xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับตา ‘5 ศึกเลือกตั้งใหญ่’ พลิกการเมืองโลกปี 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2024 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่สถานการณ์การเมืองโลกกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เพราะจะมีศึกเลือกตั้งสำคัญๆ เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลวอชิงตัน และเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางการเมืองโลกตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า

ต่อไปนี้คือ 5 สนามเลือกตั้งใหญ่ในปี 2024 ที่น่าจับตามอง

- ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

การเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมากที่สุดเห็นจะไม่หนีพ้นศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะเป็นการดวลกันอีกครั้งระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต กับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครเต็งหนึ่งของพรรครีพับลิกัน

หากว่า ไบเดน คว้าชัยชนะได้อีกครั้ง นั่นหมายความว่าเขาจะรั้งเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวต่อไปจนถึงอายุ 86 ปี

ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่มองว่า ไบเดน ซึ่งอายุย่างเข้า 81 และเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ น่าจะแก่เกินไปแล้วสำหรับการเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย ทว่า ทรัมป์ ในวัย 77 ปี ก็ไม่ได้ดูดีไปกว่ากันมากนัก และเคยหลุดปากใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมก็หลายครั้งหลายหน

หลายฝ่ายเชื่อว่าการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนี้คงจะมีการใช้กลยุทธ์เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนดิสเครดิตคู่แข่ง ไม่ต่างจากศึกเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งจบลงด้วยการที่กลุ่มผู้สนับสนุน ทรัมป์ บุกเข้าไปก่อจลาจลในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ปี 2021 เพื่อขัดขวางการรับรองชัยชนะของ โจ ไบเดน

ทรัมป์ ก้าวเข้าสู่สนามคัดเลือกผู้แทนพรรครีพับลิกันในฐานะตัวเต็งที่มีฐานเสียงสนับสนุนเหนียวแน่นที่สุด แม้จะมีคดีอาญาติดตัวอยู่หลายคดีก็ตาม ขณะที่ ไบเดน ก็กำลังโดนมรสุมการเมืองซัด เมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากโหวตไฟเขียวเมื่อเดือน ธ.ค. ให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอดเขาออกจากตำแหน่ง (impeachment) สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาที่ว่า ไบเดน อาจจะได้รับผลประโยชน์อันไม่สมควรจากการที่บุตรชาย “ฮันเตอร์” ติดต่อทำธุรกิจกับต่างชาติในช่วงที่ ไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ความยากในการคาดเดาตัวผู้ชนะ บวกกับความวิตกกังวลว่า ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้นำสายต่อต้านระบบ (anti-establishment) จะกุมบังเหียนสหรัฐฯ ไปในทิศทางใด มีส่วนช่วยอธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือทุกฝ่ายกำลังพยายามสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองมากที่สุด ก่อนที่สหรัฐฯ จะเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับนโยบายต่างประเทศอีกครั้ง

แม้ว่าผู้สมัครแต่ละคนน่าจะมีการหยิบยกเรื่อง “จีน” มาโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเพื่อสร้างคะแนนนิยม แต่สำหรับตัวประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เองแล้วเชื่อว่าคำถามที่ผู้นำจีนอยากรู้มากที่สุดตอนนี้ก็คือ ทรัมป์ จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอเมริกาอีกครั้งหรือไม่?

“ในมุมของจีน การกลับมาของ ทรัมป์ น่าจะเป็นฝันร้ายที่สุด” Yun Sun ผู้อำนวยการร่วมโครงการเอเชียตะวันออกจากสถาบันสติมสันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้ความเห็น

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่มึนตึงในยุคอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา นำไปสู่การเปิดสงครามการค้าในยุคของทรัมป์ ตลอดจนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับต้นตอโควิด-19 และความตึงเครียดเรื่องปัญหาไต้หวันที่กลับมารุนแรง

ในแง่หนึ่งการกลับมาของ ทรัมป์ อาจจะเป็นผลดีต่อจีนในด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากที่ ไบเดน ใช้ทักษะในการจับขั้วพันธมิตรกดดันปักกิ่ง คงนโยบายรีดภาษีสินค้าจีนจากยุคทรัมป์ และยังใช้มาตรการกีดกันการส่งออกเทคโนโลยีไปยังจีน หาก ทรัมป์ ยังคงมีแนวคิดแบบโดดเดี่ยวตัวเอง (isolationist) และดึงสหรัฐฯ ปลีกตัวออกจากชาติพันธมิตรเหมือนที่เคยทำมา ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณะผู้นำจีน

อย่างไรก็ตาม Sun มองว่าแม้จีนจะไม่แฮปปี้กับ ไบเดน สักแค่ไหน แต่การดีลกับผู้นำสหรัฐฯ ที่เดินตามกฎ และยังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์สองมหาอำนาจให้ก้าวต่อไปได้แบบครึ่งๆ กลางๆ ก็ยังดีกว่าเผชิญหน้ากับคนอย่าง ทรัมป์ ที่คาดเดาอะไรได้ยาก

ทางฝั่งยูเครนและยุโรปตะวันออกก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปควรจะติดอาวุธช่วยเหลือเคียฟให้มากกว่านี้ในปีที่ผ่านมา และเมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ก็อาจ “สายเกินไป” แล้วที่ยูเครนจะกลับมารุกคืบทวงดินแดนกลับคืนจากรัสเซียได้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2024

แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะยิ่งทำให้ฝ่ายรีพับลิกันคัดค้านการอัดฉีดงบสนุนยูเครนต่อไป และหาก ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่สหรัฐฯ จะตัดความช่วยเหลือเคียฟอย่างสิ้นเชิงเพื่อบีบให้ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยอมทำข้อตกลงสันติภาพยุติสงครามกับรัสเซีย


- ‘ปูติน’ เตรียมรั้งเก้าอี้ผู้นำรัสเซียต่ออีก 6 ปี

เป็นการเลือกตั้งที่น่าจะเดาผลลัพธ์ล่วงหน้าได้แบบไม่ต้องลุ้น สำหรับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17 มี.ค. โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งกำลังฮึกเหิมกับผลงานของกองทัพหมีขาวที่ประสบความสำเร็จในการตรึงแนวรบต้านทานการโจมตีตอบโต้ (counteroffensive) ของยูเครน มีแววว่าจะได้เก้าอี้ผู้นำต่อไปอีก 6 ปีอย่างแน่นอนในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ปูติน ซึ่งปกครองรัสเซียมาแล้ว 24 ปี ประกาศเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 5 เพื่อครองอำนาจยาวต่อไปจนถึงปี 2030

ก่อนหน้านั้นในปี 2020 ปูติน ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ตนเองสามารถเป็นผู้นำรัสเซียได้จนถึงปี 2036 “ในทางทฤษฎี” ซึ่งหากสำเร็จก็จะทำให้ระยะเวลาในการครองอำนาจของเขายาวนานเสียยิ่งกว่า โจเซฟ สตาลิน

ด้วยสถานการณ์สงครามยูเครนที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านหรือนักวิจารณ์ถูกปิดปากเงียบเสียง จึงมีโอกาสน้อยมากที่นักการเมืองฝ่ายค้านคนใดจะขวางทาง ปูติน จากชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

อเล็กเซย์ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านคู่ปรับคนสำคัญของปูติน ถูกศาลรัสเซียสั่งจำคุกนาน 19 ปี และล่าสุดมีรายงานว่าได้ถูกย้ายไปยังทัณฑนิคมแถบอาร์กติกเซอร์เคิลซึ่งปกคลุมไปด้วยหิมะหนาวเหน็บ ซึ่งเท่ากับว่า นาวาลนี จะต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากยิ่งกว่าเดิม


- ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน

ศึกเลือกตั้งที่น่าจับตามองเป็นแห่งแรกในช่วงต้นปีนี้คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองจาก “จีน” จะเป็นตัวชี้วัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันซึ่งให้การสนับสนุนไทเปอยู่จะทวีความตึงเครียดรุนแรงยิ่งขึ้นหรือไม่

รองประธานาธิบดี วิลเลียม ไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งลงสมัครชิงประธานาธิบดีคู่กับ เซียว บี คิม (Hsiao Bi-khim) ยังคงมีคะแนนนิยมนำเป็นอันดับ 1 ในโพลทุกสำนัก แม้จะถูกรัฐบาลจีนตราหน้าว่าเป็น “พวกตีสองหน้าที่คิดแบ่งแยกดินแดน” (independence double-act) ก็ตามที

การเลือกตั้งในไต้หวันซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยของตนเคยเป็นชนวนเหตุนำไปสู่ความตึงเครียดมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1996 เมื่อจีนได้เปิดซ้อมรบครั้งใหญ่และยิงทดสอบขีปนาวุธข่มขู่ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง จนกระตุ้นให้สหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาในพื้นที่

สำหรับครั้งนี้ จีนก็ได้ยกระดับปฏิบัติการทางทหารรอบเกาะไต้หวัน และใช้แรงกดดันทางการเมืองทุกวิถีทาง พร้อมเรียกร้องให้ชาวไต้หวันตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ถูกต้องว่าจะเอา “สันติภาพ” หรือ “สงคราม”

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า สี จิ้นผิง ซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าคงจะใช้มาตรการตอบโต้ทางทหารแบบ “พอประมาณ” หาก ไล่ ชนะเลือกตั้ง แต่กระนั้นรัฐบาลไต้หวันก็ยังคงเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของจีนอย่างเต็มที่ทั้งในทางการเมืองและทางทหาร


- ศึกเลือกตั้งอินเดีย

ชาวอินเดียผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 1,000 ล้านคนจะลงคะแนนโหวตในศึกเลือกตั้งทั่วไปช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี และพรรคชาตินิยมฮินดูภารติยะชนตะ (BJP) คาดว่าจะครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3

ความสำเร็จทางการเมืองของ โมดี นั้นมีพื้นฐานมาจากการดำเนินนโยบายที่เรียกคะแนนนิยมจากพลเมืองอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูกว่าพันล้านคน ทว่านโยบายเหล่านี้ก็มีส่วนกระพือความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนา โดยเฉพาะกับชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการลิดรอนสิทธิพลเมืองกลุ่มน้อย ทว่า โมดี และพรรค BJP ยังคงก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งด้วยฐานเสียงอันเหนียวแน่นจากชาวฮินดูที่ยกเครดิตให้เขาเป็นผู้นำที่ทำให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลก


- ศึกเลือกตั้งรัฐสภายุโรป

การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรประหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย. เป็นกระบวนการเลือกตั้งข้ามชาติใหญ่ที่สุดของโลกที่จะเปิดโอกาสให้พลเมืองผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 400 ล้านคนได้โหวตเลือกสมาชิกรัฐสภายุโรป และเป็นที่น่าจับตามองว่ากระแสนิยมพรรคขวาจัดจะมาแรงยิ่งกว่าเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เคียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) หัวหน้าพรรคเพื่อเสรีภาพ (PVV) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ที่มีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิม ผู้อพยพเข้าเมือง และการเข้าร่วมสหภาพยุโรป กำลังจะกลายเป็นนายกฯ ดัตช์คนใหม่แทนที่ มาร์ก รึตเตอ หลังชนะศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วชนิดที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง

การขยายอิทธิพลของขั้วการเมืองขวาจัดในยุโรปถูกมองว่าจะเป็นผลดีต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสโลวะเกียประกาศเลิกให้การสนับสนุนยูเครนตามหลังชัยชนะของ โรเบิร์ต ฟิโก (Robert Fico) ซึ่งเป็นผู้นำสายชาตินิยมและประชานิยมที่ฝักใฝ่รัสเซียเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น