(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China decries US law on training Taiwan’s military
By JEFF PAO
29/12/2023
ปักกิ่งวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ว่ากำลังเข้าเกี่ยวข้องพัวพันในปัญหาไต้หวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปากยังคงอ้างว่ายึดมั่นอยู่กับนโยบายจีนเดียว
จีนกำลังวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ อย่างรุนแรง จากการที่ฝ่ายหลังผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฉบับหนึ่งซึ่งมีข้อกำหนดให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ต้องเพิ่มพูนการฝึกอบรมทางทหาร และการจัดหาความสนับสนุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ให้แก่ไต้หวัน
ถือเป็นครั้งแรกซึ่งสหรัฐฯ เสนอแนะอย่างเปิดเผยที่จะมีความร่วมมือลักษณะเช่นนี้กับไต้หวัน นับตั้งแต่ที่อเมริกาประกาศใช้รัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ในปี 1979 (1)
ณ เดือนตุลาคม 2021 มีทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษจำนวน 20 กว่าคนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถูกส่งไปประจำการเพื่อฝึกอบรมกองทัพไต้หวัน ทั้งนี้ตามรายงานข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลในเดือนนั้น
เวลาต่อมา หนังสือพิมพ์เดียวกันนี้ยังรายงาน [1] เอาไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2023 ว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งทหาร 100 ถึง 200 คนไปไต้หวันเพื่อช่วยการฝึกอบรมกองทัพของเกาะแห่งนี้ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามรายงานข่าวของไต้หวันนิวส์ (Taiwan News) [2] ทหารสหรัฐฯ จำนวน 200 คนได้เดินทางไปไต้หวันภายในเดือนเมษายนของปีดังกล่าว
“สหรัฐฯ กำลังฝึกอบรมกองทัพไต้หวันอย่างลับๆ มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในครั้งนี้สหรัฐฯ ยังต้องการที่จะประกอบอาวุธอย่างครอบคลุมรอบด้านให้แก่กองทัพไต้หวันอีกด้วย” นี่เป็นคำกล่าว [3] ของเจิ้ง เจี้ยน (Zheng Jian) ศาสตราจารย์ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยไต้หวัน (Taiwan Research Institute) แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน (Xiamen University) และผู้อำนวยการของสมาคมไต้หวันศึกษาแห่งชาติ (National Taiwan Studies Association) ของจีน ในการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุซีเอ็มจี ข้ามช่องแคบ (CMG Cross-Strait Radio) ของสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (China Central TV)
“คำว่า ‘ครอบคลุมรอบด้าน’ นี้หมายความว่าสหรัฐฯ ต้องการที่จะแปลงโฉมกองทัพไต้หวันให้กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะใช้กำราบจีนหรือทำให้จีนหมดแรงหมดกำลัง หรือใช้มาสู้รบในสงครามตัวแทน” เจิ้ง กล่าว “เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันชั่วร้ายของวอชิงตัน”
เขากล่าวต่อไปว่าสหรัฐฯ ยังต้องการได้ครอบครองข้อมูลไอทีของไต้หวัน ด้วยวิธีทำเป็นจัดหาสิ่งที่เรียกขานกันว่าความสนับสนุนทางความมั่นคงด้านไซเบอร์ให้แก่เกาะแห่งนี้ เขาบอกว่าจากนั้นสหรัฐฯ จะสามารถเข้าควบคุมเรื่องความคิดอุดมการณ์ของประชาชนชาวไต้หวันและกำราบปราบปรามเกาะแห่งนี้ให้อยู่หมัด
หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงนาม [4] ในรัฐบัญญัติให้อำนาจด้านกลาโหมแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ประจำปีงบประมาณ 2024 เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ธันวาคมแล้ว รัฐบาลจีนอยู่ในอาการนิ่งเงียบเป็นเวลา 2-3 วัน
ทว่านับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคมเป็นต้นมา ทั้งกระทรวงการต่างประเทศของจีน กระทรวงกลาโหมของจีน สำนักงานกิจการไต้หวันของแดนมังกร ตลอดจนคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน ต่างได้แยกย้ายทยอยกันออกคำแถลงของตนเองซึ่งล้วนมีเนื้อหาคัดค้านรัฐบัญญัติ NDAA ฉบับล่าสุด
ทั้งนี้ รัฐบัญญัตินี้กำหนดให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องจัดทำ “การฝึกอบรมอย่างครอบคลุมรอบด้าน และการให้คำปรึกษาแนะนำ (แก่ไต้หวัน) รวมทั้งการทำให้โปรแกรมสร้างศักยภาพความสามารถ (ให้แก่ไต้หวัน) ได้รับการยกระดับกลายเป็นสถาบันขึ้นมา” ตลอดจนต้องแสวงหาทางมีปฏิสัมพันธ์กับไต้หวันในการขยายกิจกรรมต่างๆ ในเรื่องความมั่นคงด้านไซเบอร์ทางการทหาร
รัฐบัญญัติฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่เพนตากอนในการทำสัญญาจัดซื้อที่มีระยะเวลาหลายๆ ปี กับไต้หวัน เพื่อแทนที่พวกสัญญาแบบเดิมบางฉบับซึ่งต้องมีการระบุการจัดส่งเครื่องกระสุนแก่ไต้หวันอย่างเจาะจงทุกๆ ครั้ง ตลอดจนให้อำนาจเพนตากอนในการทำข้อตกลงกับไต้หวันและพวกพันธมิตรต่างประเทศรายอื่นๆ ในเรื่องการจัดซื้อจัดหาวัสดุตลอดจนบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการสนับสนุนไต้หวัน
การมอบอำนาจเช่นนี้อยู่ในลักษณะเดียวกันกับกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งใช้กับยูเครนในปัจจุบัน โดยที่สัญญาและข้อตกลงทั้งหลายเหล่านี้กำหนดให้ขยายอายุบังคับใช้ไปจนถึงปีงบประมาณ 2028 ทีเดียว
ระหว่างการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนประจำสัปดาห์เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.) อู๋ เฉียน โฆษกของกระทรวงกลาโหมจีน แถลง [5] ประณามวอชิงตันเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “สหรัฐฯ กำลังควบคุมบงการฉวยใช้ประโยชน์จากคำถามเรื่องไต้หวันในหลายหลากรูปแบบ ซึ่งถือว่าเกมการพนันที่มีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง”
“เรารบเร้าสหรัฐฯ ให้มีความตระหนักอย่างเต็มที่ถึงอันตรายอันสาหัสร้ายแรงของเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนในรัฐบัญญัติ NDAA รวมทั้งต้องยุติการติดอาวุธให้แก่ไต้หวันไม่ว่าด้วยการอ้างข้อแก้ตัวใดๆ ก็ตาม หรือใช้เครื่องมือวิธีการใดๆ ก็ตาม ยุติการกระทำยั่วยุต่างๆ ด้วยการใช้ไต้หวันมาปิดล้อมจำกัดจีน และหันมาใช้ปฏิบัติการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเอาไว้” เขากล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนผู้นี้ยังวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ในเรื่องที่กำลังเร่งรัดดำเนินการพัฒนาด้านการทหารของพวกเขา เพิ่มทวีการประจำการทางทหารในเอเชีย-แปซิฟิก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การจับกลุ่มเป็นพันธมิตรทางทหารที่อยู่ในลักษณะทวิภาคี ตลอดจนการปะติดปะต่อหาทางรวมกลุ่มออคัส (AUKUS) กับกลุ่มคอร์ด (QUAD) เข้าด้วยกัน เขาระบุว่าสหรัฐฯ กำลังพยายามประโคมป่าวร้องสิ่งที่เรียกว่า “ภัยคุกคามทางทหารของจีน” ขึ้นมาอย่างชนิดไม่มีมูลความจริงรองรับเลย
สำหรับ เหมา หนิง โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน เธอออกมากล่าว [6] ในการแถลงข่าวของกระทรวงเมื่อวันอังคาร (26 ธ.ค.) ว่า “รัฐบัญญัติฉบับนี้ทั้งวาดภาพจีนให้เห็นไปว่าเป็นภัยคุกคาม นอกจากนั้น ยังกำราบกดขี่พวกบริษัทของจีน และจำกัดการแลกเปลี่ยนตามปกติระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนกับประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่ใครเลย”
“เนื้อหาเกี่ยวกับจีนในทางลบซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐบัญญัตินี้ ไม่สมควรที่จะนำเอามาบังคับใช้” เธอกล่าว “ถ้าหากสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้าบังคับใช้เนื้อหาส่วนนี้ต่อไปแล้ว จีนก็จะใช้มาตรการที่เด็ดขาดและเข็มแข็งเพื่อพิทักษ์รักษาอย่างหนักแน่นมั่นคงซึ่งอธิปไตย ความมั่นคง และสิทธิเพื่อการพัฒนาตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ของตน”
ทั้งนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับจีนในทางลบในรัฐบัญญัตินี้ ซึ่งทางการจีนออกมากล่าวถึง หมายถึงพวกแผนการต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่จะเข้าแทรกแซงในกิจการต่างๆ ของไต้หวัน ตลอดจนการตั้งข้อจำกัดเรื่องการส่งออกเทคโนโลยีไปให้จีนนั่นเอง นี่เป็นความเห็นของพวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นทางสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนบางราย
เมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านรัฐบัญญัติ NDAA ฉบับปีงบประมาณ 2023 [7] ซึ่งมีการให้อำนาจแก่เพนตากอนที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงแก่ไต้หวันภายในกรอบวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งให้ถือว่าการจัดหาอาวุธต่างๆ ให้แก่ไต้หวันต้องอยู่ในเส้นทางฟาสต์แทร็กในตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
ในรัฐบัญญัติ NDAA ปี 2023 ยังระบุอีกว่า สหรัฐฯ ควรเชื้อเชิญไต้หวันให้เข้าร่วมการซ้อมรบอาณาบริเวณริมแปซิฟิก (Rim of the Pacific exercise) ตลอดจนให้สหรัฐฯ เข้าดำเนินการซ้อมรบร่วมกับเกาะแห่งนี้ ปรากฏว่าในตอนนั้นปักกิ่งได้ออกมาแถลงตำหนิอย่างแรงรวมทั้งคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อรัฐบัญญัติดังกล่าว
สำหรับในครั้งนี้ รัฐบัญญัติ NDAA ประจำปี 2024 ยังระบุเพิ่มเติมขึ้นมาอีกว่า สหรัฐฯ ควรช่วยเหลือการฝึกอบรมกองทัพไต้หวัน
การพูดจาอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และไบเดน ได้พบปะเจรจากันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงที่คฤหาสน์ฟิโลลี (Filoli estate) ซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่นอกเมืองซานฟรานซิสโก โดยถือเป็นการพบปะข้างเคียงการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก)
ตามรายงานข่าวของสื่อต่างๆ [8] ซึ่งอ้างอิงการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มิได้เปิดเผยนาม บอกว่าผู้นำทั้งสองได้มีการพูดจากันแบบตรงไปตรงมาในประเด็นปัญหาไต้หวันระหว่างการพบกันครั้งนี้
สี บอกว่าสหรัฐฯ ไม่ควรสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราช รวมทั้งควร “ยุติการติดอาวุธให้ไต้หวัน และสนับสนุนจีนในการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งอย่างสันติ” เขากล่าวว่า จีนนั้นมีความปรารถนาที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาไต้หวันโดยผ่านกระบวนการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งอย่างสันติ แต่เขาก็เอ่ยถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจจะต้องใช้กำลังอาวุธ เขาบอกว่าปักกิ่งจะนำเอาไต้หวันมาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน ถึงแม้จะมิได้มีการตัดสินใจในเรื่องกำหนดเวลา
สำหรับไบเดนนั้นเน้นย้ำว่า นโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง และมีความสม่ำเสมอในเรื่องนี้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาและในคณะบริหารชุดต่างๆ ที่ผ่านมา แต่เขาย้ำด้วยว่าสหรัฐฯ คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมแต่ฝ่ายเดียวทุกๆ อย่างไม่ว่าจะออกมาจากฝ่ายไหน กระนั้น สหรัฐฯ ก็จะยังคงจัดหาความสนับสนุนทางทหารให้แก่ไต้หวันต่อไปเช่นกัน
ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันให้เพิ่มการติดต่อสื่อสารกัน แต่แล้วรัฐบัญญัติ NDAA ปี 2024 ก็กลายเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ขึ้นมาอีก
สี่ว์ ตง (Xu Dong) โฆษกของคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน ได้ออกมาแถลงข่าวในวันพุธ (27 ธ.ค.) [9] ว่า สหรัฐฯ ไม่ควรจะมาเสี่ยงกับพวกประเด็นปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและเรื่องผลประโยชน์แกนกลางของจีน เขาบอกว่าสหรัฐฯ ควรทำงานร่วมกับจีนเพื่อขยายผลลัพธ์อันสำคัญและความเข้าใจร่วมกันของการประชุมซัมมิตซานฟรานซิสโก
ขณะที่ เฉิน ปินหัว (Chen Binhua) โฆษกของสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนวิพากษ์วิจารณ์พรรค DPP [10] ว่าพร้อมจะยอมสละผลประโยชน์ต่างๆ ของประชาชนไต้หวัน ด้วยการเข้าร่วมมือกับแผนการของวอชิงตัน ในการเปลี่ยนไต้หวันให้กลายเป็นพื้นที่สงคราม เฉินกล่าวอีกว่า พรรค DPP จะไม่สามารถหยุดยั้งปักกิ่งไม่ให้เข้าแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาไต้หวัน ไม่ว่าพวกเขาได้รับอาวุธจากสหรัฐฯ มามากมายขนาดไหนก็ตามที
เชิงอรรถ
[1]https://www.wsj.com/articles/u-s-troops-have-been-deployed-in-taiwan-for-at-least-a-year-11633614043?mod=hp_lead_pos6
[2]https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4866003
[3]https://export.shobserver.com/baijiahao/html/692921.html
[4]https://www.congress.gov/bill/118th-congress/senate-bill/2226/text
[5]http://www.mod.gov.cn/gfbw/xwfyr/lhzb/lxjzhzb/2023njzh_244363/2023n12y_244364/16276613.html
[6]https://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/202312/t20231227_11213699.html
[7] https://www.congress.gov/bill/117th-congress/house-bill/7900/text
[8]https://www.nbcnews.com/news/china/xi-warned-biden-summit-beijing-will-reunify-taiwan-china-rcna130087
[9]http://www.npc.gov.cn/npc/c2/kgfb/202312/t20231227_433839.html
[10]http://tw.people.com.cn/BIG5/n1/2023/1227/c14657-40147731.html
หมายเหตุผู้แปล
(1) รัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ปี 1979 มีชื่อขนาดยาวว่า รัฐบัญญัติเพื่อช่วยธำรงรักษาสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในแปซิฟิกตะวันตก และเพื่อส่งเสริมนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ด้วยการมอบอำนาจให้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการพาณิชย์ วัฒนธรรม และอื่นๆ ระหว่างประชาชนของสหรัฐฯ กับประชาชาติของไต้หวันอย่างต่อเนื่องต่อไป ตลอดจนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งนี้ตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ รัฐบัญญัติฉบับนี้ได้ทำหน้าที่ให้คำจำกัดความของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน ซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วเป็นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการทว่าไม่ถือเป็นความสัมพันธ์ทางการทูต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Taiwan_Relations_Act