xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมโลกจึงกำลังพากันเบือนหน้าหนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อเล็กซานดรอส มานดิลารัส


ฐานะครอบงำการเงินโลกของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจจะใกล้ถึงจุดจบแล้ว
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Why the world is turning away from the buck
By ALEXANDROS MANDILARAS
15/01/2024

ความแตกแยกในทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ประกอบกับสหรัฐฯก็มีภาระหนี้สินอย่างมากมายมหาศาลขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ทำให้แน่ใจได้ว่า บทบาทของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯในอนาคตข้างหน้า จะมีความจำกัดตีบตันลงยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

การรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯเร่งประกาศบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรรัสเซียอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน [1] โดยระบุว่าเพื่อทำให้แดนหมีขาว “ถูกไล่เรียงให้ต้องยอมรับความผิดสำหรับการรุกรานที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อนและกระทำลงไปโดยที่มิได้ถูกยั่วยุ”

จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อป้องกันกีดกั้นรัสเซีย “ไม่ให้ดุนดันสกุลเงินตราของตนที่กำลังลดค่าลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการจำกัดซัปพลายของเงินรูเบิลในทั่วโลก และด้วยการเข้าถึงทุนสำรองของรัสเซีย ซึ่งมอสโกสามารถจะพยายามนำออกมาแลกเปลี่ยนเพื่อเอาไปสนับสนุนเงินรูเบิล” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่เป็นความพยายามที่จะสกัดกั้นไม่ให้รัสเซียสามารถขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเพียงพอที่จะนำเอามารับซื้อสกุลเงินรัสเซียและหนุนค้ำค่าของมันให้สูงขึ้นนั่นเอง

จริงๆ แล้ว รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ถึงขนาดเรียกเรื่องนี้ว่าเป็น “การปฏิบัติการอย่างชนิดที่ไม่เคยมีการทำกันมาก่อน” เพื่อ “จำกัดลดทอนความสามารถของรัสเซียในการใช้สินทรัพย์ต่างๆ เป็นเครื่องสนับสนุนทางการเงินให้แก่บรรดากิจกรรมมุ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของพวกเขา”

รัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน ของสหรัฐฯ
การแช่แข็งขัดขวางไม่ยอมให้ประเทศที่มีอธิปไตยรายหนึ่งใช้เงินดอลลาร์ที่ตนเองถือครองเอาไว้ (ในกรณีก็คือดอลลาร์ที่ถือครองโดยรัสเซีย) ต้องถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่โตสะท้านสะเทือนเป็นอย่างมาก มันทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการเร่งรัดพวกประเทศซึ่งมีผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างไปจากสหรัฐฯ อย่างเช่น จีน หรือพวกรัฐริมอ่าวอาหรับ ให้เคลื่อนไหวผละออกจากการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อการค้าหรือการลงทุน

ในความเป็นจริงแล้ว เวลานี้รัฐบาลที่ไม่ได้สังกัดโลกตะวันตกจำนวนมากทีเดียว ต่างกำลังสำรวจหาหนทางต่างๆ ในการลดการพึ่งพาอาศัยเงินดอลลาร์ [2] รัสเซียในปัจจุบันกำลังใช้เหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีนเป็นสกุลเงินตราในการชำระหนี้สำหรับการค้าระหว่างประเทศของพวกเขาถึงราวๆ หนึ่งในสี่ [3] แล้ว ยิ่งการค้าทวิภาคีที่รัสเซียทำกับจีนด้วยแล้ว แทบทั้งหมดคิดบัญชีและชำระเงินด้วยสกุลเงินตราของประเทศทั้งสอง

ในเดือนมีนาคม 2023 ถือเป็นครั้งแรกที่จีนชำระเงินค่าซื้อก๊าซให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยใช้สกุลเงินตราของตนเอง [4] แทนที่จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน จีนกับซาอุดีอาระเบียก็ได้ลงนามกันในความตกลงสว็อปเงินตราฉบับหนึ่ง [5] โดยอ้างอิงถึงความปรารถนาที่จะขยายการใช้สกุลเงินตราของพวกเขาเอง

สัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความลำบากยุ่งยากซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคตนั้น ยังมีมากมายกว่านี้อีก ถึงแม้ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของพวกธนาคารกลางประเทศต่างๆ มีการเติบโตขยายตัวอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกันแบบปีต่อปี แต่อัตราส่วนของการถือครองทุนสำรองเหล่านี้เป็นสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับลดลงมาจนกระทั่งถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 4 ของปี 2022 ดังที่ชาร์ตข้างล่างนี้แสดงให้เห็น:

เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ถือครองโดยพวกธนาคารกลางของประเทศต่างๆ

Line chart showing countries' USD holdings falling.

Currency composition of central banks’ foreign exchange reserves. Author provided using International Monetary Fund data., CC BY-NC-ND

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาชั่วคราวแล้วก็จะจางหายไป แต่มันเป็นการสะสมตัวของแนวโน้มเชิงลบระยะยาวซึ่งทำให้ส่วนแบ่งของสกุลเงินตราสหรัฐฯในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศซึ่งพวกธนาคารกลางทั้งหลายถือครองกันอยู่ ลดต่ำลงจากกว่า 70% ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มาอยู่ในระดับไม่ถึง 60% ในทุกวันนี้

ขณะที่การหดลดลงมาเช่นนี้ไม่ใช่ถึงกับเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจอะไรมากมายก็จริง แต่มันก็มีความสำคัญและเป็นเครื่องบ่งชี้แนวโน้มเชิงลบสำหรับเงินดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนถึงพัฒนาการหลายๆ อย่าง –ในทางเศรษฐกิจ แต่ก็ในทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน

หรือว่าสหรัฐฯถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง?

ส่วนแบ่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯในผลผลิตโดยรวมของโลกกำลังลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ขณะที่พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน กำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสหรัฐฯและเหล่าหุ้นส่วนตะวันตกของสหรัฐฯ

จีน ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว เวลานี้คือหุ้นส่วนการค้ารายหลักของกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกอยู่ในระดับสูงกว่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [6] สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ว่าสหรัฐฯจะถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลังในการแข่งขันเพื่อช่วงชิงฐานะครอบงำการค้าของโลก

ระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งของจีนในเศรษฐกิจโลก [7] ได้ขยายตัวขึ้นมากว่าสองเท่าตัว จาก 8.9% กลายเป็น 18.5% เวลาเดียวกันนั้น ส่วนแบ่งของสหรัฐฯกลับถดถอยลงจาก 20.1% เหลือ 15.5% ทั้งนี้เมื่อคำนวณกันเป็นค่าเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity [8] ซึ่งก็คือการนำเอาราคาของสินค้าบางอย่างบางชนิดที่ซื้อด้วยสกุลเงินตราต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน เพื่อวินิจฉัยอำนาจซื้อของสกุลเงินตรานั้นๆ)

เมื่อปีที่แล้ว ระบบเศรษฐกิจของพวกประเทศกลุ่มบริกส์ (BRICS --พวกประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราเติบโตรวดเร็ว โดยที่เมื่อปี 2023 มีจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) สามารถแซงหน้าพวกระบบเศรษฐกิจของกลุ่ม จี7 (7 ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าของโลกตะวันตก ประกอบด้วย สหรัฐฯ, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, และญี่ปุ่น) เมื่อคำนวณจากส่วนแบ่งของพวกเขาในจีดีพีโลก โดยพิจารณากันด้วยค่าเสมอภาคทางอำนาจซื้อ

ส่วนแบ่งในจีดีพีโลก: จี7 vs BRICS


Line chart showing GDP shares of G7 v Bric economies converging before Brics surpasses G7.
Share of GDP, current USD, PPP. Author provided using World Development Indicator data (series: NY.GDP.MKTP.PP.CD), World Bank, CC BY-NC-ND

แล้วเนื่องจากกำลังมีประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น [9] เข้ามาร่วมอยู่ใน BRICS มันก็ย่อมจะทำให้กลุ่มนี้ยิ่งมีอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจสูงยิ่งขึ้นไปอีก [10]

เวลาเดียวกันนั้น ส่วนแบ่งในจีดีพีทั่วโลกของเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังลดต่ำลง แถมระดับหนี้สินของพวกเขาก็กำลังขึ้นสูงทำลายสถิติใหม่ๆ เนื่องจากพวกเขามีการออกตั๋วเงินคลังและพันธบัตรคลังจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อระดมเงินนำมาเป็นงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ทั้งนี้ปริมาณหนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯ [11] ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 33 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 123% ของผลผลิตรายปีของประเทศแล้ว ภาวะช็อกจากอัตราเงินเฟ้อซึ่งติดตามมาด้วยการที่อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นสูง ทำให้สหรัฐฯต้องจ่ายดอกเบี้ยและผ่อนเงินต้นสำหรับหนี้สินนี้ด้วยราคาแพงลิบลิ่ว (โดยที่ผู้จ่ายก็คือผู้เสียภาษีอากรของสหรัฐฯนั่นเอง) และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการหยุดพักชำระหนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะไม่กี่ปีมานี้

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ดอลลลาร์สหรัฐฯยังคงมีฐานะครอบงำเหนือตลาดโลกอยู่ในเวลานี้ โดยที่เป็นสกุลเงินตราที่ใช้ในการชำระหนี้สำหรับธุรกรรมส่วนใหญ่ในการค้าระหว่างประเทศ [12] ส่วนแบ่งของดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นใหญ่โตมหึมาจริงๆ นั่นคืออยู่ที่ 88% ของธุรกรรมทั้งหมด [13] เวลาเดียวกันมันก็ยังคงเป็น “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” ที่ถือครองกันอย่างกว้างขวางที่สุดโดยพวกธนาคารกลางทั้งหลายซึ่งต้องการทำให้เกิดความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถที่จะชำระหนี้สำหรับการนำเข้าต่างๆ ของประเทศของพวกเขา ตลิเจนสนับสนุนมูลค่าของสกุลเงินตราของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ดี ฐานะความเป็นศูนย์กลางของสกุลเงินตราสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ได้รับการต้อนรับอย่างยินดีปรีดาเสมอไป --แน่นอนทีเดียวว่ามันไม่ได้รับการต้อนรับจากพวกศัตรูของสหรัฐฯ และในบางครั้งกระทั่งเพื่อนมิตรของสหรัฐฯก็มิได้ยินดีปรีดากับเรื่องนี้เหมือนกัน ดังเห็นได้จากการที่ วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง ประธานาธิบดีคนที่ 20 ของฝรั่งเศส รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของประเทศนั้นในช่วงทศวรรษ 1960 ได้เรียกฐานะการเป็นสกุลเงินตราทุนสำรองต่างประเทศของดอลลาร์สหรัฐฯว่า เป็น “อภิสิทธิ์ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว” [14] ที่ต้องจ่ายให้แก่สหรัฐฯ

บางทีเขาอาจหมายความว่าความต้องการในสินทรัพย์สหรัฐฯจากต่างประเทศนั้น อยู่ในระดับซึ่งสูงเอามากๆ จนกระทั่งในการหาเงินมาแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตนเอง สหรัฐฯสามารถที่จะขอกู้ยืมภายใต้เงื่อนไขซึ่งเอื้ออำนวยได้อย่างสะดวกง่ายดาย–ซึ่งนี่เป็นอภิสิทธิ์ที่ชาติอื่นๆ ไม่สามารถทำได้

ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และทางเศรษฐกิจระดับโลกในปัจจุบัน [15] ทำให้เวลานี้น่าที่จะได้เห็นอภิสิทธิ์ที่มีราคาแพงลิบลิ่วนี้ถูกท้าทายมากขึ้น การที่พวกชาติหุ้นส่วนในกลุ่มบริกส์ของรัสเซีย และชาติสมาชิกยูเอ็นจำนวนมาก พากันปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมใช้มาตรการแซงก์ชั่นตามแบบของโลกตะวันตกในการเล่นงานรัสเซีย คือหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความจำกัดที่ฝ่ายตะวันตกต้องเผชิญในความพยายามที่จะแผ่อิทธิพลบารมีทางภูมิรัฐศาสตร์

และพิจารณาจากทัศนะมุมมองทางเศรษฐกิจแล้ว จีนในฐานะที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก กับรัสเซียในฐานะที่เป็นหนึ่งในชาติร่ำรวยที่สุดของโลกเมื่อพิจารณาจากปริมาณพลังงานสำรองซึ่งมีอยู่ [16] เวลานี้ต่างกำลังถือครองทองคำในปริมาณมหึมา [17] ซึ่งสามารถทดแทนการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้เป็นบางส่วนทีเดียว ทั้งสองประเทศยังต่างกำลังมองหาทางที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งพวกประเทศในภูมิภาคอ่าวอาหรับ [18] เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ

สกุลเงินตราที่ท้าทายดอลลาร์สหรัฐฯ

การโน้มน้าวให้พวกนักลงทุนที่มิใช่ชาวตะวันตกบังเกิดความมั่นอกมั่นใจในการใช้ “สกุลเงินตราที่ท้าทายดอลลาร์สหรัฐฯ” –ไม่ว่าจะเป็นเหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีน หรือ สกุลเงินตราสักสกุลหนึ่งของกลุ่มบริกส์— อาจกลายเป็นเรื่องง่ายดายมากขึ้นภายหลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯอายัดแช่แข็งสินทรัพย์ของรัสเซีย และการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังอาจเร่งตัวขึ้นอีกด้วยซ้ำ [19] ถ้าหากสหรัฐฯตัดสินใจเข้ายึดสินทรัพย์รัสเซียที่อายัดเอาไว้เหล่านี้

มันมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สำหรับพวกประเทศที่มิใช่ตะวันตก ซึ่งต้องการที่จะยืนยันอ้างสิทธิ์ของพวกเขาเองในเวทีเศรษฐกิจของโลกแล้ว การแยกทางในเชิงภูมิรัฐศาสตร์กับฝ่ายตะวันตกจะก่อให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นจากความตระหนักเช่นนี้ก็คือ แทบเป็นการแน่นอนทีเดียวว่าบทบาทของดอลลาร์สหรัฐฯกำลังจะมีความจำกัดถดถอยลงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับช่วงเวลาใดๆ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

อเล็กซานดรอส มานดิลารัส เป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์, สหราชอาณาจักร

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/why-the-world-is-turning-away-from-the-us-dollar-220093

เชิงอรรถ

[1]https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy0612
[2] https://www.ft.com/content/669260a5-82a5-4e7a-9bbf-4f41c54a6143
[3]https://markets.businessinsider.com/news/currencies/dedollarization-dollar-dominance-russia-china-ruble-yuan-war-in-ukraine-2023-9
[4]https://www.nasdaq.com/articles/china-completes-first-yuan-settled-lng-trade
[5]https://www.reuters.com/markets/currencies/china-saudi-arabia-central-banks-sign-local-currency-swap-agreement-2023-11-20/
[6]https://www.statista.com/statistics/264623/leading-export-countries-worldwide/
[7] https://data.imf.org/?sk=9d6028d4-f14a-464c-a2f2-59b2cd424b85&sid=1514498232936
[8]https://www.investopedia.com/updates/purchasing-power-parity-ppp/
[9] https://www.reuters.com/world/brics-poised-invite-new-members-join-bloc-sources-2023-08-24/
[10]https://www.middleeastmonitor.com/20230815-south-africa-8-arab-countries-request-to-join-brics/
[11]https://fiscaldata.treasury.gov/americas-finance-guide/national-debt/#the-growing-national-debt
[12]https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0022199622000368?via%3Dihub
[13]https://data.bis.org/topics/DER/tables-and-dashboards/BIS,DER_D11_3,1.0
[14]https://www.nber.org/system/files/chapters/c0121/c0121.pdf
[15] https://theconversation.com/global-triggers-why-these-five-big-issues-could-cause-significant-problems-in-2024-219371
[16] https://www.iea.org/articles/energy-fact-sheet-why-does-russian-oil-and-gas-matter
[17]https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-q3-2023/central-banks
[18]https://www.iiss.org/sv/publications/strategic-comments/2023/the-state-of-de-dollarisation-in-the-gulf-region/
[19] https://i0.wp.com/asiatimes.com/wp-content/uploads/2023/06/AT-logo-wide-banner-1.png?w=706&ssl=1
กำลังโหลดความคิดเห็น