xs
xsm
sm
md
lg

‘การตายของนาวัลนี’ด้วยฝีมือของ‘ปูติน’เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายได้ว่าจะต้องบังเกิดขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แดเนียล วิลเลียมส์


ภาพถ่ายของอเล็กเซ นาวัลนี ดอกไม้ และข้อความ ถูกวางเอาไว้เพื่อแสดงความอาลัยตลอดจนความโกรธเกรี้ยวต่อการเสียชีวิตของเขา ที่บริเวณใกล้ๆ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำฝรั่งเศส ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Navalny’s death was grimly predictable
By DANIEL WILLIAMS
20/02/2024

การเสียชีวิตของชาวรัสเซียผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลคนสำคัญผู้นี้ ภายในเรือนจำที่ดินแดนไซบีเรียอันหนาวยะเยือกไกลโพ้น ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สำหรับเส้นทางแห่งการเข่นฆ่าภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของวลาดิมีร์ ปูติน

มันยังไม่เพียงพอสาสมใจ ถึงแม้ศาลรัสเซียตัดสินให้ อเล็กเซ นาวัลนี นักการเมืองผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ปั้นแต่งกันขึ้นมา และลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 19 ปี โดยส่งไปรับโทษที่ทัณฑนิคมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกไป 1,200 ไมล์ ใกล้ๆ กับวงกลมอาร์กติก ซึ่งก็เป็นสถานที่ที่เขาเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับที่มันยังไม่เพียงพอสาสมใจ สำหรับการที่พวกสายลับของรัฐบาลรัสเซียได้เคยพยายามวางยาพิษเขาด้วยสารทำลายประสาทซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “โนวีช็อก” (Novichok) เมื่อปี 2020 เวลานี้ ทางการผู้มีอำนาจกำลังทรมานคุณแม่อายุ 69 ปีของเขา ลุดมิลา นาวัลนายา (Lyudmila Navalnaya) ด้วยการไม่อนุญาตให้เธอได้เห็นและได้รับร่างที่ไร้วิญญาณของเขา การแสดงออกซึ่งความเหี้ยมโหดโดยรัฐภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดเปิดเผยให้ตาสว่างอย่างฉับพลันแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ช่วงเวลา 30 ปีแห่งการมีฐานะครอบงำการเมืองแดนหมีขาวของปูตินแล้ว การตายของนาวัลนีก็เป็นเรื่องแทบจะสามารถคาดหมายได้อย่างไม่ผิดพลาดว่ามันจะต้องเกิดขึ้น

“มันเป็นเรื่องช็อก แต่มันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร” เป็นข้อสังเกตการณ์อย่างเรียบๆ ของ มาเรีย โปโปวา (Maria Popova) อาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองรัสเซีย ณ มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (McGill University), แคนาดา ระหว่างที่เธอให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์

เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งในขณะที่ระบอบปกครองเผด็จการของปูตินกำลังทำสงครามโดยยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะที่แน่นอนอยู่ในยูเครน และเผชิญหน้ากับการแสดงออกซึ่งความเป็นศัตรูจากพวกเพื่อนบ้านยุโรปและจากสหรัฐฯอยู่นั้น พวกเขาก็ยังคงมีความมั่นอกมั่นใจในตัวเองเพียงพอจนไม่คิดที่จะซุกซ่อนการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนซึ่งพวกเขาทำอยู่ภายในประเทศ

“เขามีความมั่นใจว่าเขาครองอำนาจเอาไว้ได้อย่างมั่นคง” โปโปวา กล่าวถึงผู้นำรัสเซียผู้นี้ “ถ้าเขาหวาดกลัวว่าจะเกิดความไร้เสถียรภาพแล้ว เขาจะต้องพยายามทำให้แน่ใจว่านาวัลนียังมีชีวิตอยู่เป็นอันดี และอยู่แต่ในเรือนจำ”

ความรู้สึกช็อกอาจจะเพียงแค่เกิดขึ้นมาจากความกะทันหันในการเสียชีวิตที่จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุซึ่งชัดเจนแน่นอนได้ของนาวัลนี –พวกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกำลังระบุว่า มันเป็นผลของ “กลุ่มอาการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน” (sudden death syndrome) ซึ่งเป็นวลีที่ใช้กันในรัสเซียในกรณีที่ทางการผู้มีอำนาจยังไม่แน่ใจว่าจะป้ายสีบิดเบือนการเสียชีวิตซึ่งก่อให้เกิดปัญหาถกเถียงกันมากไปในทิศทางไหนดี

ตรงกันข้าม การขาดไร้ความรู้สึกประหลาดใจในกรณีนี้ คือสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการยอมรับสภาพชนิดหนึ่ง –เป็นความรู้ซึ่งถึงอย่างไรชาวรัสเซียทั้งหลายก็ได้เคยพบเห็นได้เคยรับฟังกันมาก่อนแล้ว

ตัวอย่างของการนองเลือดดำเนินมายาวนานเป็นศตวรรษทีเดียว จาก เลนิน ที่สั่งฆ่าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมสมาชิกครอบครัวทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ ไปจนถึง สตาลิน ผู้มีนิสัยชมชอบการกล่าวโทษ “พวกศัตรูของประชาชน” แล้วจัดส่งไปอยู่ตามค่ายใช้แรงงานในไซบีเรีย หรือการบังคับให้ชาวยูเครน 1 ล้านคนต้องอดตาย ไปจนถึงการจองจำกักขังหรือการเนรเทศพวกที่ผู้ไม่เห็นด้วยรัฐบาลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงปูติน ที่กดขี่ปราบปรามผู้ท้าทายการปกครองเผด็จการยาวนาน 3 ทศวรรษของเขา

ในยุคของสื่อสังคมแบบฉับพลันทันทีนี้ การแพร่กระจายความหวาดกลัวและความโกรธแค้นไปตลอดทั่วทั้งแผ่นดินอันกว้างขวางใหญ่โตของรัสเซีย สามารถกระทำได้ในเสี้ยววินาที ปูตินไม่จำเป็นต้องใช้การสังหารหมู่ผู้คนมากมายเพื่อตักเตือนชาวรัสเซีย ตลอดจนพวกรัฐบาลต่างชาติด้วย ว่าใครคือเจ้าของกำปั้นเหล็กที่ครองอำนาจอยู่ เพียงแค่ นาวัลนี สักหนึ่งหรือสองคนก็พอแล้ว

การลอบสังหารอย่างอุกอาจกลายเป็นเครื่องหมายการค้าแห่งยุคสมัยของปูติน เหตุการณ์ยิง บอริส เนมต์ซอฟ (Boris Nemtsov) นักการเมืองฝ่ายค้าน เสียชีวิตที่สะพานแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ถัดออกมาจากจัตุรัสแดงใจกลางกรุงมอสโกนิดเดียวเมื่อปี 2015 คือตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุด เนมต์ซอฟ ก็คล้ายๆ กับ นาวัลนี เป็นพวกนิยมประชาธิปไตยที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างอาจหาญ เขาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครนรอบแรกในปี 2014 โดยที่หลังจากนั้นมอสโกก็ได้เข้ายึดครองพื้นที่จำนวนมากในส่วนตะวันออกของยูเครนตลอดคาบสมุทรไครเมีย

สัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายในการคัดค้านปูติน บังเกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อ เซียร์เก ยูเชนคอฟ (Sergei Yushenkov) อดีตนายทหารยศพันเอก ถูกลอบสังหารใกล้ๆ อพาร์ตเมนต์ในมอสโกของเขา ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเขาก่อตั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคหนึ่งขึ้นมา หลังจากนั้นแล้ว บุคคลในฝ่ายค้านของรัสเซียก็หาทางพาตัวเองออกไปอยู่นอกรัสเซียกันเป็นแถว

พวกนักรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนคนสำคัญๆ ก็ตกเป็นเหยื่อของความสยดสยองแบบสโลว์โมชั่นนี้ด้วยเหมือนกัน ในปี 2009 นาตัลยา เอสเตมิโรวา (Natalya Estemirova) นักวิจัยผู้ทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่รัสเซียบุกเข้าไปในแคว้นเชชเนีย (Chechnya) ในช่วงเปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ถูกลักพาตัวไปจากอพาร์ตเมนต์ของเธอในเมืองกรอซนี (Grozny) เมืองเอกของเชชเนีย เธอถูกทรมานจากนั้นก็ถูกยิงเสียชีวิตในป่า

อันนา โปลิตคอฟสกายา (Anna Politkovskaya) ผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียน แล้วก็เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ผู้กระตือรือร้นเกี่ยวกับการเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อนในเชชเนียเช่นกัน จนกระทั่งครั้งหนึ่งพวกทหารรัสเซียที่นั่นได้จัดการประหารชีวิตหลอกๆ โดยที่เธอคือเป้าหมายที่สมมุติว่าจะถูกเข่นฆ่า ในปี 2006 การคุกคามนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมา มือปืนกลุ่มหนึ่งยิงเธอเสียชีวิตขณะอยู่ในลิฟต์ของอาคารอพาร์ตเมนต์ของเธอในกรุงมอสโก

ในปีเดียวกัน นักธุรกิจ เซียร์เก มักนิตสกี (Sergei Magnitsky) ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในเรือนจำแห่งหนึ่งที่กรุงมอสโก ตอนที่เขากำลังพยายามสืบสวนพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉลของพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาล ในปี 2004 พอล เคล็บนิคอฟ (Paul Klebnikov) ผู้สื่อข่าวแนวสืบสวน ซึ่งเป็นบรรณาธิการของนิตยสารธุรกิจ “ฟอร์บส์” เวอร์ชั่นภาษารัสเซีย และเขียนข่าวการทุจริตของรัฐบาล ก็ถูกคนร้ายขับรถตามสังหารเสียชีวิตในกรุงมอสโก ทั้งนี้ข่าวคราวนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกฆาตกรรมที่เกิดขึ้นทั่วรัสเซียนั้น ไม่ค่อยปรากฏออกไปนอกประเทศเท่าใดนัก

ในคดีใหญ่ๆ บางคดี มีพวกฆาตกรถูกจับตัวฟ้องร้องดำเนินคดีและถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง ปรากฏว่ารายที่อื้อฉาวมากๆ กลายเป็นพวกมือปืนรับจ้างชาวเชชเนีย ทว่าคนจ่ายเงินจ้างเป็นใครนั้นยังคงไม่มีการสาวไปถึง

ท่ามกลางการดูแลของปูติน เหตุการณ์การลอบสังหารยังแผ่ขยายเลยออกไปจากรัสเซียอีกด้วย ในปี 2006 อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโค (Alexander Litvinenko) อดีตสายลับทำงานด้านข่าวกรองชาวรัสเซียที่หลบหนีไปลี้ภัยอยู่ต่างแดน เสียชีวิตจากการถูกวางยาพิษปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ใส่เข้าไปในเครื่องดื่มโดยฝีมือของสปายชาวรัสเซีย 2 คนในกรุงลอนดอน อีก 12 ปีต่อมา เซียร์เก สคริปัล (Sergei Skripal) อดีตสายลับชาวรัสเซียซึ่งไปลี้ภัยอยู่ต่างแดนอีกคนหนึ่ง พร้อมด้วยภรรยาของเขา ถูกวางยาพิษด้วยสารกระตุ้นประสาทซึ่งรู้จักกันในชื่อว่าโนวีช็อก ทว่าทั้งคู่รอดชีวิตมาได้

พวกเจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรระบุตัวสายลับชาวรัสเซีย 2 คนว่าน่าจะเป็นมือสังหาร ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในสาธารณรัฐเช็กสำทับด้วยการระบุว่าบุคคลคู่นี้ก็คือคู่เดียวกับที่เคยก่อเหตุระเบิดขึ้นมาในสาธารณรัฐเช็กเมื่อปี 2014 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 2 คน พวกเจ้าหน้าที่บอกว่าวัตถุระเบิดเหล่านั้นถูกเตรียมไว้เพื่อส่งไปยังบังแกเรียสำหรับงานลอบสังหารงานหนึ่ง ทว่ามันเกิดระเบิดขึ้นมาก่อนกำหนด

“ในระดับหนึ่ง การตายของนาวัลนีเป็นหลักหมายการมาถึงจุดสูงสุดของความพยายามที่ดำเนินมาเป็นแรมปีแล้วของรัฐรัสเซียในการกำจัดแหล่งที่มาของการคัดค้านทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไป” เป็นข้อความสรุปโดย แอนดริว โซลดาตอฟ (Andrew Soldatov) และ อิรินา โบโรกัน (Irina Borogan) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Agentua.ru เว็บไซต์ที่คอยเฝ้าติดตามกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานลับของทางรัสเซีย “ปูตินได้ทำให้การลอบสังหารทางการเมือง จนหรพทั่งกลายเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในชุดเครื่องมือการปฏิบัติงานของเครมลิน”

สงครามยูเครน และความกังวลใจที่อาจเกิดขึ้นมาได้ในหมู่ชาวรัสเซียบางคนเกี่ยวกับการทำสงครามกับพี่น้องชาวชาติพันธุ์สลาฟด้วยกัน ทำให้ทางการรัสเซียรู้สึกว่าต้องคอยตั้งการ์ดสูงเพื่อต่อสู้กับพวกที่มาวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว กลุ่ม “เมโมเรียล” (Memorial) กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ถูกสั่งแบนโดยปูตินในปี 2023 ประมาณการเอาไว้ว่ามีนักโทษการเมืองราวๆ 560 คนถูกคุมขังเอาไว้ในระหว่างการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ ในหมู่คนเหล่านี้ คนหนึ่งคือ อิลยา ยาชิน (Ilya Yashin) นักการเมืองฝ่ายค้านผู้ถูกลงโทษเมื่อปีที่แล้วให้ถูกขังคุกนาน 8 ปีสำหรับความผิดที่เขาประณามการทำสงครามยูเครน

วลาดิมีร์ คารา-มูรซา (Vladimir Kara-Murza) เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของ บอริส เนมต์ซอฟ ถูกลงโทษในปี 2023 ให้ต้องถูกจำคุก 25 ปีด้วยข้อหากบฏทรยศชาติ และ “หยามเกียรติศักดิ์ศรี” กองทัพ หลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์สงครามยูเครน คารา-มูรซา ก็เหมือนๆ กับนาวัลนี รอดชีวิตมาได้จากการถูกวางยาพิษด้วยสารโนวิช็อก –ไม่ใช่แค่ 1 ครั้ง แต่ 2 ครั้งทีเดียว

ภรรยาของเขา เอฟเกเนีย คารา-มูรซา (Evgenia Kara-Murza) กล่าวประณามปูตินตรงๆ ว่าเป็นคนฆ่านาวัลนี “ดิฉันรู้สึกสยดสยอง แน่ล่ะ แต่โชคร้ายที่ไม่รู้สึกประหลาดใจอะไรเลย เพราะการลอบสังหารทางการเมืองเป็นอะไรบางอย่างที่ วลาดิมีร์ ปูติน ทำอยู่เป็นปีๆ แล้ว” เธอกล่าวอ้าง

นาวัลนีเดินทางกลับไปรัสเซียในเดือนมกราคม 2021 ภายหลังไปรับการบำบัดรักษาที่เยอรมนีจนหายจากอาการถูกพิษของสารโนวิช็อก เขาเดินทางกลับคราวนี้โดยไม่ฟังคำแนะนำขอร้องของพวกเพื่อนๆ ตลอดจนคำขู่จากรัฐบาลปูตินที่ว่าเขาจะต้องเจอกับการถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาฐานทุจริตคอร์รัปชั่น เขาอธิบายเหตุผลความชอบธรรมของเขาด้วยคำพูดง่ายๆ เพียงว่า “ผมจะต้องกลับไปเพราะผมไม่ต้องการให้พวกฆาตกรกลุ่มนี้ปกครองรัสเซีย” เขาบอกกับผู้สัมภาษณ์เขาทางโทรทัศน์

ในแง่นี้ เขาแตกต่างไปจากพวกผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในยุคโซเวียต ผู้ซึ่งไม่มีความแน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบของพวกฆาตกรได้ กระนั้นก็คิดว่าจำเป็นจะต้องลองพยายามดู สำหรับนาวัลนี เขามีแรงขับดันจากความรู้สึกมองโลกแง่ดีอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงระบบนี้ ผสมผสานกับการคาดทายล่วงหน้าอยู่แล้วว่าปูตินจะออกโรงมาเล่นงานเขา “พรรคพวก มันไม่เป็นไรหรอก ผมกำลังจะเข้าไปอยู่ในคุกนานตราบเท่าที่ปูตินยังมีชีวิตอยู่นั่นแหละ” เขาเขียนไปถึงเพื่อนๆ เช่นนี้เมื่อตอนที่เขาถูกจองจำเป็นครั้งแรก

“เขาเชื่อว่ามันเป็นภารกิจของเขาที่จะต้องต่อสู้ต่อไปกับระบบที่ฉ้อฉลกดขี่ของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และเขายอมรับเอาไว้ในวิดีโอคลิปหนึ่งซึ่งโพสต์ก่อนที่เขาจะถูกจับว่าเขาอาจจะไม่มีชีวิตรอดพ้นออกจากคุก” นี่เป็นข้อเขียนของ อังเงลา สเตนต์ (Angela Stent) ผู้เป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ศูนย์เพื่อยูเรเชีย, รัสเซีย, และยุโรปตะวันออกศึกษา (Center for Eurasian, Russian and East European Studies) ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในกรุงวอชิงตัน

พวกรัฐบาลของชาติตะวันตกทั้งหลายต่างพากันประณามรัสเซียและปูตินในกรณีการเสียชีวิตของนาวัลนี ทว่าทั้งหมดก็มีแค่นั้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เคยกล่าวเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2021 ว่า เขาได้บอกกับปูตินไว้ว่า รัสเซียจะต้องเผชิญกับ “ผลต่อเนื่องที่เป็นความวิบัติหายนะ” ถ้าหากนาวัลนีตายในคุก ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2024 พวกผู้สื่อข่าวได้สอบถามเขาว่าเขากำลังจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างในตอนนี้

ไบเดนได้แต่ชี้ว่ามาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ ที่ประกาศออกมาใช้เล่นงานรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการที่แดนหมีขาวรุกรานยูเครนนั้น จะครอบคลุมถึงความโกรธแค้นจากการเสียชีวิตของนาวัลนีด้วยเช่นเดียวกัน ระหว่างที่ไบเดนปรากฏตัวช่วงสั้นๆ ทางทีวี เขาชี้ว่าความเห็นของเขาเกี่ยวกับผลต่อเนื่องระดับวิบัติหายนะที่จะเกิดขึ้นกับรัสเซีย เป็นสิ่งที่เขาได้พูดเอาไว้ “เมื่อ 3 ปีก่อน” และเขาอ้างต่อไปว่า รัสเซียก็ได้ “เผชิญกับนรกของผลต่อเนื่องมากมาย” นับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาอยู่แล้ว

ครั้นแล้ว บางทีเขาจะเกิดตระหนักถึงความจริงขึ้นมาได้ว่า การแสดงให้เห็นถึงความโน้มเอียงที่จะไม่ทำอะไรนั้น ถือเป็นเรื่องเลวร้ายในเวลาที่ออกทีวี ดังนั้นไบเดนจึงกล่าวเพิ่มเติมว่า “เรากำลังขบคิดพิจารณากันอยู่ว่าจะสามารถทำอะไรอย่างอื่นๆ ได้อีก”

มาตรการแซงก์ชั่นที่ประกาศใช้กันนั้น ในทางเป็นจริงแล้วมันไม่ได้สามารถทำให้รัสเซียต้องยอมอ่อนข้อยอมผ่อนปแรนอะไรเลยในกรณีการรุกรานยูเครน ก่อนหน้าการเสียชีวิตของนาวัลนีไม่ถึง 1 สัปดาห์ โจเซฟ บอร์เรลล์ (Joseph Borrell) ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ออกมาแถลงยอมรับว่ารัสเซียสามารถที่จะหลบเลี่ยงจากการแซงก์ชั่นทั้งหลายของอียู และยังคงธำรงรักษาการค้าระหว่างประเทศกับพวกประเทศซึ่งไม่ยินยอมรับรองบังคับใช้มาตรการลงโทษเอากับแดนหมีขาวสำหรับสงครามคราวนี้

ในปีที่แล้ว รายรับจากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียอยู่ในระดับ 183,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พอฟัดพอเหวี่ยงกับระดับที่ทำได้ช่วงก่อนสงครามยูเครนทีเดียว โดยที่จำนวนมากเป็นการขายให้แก่จีนและอินเดีย นอกจากนั้นยังมีบางประเทศซึ่งให้ความสนับสนุนการแซงก์ชั่นแต่เพียงในนาม ทว่ากลับยังคงรักษาการซื้อขายน้ำมันกับรัสเซียเอาไว้โดยผ่านสิ่งที่เรียกกันว่า “เรือผี” ซึ่งก็คือการปลอมแปลงชื่อท่าเรือที่เรือเหล่านี้ใช้ในการรับสินค้าหรือขนถ่ายสินค้าโดยตรง ตลอดจนชื่อท่าเรือจุดหมายปลายทาง การกระทำเช่นนี้เป็นการปิดกลไกซึ่งมุ่งใช้ติดตามเส้นทางการเดินเรือของเรือสินค้าเหล่านี้ ตลอดจนติดตามว่าได้มีการขนถ่ายสินค้าไปยังเรือรัสเซีย หรือขนถ่ายสินค้ามาจากเรือรัสเซียกันกลางทะเลหรือไม่

ในปี 2023 การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เยอรมันไปยังประเทศคีร์กีซสถาน พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยถึงกว่า 5,000% นอกจากนั้น คีร์กีซสถานยังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของพวกเทคโนโลยีทั้งที่ใช้ทางการทหารและไม่ใช่ทางการทหาร สำหรับการส่งผ่านต่อไปยังรัสเซียในเวลานี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อหลายกระแส คีร์กีซสถานนั้นเป็นสมาชิกรายหนึ่งอยู่ในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (led Eurasian Economic Union) ซึ่งมีรัสเซียเป็นผู้นำ โดยชาติสมาชิกอื่นๆ ยังประกอบด้วย เบลารุส, คาซัคสถาน, และอาร์เมเนีย

“ครับ มาตรการแซงก์ชั่นของยุโรปนั้นไม่ใช่เป็นมาตรการทางสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนะครับ พวกเราสามารถประกาศแซงก์ชั่นเอากับพวกซึ่งขึ้นต่อพวกเราได้ เพราะพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมายของพวกเรา แต่พวกเราไม่สามารถบังคับการแซงก์ชั่นเอากับพวกประเทศที่สาม” บอร์เรลล์อธิบาย

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ย่อมหมายความว่า การเสียชีวิตของนาวัลนีในเรือนจำแถบไซบีเรียที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็ง ส่วนใหญ่ทีเดียว ถ้าหากว่าไม่ใช่ทั้งหมด จะไม่ได้รับการลงโทษแต่ประการใด

แดเนียล วิลเลียมส์ เป็นอดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้แก่ วอชิงตันโพสต์, ลอสแองเจลิสไทมส์, และไมอามีเฮรัลด์ และเป็นอดีตนักวิจัยให้แก่องค์การฮิวแมน ไรต์ส วอต์ช หนังสือของเขาชื่อ Forsaken: The Persecution of Christians in Today’s Middle East ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ O/R Books ปัจจุบันเขาตั้งฐานอยู่ในกรุงโรม, อิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น