xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่น! นักเขียนญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลวรรณกรรม ยอมรับใช้ ChatGPT ช่วยเขียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ริเอะ คุดัน (Rie Kudan) นักเขียนหญิงวัย 33 ปี ผู้คว้ารางวัล Akutagawa Prize ซึ่งเป็นรางวัลด้านวรรณกรรมของญี่ปุ่นสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ ออกมายอมรับในงานแถลงข่าวว่า เนื้อหาบางส่วนในนิยายของเธอเป็นผลงานของ ChatGPT

คุดัน ซึ่งคว้ารางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมจากนวนิยายเรื่อง Tokyo-to Dojo-to (Sympathy Tower Tokyo) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกอนาคตและปัญญาประดิษฐ์ ยอมรับตรงๆ ว่า 5% ของเนื้อหาทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรมเอไอ และเธอเองยังได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทสนทนาจาก ChatGPT ด้วย

“ฉันใช้เครื่องมือ เจเนอเรทีฟ เอไอ อย่าง ChatGPT เป็นตัวช่วยในการเขียนหนังสือเล่มนี้” คุดัน กล่าว “และต้องบอกว่าเนื้อหา 5% ของหนังสือถูกอ้างอิงมาจากประโยคที่สร้างด้วยเอไอ”

คำพูดเปิดใจของนักเขียนสาวรายนี้ทำให้สังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทว่าคณะกรรมการรางวัล Akutagawa Prize ซึ่งระบุว่างานเขียนของเธอนั้น “ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ” กลับไม่ได้มองว่าการใช้ ChatGPT เป็นปัญหา

“ดูเหมือนว่าเรื่องที่ ริเอะ คุดัน ใช้ เจเนอเรทีฟ เอไอ ช่วยเขียนนวนิยายที่คว้ารางวัลเล่มนี้จะเป็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อน... หากพวกคุณได้อ่านมันก็จะรู้ว่า นิยายมีการอ้างถึงเจเนอเรทีฟ เอไอ อยู่ด้วย” เคอิจิโระ ฮิราโนะ นักเขียนซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโพสต์ข้อความผ่าน X

“การนำเครื่องมือเอไอมาใช้ในลักษณะนี้จะมีปัญหาแน่นอนในอนาคต แต่ไม่ใช่สำหรับกรณีของ Tokyo Sympathy Tower” เขากล่าว

กระนั้นก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้ทราบข่าวนี้ยังไม่คล้อยตามความเห็นของ ฮิราโนะ และบางคนแสดงความกังวลว่ามันจะเข้าข่ายลอกเลียนผลงาน (plagiarism) หรือไม่

“งั้นก็แสดงว่าเธอแต่งนิยายโดยใช้เอไอช่วย แบบนี้เรียกว่าพรสวรรค์หรือเปล่า? ไม่รู้สินะ” ผู้ใช้ X รายหนึ่งกล่าว ตามรายงานของเอเอฟพี

ด้านหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์สอ้างข้อคิดเห็นจากชาวเน็ตอีกคนที่ตั้งคำถามว่า “หากผลงานที่ถูกสร้างด้วยเอไอถูกนำมาพิจารณา งั้นหลังจากนี้ถ้าเอไอถูกพัฒนาก้าวหน้าไปมากๆ ก็หมายความว่าผลงานที่ถูกสร้างด้วยเอไอทั้งหมดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ใช่ไหม?”

“ในกรณีนี้มันจะไม่ใช่การแข่งขันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อีกต่อไป แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างเอไอ แล้วมันถูกต้องไหมที่เรายังคงห้ามใช้เอไอในเกมหมากรุกหรือหมากล้อมกันอยู่”

สมาคมส่งเสริมวรรณกรรมญี่ปุ่นซึ่งจัดงานมอบรางวัล Akutagawa Prize ปีละ 2 ครั้ง ยังปฏิเสธที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

ที่มา : Nextshark
กำลังโหลดความคิดเห็น