคอนเทนต์โปรโมทความผอมผ่านการส่งเสริมให้รับประทานอย่างที่ไม่ถูกต้องบน “ติ๊กต๊อก” และ “เฟซบุ๊ก” และน้องก็ทำตามอย่างเชื่อจริงๆ เทใจให้หมด
ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 และมีการล็อกดาวน์ ลูกสาวของคุณแม่เนวีนไม่สามารถเข้าโรงยิมได้ตามปกติ แมเรียมจึงเริ่มศึกษาค้นหาวิดีโอการออกกายบริหารบนโซเชียลมีเดีย โดยหวังจะควบคุมสภาพร่างกายให้ฟิตแอนด์เฟิร์มจนกว่าโรงเรียนจะเปิดเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าเนื้อหาเพื่อรักษาสภาพความฟิตของร่างกาย ได้นำน้องไปสู่หนทางอันตรายที่ทำให้เกือบเอาชีวิตไม่รอด นิวยอร์กโพสต์รายงาน
“เจ้าอัลกอริทึมที่ขับเคลื่อน อินสตาแกรม และ ติ๊กต็อก เกือบจะฆ่า น้องแมเรียม ลูกสาวดิฉันไปแล้ว” คุณแม่เนดีนเล่า
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใช้อัลกอริทึมที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของยูสเซอร์ โดยมีการนำเสนอวิดีโอต่างๆ เข้าไปให้ล่อความสนใจของยูสเซอร์ ตลอดจนป้อนคอนเทนต์ที่ตรึงยูสเซอร์ให้คอยเข้าไปติดตามอยู่ตลอด
แมเรียมเจอวิดีโอจำนวนมหาศาลที่แพลตฟอร์มเสนอเข้าไปล่อใจเธอด้วยเนื้อหาแย่ๆ เช่น “วิธีที่จะอยู่ให้ได้ด้วยปริมาณแคลอรีต่ำกว่า 500 ต่อวัน” คุณแม่เนวีนเล่าอย่างนั้น และบอกด้วยว่า
“ติ๊กต๊อกกับเฟซบุ๊กสามารถดูดเอาเธอเข้าไปในหลุมดำซึ่งเต็มไปด้วยคอนเทนต์อันตรายในการบริโภคอาหารอย่างผิดปกติ อีกทั้งการเข้าร่วมการชาเลนจ์เพื่อพิสูจน์ความผอมแบบสุดโต่ง ทั้งที่ลูกก็ไม่ได้ตั้งเป้าจะไปค้นคว้า แล้วลูกก็กลายเป็นคนหมกมุ่นกันเรื่องเหล่านี้”
ภายในไม่กี่เดือน การทำงานของหัวใจเริ่มมีปัญหา
แมเรียมใช้เวลาตลอดทั้งหลายปีที่เรียนชั้นไฮสคูล เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลทั้งที่วันเวลาเหล่านั้นควรเป็นช่วงแห่งการสนุกกับชีวิต โดยในครั้งหนึ่งน้องถึงกับถูกพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉินไปรับการช่วยชีวิตที่ศูนย์บำบัดในเดนเวอร์ เพราะน้องมีอาการภาวะหัวใจหยุดเต้น เมื่อปี 2021
“แม้แมเรียมจะประคองชีวิตไว้ได้ แต่น้องก็จะต้องต่อสู้กับการกำเริบของโรคเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งชีวิต น้องไม่สามาถเดินได้ตามปกติ และต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ โดยทั้งหลายนี้เป็นผลจากการรับประทานอย่างผิดปกติที่โซเชียลมีเดียคือตัวการกระตุ้นให้เกิดขึ้น ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม ทำงินได้เยอะแยะจากความเจ็บปวดของเธอ” คุณแม่เนวีนเล่าปัญหาไว้กับนิวยอร์กโพสต์
“ดิฉันคิดว่าสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ไม่ตระหนักก็คือ พวกเขาไม่เห็นจะต้องฆ่าใครและสร้างผลกระทบต่อชีวิตทั้งหมดของคนๆ นั้น” คุณแม่ของแมเรียมชี้ประเด็นไว้ และย้ำว่า
“เรื่องนี้จะไม่ยุติลงง่ายๆ เด็กอีกมากมายจะเสียชีวิต และอีกมากกว่านั้นจะเจ็บป่วย”
ที่ผ่านมา คุณแม่เนวีน รัดวาน เดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สามรอบแล้ว เพื่อเข้าพบสมาชิกรัฐสภาและขอร้องให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอันตรายที่เด็กๆ ต้องประสบขณะเข้าใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ถ้อยคำของบริษัทเจ้าของแอปโซเชียลมีเดียเชื่อถือไม่ได้ องค์การ ParentsTogether เตือนไว้ชัดเจน
มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอแห่ง เมตา แพลตฟอร์ม อิงค์ ตลอดจนประดาซีอีโอบริษัทเทคคนอื่นๆ ซึ่งถูกคณะกรรมาธิการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกตัวไปให้ปากคำต่อประเด็นปัญหาความปลอดภัยของเด็กขณะเข้าใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2024 ล้วนประกาศว่า พวกตนมุ่งมั่นพัฒนาหลากหลายมาตรการแห่งการพิทักษ์คุ้มครอง เพื่อมาคอยปกป้องเด็กและวัยรุ่นที่เข้าไปใช้แพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์เพื่อสิทธิเด็กและคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ซึ่งอยู่ในหมู่ผู้เข้าฟังการไต่สวน ประกาศว่าไม่เชื่อลมปากอย่างแรง
โดย ParentsTogether องค์การไม่มุ่งหวังผลกำไรซึ่งศึกษาและจัดทำรายงานอิสระว่าด้วยปัญหา “โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบกระเทือนต่อเด็กๆ และครอบครัวอย่างไร” กล่าวกับยูเอสเอทูเดย์ว่า การให้ปากคำเมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2024 “ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาแล้วว่า ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ตามที - ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองไปจนถึงสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ - ไม่ควรเชื่อถือยอมรับคำโกหก ที่พวกบริษัทเทคเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพยายามหลอกขาย”
“สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองแทบทุกคนต่างทราบดีก็คือว่า สื่อสังคมกำลังทำร้ายเด็กๆ ของเรา และที่น่าเศร้าใจที่สุดนั้น มันกำลังฆ่าเด็กๆ ของเรา” ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า เชลบี น็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ขององค์การ ParentsTogether กล่าวอย่างนั้น
ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาอเมริกัน ส.ว.ดิ๊ก เดอร์บิน พรรคเดโมแครต รัฐอิลลินอย และ ส.ว.ลินด์เซย์ แกรห์ม วุฒิสมาชิกอาวุโสสูงสุดของกรรมาธิการสายรีพับลิกันในคณะกรรมาธิการยุติธรรมฯ ร่วมกันให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ซีบีเอสนิวส์
“บรรดาผู้ปกครองพยายามต่อสู้กับสงครามที่มีแต่จะต้องพ่ายแพ้ ผู้ปกครองเหล่านี้ทำอย่างดีที่สุดในอันที่จะตามให้ทันเทคโนโลยี แล้วในส่วนของความเสียหาย ความสูญเสียและความทุกข์ตรมทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่บริษัทเจ้าของโซเชียลมีเดียต้องรับผิดชอบ” ส.ว.เดอร์บินกล่าว และบอกด้วยว่า
“เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ก้าวข้ามการเมืองครับ นี่เป็นเรื่องของบุคคล เรื่องของครอบครัว ที่ผ่านมามีการค้ากำไรทางเพศจากเด็กๆ บนอินเทอร์เน็ต ผมทราบดีว่าทุกคนมองว่ากรรมาธิการต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน”
ด้าน ส.ว.แกรห์ม บอกว่า “ผมไม่เคยเห็นผู้คนมากมายจากต่างๆ ภูมิหลัง จากต่างๆ ความเชื่อทางการเมือง พากันรู้สึกต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง และตั้งหวังให้กรรมาธิการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
ซีบีเอสนิวส์ระบุไว้เลยว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมีองค์ประกอบสองส่วน ได้แก่ การแก้ไขมาตรา 230 ที่เป็นโล่เป็นเกราะคุ้มกันพวกบริษัทจอมยักษ์ด้านเทคโนโลยีไม่ให้ต้องถูกยูสเซอร์ฟ้องร้อง และการโหวตรับรองร่างกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของยูสเซอร์อย่างแท้จริงและครอบคลุมทุกอันตราย
พร้อมนี้ ส.ว.แกรห์ม ย้ำหัวใจของปัญหาว่า ไม่น่าเชื่อเลย ในประเทศอย่างอเมริกา ในปี 2024 ที่สหรัฐฯ มีพัฒนาการมากมาย ธุรกิจใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินี้ พวกโซเชียลมีเดียสามารถดำเนินงานไปตามอำเภอใจโดยปราศจากกฎกติกา
หนำซ้ำยังไม่มีการตรากฎหมายแม้สักหนึ่งมาตราที่จะคุ้มครองผู้บริโภค แล้วคุณก็ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเอาชนะบริษัทพวกนี้ได้!!!
คอลัมน์ PLANET No.3
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี ยูเอสเอทูเดย์ นิวยอร์กโพสต์ ซีบีเอสนิวส์ เอ็นบีซีนิวส์ บีบีซี เว็บไซต์ mccomastruth.wordpress.com thewishdish.com/a-touch-of-grace ซีเอ็นเอ็น)