xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นสร้างประวัติศาสตร์! ส่งยานลงจอดดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติที่ 5 ของโลก แต่เจอปัญหา ‘พลังงานขัดข้อง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ส่งยาน Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันนี้ (20 ม.ค.) กลายเป็นชาติที่ 5 ของโลกที่สามารถทำได้ ทว่าภารกิจของยานอาจต้องยุติลงเร็วกว่าที่กำหนด หลังพบว่าแผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตพลังงาน

JAXA ระบุว่า ยานสำรวจ SLIM ลงจอดอย่างนุ่มนวลที่พื้นผิวดวงจันทร์เมื่อเวลา 00.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ทว่าแผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งคาดว่าเกิดจากมุมรับแสงไม่ถูกต้อง

ฮิโตชิ คุนินากะ หัวหน้าศูนย์วิจัยของ JAXA ระบุในงานแถลงข่าวว่า ทางหน่วยงานจะมุ่งเน้นไปที่การส่งข้อมูลจาก SLIM กลับมายังพื้นโลก เนื่องจากยานต้องอาศัยพลังงานจากแบตเตอรีเพียงอย่างเดียว และคาดว่าจะทำภารกิจอยู่ได้เพียงแค่ “2-3 ชั่วโมง” แม้จะมีมาตรการยืดอายุด้วยการปิดระบบบางอย่าง เช่น ระบบทำความร้อน ก็ตาม

ทั้งนี้ JAXA เลือกที่จะคงสภาพในปัจจุบัน (status quo) ของยานเอาไว้โดยไม่ใช้มาตรการอื่นที่อาจสุ่มเสี่ยง และหวังว่าแสงอาทิตย์อาจเปลี่ยนทิศทางมาตกกระทบกับแผงโซลาร์เซลล์จนช่วยให้กลับมาผลิตพลังงานได้อีกครั้ง

“การเปลี่ยนมุมของแสงอาทิตย์บนดวงจันทร์ต้องใช้เวลา 30 วัน” คุนินากะ ระบุ “ดังนั้น เมื่อแสงอาทิตย์เปลี่ยนทิศทาง ก็อาจจะตกกระทบกับแผงโซลาร์เซลล์ได้ในที่สุด”

JAXA พยายามนำยานสำรวจ SLIM ซึ่งถูกตั้งฉายาว่า “มูน สไนเปอร์” ลงจอดบนพื้นผิวจันทร์ภายในรัศมีไม่เกิน 100 เมตรจากเป้าหมายที่กำหนด จากเดิมที่ยานสำรวจอื่นๆ มักมีความแม่นยำในการลงจอดในรัศมีหลายกิโลเมตร โดย JAXA คาดหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถส่งยานไปลงจอดบริเวณขั้วของดวงจันทร์ที่มีภูมิประเทศเป็นเนินเขา และเชื่อกันว่าอาจจะมีแหล่งออกซิเจน เชื้อเพลิง และน้ำซุกซ่อนอยู่

“เมื่อดูจากข้อมูลการติดตามเส้นทาง เชื่อว่า SLIM น่าจะลงจอดอย่างแม่นยำในรัศมี 100 เมตร” คุนินากะ กล่าว พร้อมระบุว่าจะต้องใช้เวลาอีก 1 เดือนในการตรวจสอบยืนยัน

ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านอวกาศมากขึ้น โดยจับมือกับหุ้นส่วนอย่างสหรัฐฯ เพื่อคานอำนาจจีน

ญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของบริษัทสตาร์ทอัปด้านอวกาศหลายแห่ง ขณะที่ JAXA ก็มีเป้าหมายที่จะส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ภายใต้โครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ที่มา: รอยเตอร์






กำลังโหลดความคิดเห็น