xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ยันยังไม่มีแผน ‘ถอนทหาร’ ออกจากอิรัก แม้นายกฯ แบกแดดขู่ ‘เตรียมไล่พ้นประเทศ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันวานนี้ (8 ม.ค.) ว่ายังไม่มีแผนถอนทหารราว 2,500 นายออกจากอิรัก แม้รัฐบาลแบกแดดจะออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเริ่มกระบวนการขับไล่กองกำลังพันธมิตรอเมริกันให้พ้นไปจากประเทศ

“ขณะนี้ผมยังไม่ได้ยินว่ามีแผนการใดๆ (ในการถอนทหาร) เรายังคงมุ่งเน้นภารกิจในการกวาดล้างกลุ่ม ISIS” พล.อ.จัตวา แพทริก ไรเดอร์ โฆษกเพนตากอน แถลงต่อสื่อมวลชนวานนี้ (8 ม.ค.) โดยอ้างถึงกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (Islamic State)

โฆษกผู้นี้ย้ำว่า กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปปฏิบัติภารกิจในอิรัก “ตามคำเชิญของรัฐบาลท้องถิ่น” และตนยังไม่ได้รับรายงานว่าแบกแดดแจ้งให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทราบเกี่ยวกับการตัดสินใจขอให้อเมริกาถอนทหาร พร้อมแนะนำให้สื่อมวลชนไปสอบถามเรื่องนี้จากกระทรวงการต่างประเทศแทน

สำนักงานของนายกรัฐมนตรี โมฮัมเหม็ด เชีย อัล-ซูดานี แห่งอิรักประกาศเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (5) ว่าจะเริ่มกระบวนการขับไล่ทหารอเมริกันออกไปให้พ้นจากประเทศนี้ เนื่องจากไม่พอใจที่สหรัฐฯ ส่งโดรนเข้าไปโจมตีกรุงแบกแดด ซึ่งเพนตากอนอ้างว่าสามารถปลิดชีพผู้นำกลุ่มติดอาวุธรายหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีทหารอเมริกัน

สำนักนายกฯ อิรักประกาศจะตั้งคณะกรรมการ “เพื่อเตรียมถอนกองกำลังนานาชาติออกไปจากอิรักอย่างถาวร”

“เราขอย้ำจุดยืนชัดเจนว่าต้องการให้กองกำลังนานาชาติออกไปให้หมด หลังจากไม่มีเหตุอันควรให้พวกเขาต้องอยู่อีกต่อไป” ซูดานี ระบุ

ปฏิบัติการโดรนของสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (4) มีขึ้นราว 4 ปีหลังจากที่อเมริกาเคยส่งโดรนติดอาวุธเข้าไปลอบสังหาร พล.อ.กาเซม สุไลมานี อดีตผู้บัญชาการหน่วยคุดส์ (Quds) ของอิหร่านซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกรุงแบกแดดในตอนนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นต่อฝ่ายสนับสนุนอิหร่าน และนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ผู้นำอิรักขับไล่กองกำลังพันธมิตรอเมริกันออกไปจากอิรักเสีย

สำหรับการโจมตีครั้งล่าสุดนี้ได้รับ “ไฟเขียว” จากประธานาธิบดี โจ ไบเดน และลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อนที่ ออสติน จะแอดมิดเข้าโรงพยาบาลในช่วงวันขึ้นปีใหม่ และยังคงพักรักษาตัวอยู่จนถึงตอนนี้

สหรัฐฯ ยังมีทหารอีก 900 นายอยู่ในซีเรีย นอกเหนือจากทหารที่ประจำการในอิรักเพื่อคอย “ให้คำปรึกษา” แก่กองกำลังท้องถิ่นในการสกัดกั้นอิทธิพลของกลุ่มไอเอส ซึ่งเคยบุกยึดดินแดนของทั้ง 2 ชาติเอาไว้อย่างกว้างขวางในปี 2014 ก่อนจะถูกปราบพ่ายแพ้ไป

หลังจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้นในเดือน ต.ค. กองกำลังสหรัฐฯ ก็ตกเป็นเป้าหมายโจมตีไม่ต่ำกว่า 100 ครั้งทั้งในอิรักและซีเรีย โดยส่วนใหญ่ถูกยิงด้วยจรวดหรือไม่ก็โดรนกามิกาเซ่ที่ส่งมาโจมตีแบบทางเดียว (one-way attack)

ซูดานี มีอำนาจต่อรองไม่มากนักเหนือกลุ่มนักการเมืองโปรอิหร่านซึ่งเคยช่วยหนุนหลังเขาจนก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 1 ปีก่อน และเวลานี้ก็เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูงภายในรัฐบาลผสมของเขา

เดือนที่แล้วสหรัฐฯ ได้เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในอิรักเพื่อแก้แค้นพวกกลุ่มติดอาวุธโปรอิหร่านที่ส่งโดรนมาโจมตี จนทำให้ทหารอเมริกันเจ็บสาหัส 1 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 2 นาย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น