xs
xsm
sm
md
lg

สื่อฮ่องกงชี้ “ทุเรียนจีน” ปลูกเองมาแรงกำลังจะกลายเป็นเจ้าตลาด ขนลุก! กำลังผลิตเพิ่มก้าวกระโดด 50 ตันเป็น 500 ตันปีหน้า ส่วน “ไทย” กำลังเสียแชมป์ส่งออกตลาดจีนให้ "เวียดนาม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สถาบันวิจัยผลไม้เขตร้อนชื้นประจำมณฑลไห่หนาน (Institute of Tropical Fruit Trees) ยืนยัน การผลิตทุเรียนจีนประสบความสำเร็จก้าวกระโดดเพิ่มจาก 50 ตันปีที่แล้วมาเป็น 250 ตันปีนี้ และคาดจะกระโดดเป็น 500 ตันสำเร็จได้ภายในปีหน้า เล็งปลูกเองป้อนตลาดภายในประเทศที่มีการบริโภคใหญ่ที่สุดในโลก หลังไทยกำลังเสียแชมป์การส่งออกทุเรียนไปจีนให้เวียดนาม หลังแต่เดิมยอดส่วนแบ่งตลาดจีนจากแต่เดิมเกือบ 100% ในปี 2021 มาอยู่ที่สูงกว่าครึ่งเดียวที่ 67.98% ปี 2023

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานวันนี้ (21 ม.ค.) ว่า ภายในแค่ 3 ปี จีนประสบความสำเร็จสามารถปลูกทุเรียนได้เองเพิ่มกำลังการผลิตจาก 50 ตัน มาอยู่ที่ 500 ตันภายในปีหน้า

"การบริโภคทุเรียนภายในประเทศคาดจะสามารถเพิ่มการผลิต 250 ตันปีนี้ แต่ภายในปีหน้าจะสามารถมีกำลังการผลิตมหาศาลโดยกำลังการผลิตสามารถแตะ 500 ตัน” เฟง ซูจี (Feng Xuejie) ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตอากาศร้อนชื้น (Institute of Tropical Fruit Trees) ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences)

ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนานประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนได้ถึง 50 ตัน ซึ่งเฟงมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการทุเรียนอย่างสูงของผู้บริโภคชาวจีน

“สำหรับราคาและรสชาติของทุเรียนภายในประเทศในอนาคตนั้นขอให้เฝ้ารอ” เฟงเสริม

ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วเมื่อ "ปักกิ่ง" ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถออกผลผลิตทุเรียนปลูกเองภายในประเทศที่มณฑลไห่หนานได้

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงรายงานว่า ผู้บริโภคทุเรียนในจีนมองทุเรียนโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อต่างมองผลไม้เปลือกแข็งหนามแหลมและมีรสชาติที่หอมหวานไม่เหมือนใครว่า เป็นเสมือนรางวัล ซึ่งทุเรียนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นราชาผลไม้

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงชี้ต่อว่า การนำเข้าทุเรียนปีที่แล้วสูงลิ่ว แต่ทว่าปักกิ่งซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มกระจายการซื้อทุเรียนไปยังหลายแหล่งเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนภายในประเทศ ซึ่งจากแต่เดิมเคยนำเข้าทุเรียนจาก “ไทย” เพียงเจ้าเดียว โดยปักกิ่งได้นำเข้าทุเรียนจาก “เวียดนาม” และ “ฟิลิปปินส์” ส่งผลทำให้ไทยกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนไปอย่างช่วยไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขทางการของสำนักงานศุลกากรจีนพบว่า จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.4 ล้านตันภายใน 12 เดือนแรกของปี 2023 สูง 69% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ไทยซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าการตลาดการส่งออกทุเรียนไปจีน มียอดการส่งออกตกจากเกือบ 100% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 95.36 ในปี 2022 และเหลือแค่ 67.98% มาจนถึงเดือนธันวาคมปี 2023

อ้างอิงข้อมูลวันที่ 11 เม.ย. ปี 2566 จากกรมการส่งออก การผลิตทุเรียนไทยต่อปีที่ 1,480,000 ตัน และสายพันธุ์ที่ปลูกและส่งออกคือ ชะนี หมอนทอง ก้านยาว กระดุม พวงมณี

กรมการส่งออกพบว่า "ทุเรียนฟิลิปปินส์" ที่ส่งออกไปจีนเป็นพันธุ์ปูยัต (Puyat) มีลักษณะเนื้อสีทอง กลิ่นหอมแรงและรสชาติเข้มข้น

สมาคมอุตสาหกรรมทุเรียนดาเวา (DIADC) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มณฑล/เขตที่ปลูกทุเรียนของฟิลิปปินส์มีจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ปลูกทุเรียนรวมประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร ผลผลิต 100,000 ตันต่อปี สายพันธุ์ทุเรียนที่สามารถปลูกได้ในฟิลิปปินส์คือ ชะนี หมอนทอง alcon fancy, arancillo และ puyat

ส่วน "ทุเรียนเวียดนาม" ที่ส่งเข้าไปตีตลาดจีนและแซงหน้าไทยได้นั้นเป็น "พันธุ์หมอนทอง" (Ri6 หมอนทอง 6) จาก จ.ดักลัก ซึ่งก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับทุเรียนไทยที่ส่งออกมาตลาดจีน

ตามรายงานของกรมการส่งออกระบุว่า จุดแข็งของทุเรียนเวียดนามคือ ระยะทางที่สั้นและเวลาการขนส่งน้อยแค่ 2 ชม.ถึงด่านจีนทำให้ทุเรียนเวียดนามยังคงรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดี

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนเวียดนามไปจีนนั้นเริ่มตั้งแต่เกือบ 0% ไปอยู่ที่ 4.63% ที่ 188.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 และเพิ่มไปอยู่ที่ 31.82% ใน 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ เบียดการส่งออกทุเรียนจากไทย

ขณะที่ บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียต่างพยายามผลักดันข้อตกลงในปีนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย ไซมอน ชิน (Simon Chin) ผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออก DKing กล่าว

ปัจจุบันมาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนเท่านั้น

ชินแสดงความเห็นกับสื่อฮ่องกงว่า “ปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนเพื่อหาลู่ทางการส่งออกผลไม้สด เช่นเดียวกับที่ไทยและเหมือนเช่นที่ฝ่ายไทยทำ”

อย่างไรก็ตาม ในแง่รายได้ การส่งออกทุเรียนไทยมาจีนนั้นยังคงเพิ่มในปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากความต้องการสูงของตลาดผู้บริโภคจีนในเมืองระดับการที่เริ่มจะมีมากขึ้น แซม ซิน (Sam Sin) ผู้อำนวยการพัฒนาประจำ S&F Produce Group ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงชี้


กำลังโหลดความคิดเห็น