xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเจอภาวะ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ เสียแชมป์ ศก.ใหญ่อันดับ 3 ของโลกให้ ‘เยอรมนี’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) อย่างไม่คาดฝันเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้แดนปลาดิบสูญเสียสถานะชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้แก่ “เยอรมนี” และทำให้หลายฝ่ายเริ่มออกมาตั้งคำถามว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นควรจะเริ่มปลีกตัวจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ultra-loose monetary policy) ที่ใช้มาตลอด 10 ปีหรือไม่

นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอีกในไตรมาสปัจจุบัน พร้อมชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอในจีน การบริโภคที่ชะลอตัว บวกกับกรณีที่โตโยต้าระงับการผลิตบางส่วน ล้วนแต่เป็นสัญญาณเตือนว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย

โยชิกิ ชินเกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัย Dai-ichi Life Research Institute ระบุว่า “สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษก็คือ แนวโน้มการชะลอตัวของการบริโภคและการใช้จ่ายเงินทุน (capital expenditure) ซึ่งถือเป็นเสาหลักของอุปสงค์ภายในประเทศ”

“เศรษฐกิจจะยังคงเสียโมเมนตัมเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากขาดปัจจัยกระตุ้นการเติบโต”

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นลดลง 0.4% ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ลดลง 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามสถิติของรัฐบาลที่เผยแพร่ในวันนี้ (15 ก.พ.) ซึ่งสวนทางกับมุมมองของตลาดที่คาดการณ์ว่าจีดีพีญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.4%

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดถือเป็นนิยามของการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิค (technical recession)


ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการยืนยันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นร่วงลงไปอยู่อันดับ 4 ของโลกตามหลังเยอรมนี เมื่อวัดจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการบริโภคภาคเอกชน (private consumption) ซึ่งคิดเป็นราวๆ ครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลดลง 0.2% เนื่องจากผู้บริโภคต้องปรับตัวให้สอดรับกับราคาอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเงินทุนซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแปรขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเอกชนก็ลดลง 0.1% จากที่มีการคาดการณ์กันไว้ว่าจะเพิ่ม 0.3%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มเตรียมแผนที่จะยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (negative rates) ภายในเดือน เม.ย. รวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษที่ใช้มานาน แต่แหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ระบุว่ากระบวนการนี้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง

นีล นิวแมน นักยุทธศาสตร์ของ Japanmacro ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ญี่ปุ่นนำเข้าพลังงานหลักที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน (base energy requirements) มากถึง 94% และนำเข้าอาหารถึง 63% ดังนั้นเมื่อเงินเยนอ่อนค่าจึงส่งผลกระทบทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นโดยปริยาย

“การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอเป็นพิเศษ (และ) ความคาดหวังของตลาดก็อยู่ในภาวะแบนราบ (flat)” นิวแมน กล่าว

“สถานการณ์น่าจะย่ำแย่ลงอีกหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อต้นเดือน ม.ค. เพราะผู้คนจะหยุดจับจ่ายใช้สอยกันในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ”

ที่มา : รอยเตอร์, CNN
กำลังโหลดความคิดเห็น