xs
xsm
sm
md
lg

วิตก ‘รัสเซีย’เปิดรุกครั้งใหม่ฤดูใบไม้ผลินี้ โดย‘ยูเครน’ไม่พร้อมรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สเตฟาน วูลฟ์ และ เทตยานา มัลยาเรนโก


รัสเซียอาจสร้างเซอร์ไพรซ์ด้วยการเปิดโจมตีใหญ่ครั้งใหม่ใส่ยูเครน ภายหลังช่วงที่การสู้รบผ่อนเพลาลงมากในฤดูหนาว (ภาพนี้เผยแพร่โดยรัฐบาลรัสเซีย)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A Russian spring offensive would wrongfoot Ukraine
By STEFAN WOLFF AND TATYANA MALYARENKO
19/01/2024

การพูดจากันเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนภายหลังช่วงฤดูหนาวปีนี้ โดยที่ประธานาธิบดีเซเลนสกียังคงยืนยันที่จะปลดแอกดินแดนทั้งหมดของยูเครนที่รัสเซียยึดครองอยู่ ขณะที่ความช่วยเหลือจากฝ่ายตะวันตกอยู่ในสภาพที่ไร้ความแน่นอน ส่วนทางประธานาธิบดีปูตินประกาศว่าฐานะความเป็นรัฐของยูเครนจะต้องได้รับความเสียหายอย่างสาหัส และดูอยู่ในฐานะที่ดีกว่ามากในการทำสงครามต่อไป เหล่านี้จึงกำลังเพิ่มความหวาดเกรงกันว่า เคียฟตกอยู่ในสภาพซึ่งไม่พรักพร้อมอย่างน่ากลัวอันตรายมาก สำหรับการต้านทานการรุกครั้งใหม่ของมอสโก

พวกนักวิเคราะห์กำลังเสนอแนะกันว่า รัสเซียอาจจะอยู่ในขั้นตอนแรกๆ ของการเปิดรุกครั้งใหม่ในยูเครนแล้ว ทางภาคพื้นดินนั้น กองกำลังของมอสโกได้เพิ่มทวีการโจมตี [1] ของพวกเขาตามส่วนสำคัญๆ ของเส้นแนวหน้า พวกเขาสามารถช่วงชิงดินแดนขนาดเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์มานี้ ทั้งด้วยการเข้ายึดดินแดนใหม่และการแย่งคืนดินแดน [2] ซึ่งกองกำลังของเคียฟปลดแอกไประหว่างการรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนในปีที่แล้ว

เวลาเดียวกัน กองทหารยูเครนได้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่โหมด “การป้องกันอย่างริเริ่มแข็งขัน” (active defense) ทั้งนี้ตามปากคำ [3] ของผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินของประเทศ พลโทโอเลคซานดร์ ซีร์สกะยี (Colonel-General Oleksandr Syrskyi)

นี่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าความพยายามของฝ่ายยูเครนในการต้านทานและยังความพ่ายแพ้ให้แก่การรุกรานของฝ่ายรัสเซียในท้ายที่สุดนั้นจะตกอยู่ในภาวะอันตรายร้ายแรง ถ้าหากการรุกครั้งใหม่ของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นมาใช่หรือไม่? คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประเมินสมรรถนะและเจตนารมณ์ทางการเมืองทั้งของฝ่ายรัสเซียและฝ่ายยูเครนกันอย่างไร โดยที่สำหรับเรื่องหลังนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าข้างไหนยังไม่มีใครแสดงสัญญาณใดๆ ของการถอดใจถดถอยลงมา

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แสดงท่าทีอย่างชัดเจนไร้ความกำกวม ณ การประชุมร่วมกับพวกผู้นำรัฐบาลระดับท้องถิ่น [4] เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาว่า เขาไม่มีเจตนารมณ์ใดๆ เลยที่จะเข้าสู่การเจรจาต่อรองกับยูเครน ตรงกันข้าม เขาทำนายว่าผลลัพธ์ประการหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นจากสงครามคราวนี้คือ ความเป็นรัฐของยูเครนจะ “ถูกกระหน่ำตีอย่างสาหัสยิ่ง” [5]

ข้างฝ่ายผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับปูตินของทางยูเครน คือ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ก็ไปพูด ณ เวทีประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum) [6] ที่ ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ ช่วงกลางเดือนมกราคม โดยแทบไม่ปล่อยให้เหลือความสงสัยข้องใจไว้เลย เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของเขาที่จะสู้รบต่อไปเพื่อปลดแอกอย่างสมบูรณ์ดินแดนทั้งหมดของยูเครนที่รัสเซียยึดครองอยู่

กำลังคนและกำลังวัตถุ

แต่รัสเซียและยูเครนมีสมรรถนะทางทหารในระดับซึ่งสามารถรองรับถ้อยคำโวหารของผู้นำของพวกเขาได้หรือไม่?

นี่คือประเด็นปัญหาทั้งในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และเรื่องกำลังคน อย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากการโจมตีทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำอีกและประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งมุ่งเล่นงานเป้าหมายต่างๆ หลากหลายกว้างขวางตลอดทั่วทั้งยูเครน รวมทั้งนครหลวงเคียฟ [7] และเมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) [8] นครใหญ่อันดับสองของประเทศ รัสเซียนั้นมีทั้งอาวุธและเครื่องกระสุนสำหรับการรณรงค์ทางอากาศของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยูเครนยังคงขาดแคลนสมรรถนะต่างๆ ในการป้องกันภัยทางอากาศซึ่งเหมาะสมควรที่จะต้องมี

ทำนองเดียวกัน ความพยายามทางภาคพื้นดินของฝ่ายยูเครนก็ต้องชะงักไปจากการขาดแคลนพวกเครื่องกระสุนลูกจรวดลูกขีปนาวุธอย่างสาหัสร้ายแรงมากขึ้นทุกที สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (Institute for the Study of War) องค์การด้านนโยบายที่ไม่ได้มุ่งหากำไร รายงาน [9] เอาไว้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2024 โดยเป็นการสรุปรวบย่อรายงานข่าวจากสื่อหลายๆ แห่งว่า กองทหารยูเครน “กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาทางชดเชยภาวะขาดแคลนเครื่องกระสุนและลูกจรวดสำหรับพวกปืนใหญ่และระบบจรวดหลายลำกล้องให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ” เวลาเดียวกันการที่พวกเขาใช้โดรนลำเล็กๆ สำหรับวัตถุประสงค์ทางการสู้รบ ก็ประสบอุปสรรคจาก “สมรรถนะการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีไม่เพียงพอ”
(หมายเหตุผู้แปล - สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม Institute for the Study of War ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตันนี้ ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานบริหารคือ คิมเบอร์ลี เคแกน Kimberly Kagan นักประวัติศาสตร์การทหารชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของผู้บัญชาการทหารอเมริกันในสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรัก ขณะที่คณะกรรมการบริหารของสถาบัน มีอาทิ พลเอกจอห์น เอ็ม คีน John M. "Jack" Keane อดีตรองเสนาธิการของกองทัพบกสหรัฐฯ, พลเอกเดวิด เพเทรอัส David Petraeus อดีตผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน อดีตผู้บัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ CENTCOM และอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ, เคลลี คราฟต์ Kelly Craft นักธุรกิจหญิงที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็นในยุคโดนัลด์ ทรัมป์, วิลเลียม คริสโทล William Kristol นักเขียนนักคิดคนสำคัญของพวกอนุรักษนิยมใหม่ Neoconservative , โจ ลีเบอร์แมน Joe Lieberman อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐฯหลายสมัย เป็นต้น สถาบันแห่งนี้ ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “กลุ่มสายเหยี่ยวในวอชิงตัน” ที่นิยมชมชื่น “นโยบายการต่างประเทศแบบก้าวร้าวรุกราน” รวมทั้งถูกสื่อบางรายเรียกว่าเป็น “พวกอนุรักษนิยมใหม่” ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Institute_for_the_Study_of_War)

เมื่อมาถึงเรื่องกำลังคน ทั้งสองฝ่ายต่างก็กำลังอยู่ในสภาพต้องต่อสู้ดิ้นรน ระหว่างการตอบคำถามประชาชนในช่วงการแถลงข่าวประจำปีเมื่อช่วงสิ้นปี 2023 ที่ผ่านมา ปูตินได้ปฏิเสธแข็งขัน [10] ว่ารัสเซียจะไม่มีการระดมเกณฑ์ทหารใดๆ กันอีก และตามคำพูด [11] ของ วาดิม สกิบิตสกี (Vadym Skibitskyi) รองผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองทหารของฝ่ายยูเครน ก็ได้ออกมายอมรับว่า มอสโกนั้นสามารถพึ่งพาอาศัยกระแสชาวรัสเซียที่อาสาสมัครเข้าเป็นทหารอย่างสม่ำเสมอราวๆ 30,000 คนต่อเดือน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นติดตามมาและเป็นคำถามซึ่งทำเนียบเครมลินต้องเผชิญก็คือว่า เศรษฐกิจของรัสเซียจะรับมืออย่างไรกับภาวะขาดแคลนกำลังคนในเมื่อคนงานจำนวนมากกำลังถูกหันเหไปสู่แนวหน้า

สำหรับในยูเครน แผนการที่จะระดมเกณฑ์ทหารให้ได้เพิ่มเติมขึ้นอีกราวๆ 500,000 คน ก็น่าที่จะประสบความลำบากและสร้างความแตกแยกด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันเป็นอย่างยิ่ง

รัสเซียกำลังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล [12] จากยุทธสัมภาระที่มาจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ อย่างที่เห็นได้ชัดจากการไปเยือนกรุงมอสโกเมี่อเร็วๆ นี้ [13] ของรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ โช ซอนฮุย (Choe Son-hui) สายสัมพันธ์เหล่านี้น่าที่จะเติบโตต่อไปอีก และอุดหนุนส่งเสริมความพยายามของรัสเซียในการทำสงครามเล่นงานยูเครนเพิ่มมากขึ้นอีก

ยูเครนนั้นในหลายๆ ด้าน กำลังต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ เพื่อประคับประคองรักษาการป้องกันของตนให้ยังคงต้านทานการรุกรานของรัสเซียเอาไว้ ถึงแม้ความช่วยเหลือที่ว่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องไม่แน่ไม่นอนยิ่งขึ้นทุกที [14]

จากการไม่มีหนทางอันชัดเจนใดๆ สำหรับการปลดล็อก [15] เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯต่อไปอีก ขณะที่สัญญาผูกพันทางการเงินจากอียูในอนาคตก็ยังคงไม่มีความแน่นอน [16] เอาเลย ยูเครนจึงต้องหันมาพึ่งพาชาติสมาชิกผู้บริจาครายเล็กๆ [17] จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็รวมถึงเยอรมนี [18] และสหราชอาณาจักร [19]

ความไม่แน่ไม่นอนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศของยูเครน กลายเป็นปัญหาหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นอีก จากข้อเท็จจริงที่ว่าภาคอุตสาหกรรมกลาโหมของยูเครนเองก็ยังไม่ได้ปรับโหมดเข้าสู่ภาวะรับมือกับสงครามอย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งของปัญหาที่ว่าทำไมยูเครนจึงยังต้องดิ้นรนหนักเพื่อผลิตเครื่องกระสุนต่างๆ ให้เพียงพอสำหรับการสนองแก่กองทหารของพวกเขาในสมรภูมิ

กระทั่งถ้าหากเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในเร็ววัน [20] ซึ่งก็รวมไปถึงการได้ความช่วยเหลือจากการลงทุนของฝ่ายตะวันตกเพื่อการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นในยูเครนเอง แต่การที่เคียฟขาดไร้ความลึกในทางยุทธศาสตร์ ก็จะยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งอยู่นั่นเอง ทั้งนี้พวกโดรนและขีปนาวุธของฝ่ายรัสเซียนั้นสามารถเล็งเป้ายิงไปถึงสิ่งปลูกสร้างเพื่อการผลิตทางทหารทั้งหลายไม่ว่าจะตั้งอยู่ตรงไหนในยูเครน โดยที่ในเวลานี้ ยูเครนยังคงขาดไร้ระบบการป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถตอบโต้การโจมตีเช่นว่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ขณะกล่าวปราศรัยในเวทีประชุมประจำปีของ เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ที่ ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 16 มกราคม 2024
การค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัย

สภาพเช่นนี้ทำให้เหลือเพียงเรื่องมาตรการเพื่อการป้องปราม ที่อาจจะมีศักยภาพเป็นเครื่องกีดขวางสุดท้ายในเส้นทางแห่งการรุกตอบโต้ของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดสิ่งที่ปูตินประกาศข่มขู่เอาไว้ว่า จะเป็นการกระหน่ำตีอย่างสาหัสร้ายแรงเข้าใส่ภาวะความเป็นรัฐของยูเครน

จากที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นครั้งแรกในคำประกาศร่วมเพื่อสนับสนุนยูเครนของกลุ่ม จี7 (กลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกตะวันตก) [21] เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 เรื่องการทำความตกลงระดับทวิภาคีระหว่างยูเครนกับพวกชาติตะวันตกของตนหลายๆ ราย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือกันทั้งทางด้านกลาโหมและทางด้านความมั่นคงนั้น เวลานี้เรื่องนี้กำลังเริ่มต้นกลายเป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือกันด้านความมั่นคงระหว่างสหราชอาณาจักรกับยูเครน [22]ได้รับการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2024 ขณะที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ก็เพิ่งประกาศ [23] ว่าข้อตกลงทำนองเดียวกันนี้ระหว่างฝรั่งเศสกับยูเครนจะเสร็จสิ้นในขั้นสุดท้ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ความตกลงสหราชอาณาจักร-ยูเครนที่เซ็นกันไปแล้วนี้ ระบุว่าจะจัดหา [24] “ความช่วยเหลืออย่างรอบด้านให้แก่ยูเครน สำหรับการพิทักษ์ป้องกันและการฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนภายในเส้นเขตแดนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันของนานาประเทศ” นอกจากนั้นความตกลงฉบับนี้ยังให้คำมั่นที่จะ “ให้การป้องกัน และการป้องปรามอย่างกระตือรือร้น รวมทั้งใช้มาตรการตอบโต้คัดค้าน ต่อการยกระดับขยายตัวทางการทหารใดๆ และ/หรือ การรุกรานครั้งใหม่ โดยสหพันธรัฐรัสเซีย” รวมทั้งให้สัญญาที่จะ “สนับสนุนยูเครนสำหรับการบูรณาการเข้าไปในสถาบันยุโรป-แอตแลนติกต่างๆ (Euro-Atlantic institutions) ในอนาคต”

เมื่อพิจารณากันอย่างลงรายละเอียด ต้องยอมรับว่าความใส่ใจกระตือรือร้นในโลกตะวันตกที่จะสนับสนุนยูเครนให้ได้ชัยชนะในสมรภูมิ และเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้นั้น อย่างเก่งที่สุดก็พูดได้แค่ว่าอยู่ในระดับเมินเฉยไม่ได้คึกคักอะไร

อย่างไรก็ดี ถ้าหากนี่คือโมเดลหนึ่งสำหรับดีลคล้ายๆ กันที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต ถ้าหากสหรัฐฯและชาติสมาชิกรายสำคัญอื่นๆ ของนาโต้บรรลุดีลทำนองเดียวกันนี้กับยูเครน และถ้าหากพันธสัญญาเหล่านี้ –ซึ่งจริงๆ แล้วต้องยอมรับว่ายังมิได้ผ่านการทดสอบจากความเป็นจริงเลย— ได้รับการปฏิบัติตามอย่างจริงจัง โดยไม่ได้ประสบชะตากรรมเดียวกันกับ “บันทึกความเข้าใจแห่งบูดาเปสต์” (Budapest Memorandum) [25] ซึ่งการค้ำประกันความมั่นคงตามเอกสารฉบับนี้ [26] ถูกพิสูจน์จากการปฏิบัติที่เป็นจริงว่าเป็นสิ่งไร้ค่า (บันทึกความเข้าใจแห่งบูดาเปสต์ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นในปี 1994 มีเนื้อหาสำคัญว่า ยูเครนตกลงยินยอมโยกย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของตนออกไป เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับรับรองจากรัสเซียตลอดจนฝ่ายอื่นๆ ในเรื่องความเป็นรัฐของยูเครน) มันก็จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นแน่วหน้าที่ชัดเจนของฝ่ายตะวันตกที่จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายรัสเซียเปิดการรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลให้รัสเซียเข้ายึดฉวยดินแดนของยูเครนไปอย่างผิดกฎหมายอีกรอบหนึ่ง

มันช่างเต็มไปด้วย “ถ้าหาก” ที่มากมายและซึ่งทรงความสำคัญเยอะเหลือเกิน ขณะที่เป้าหมายของนาโต้ในการป้องกันไม่ให้ยูเครนประสบความพ่ายแพ้ ก็เป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างเล็กจนห่างไกลเหลือเกินเมื่อเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมายของสงครามซึ่งเซเลนสกีประกาศเอาไว้ กระนั้นก็ดี พิจารณากันอย่างลงรายละเอียดแล้ว เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างเล็กลงมามาก ดังนั้นจึงดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่าว่ามันอาจจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างบานปลายขยายตัวออกไปในวงกว้างขวางยิ่งขึ้นและมีอันตรายมากขึ้นอีก ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก โดยที่เวลาเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ยูเครนตกอยู่ในสภาพที่จะต้องพ่ายแพ้ปราชัยอย่างถาวร

สเตฟาน วูลฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม, สหราชอาณาจักร ขณะที่ เทตยานา มัลยาเรนโก เป็นศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงของยุโรป ฌอง มอนเนต์ (Jean Monnet Professor of European Security) ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ “สถาบันกฎหมายโอเดสซา” (National University “Odesa Law Academy”) เมืองโอเดสซา, ยูเครน

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/ukraine-war-talk-of-russian-spring-offensive-raises-fears-that-kyiv-is-ill-prepared-to-face-it-221142

ทั้งนี้ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น แถลงเปิดเผยผลประโยชน์และความเกี่ยวข้องของผู้เขียนทั้งสอง ในหัวข้อที่ทั้งคู่เขียนถึงในบทความชิ้นนี้ ดังนี้:

สเตฟาน วูลฟ์ ในอดีตเคยเป็นผู้รับเงินทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าจาก สภาวิจัยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของสหราชอาณาจักร (Natural Environment Research Council of the UK), สถาบันสันติภาพของสหรัฐฯ (United States Institute of Peace), สภาวิจัยเศรษฐกิจและสังคมของสหราชอาณาจักร (Economic and Social Research Council of the UK), ราชบัณฑิตยสภาสหราชอาณาจักร (British Academy), โปรแกรมวิทยาศาสตร์เพื่อสันติภาพ องค์การนาโต้ (NATO Science for Peace Programme), โปรแกรมกรอบโครงอียู 6 และ 7 และขอบเขต ปี 2020 (EU Framework Programmes 6 and 7 and Horizon 2020), โปรแกรม ฌอง มอนเนต์ ของอียู (EU's Jean Monnet Programme) เขายังเป็นผู้ดูแล (Trustee) คนหนึ่ง และเหรัญญิกกิตติมศักดิ์ (Honorary Treasurer) ของสมาคมการเมืองศึกษาแห่งสหราชอาณาจักร (Political Studies Association of the UK), และเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์นโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy Centre) ในกรุงลอนดอน

เทตยานา มัลยาเรนโก ไม่ได้ ทำงาน, หรือให้คำปรึกษา, หรือเป็นเจ้าของหุ้น, หรือได้รับเงินทุนสนับสนุน จากบริษัทหรือองค์การใดๆ ที่จะได้รับผลประโยชน์จากบทความชิ้นนี้ รวมทั้งขอเปิดเผยว่าไม่ได้มีความพัวพันเกี่ยวข้องใดๆ อื่นอีก นอกเหนือไปจากการได้รับแต่งตั้งในทางวิชาการจากบริษัทหรือองค์การเหล่านี้


เชิงอรรถ
[1]https://www.reuters.com/world/europe/fighting-intensifies-ukraines-east-russia-steps-up-offensive-action-2024-01-17/
[2]https://www.understandingwar.org/backgrounder/russian-offensive-campaign-assessment-january-17-2024
[3]https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-ground-commander-says-his-troops-now-active-defence-can-still-surprise-2024-01-15/
[4]http://kremlin.ru/events/president/news/73275
[5]http://kremlin.ru/events/president/news/73275
[6]https://www.reuters.com/world/europe/ukraines-zelenskiy-urges-western-unity-stop-russia-2024-01-16/
[7]https://www.reuters.com/world/europe/russia-launches-massive-air-attack-ukraine-least-10-dead-kyiv-2023-12-29/
[8]https://www.reuters.com/world/europe/russian-missiles-hit-ukraines-kharkiv-wounding-4-officials-say-2024-01-16/
[9]https://www.understandingwar.org/backgrounder/russian-offensive-campaign-assessment-january-8-2024
[10]http://en.kremlin.ru/events/president/news/72994
[11]https://newsukraine.rbc.ua/interview/russians-motivated-to-fight-for-money-1000-1705323575.html
[12]https://www.ft.com/content/1d1eb1dd-4fa0-4693-9512-23a219de5d77
[13] https://www.msn.com/en-gb/news/world/north-koreas-top-diplomat-in-moscow-for-talks-on-ties-amid-concerns-over-alleged-arms-deal/ar-AA1n3i6G
[14] https://theconversation.com/ukraine-war-stalemate-on-the-battlefield-and-shaky-international-support-putting-pressure-on-zelensky-216930
[15]https://www.ft.com/content/d35e1a68-9bcc-43d3-80a1-ff6aeeebff3d
[16] https://www.msn.com/en-gb/video/news/orban-versus-the-eu-on-ukraine-how-can-other-member-states-break-the-deadlock/vi-AA1mT2Xp
[17]https://app.23degrees.io/view/tAuBi41LxvWwKZex-bar-stacked-horizontal-figure-2_csv_final
[18] https://www.politico.eu/article/olaf-scholz-raises-pressure-eu-countries-beef-up-military-aid-ukraine-budget-germany/
[19]https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/cbp-9914/
[20]https://www.understandingwar.org/backgrounder/ukraine%E2%80%99s-long-term-path-success-jumpstarting-self-sufficient-defense-industrial-base
[21] https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/12/06/g7-leaders-statement-6/#:%7E:text=We%20continue%20to%20support%20Ukraine,term%20security%20commitments%20and%20arrangements.
[22]https://assets.publishing.service.gov.uk/media/65a14a6ae96df50014f845d2/UK-Ukraine_Agreement_on_Security_Co-operation.pdf
[23]https://www.reuters.com/world/europe/frances-macron-travel-ukraine-february-finalise-bilateral-security-deal-2024-01-16/
[24]https://assets.publishing.service.gov.uk/media/65a14a6ae96df50014f845d2/UK-Ukraine_Agreement_on_Security_Co-operation.pdf
[25] https://www.rferl.org/a/ukraine-explainer-budapest-memorandum/25280502.html
[26]https://treaties.un.org/doc/Publication/UNTS/Volume%203007/Part/volume-3007-I-52241.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น