xs
xsm
sm
md
lg

‘บีวายดี’กำลังทิ้งห่าง‘เทสลา’ในตลาดรถอีวีจีน แต่มองภาพรวมค่ายเยอรมัน-ญี่ปุ่นก็ยังไปได้สวย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์


ค่ายรถบีวายดีของจีนกำลังวิ่งฉิวทิ้งห่างพวกคู่แข่งทั้งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนและของทั่วโลก (ภาพจาก บีวายดี)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

BYD racing away with China’s EV market
By SCOTT FOSTER
15/02/2024

เทสลา กำลังถูก บีวายดี แซงห่างออกไปเรื่อยๆ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่เวลาเดียวกันนั้น พวกค่ายรถยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง โฟล์กสวาเกน และสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดรถยนต์โดยรวมของจีน

บีวายดี แซงหน้าเทสลา ขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานแบตเตอรี รายใหญ่ที่สุดของโลกในไตรมาส 4 ของปี 2023 ด้วยสถิติทำยอดขายได้ 526,000 คัน ขณะที่เทสลาทำได้ 484,000 คัน ทว่าในประเทศจีนนั้น การแข่งขันระหว่างบริษัททั้งสองเพื่อช่วงชิงฐานะเหนือกว่าในตลาด ไม่ได้สูสีเบียดชิดกันถึงขนาดนี้

ความเป็นจริงแล้ว โฟล์กสวาเกน, บีเอ็มดับเบิลยู, โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, และบริษัทจีนหลายๆ แห่ง ต่างก็แซงหน้าเทสลา ในเรื่องส่วนแบ่งตลาดรถยนต์จีนโดยรวม

พวกนักการเมืองชาวอเมริกันและชาวยุโรปผู้ซึ่งนิยมติเตียนโวยวายจีนว่า มีตลาดที่ปิดกั้นการแข่งขันจากภายนอก สมควรที่จะสังเกตเห็นว่าบรรดาผู้บริโภคชาวจีนก็ชื่นชอบของดีมีคุณภาพของเยอรมนีและญี่ปุ่นเหมือนกับคนอื่นๆ แทบทุกคนนั่นแหละ พวกเขายกย่องเทสลา แต่ไม่ถึงขนาดคลั่งไคล้แบรนด์นี้

ในเดือนมกราคม 2024 บีวายดีมีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังแบตเตอรีของจีนอยู่ 26.2% ทั้งนี้ตามข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลประเทศจีน (China Passenger Car Association) ซึ่งอ้างอิงโดย คาร์นิวส์ไชน่า (CarNewsChina) สื่อจีนที่เน้นข่าวด้านรถยนต์ ขณะที่ส่วนแบ่งของเทสลาอยู่ที่ 10.6%

โฟล์กสวาเกนนั้น รั้งอันดับ 6 ด้วยส่วนแบ่ง 4.2% โดยที่แบรนด์รถจีนทั้ง อู่หลิง (Wuling), ไอออน (Aion), และฉางอาน (Changan) ต่างแซงหน้าโฟล์กสวาเกน เวลาเดียวกัน ยังมีแบรนด์จีนอย่าง ซีเกอร์ (Zeekr), จีลี่ (Geely), นีโอ (Nio), และ ลีป (Leap) ติดอยู่ในกลุ่มท็อปเทน


Sources: China Passenger Car Association data; Asia Times chart.

เมื่อมองตลาดรถยนต์จีนโดยองค์รวม โฟล์กสวาเกน คือแบรนด์ขายดีที่สุดโดยครองส่วนแบ่งการตลาดไปได้ 10.3% บีวายดี อยู่อันดับ 2 ที่ 9.4% และโตโยต้า อันดับ 3 ที่ 7.0% ฉางอาน ทำยอดขายเบียดแซง ฮอนด้า ไปนิดหน่อย โดยที่ ฮอนด้ามีส่วนแบ่งอยู่ 6.4% ของตลาด

บีเอ็มดับเบิลยูติดอันดับ 8 มีส่วนแบ่งอยู่ 3.4% และนิสสันอยู่ที่ 10 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 2.9% แบรนด์อื่นๆ ที่เหลือในท็อปเทน คือ จีลี่, อู่หลิง, และเชอรี่ (Chery) สำหรับ เทสลา มีส่วนแบ่งอยู่เพียงแค่ 2.0%



Sources: China Passenger Car Association data; Asia Times chart.

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุด 5 ใน 10 รุ่นเป็นรถยนต์แบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งก็รวมไปถึง เทสลา โมเดล วาย (Model Y) ที่รั้งอันดับ 6 ขณะที่รุ่นขายดีเป็นอันดับ 1 ตกเป็นของ ฉางอาน ซีเอส75พลัส (CS75 Plus) ติดตามมาด้วย โฟล์กสวาเกน ลาวิดา (Lavida), บีวายดี ซ่ง พลัส (Song Plus), นิสสัน ซิลฟี (Sylphy), และ ไอโต เหวินเจี๋ย เอ็ม7 (Aito Wenjie M7)

รถของ บีวายดี 2 รุ่น คือ ฉิน พลัส (Qin Plus) และ ซีกัลล์ (Seagull) ก็ติดอันดับท็อปเทน เช่นเดียวกับ โฟล์กสวาเกน ซากิตาร์ (Sagitar) และ ฮอนด้า ซีอาร์-วี การจัดอันดับนี้จัดทำโดย คาร์นิวส์ไชน่า ซึ่งอ้างอิง 2 เว็บไซต์รถยนต์จีน ตงเชอตี้ (Dongchedi) และอี้เชอ (Yiche)



Sources: CarNewsChina, Dongchedi & Yiche data: Asia Times chart.

ในปี 2023 รถยนต์ไฟฟ้าพลังแบตเตอรี (battery electric vehicles หรือ BEVs) มีสัดส่วนเพียงแค่ 5.9% ในยอดขายของกลุ่มโฟล์กสวาเกนในประเทศจีน ทว่าสภาพเช่นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน โดยไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ยอดจัดส่งรถยนต์ประเภทนี้สูงขึ้นถึง 72.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ภายหลังจากโรงงานอีวีแห่งใหม่ของค่ายโฟล์กในเมืองเหอเฟ่ย เริ่มเดินเครื่อง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2024/01/volkswagen-going-fully-native-in-china/)

ภายในปี 2030 โฟล์กสวาเกน ไชน่า (Volkswagen China) วางแผนการจะเพิ่มสัดส่วนของรถยนต์ใช้พลังงานใหม่ (ซึ่งครอบคลุมทั้งรถ BEVs และรถไฮบริด) ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทให้ขึ้นไปเป็น 40% นี่ย่อมจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันแก่เทสลา ซึ่งมิได้มีการทำรถยนต์ไฮบริดใดๆ

บีวายดีนั้นทำรถยนต์ไฮบริดชนิดต่างๆ มากมายเรียกได้ว่าแทบจะทุกประเภท รวมไปถึงรถ BEVs ด้วย ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วผลผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายนี้จึงอยู่ในระดับเท่ากับราวสองเท่าตัวของเทสลา –ไม่ใช่ใหญ่กว่าเพียงเล็กน้อยอย่างที่สื่อจำนวนมากรายงานกันอยู่ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น ค่ายรถยนต์อื่นๆ ก็มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก กิจการร่วมลงทุนระหว่างบีเอ็มดับเบิลยู กีบ บริลเลียนซ์ ไชน่า ออโตโมทีฟ (Brilliance China Automotive) กำลังขยายทั้งการผลิตรถอีวี และการผลิตแบตเตอรี ในฐานของพวกเขาที่เมืองเสิ่นหยาง

สำหรับค่ายรถญี่ปุ่น ทั้งโตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, และ มาสด้า ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในเครือของโตโยต้า ต่างก็ผลิตและขายรถอีวีกันในประเทศจีน (ส่วนใหญ่เป็นรถไฮบริด) โดยผ่านทางกิจการร่วมทุนกับพวกบริษัทจีน ทั้งนี้โตโยต้านั้นทำงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจจีนอย่าง FAW และ GAC ส่วนฮอนด้าและนิสสันจับมือกับตงเฟิง (Dongfeng) และมาสด้าร่วมมือกับฉางอาน และ FAW

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มาสด้าประกาศว่า รถยนต์อีวีรุ่นใหม่ มาสด้า ซีเอ็กซ์-50 (CX-50) ที่ขายอยู่ในจีนโดย ฉางอาน มาสด้า ออโตโมบิล (Changan Mazda Automobile) นั้น ได้ถูกรวมเข้าไปอยู่ในระบบรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้า (Toyota Hybrid System)

ด้าน ฮอนด้า และนิสสัน ยังมีโครงการด้านการวิจัยและการพัฒนาร่วม (joint R&D projects) กับมหาวิทยาลัยชิงหัวของจีน เวลาเดียวกัน พวกวิศวกรจาก FAW, GAC, และบีวายดี ก็เข้าร่วมในโครงการต่างๆ ที่ศูนย์การวิจัยและการพัฒนาการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าอัจฉริยะ (Intelligent ElectroMobility R&D Center) ของโตโยต้า) ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ไฮบริดใช้พลังงานแบตเตอรี, รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน, และรถยนต์ไฟฟ้าใช้เซลล์เชื้อเพลิงในประเทศจีน

รัฐบาลจีนนั้นต้องการให้ยอดขายของพวกรถยนต์พลังงานใหม่เหล่านี้ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 32% ของยอดขายรถใหม่ในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับ 45% ของยอดขายรถใหม่ภายในปี 2027 พวกผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนีและสัญชาติญี่ปุ่นต่างพากันประกาศว่า พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาอันดับในตลาดของพวกเขาเอาไว้ให้ได้ ในขณะที่จีนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น