xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกของปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย-หนุ่มสาวไม่อยากแต่งงาน’ ในไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนโทเนีย ฟินแนน ***


ผู้หญิงไต้หวันกำลังลังเลใจกันมากขึ้นที่จะแต่งงานและมีลูก พวกเธอมักหยิบยกเหตุผลว่าเพราะการสร้างครอบครัวโดยเฉพาะการซื้อหาที่อยู่อาศัยเป็นภาระที่หนักหนาเกินไป  แต่พวกนักวิชาการมองว่าน่าจะมีเหตุผลเบื้องลึกลงไปกว่านั้น (ภาพจากแฟ้ม)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Think China has a demographic problem? Check out Taiwan
By ANTONIA FINNANE
23/12/2023

อัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติของดินแดนไต้หวัน ทว่าเสียงเรียกร้องของพวกนักการเมืองให้ประชากรเร่งแต่งงานและมีลูก ไม่มีท่าทีว่าจะสามารถพลิกกลับกระแสคลื่นนี้ได้

เมื่อตอนที่คริสต์มาสกำลังย่างกรายมาถึงไทเป และนครแห่งนี้มีประดับตกแต่งต้อนรับเทศกาลนี้อย่างน้อยก็บางส่วน ในเขตมู่ซ่า (Muzha) ซึ่งอยู่รอบนอกของนครแห่งนี้ โบสถ์คาทอลิกที่นั่นได้จัดแสดงฉากเหตุการณ์การประสูติของพระเยซู ทว่าจวบจนกระทั่งอีกไม่กี่วันจะถึงวันคริสต์มาสแล้ว ก็ยังไม่ได้มีการนำเอาพระกุมารมาวางเอาไว้ในรางหญ้า และฉากเหตุการณ์โดยรวมก็แลดูค่อนข้างหงอยเหงาน่าสงสาร กระนั้นนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องเหมาะสมอยู่เหมือนกันสำหรับไต้หวัน สถานที่ซึ่งจะพบเห็นทารกน้อยๆ นอนอยู่ในเปลเห่กล่อมได้อย่างยากเย็นเสียเหลือเกิน

บนถนนสายเดียวกันถัดจากโบสถ์คาทอลิกแห่งนี้ มีร้านให้บริการดูแลตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยงอยู่ 2 ร้าน นับเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงส่วนประกอบที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของครัวเรือนชาวไต้หวันทั้งหลาย ตัวเลขสถิติยืนยันว่าเวลานี้มีแมวและสุนัขได้รับการจดทะเบียนรับรองเป็นสัตว์เลี้ยงในไต้หวัน [1] มากมายกว่าจำนวนของเด็กๆ อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ [2] ขณะที่ดินแดนแห่งนี้เดินหน้ามุ่งสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 8 ของตน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2024 ไต้หวันก็กำลังทำสถิติมีอัตราเกิดต่อปีต่ำที่สุดครั้งใหม่ [3]

อัตราเจริญพันธุ์ (fertility rate) ของไต้หวัน เป็นหนึ่งในสิ่งต่างๆ จำนวนมากที่อยู่ในความคิดของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้ง 3 คนในคราวนี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็งเต็งหนึ่งอย่าง รองประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ผู้สมัครของพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) คู่แข่งที่ทำคะแนนนิยมเข้ามาใกล้อย่าง โหว โหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) ผู้ลงสมัครในนามพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพรรคทรงอำนาจเหนือกว่าใครๆ และ เคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) ผู้สมัครของพรรค ไต้หวัน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (Taiwan People’s Party หรือ TPP) พรรครายล่าสุดของพวกพรรคการเมืองเล็กๆ ต่อเนื่องกันเป็นชุดซึ่งก่อให้เกิดความอึกทึกเกรียวกราวในภูมิทัศน์แห่งการเลือกตั้งอย่างมีชีวิตชีวาของเกาะแห่งนี้

เคอ เป็นนักประชานิยมผู้เสนอตัวเองเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสอง ให้แก่พวกผู้ออกเสียงโดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวซึ่งไม่มีความภักดี แถมเหินห่างจากทั้ง DPP และ KMT เขาคือผู้ที่ทำให้เรื่องอัตราเจริญพันธุ์กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา เมื่อเขาจัดการประชุมแถลงข่าวในวันที่ 7 พฤศจิกายนโดยมุ่งที่จะอภิปรายพูดจากันถึงการรับมือตอบโต้กับอัตราการเกิดซึ่งกำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ [4]

นอกเหนือจากประกาศแผนการ 10 ข้อของตัวเขาเอง โดยข้อที่เตะตามาก ได้แก่ การเสนอให้โบนัสอย่างแปลกใหม่สำหรับผู้ตั้งครรภ์แล้ว เขายังใช้โอกาสนี้เพื่อกระแหนะกระแหนถึงแผนการให้โบนัสสำหรับผู้ที่มีบุตรคนที่ 3 ของ โหว ตลอดจนเพื่อโจมตีเล่นงานนโยบายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ไล่ ได้เคยประกาศเอาไว้ [5]

ปรากฏว่าทีมงานของ ไล่ ได้ตอบโต้ [6] ด้วยการดึงความสนใจให้หันไปที่ประวัติการใช้ถ้อยคำชนิดดูถูกผู้หญิงของ เคอ โดยย้ำว่าเขาได้แสดงพฤติกรรมเช่นนี้มาอย่างยาวนานแล้ว เป็นต้นว่า เคอเคยพูดว่า “พวกผู้หญิงที่ไม่แต่งงานก็เหมือนกับที่ว่างจอดรถพิกลพิการ ซึ่งไม่สามารถนำเอาไปใช้ได้” และ “[พวกผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน] กำลังก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพและวิกฤตการณ์ความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ”

ไล่ ชิงเต๋อ (ซ้าย) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค DPP ที่เป็นพรรครัฐบาลไต้หวันในปัจจุบัน จับมือกับ เคอ เหวินเจ๋อ ผู้สมัครของพรรค TPP  โดยที่มี โหว โหย่วอี๋ (กลาง) ของพรรค KMT มองดู  ขณะทั้ง 3 เข้าร่วมการดีเบตที่นครไทเป เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  ทั้งนี้เรื่องอัตราการเกิดที่ลดลงไปเรื่อยๆ ของเกาะแห่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญที่พวกนักการเมืองต้องเสนอนโยบายแก้ไขคลี่คลาย
ถ้าหากมองกันอย่างเป็นธรรม คงต้องบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว ผู้สมัครเหล่านี้ทุกคนต่างถือปัญหาอัตราการเกิดที่กำลังตกต่ำลงนี้เป็นปัญหาร้ายแรงกันทั้งนั้น ในไต้หวัน จำนวนคนตายมีมากกว่าจำนวนคนเกิด เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องกันแล้วเมื่อนับถึงขณะนี้ มีเพียงพวกผู้อพยพจากต่างแดนเท่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดการตกต่ำของประชากรอย่างแท้จริงขึ้น

นโยบายต่างๆ ที่ผู้สมัครเหล่านี้เสนอออกมา มีความแตกต่างกันในรายละเอียดมากกว่าความผิดแผกกันในทางเนื้อหาสาระ เป็นต้นว่า ความแตกต่างกันของจำนวนเงินจูงใจที่เสนอจะมอบให้ ตลอดจนเงื่อนไขสถานการณ์ของการจ่ายเงินดังกล่าว แต่ลงท้ายแล้ว นโยบายของพวกเขาทุกๆ คนยังมีเป็นการมุ่งโยนเงินเข้าไปในปัญหานั่นเอง

นโยบายระยะยาว

วิกฤตอัตราเจริญพันธุ์เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกันมายาวนานแล้วในไต้หวัน ปัญหาในเรื่องนี้คือการสาธิตให้เห็นจริงอย่างสมบูรณ์แบบของคำกล่าวที่ว่า “คุณต้องระวังให้มากๆ ถึงสิ่งที่คุณมุ่งมดปรารถนาให้มันเกิดขึ้น” ทั้งนี้ ตอนต้นๆ ทีเดียว พรรค KMT ที่เวลานั้นมีฐานะครอบงำเหนือใครๆ ได้จัดทำกำหนดเป้าหมายต่างๆ ในการวางแผนประชากรขึ้นมา และปรากฏว่าสามารถจำกัดควบคุมอัตราการเกิดได้ตามนั้น กระทั่งล้ำเกินกว่าเป้าหมายเสียด้วยซ้ำในช่วงทศวรรษ 1980 โดยเมื่อถึงปี 1983 อัตราเจริญพันธุ์ได้ลดต่ำลงกว่าระดับการทดแทน แล้วจากนั้นก็ไม่เคยกลับฟื้นขึ้นมาได้เลย

ปัญหานี้ถูกระบุเป็นประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติประเด็นหนึ่ง ในรายงานความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติของไต้หวันฉบับที่ 1 (Taiwan’s first national security report) ซึ่งมีการเผยแพร่ในปี 2006 ต่อจากนั้นมาประเด็นนี้ก็ได้รับความสนใจพูดถึงกันอย่างสม่ำเสมอในรูปของข่าวสาร ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับระหว่างประเทศ

มันมีความเกี่ยวข้องโยงใย [7] กับพวกสัญญาณเครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงลบเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า การที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนต้องค่อยๆ แบกรับหนี้สินแห่งชาติเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลงทุกที แรงงานที่จะนำมาใช้ได้มีจำนวนลดลงไม่ขาดสาย ปัญหาของการดูแลผู้สูงอายุในสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) [8]
(หมายเหตุผู้แปล – สหประชาชาติให้คำนิยามว่า เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 หรือ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society เมื่อประชากรสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ ส่วนสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super-aged Society จะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://resource.tcdc.or.th/ebook/AgingSociety_Report_official.pdf p3, https://www.fpo.go.th/eresearch/getattachment/bd807923-e845-4875-a9b1-ef946538784c/9178.aspx)

คนแก่มีจำนวนมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวแล้วในไต้หวัน ภาพจากแฟ้มภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017 เพื่อประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกมาเดินเพื่อสุขภาพ โดยจัดการแข่งขันเดินระยะทาง 5 กิโลเมตร
จากเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้ พวกนักการเมืองต่างถือปัญหานี้เป็นเรื่องจริงจังร้ายแรง กระนั้นก็ตาม เรื่องอัตราเจริญพันธุ์นี้ก็ถือกันในแวดวงการเมืองของไต้หวันว่าเป็นปัญหาที่ค่อยๆ ลุกลามไปอย่างช้าๆ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (cross-strait relations) ก็เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าเหมือนเรื่องหลังนี้ ซึ่งได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการแข่งขันชิงชัยทางการเมืองกันในเวลานี้

อย่างไรก็ดี มันมีจุดบรรจบกันระหว่าง 2 ประเด็นปัญหานี้ ในไต้หวันทุกวันนี้มีจำนวนคนวัยหนุ่มที่สามารถคัดสรรเข้ารับราชการทหารได้เป็นจำนวนน้อยลงกว่าเมื่อสัก 1 ทศวรรษก่อนมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพอากาศซึ่งประสบปัญหามีบุคลากรที่ผ่านการฝึกแล้วในระดับต่ำ [9] และพวกนักบินเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอยู่ในภาวะเหนื่อยล้าอิดโรยจากความจำเป็นที่จะต้องคอยขึ้นบินเพื่อตอบโต้กับเครื่องบินเจ็ตของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งบินข้ามเข้าสู่น่านฟ้าของไต้หวัน

ปัญหานี้ได้รับการชดเชยให้เกิดความสมดุลขึ้นมาบ้างจากการที่ในจีนเองก็ประสบปัญหาทำนองเดียวกันนี้ โดยที่อัตราเจริญพันธุ์ของที่นั่น (อยู่ที่ 1.45 ในปี 2022 [10]) ถือว่าอยู่ในระดับที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ไม่ว่าฟากฝั่งไหนของช่องแคบไต้หวัน ต่างไม่มีใครที่มีไอเดียดีๆ เกี่ยวกับวิธีการในการพลิกกลับการลดต่ำเช่นนี้ พวกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในไต้หวันทุกๆ คนต่างให้สัญญากับพวกที่มีศักยภาพจะเป็นพ่อแม่ในอนาคตว่าจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้มากขึ้นอีก ทว่าเวลาเดียวกันนั้นก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพวกเขาต่างตระหนักกันอย่างเต็มเปี่ยมว่ามาตรการเช่นนี้มีผลเพียงจำกัด [11] เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเลือกในการเจริญพันธุ์

ในประเทศจีนนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้คำแนะนำแก่พวกผู้หญิง [12] ว่า พวกเธอควร “แสดงบทบาทของพวกเธอในการนำคุณงามความดีตามประเพณีของประชาชาติจีนให้ก้าวหน้าต่อไปอีก” การใช้วิธีการเช่นนี้ดูเหมือนว่าน่าจะบังเกิดผลที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าการใช้เงินเป็นแรงจูงใจเสียอีก

มีลูกเหรอ ขอบคุณ แต่ไม่เอาค่ะ

ผู้หญิงสาวๆ ในไต้หวันมีความโน้มเอียงที่จะอธิบาย 13] เรื่องที่พวกเธอชมชอบสัตว์เลี้ยงมากกว่าการมีลูก ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับแรงบีบคั้นทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายทางด้านที่อยู่อาศัย ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันไต้หวันว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาที่สาหัสหนักหน่วงอย่างหนึ่ง และผู้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีทุกๆ คนต่างให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือคู่สมรสที่มีลูกในเรื่องที่อยู่อาศัย

ทว่าในสังคมที่ถือว่าการมีลูกเป็นสิ่งที่โดยหลักเกณฑ์แล้วต้องเชื่อมโยงอยู่กับการแต่งงาน ดังนั้น โดยทั่วไปการมีสถานะเป็นผู้ที่แต่งงานแล้วจึงกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งจะต้องมีเสียก่อน แล้วจึงจะสามารถได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ของการมีลูก แม้กระทั่งพวกผลประโยชน์ที่มีให้กันอยู่แล้วในปัจจุบัน อัตราเจริญพันธุ์สำหรับคู่ครองที่แต่งงานกันแล้วในไต้หวันนั้นอยู่ในระดับที่สูงอย่างสมเหตุสมผล โดยการมีลูก 2 คนถือเป็นมาตรฐานทั่วไป คำถามหลักจึงดูเหมือนไม่ใช่ว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่มีลูก คำถามที่ถูกต้องต้องถามใหม่ว่า ทำไมผู้หญิงจึงไม่ต้องการจะแต่งงาน?

ในไต้หวัน ก็เฉกเช่นเดียวกันอาณาบริเวณจำนวนมากของภูมิภาคเอเชียตะวันออก การหลีกหนีไม่ยอมแต่งงานคือปรากฏการณ์ที่มองเห็นกันได้อย่างเตะตายิ่ง ในปี 2021 หนุ่มสาวชาวไต้หวันอายุระหว่าง 25 ถึง 34 ปีมีเพียง 50% เท่านั้นที่แต่งงานแล้ว [14]

แล้วในกลุ่มของผู้ที่ยังไม่แต่งงาน ปรากฏว่า 70% ของผู้ชายในกลุ่มนี้บอกว่าต้องการที่จะแต่งงานสักวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า ทว่าผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานส่วนข้างมากกลับไม่ได้มีเจตนารมณ์ทำนองนี้เลย เช่นเดียวกัน ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานจำนวนมากมายกว่านักหนา (61.22%) ต้องการที่จะมีลูกในท้ายที่สุด เทียบกับผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน ซึ่งมีเพียง 42.98%

(ภาพจากแฟ้ม) เด็กทารกไต้หวันคลานอย่างไร้เดียงสา ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองคอยเชียร์อยู่ใกล้ๆ ในงานแข่งขันซึ่งจัดขึ้นที่นครไทเปวันที่ 16 ตุลาคม 2005  ในตอนนั้น ไต้หวันก็ย่างเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และปัญหาก็หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากเรื่องที่อยู่อาศัยและเรื่องการเลี้ยงดูลูก ต้องถือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ชายพอๆ กับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้หญิง ดังนั้นจึงมีความเป็นได้ว่าต้องมีอะไรอย่างอื่นอีกที่ทำให้อัตราการเกิดลดต่ำลง ไม่ใช่แค่เรื่องแรงบีบคั้นทางการเงินเท่านั้น

จากการวิเคราะห์อัตราการเกิดที่ต่ำและยังกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยยังเป็นสิ่งซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปตลอดทั่วทั้งเอเชียตะวันออกอีกด้วย เหยินซิน อลิซ เฉิง (Yen-hsin Alice Cheng) [15] เสนอคำอธิบายว่า ปัญหานี้มีรากเหง้าอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมแบบขงจื๊อของภูมิภาคนี้ ครอบครัวและสังคมมีลักษณะที่ฝ่ายบิดามีอำนาจเป็นใหญ่ (patriarchal) อย่างเข้มงวดเคร่งครัด การจัดองค์การสถานที่ทำงาน และโครงสร้างสังคมวงกว้างออกไปก็ไม่เอื้อเฟื้อแก่ผู้หญิง

ประวัติความเป็นมาของอัตราส่วนระหว่างเพศหญิงกับเพศชายในตอนเกิด มีลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมชมชื่นปรารถนาบุตรชาย ในระดับต่างๆ กัน โดยมีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น แผนการริเริ่มทั้งหลายของรัฐบาลบ่อยครั้งดำเนินไปอย่างไม่ได้ผล ปรากฏการณ์เช่นนี้มองเห็นได้โดดเด่นที่สุดในเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้หญิงเพียงส่วนน้อยนิดและผู้ชายในเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จากแผนการให้ผู้เป็นคุณพ่อสามารถลาหยุดในช่วงเวลาที่ภรรยาคลอดบุตรได้อย่างชนิดใจกว้างเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นมาตรการซึ่งมุ่งหมายที่จะหยุดยั้งอัตราการเกิดซึ่งตกต่ำลงทุกที

ในบรรดาชาวเอเชียตะวันออกด้วยกัน ไต้หวันถือเป็นสังคมที่ก้าวหน้ามากกว่าจีน และเป็นระบบบิดามีอำนาจเป็นใหญ่ ซึ่งเข้มงวดกวดขันน้อยกว่าเกาหลีใต้ ไต้หวันมีจำนวนของผู้หญิงที่เข้ามีส่วนในวงการเมืองสูง ผู้หญิงที่มีสิทธิออกเสียงซึ่งออกมาใช้สิทธิของพวกเธอก็มีขนาดใหญ่ และกระทั่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็เป็นผู้หญิง นั่นคือ ไช่ อิงเหวิน ผู้น่าเกรงขาม

ผู้หญิงที่อยู่ในคณะผู้นำของการปกครองระดับท้องถิ่น [16] –โดยเฉพาะในตำแหน่งนายกเทศมนตรีซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าตำแหน่งอื่นๆ— มีจำนวนมากกว่าผู้ชายเสียอีก อัตราส่วนระหว่างเพศหญิงกับเพศชายในตอนเกิดซึ่งเคยถูกบิดเบือนไปในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ๆ เวลานี้ดูเหมือนได้กลับลงตัวเข้ามาอยู่ “ภายในขอบเขตปกติ” แล้ว

เมื่อคำนึงถึงเรื่องที่ผู้หญิงในไต้หวันมีความได้เปรียบต่างๆ โดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับเกาหลีใต้แล้ว จึงเป็นสิ่งคุ้มค่าที่จะพินิจพิจารณาถึงตัวแปรต่างๆ ที่เป็นไปได้ ซึ่งทำให้ไต้หวันมีอัตราการเกิดต่ำถึงขนาดนี้

ในการศึกษาเปรียบเทียบด้านสุขภาพจิตของผู้คนในยูเครน โปแลนด์ และไต้หวัน ตอนช่วงปีแรกของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน คณะผู้วิจัยพบว่าในหมู่ผู้ตอบแบบสำรวจของไต้หวัน ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (post-traumatic stress effects) มีจำนวนต่ำกว่าในยูเครนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่เพศภาวะที่เป็นหญิงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่ง

ประสบการณ์ของสงครามที่มาจากการดูการฟังการอ่านประสบการณ์ตรงของคนอื่น รวมทั้งการมีข้อวินิจฉัยจากการคาดการณ์ถึงการสู้รบขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นมาในดินแดนของพวกเขาเอง ดูเหมือนกลายเป็นสิ่งที่เร่งรัดให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในไต้หวันในระดับสูง

การค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ใช่หรือไม่ที่นอกเหนือจากพลังทางสังคมอื่นๆ ซึ่งกำลังให้ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาแล้ว ชาวไต้หวันยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสคลื่นใต้น้ำแห่งความกังวลสนใจเกี่ยวกับอนาคตของดินแดนของพวกเขา

ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ วิกฤตของความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติซึ่งก่อเกิดขึ้นมาจากอัตราการเกิดที่กำลังตกต่ำลง ก็ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ โดยที่การขาดไร้ความมั่นคงปลอดภัยในนิยามทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็กำลังให้ข้อมูลแก่การตัดสินใจในเรื่องที่ว่าจะแต่งงานและมีลูกดีหรือไม่

แอนโทเนีย ฟินแนน เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (honorary professor) ในวิทยาลัยประวัติศาสตร์และปรัชญาศึกษา (School of Historical and Philosophical Studies) ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย ที่ซึ่งเธอได้รับหน้าที่สอนและวิจัยมาเป็นเวลา 30 ปีก่อนหน้าจะเกษียณอายุในปี 2018 ความชำนาญพิเศษด้านการวิจัยของเธอคือเรื่องประวัติศาสตร์จีน

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/why-taiwans-falling-birth-rate-has-become-a-national-security-issue-219968)

เชิงอรรถ

[1]https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4820340
[2]https://www.statista.com/statistics/1305485/taiwan-population-distribution-by-one-year-age-group/
[3]https://tw.stock.yahoo.com/news/%25E7%25A4%25BE%25E6%259C%2583-%25E9%2580%25A335%25E6%259C%2588%25E7%2594%259F%25E4%25B8%258D%25E5%25A6%2582%25E6%25AD%25BB-%25E5%2585%25A8%25E5%25B9%25B4%25E6%2596%25B0%25E7%2594%259F%25E5%2585%2592%25E6%2595%25B8%25E6%2581%2590%25E7%25BA%258C%25E5%2589%25B5%25E4%25BD%258E-085300154.html
[4]https://news.ltn.com.tw/news/politics/breakingnews/4482466
[5]https://news.ltn.com.tw/news/politics/breakingnews/4482562
[6]https://news.ltn.com.tw/news/politics/breakingnews/4482562
[7]https://www.ly.gov.tw/Pages/Detail.aspx?nodeid=6590&pid=85529
[8]https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2022/08/23/2003783991
[9]https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-04/taiwan-faces-urgent-fighter-pilot-shortage-as-xi-tests-defenses
[10] https://www.cia.gov/the-world-factbook/field/total-fertility-rate/country-comparison/
[11] https://ifstudies.org/blog/pro-natal-policies-work-but-they-come-with-a-hefty-price-tag
[12] https://www.asianews.it/news-en/Xi-Jinping-blames-women-for-population-decline,-but-the-reasons-are-many-59482.html
[13]https://www.bbc.co.uk/sounds/play/w3ct4n4m
[14]https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4851000
[15]https://www.jstor.org/stable/27041932
[16]https://focustaiwan.tw/politics/202302020013
กำลังโหลดความคิดเห็น