รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ลาออกจากตำแหน่งและ ถูกฟ้องศาลข้อหาความผิดฐานทุจริตและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมรวม 27 กระทง ถือเป็นหนึ่งในคดีใหญ่ที่สุดซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐในรอบหลายสิบปี ในประเทศที่มีภาพลักษณ์ขาวสะอาดในสายตาชาวโลกมาโดยตลอด
ในหนังสือลาออกลงวันที่ 16 ม.ค. ที่สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์นำออกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (18) เอส อิสวาราน ซึ่งขอลาออกจากทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคม, ส.ส., และสมาชิกของพรรคพีเพิลส์ แอ็กชัน ปาร์ตี้ (พีเอพี) ที่เป็นพรรครัฐบาล ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และสำทับว่า จะทุ่มเทความสนใจกับการล้างมลทินนี้
สำนักงานสืบสวนการประพฤติทุจริตแห่งสิงคโปร์ (ซีพีไอบี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมาก ระบุว่า อิสวารานที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วและได้รับการประกันตัวออกมา ถูกกล่าวหารับสินบนมูลค่า 384,340.98 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 10.16 ล้านบาท) จากมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อ็อง เบ็ง เส็ง ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ทางธุรกิจของอ็อง ซึ่งก็ถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคมและได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกัน
ในตอนนั้น หลังจากได้รับการบรรยายสรุปจากซีพีไอบี นายกฯลี ได้แนะนำให้อิสราวานลาพักจนกว่าการสอบสวนจะสิ้นสุด โดยระหว่างนั้นก็ได้แต่งตั้งคนอื่นเข้ามาเป็นผู้รักษาการรัฐมนตรีคมนาคม
สำหรับคำฟ้องต่อศาลซึ่งเริ่มพิจารณาคดีนี้ในวันพฤหัสฯ (18) ซีพีไอบีแจกแจงว่า สินบนที่อิสวารานได้รับรวมถึงตั๋วชมการแข่งขันฟุตบอล คอนเสิร์ต ตั๋วชมแข่งรถฟอร์มูลา 1 กรังปรีซ์ในสิงคโปร์ และเที่ยวบินบนเครื่องบินส่วนตัวของอ็อง หนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของสิงคโปร์
ทั้งนี้ อองได้รับเครคิดว่าเป็นผู้ช่วยเหลือให้สิงคโปร์ได้กลายเป็นหนึ่งในสนามแข่งรถฟอร์มูลา 1 กรังปรีซ์ ตั้งแต่ปี 2008 โดยที่เอสวารานเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการของกรังปรีซ์ในสิงคโปร์ ที่อ็องถือลิขสิทธิ์จัดการแข่งขัน
อิสวารานถูกตั้งข้อหา 27 กระทง รวมถึงทุจริตและขัดขวางกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งในคดีทุจริตนั้นหากถูกตัดสินว่าผิดจริงอาจต้องรับโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
คดีนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์รัฐบาลที่ขาวสะอาดของสิงคโปร์ ซึ่งน้อยครั้งนักที่จะเกิดกรณีทุจริตและเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวข้องกับพวกผู้นำทางการเมือง
มาตรการประการหนึ่งที่สิงคโปร์วางเอาไว้เพื่อป้องกันปัญหาการคอร์รัปชัน ได้แก่การให้เงินเดือนสูงแก่พวกข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยรัฐมนตรีหลายคนได้เงินเดือนกันตกปีละกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 26.5 ล้านบาท)
ในปี 2022 องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับสิงคโปร์อยู่ที่ 5 ในบรรดาประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในดัชนีการรับรู้การทุจริต จากทั้งหมด 180 ประเทศ
อิสวาราน วัย 61 ปี เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ในฐานะรัฐมนตรีชั้นรองดูแลด้านการค้าและการสื่อสารในปี 2006 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ซึ่งถือเป็นชั้นอาวุโส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021
คดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีของสิงคโปร์ครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในปี 1986 เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชาติในขณะนั้นถูกสอบสวนจากข้อกล่าวหารับสินบน แต่รัฐมนตรีคนดังกล่าวเสียชีวิตก่อนที่จะถูกฟ้องร้อง
สิงคโปร์มีกำหนดจัดการเลือกตั้งในปีหน้า โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลียอมรับว่า พรรครัฐบาลคือ พีเอพี ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการสอบสวนคดีทุจริต รวมทั้งกรณีสมาชิกรัฐสภาอาวุโสของพรรคต้องลาออกจากกรณีการมีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม
พีเอพียังอยู่ในช่วงของการเตรียมถ่ายโอนตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยลีให้สัญญาว่า จะส่งไม้ต่อให้รองนายกรัฐมนตรีลอเรนซ์ หว่อง ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเมื่อวันพฤหัสฯ หว่องแสดงความเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นและยอมรับว่า คดีทุจริตส่งผลลบต่อพีเอพี แต่จะไม่มีผลต่อกำหนดการเปลี่ยนตัวผู้นำพรรค อีกทั้งย้ำว่า จุดยืนต่อต้านการคอร์รัปชันของพีเอพียังคงเดิมคือจะไม่มีการต่อรองหรือประนีประนอมเด็ดขาด
ในการประชุมพรรคเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ขณะกล่าวถึงกรณีของอิสวาราน ลีระบุว่า พีเอพีต้องแสดงให้คนสิงคโปร์และทั่วโลกเห็นว่า หลังจากบริหารประเทศมาครึ่งศตวรรษ มาตรฐานของพรรคยังคงสูงเหมือนที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ตาม เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากคดีของเอสวารานเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่มีการตรวจพบก่อนหน้านี้ รวมทั้งเกิดคำถามขึ้นมาว่าระดับความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลสิงคโปร์เวลานี้ เพียงพอแล้วหรือไม่ และการให้เงินเดือนสูงเพียงพอที่จะยับยั้งการทุจริตได้หรือเปล่า
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)