(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Don’t expect a ceasefire in Ukraine
By STEPHEN BRYEN
24/02/2024
ปูตินได้เรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวดมาแล้ว จากความไว้เนื้อเชื่อใจ อังเงลา แมร์เคิล ที่เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในเวลานั้น รัสเซียจึงได้ยอมทำข้อตกลงหยุดยิง มินสก์1 และมินสก์2 เมื่อปี 2014-15 กับยูเครน แล้วในภายหลังตัวแมร์เคิลเองออกมายอมรับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุบายซื้อเวลา เพื่อให้นาโต้ฝึกทหารและจัดส่งอาวุธไปให้เคียฟ เมื่อพรักพร้อมแล้วยูเครนก็จะได้เปิดการทำศึกกับรัสเซียอีกคำรบหนึ่ง
อย่าได้ค่าดหวังเลยว่าจะมีการหยุดยิงขึ้นมาในยูเครน ถึงแม้เวลานี้มีการปล่อยข่าวลือ [1] กระพือไปทั่วผ่านทางเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรปและกรุงวอชิงตัน เหตุผลของเรื่องนี้มันก็ง่ายๆ ธรรมดาๆ นั่นคือ ยังไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะทำให้รัสเซียต้องการยุติสงครามคราวนี้ลงในตอนนี้
เป็นความจริงทีเดียวที่ว่า วลาดิมีร์ ปูติน ตั้งท่าเสนอแนะให้มีการหยุดยิงกัน [2] –ทว่าการหยุดยิงนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการตกลงรอมชอมกันทางการเมือง และแน่นอนล่ะ เป็นการรอมชอมที่จะต้องดำเนินตามทัศนะและแนวทางของเขา
มีการยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสหรัฐฯและในยุโรป [3] ว่า ยูเครนไม่สามารถเอาชนะในสงคราม [4] ที่ทำกับรัสเซียได้ แม้กระทั่งพวกสื่อโปรคณะบริหารไบเดน อย่างเช่น โทรทัศน์ช่องซีเอ็นบีซี ก็ยังกำลังมีการพูดจาเกี่ยวกับเรื่องการหยุดยิง [5]
ความอิหลักอิเหลื่อเกิดขึ้นมาตรงนี้แหละ ก็ถ้าหากยูเครนไม่สามารถชนะในสงครามที่สู้รบกับรัสเซียแล้ว สหรัฐฯและองค์การนาโต้ควรที่จะทำอย่างไรต่อไปล่ะ? พวกเขาเผชิญกับภาวะอิหลักอิเหลื่อตรงที่ว่า มันไม่ได้มีคำตอบที่รวดเร็วหรือคำตอบที่ง่ายๆ เอาเสียเลย
ทางเลือกทางหนึ่งได้แก่การใช้ความพยายามและจัดแจงให้เกิดการหยุดยิงขึ้นมา ด้วยการเปิดเจรจาแบบหลอกๆ กับรัสเซีย จากนั้นก็หวนกลับไปที่การสู้รบอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่ยูเครนสามารถฝึกอบรมจนสร้างกองทัพใหม่อีกกองทัพหนึ่งของพวกเขาขึ้นมา และเปิดการรุกกันอีกคำรบหนึ่ง
แต่รัสเซียจะไม่ยอมซื้อข้อเสนอหลอกลวงเช่นนี้หรอก ในเมื่อพวกผู้นำฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเงลา แมร์เคิล ได้เคยพูดออกมาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน [6] เสียแล้วว่า การเจรจาหารือของกลุ่มนอร์มังดี (ที่ประกอบด้วยเยอรมนี, ฝรั่งเศส, ยูเครน, และรัสเซีย) เมื่อปี 2014 และปี 2015 (ซึ่งนำไปสู่การทำข้อตกลงมินสก์1 Minsk I และข้อตกลงมินสก์ 2 Minsk II ที่บอกกันว่ามีวัตถุประสงค์มุ่งแก้ไขคลี่คลายการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนอย่างสันติ) แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงกลอุบายอย่างหนึ่ง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการซื้อเวลา ในขณะที่นาโต้ดำเนินการฝึกอบรมกองทหารยูเครน ทุ่มเททรัพย์สินทางด้านข่าวกรองจำนวนมหึมาเพื่อทำงานในแนวทางมุ่งเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย รวมทั้งจัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลให้แก่กองทัพของยูเครน โดยถือเป็นการเตรียมตัวเพื่อเปิดการสู้รบอีกครั้งหนึ่งในทันทีที่ทางยูเครนพรักพร้อม
บทเรียนคราวนี้เป็นสิ่งที่รัสเซียได้เรียนรู้มาด้วยความเจ็บแสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้ซึ่งเวลานั้นมีความไว้เนื้อเชื่อใจ แมร์เคิล [7] เป็นอย่างสูง มันไม่มีทางเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้นมาอีกแล้ว เขาจะไม่ยอมไว้เนื้อเชื่อใจชาวยุโรปคนไหนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่มาจากเยอรมนี [8] เวลานี้เขาเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วว่า “ความริเริ่มเพื่อสันติภาพ” ทั้งหลายทั้งปวงที่มป่าวร้องออกมาโดย นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลอฟ ช็อลซ์ และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง [9] มีเจตนาที่จะหลอกลวงรัสเซียเท่านั้นเอง
ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นักการเมืองชาวรัสเซียที่ชมชอบใช้วาจาสร้างความแตกแยกขัดแย้งมาช็อกผู้คน และเวลานี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานของสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย ยังไปไกลยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำ เขาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวทาสส์ (Tass) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของทางการรัสเซียว่า รัสเซียจะยอมพูดจาแต่กับรัฐบาลยูเครนชุดใหม่ ที่ไม่มี “กลุ่มแก็งของผู้ปกครองในเวลานี้” เท่านั้น ซึ่งก็หมายถึงเซเลนสกีและสมัครพรรคพวกของเขา
มีบางครั้งบางคราวที่การพูดจาของ เมดเวเดฟ ดูจะออกไปไกลจนสุดกู่ เป็นต้นว่าข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าโจมตีแบบไม่กลัววันโลกาวินาศ ตลอดจนแถลงพวกข้อเสนอซึ่งเกินเลยไปจากฉันทามติในมอสโก ทว่าทัศนะความคิดเห็นของเมดเวเดฟ ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธปัดทิ้งไปทั้งหมดได้ กล่าวคือ บทบาทที่เขาแสดงออกมานั้นทำให้ ปูติน ดูกลายเป็นคนที่ดูมีเหตุมีผลและมีความรับผิดชอบก็จริงอยู่ กระนั้นบางครั้งบางคราวเขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อนความคิดของปูตินออกมาให้โลกภายนอกรับทราบเช่นกัน ตัวอย่างทำนองนี้ในปัจจุบันประการหนึ่งก็คือ การที่เมดเวเดฟกำลังพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในกรุงเคียฟ เรื่องนี้ดูเหมือนว่าเขากำลังสะท้อนทัศนะของทำเนียบเครมลินที่มีต่อเคียฟ และโดยเฉพาะต่อเซเลนสกี
แน่นอนทีเดียวว่า ฝ่ายรัสเซียจะไม่ยอมติดต่อทำดีลกับรัฐบาลซึ่งแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ และมีพวกเพลเยอร์อย่างเช่น คีรีโล บูดานอฟ (Kyrylo Budanov) ซึ่งเวลานี้เป็นหัวหน้าใหญ่คุมงานการข่าวกรองลับของยูเครน เขาผู้นี้เป็นหนึ่งในบุคคลซึ่งรัสเซียต้องการตัวเพื่อมาลงโทษ ทั้งนี้นอกเหนือจากการกระทำอย่างอื่นๆ แล้ว บูดานอฟยราแหละคือผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการลอบสังหารทางการเมืองขึ้นมาบนดินแดนที่ฝ่ายรัสเซียยึดครองอยู่ ไม่ว่าจะส่วนที่เป็นของยูเครน หรือส่วนที่เป็นของรัสเซียแท้ๆ ขณะที่รัสเซียเองก็ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าในเรื่องการกำจัดกวาดล้างฝ่ายค้าน แต่การปฏิบัติการของ บูดานอฟ ซึ่งหลายๆ ครั้งทีเดียวประสบความสำเร็จ ยังคงทำให้เขากลายเป็นคนที่ถูกหมายหัว
ทั้งวอชิงตันและซีไอเอต่างมีความรักใคร่ชอบพอบูดานอฟ เรียกได้ว่าเขาเป็นคนในแบบฉบับเดียวกัน บูดานอฟเป็นผู้รับผิดชอบในการทำลายพวกโครงสร้างพื้นฐานทรงสำคัญยิ่งยวดทั้งในภูมิภาคดอนบาสส์, คาบสมุทรไครเมีย, และในประเทศรัสเซีย เวลาเดียวกันนั้นก็เป็นผู้รับผิดชอบการเข่นฆ่าสังหารพวกที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู ซึ่งก็รวมไปถึงพวกนายทหารชาวรัสเซีย เขากระทำเรื่องทั้งหมดเหล่านี้โดยเสียค่าใช้จ่ายราคาถูก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของการจัดหาจัดส่งอาวุธใหญ่โตมหึมาทั้งหลาย เขาได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องการชี้เป้าจากพวกสายลับของสหรัฐฯและของยุโรป ตลอดจนจากพวกที่ไม่พอใจรัฐบาลในรัสเซียและยูเครน เหล่านี้ทำให้เขากลายเป็นฮีโรในกองบัญชาการใหญ่ของซีไอเอที่แลงลีย์ (Langley)
เซเลนสกีก็เช่นเดียวกัน ได้สร้างปัญหาที่ทำให้ไม่มีทางออกใดๆ เหลืออยู่สำหรับตัวเขา เซเลนสกีบงการให้เวอร์คอฟนา ราดา (Verkhovna Rada) ซึ่งก็คือรัฐสภาของยูเครน สนับสนุนกฤษฎีที่ออกโดยอำนาจประธานาธิบดีของเขา [10] ที่มีเนื้อหาประกาศว่า การเจรจาใดๆ กับรัสเซียจะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นแต่เมื่อกองทหารรัสเซียถอนออกไปจากยูเครนจนหมดสิ้น รวมทั้งที่คาบสมุทรไครเมียด้วย และเมื่อปูตินตลอดจนคนอื่นๆ ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในข้อหาประกอบอาชญากรรมสงครามแล้วเท่านั้น เห็นได้ชัดเจนว่ากฤษฎีกาฉบับนี้ไม่เพียงแค่เป็นการสกัดกั้นไม่ให้มีการเจรจากับรัสเซียเท่านั้น ด้วยเนื้อหาอันเข้มข้นขนาดนี้ แม้กระทั่งถ้าหากเซเลนสกีตัดสินใจที่จะลืมเรื่องนี้ไปให้หมด ฝ่ายรัสเซียก็คงไม่น่าจะยอมลืมไปด้วย
มีความเป็นไปได้ว่าในวันถัดๆไปนับจากนี้ ยูเครนจะพยายามหาทางดำเนินการโจมตีใส่ทรัพย์สินต่างๆ ของรัสเซียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งหาทางถล่มระเบิดใส่คาบสมุทรไครเมียครั้งใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะส่งข้อความอันหยาบกร้าวดุดันที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ไปถึงปูติน ถ้าหากมีการดำเนินการในเรื่องเช่นนี้ โดยที่สหรัฐฯกับนาโต้ให้การหนุนหลังแล้ว มันก็จะต้องเผชิญกับการตอบโต้จากฝ่ายรัสเซีย ในแบบยกระดับรุนแรงใหญ่โตยิ่งขึ้นอย่างสำคัญ และอาจช่วยเหลือรัสเซียในการตัดสินใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสงครามครั้งนี้
จวบจนกระทั่งระยะไม่นานมานี้เอง รัสเซียมีจุดมุ่งหมายในการทำสงครามในยูเครนิบอยู่ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือการเตะนาโต้ให้ออกไปจากยูเครน และทำให้ยูเครนกลายเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีการสั่งสมกำลังทหาร เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ซึ่งจะเกิดขึ้นจากข้อเสนอที่รัสเซียได้เคยเสนอเอาไว้ เห็นได้ชัดว่าก่อนหน้านี้รัสเซียคิดเพียงแค่ว่า ในทันทีที่สงครามยุติลงด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งเป็นที่พอใจของฝ่ายตน โดยที่นาโต้ถอยออกไปและยูเครนก็ยุติการสั่งสมกำลังทหาร จากนั้นแล้วยูเครนสามารถที่จะแสวงหาการค้ำประกันด้านความมั่นคงจากประเทศไหนก็ได้ตามแต่จะเลือกเอา อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของรัสเซียเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสงครามคราวนี้กำลังมีข้อพิจารณาใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผิดแผกไปจากเดิม
ความคิดเห็นของเมดเวเดฟ เกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” ของยูเครน เป็นการอ้างอิงถึงความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง ซึ่งอาจถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาบนโต๊ะเจรจาต่อรอง เป็นที่ชัดเจนว่า ดินแดนที่รัสเซียยึดมาได้จากยูเครนก็จะถูกหยิบขึ้นมาวางบนโต๊ะเจรจาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นรัสเซียยังอาจต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ดินแดนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้ว ยังคงเป็นเรื่องรัสเซียมีวิสัยทัศน์อย่างไรเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของยูเครนในอนาคตต่อไปข้างหน้า
แม่แบบอย่างหนึ่งที่อาจจะนำมาขบคิดกันได้ น่าจะเป็นว่ารัสเซียยังคงเก็บดินแดนต่างๆ ที่ยึดมาได้เอาไว้ต่อไป และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลในกรุงเคียฟให้เป็นรัฐบาลซึ่งมีความเป็นมิตรกับรัสเซีย เรื่องนี้ไม่สามารถจัดทำขึ้นมาได้โดยอาศัยการเลือกตั้ง และเนื่องจากมันไม่มีการเลือกตั้งในยูเครนอยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนรัฐบาลสามารถกระทำได้จึงมีแต่ต้องใช้วิธีการนอกเหนือรัฐธรรมนูญ มันน่าจะต้องอยู่ในรูปแบบบางอย่างของการทำรัฐประหารยึดอำนาจ
แม่แบบที่อาจเป็นไปได้อย่างที่สองนั้น มีการเสนอแนะกันว่าอาจจะต้องตัดแบ่งยูเครนออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 จะเป็นพวกดินแดนที่ถูกรัสเซียผนวกเข้ากับแดนหมีขาว ส่วนที่ 2 จะเป็นของรัฐบาลในกรุงเคียฟที่มีความเป็นมิตรกับรัสเซีย และส่วนที่ 3 จะเป็น “รัฐ” ในภาคตะวันตกของยูเครน ซึ่งดำเนินงานโดยยูเครน โดยที่รัฐแห่งนี้อาจจะมีการสถาปนาความเชื่อมโยงทางการเมืองกับโปแลนด์
ฝ่ายรัสเซียกำลังมีการพูดจากันแล้วเกี่ยวกับความต้องการให้มีพื้นที่กันชน เพื่อใช้ในการป้องกันไม่ให้มีการโจมตีเล่นงานเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย [11] เป็นต้นว่าด้วยการใช้ขีปนาวุธจำพวกที่มีพิสัยทำการไกลๆ อย่าง อะแทคซิมส์ (ATACMS) [12] ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการถ่ายโอนพวกขีปนาวุธร่อนพิสัยทำการไกลๆ ของเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างระบบ ทอรัส (Taurus) [13] มาให้แก่ยูเครน พื้นที่กันชนดังที่กล่าวนี้จำเป็นต้องอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper river) ทีเดียว จึงจะสามารถแสดงบทบาทเช่นนี้ได้จริงๆ ในกรณีที่ถ้าหากรัฐบาลกรุงเคียฟถูกโค่นล้ม พวกส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็อาจจะล่าถอยไปยังเมืองลวิฟ (Lviv เมืองใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของยูเครน) หรือสถานที่อื่นๆ บางแห่งในภาคตะวันตก ซึ่งสามารถได้รับการปกป้องคุ้มครองจากนาโต้ได้ และด้วยเหตุนี้จึงสามารถบรรลุสถานะเป็นพื้นที่กันชนได้
จนกระทั่งถึงตอนนี้ ทางรัฐสภาสหพันธรัฐเยอรมนียังคงปฏิเสธไม่ยอมให้จัดส่งขีปนาวุธร่อนทอรัสไปให้แก่ยูเครน [14] ถึงแม้รัฐบาลเยอรมันกำลังผลักดันให้ได้รับความเห็นชอบในทางการเมืองก็ตามที
ตัวแปรที่ทรงอิทธิพลในเรื่องนี้ก็คือนาโต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่พวกประเทศสมาชิกนาโต้ทั้งหลาย มีความแน่วแน่แค่ไหน ในเรื่องที่อาจจะต้องเข้าทำศึกเกิดการสู้รบขัดแย้งกับรัสเซีย
นาโต้นั้นไม่ได้อยู่ในฐานะใดๆ ที่จะสามารถแบ่งเบายูเครนในทางกายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกองกำลังภาคพื้นดิน นาโต้มีจำนวนทหารน้อยเกินไป และมันมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการปล่อยปละให้ประเทศนาโต้บางรายอยู่ในสภาพไร้การปกป้องและอยู่ในความอ่อนแออย่างสูงลิ่ว โดยเฉพาะในกรณีของพวกรัฐบอลติกทั้งหลาย ในทางปฏิบัติ นี่จึงหมายความว่าถ้าหากนาโต้จะใช้กำลังทหารโดยตรงในสงครามยูเครนกันจริงๆ มันก็น่าจะเป็นการที่นาโต้ใช้เครื่องบินเข้าโจมตีทิ้งระเบิดใส่พวกที่มั่นทางทหารของรัสเซีย หรือไม่เช่นนั้น เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการเข้าโจมตีพันธมิตรของรัสเซียอย่างเบลารุส
ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ นาโต้อาจจะพยายามปิดตายดินแดนทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่อยู่แยกห่างขาดจากดินแดนส่วนใหญ่ของรัสเซียอย่าง คาลินินกราด (Kaliningrad) โดยที่ตั้งแต่เมื่อปี 1945 กลุ่มสัมพันธมิตร (ซึ่งก็รวมถึงสหภาพโซเวียตด้วย) เห็นพ้องต้องกันในการประชุมที่พอตสดัม (Potsdam) ว่า คาลินินกราด (เดิมเรียกชื่อว่า คือนิกสแบร์ก Königsberg) จะบริหารปกครองโดยสหภาพโซเวียต
ยังมีฝ่ายอื่นๆ ที่เสนอแนะว่าทางพันธมิตรนาโต้อาจจะเข้าโจมตีแคว้นทรานสเดนิสตรา (Transdenistra) ซึ่งเป็นดินแดนที่ประกาศแยกตัวออกมาจากมอลโดวา โดยที่แคว้นนี้มีลักษณะเป็นดินแดนเรียวยาวทอดไปตามแนวชายแดนด้านตะวันออกของมอลโดวา ในทรานสเดนิสตรานี้ มีกองทหารรัสเซียตั้งประจำอยู่กองหนึ่ง ทว่าดินแดนแห่งนี้ไม่มีการติดต่อทางภาคพื้นดินใดๆกับดินแดนส่วนใหญ่ของรัสเซีย และขณะที่คาลินินกราดมีการวางแนวป้องกันเอาไว้อย่างแข็งแรงมาก ทว่าทรานสเดนิสตราไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
อย่างไรก็ดี ความอิหลักอิเหลื่อของนาโต้อยู่ตรงที่ว่า ไม่ใช่สมาชิกทั้งหมดทุกรายของนาโต้จะเห็นดีเห็นงานกับการประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโต้เพื่อเริ่มการทำสงครามกับรัสเซีย พวกเขาทั้งหมดต่างทราบดีว่าพวกเขากำลังอยู่ในฐานะที่เสี่ยงอันตรายยิ่ง ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังขาดไร้ความสนับสนุนจากสาธารณชน สำหรับการเข้าทำสงครามเพื่อยูเครน
ยิ่งไปกว่านั้น คณะผู้นำของยุโรปยังกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และจะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นอีกเมื่อเวลาขยับเข้าไปใกล้ฤดูร้อน เนื่องจากจะมีการจัดเลือกตั้งขึ้นมาในอีกหลายประเทศ
พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พวกคลังแสงของยุโรปเวลานี้ต่างร่อยหรอเหือดแห้งกันแล้ว ส่วนกองทหารภาคพื้นดินของยุโรปส่วนใหญ่แล้วอยู่ในสภาพที่เลวร้ายมาก (ยกเว้นโปแลนด์) ขณะที่แสนยานุภาพทางอากาศของยุโรปก็ถูกให้ราคากันจนเกินจริง [15] นโยบายดีที่สุดของนาโต้จึงควรที่จะเป็นการใช้พยายามและค้นหาหนทางที่จะพูดจากับฝ่ายรัสเซีย ไม่ว่าก่อนหรือหลังจากการพังครืนของยูเครนก็ตามที
ทว่าเวลาเดียวกันนี้ เลขาธิการใหญ่ของนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก กลับเพิ่งประกาศว่า นาโต้อนุญาตเปิดทางให้ยูเครน [16] สามารถใช้เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ซึ่งกำลังจะจัดส่งไปให้ในเร็ววันนี้ เข้าโจมตีเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่ภายในรัสเซียได้ด้วย [17] ในเรื่องนี้ฝ่ายรัสเซียได้ตอบโต้ [18] โดยระบุว่า ถ้า เอฟ-16 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่ผลิตโดยสหรัฐฯโจมตีรัสเซีย ยูเครนก็อาจจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่เป้าหมายเดียวที่รัสเซียจะทำการโจมตีอีกต่อไป
สตีเฟน ไบรเอนเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ทั้งนี้ข้อเขียนชิ้นนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
เชิงอรรถ
[1] https://www.wsj.com/articles/ukraine-may-have-to-accept-a-cease-fire-putin-orban-congress-aid-89f9932a
[2]https://www.nytimes.com/2023/12/23/world/europe/putin-russia-ukraine-war-cease-fire.html
[3] https://unitedworldint.com/28525-former-german-chief-of-staff-criticizes-his-government-harsh-and-calls-for-ceasefire-and-negotiations-in-ukraine/
[4]https://thehill.com/homenews/senate/4143533-tuberville-says-ukraine-cant-win-war-against-russia/
[5]https://www.cnbc.com/video/2022/03/29/navigating-a-potential-ukraine-russia-cease-fire.html
[6]https://www.wsws.org/en/articles/2022/12/22/ffci-d22.html
[7] https://news.yahoo.com/putin-disappointed-merkels-words-minsk-140859136.html
[8]https://www.reuters.com/world/europe/putin-says-germany-remains-occupied-2023-03-14/
[9] https://www.trtworld.com/opinion/war-and-peace-how-germany-and-france-lost-the-plot-in-ukraine-12796737
[10]https://en.wikipedia.org/wiki/Peace_negotiations_in_the_Russian_invasion_of_Ukraine#:~:text=Zelenskyy%20signed%20a%20presidential%20decree,a%20response%20to%20Russia's%20annexation.
[11]https://www.csis.org/analysis/russias-design-black-sea-extending-buffer-zone
[12]https://www.stripes.com/branches/army/2023-12-11/army-precision-strike-missile-12323575.html#:~:text=Each%20launch%20pod%20contains%20two,M270A2%20multiple%20launch%20rocket%20systems.&text=By%20comparison%2C%20the%20ATACMS%20launch,range%20of%20about%20190%20miles.
[13] https://www.dw.com/en/germanys-bundestag-votes-against-taurus-missiles-to-ukraine/live-68334762
[14] https://www.dw.com/en/germanys-bundestag-votes-against-taurus-missiles-to-ukraine/live-68334762
[15]https://eda.europa.eu/webzine/issue12/industry-talk/europe-will-need-to-develop-future-airpower-capabilities/
[16]https://twitter.com/KimDotcom/status/1761084077778813075
[17]https://www.kyivpost.com/post/28446
[18]https://www.aljazeera.com/news/2023/5/22/russia-says-f-16-transfer-to-ukraine-would-raise-nato-question