เกาหลีเหนือประกาศปล่อยดาวเทียมสอดแนมอีก 3 ดวง สร้างโดรนทหาร และยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ในปี 2024 ในขณะที่ผู้นำ คิม จองอึน ระบุนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามรายงานของสื่อมวลชนแห่งรัฐในวันอาทิตย์ (31 ธ.ค.)
คิม จัดหนักใส่วอชิงตัน ในคำกล่าวอันยาวเหยียดปิดการประชุม 5 วันของพรรครัฐบาลเกาหลีเหนือ ซึ่งวางกรอบเป้าหมายนโยบายทางเศรษฐกิจ ด้านการทหาร และต่างประเทศ สำหรับปีหน้าที่กำลังมาถึง
รายงานของเคซีเอ็นเอ อ้างคำกล่าวของคิม ระบุว่า "สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวที่ขาดความยั้งคิดของศัตรูที่จะรุกรานเรา มันกลายเป็นความจริงแล้วที่สงครามสามารถปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อในคาบสมุทรเกาหลี"
ประธานาธิบดีคิม ได้สั่งการให้กองทัพเตรียมพร้อมสำหรับ "สยบสงครามทั่วทั้งดินแดนของเกาหลีใต้" ในนั้นรวมถึงด้วยอาวุธนิวเคลยร์ถ้าจำเป็นในการตอบโต้การโจมตีใดๆ
คำปราศรัยของคิม มีขึ้นก่อนที่ในปีหน้านี้จะพบเห็นศึกเลือกตั้งอันสำคัญทั้งในเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
พวกผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าเกาหลีเหนือจะคงไว้ซึ่งยุทธการกดดันด้านการทหาร ในความพยายามเพิ่มอำนาจต่อรองงัดข้อใดๆ ในช่วงระหว่างศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจพบเห็นการกลับสู่อำนาจของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยทั้งข่มขู่และสานสัมพันธ์การทูตครั้งประวัติศาสตร์กับเกาหลีเหนือ
รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกว่าพวกเขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจา แต่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ในขณะที่เกาหลีเหนือเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธต้องห้ามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อเมริกายังยกระดับการซ้อมรบและประจำการสินทรัพย์ทางทหาร ในนั้นรวมถีงเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ และเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ใกล้คาบสมุทรเกาหลี
คิม กล่าวว่า เขาไม่อาจมองข้ามความเป็นไปได้ของการหวนคืนมาของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะเปลี่ยนเกาหลีใต้กลายเป็นฐานทัพทหารและคลังแสงนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ของสหรัฐฯ "ถ้าเรามองอย่างใกล้ชิดไปที่พฤติกรรมการเผชิญหน้าทางทหารของกองกำลังศัตรู เราจะเห็นได้ว่าคำพูดเกี่ยวกับสงครามได้กลายมาเป็นความเป็นจริงแล้ว และไม่ใช่แค่ความคิดเชิงนามธรรมเท่านั้น"
ผู้นำคิม บอกว่าเขาไม่มีทางเลือกยกเว้นแต่เดินหน้าความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ และหล่อหลอมความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับประเทศอื่นๆ ที่ต่อต้านสหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงจีนและรัสเซีย
เกาหลีใต้จะเข้าสู่ศึกเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับวาระทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับประธานาธิบดียุนซอกยอล หัวอนุรักษนิยม ซึ่งยังคงมีท่าทีสายเหยี่ยวในเรื่องเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ
สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (NIS) ของเกาหลีใต้ เตือนในวันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.) ว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า เกาหลีเหนืออาจทำการยั่วยุทางทหารอย่างไม่คาดคิด หรือทำการโจมตีทางไซเบอร์ในปี 2024 ครั้งที่ศึกเลือกตั้งจะมาพร้อมกับความผันผวนทางด้านสถานการณ์ทางการเมือง
ในคำปราศรัยในวันอาทิตย์ (31 ธ.ค.) คิม ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการร่วมชาติกับเกาหลีใต้ และบอกว่าประเทศของเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทั้งในด้านหลักการและทิศทางที่มีต่อเกาหลีใต้
"ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นแบบวงศาคณาญาติหรือเป็นเนื้อเดียวกันอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติปรปักษ์โดยสมบูรณ์ และ 2 ชาติศัตรูในสงคราม" คิมระบุ
ขวบปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการยิงดาวเทียมสอดแนมด้านการทหารดวงแรก และการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปเชื้อเพลิงแข็งใหม่ที่มีพิสัยทำการสามารถปล่อยหัวรบนิวเคลียร์โจมตีได้ทุกหัวระแหงของสหรัฐฯ
เตาปฏิกรณ์ใหม่ ณ โรงงานนิวเคลียร์ยงบยอนของเกาหลีเหนือ ดูเหมือจะกลับมาเปิดปฏิบัติการเป็นครั้งแรก จากความเห็นของหน่วยงานเฝ้าระวังทางนิวเคลียร์ของสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญอิสระในเดือนนี้ ซึ่งหมายความว่าเปียงยางอาจมีแหล่งพลูโตเนียเพิ่มเติมสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ใหม่
เกาหลีเหนือไม่ได้ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2017 แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เคลื่อนไหวต่างๆ ในความเป็นไปได้ของการกลับมาเปิดทำการ ณ สถานที่ทดสอบอีกรอบ
คิม กล่าวว่าในปี 2024 จะพบเห็นการประจำการทางทหารเพิ่มเติม ในนั้นรวมถึงเสริมความเข้มแข็งแก่กองกำลังนิวเคลียร์และขีปนาวุธ สร้างโดรนไร้คนขับ ขยายกองเรือดำน้ำและพัฒนาศักยภาพการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกองดาวเทียมสอดแนมจะเป็นตัวแทนแรกของศักยภาพดังกล่าวของเกาหลีเหนือ
ความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสอดแนมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจร มีขึ้นหลังจาก 2 หนแรกประสบความล้มเหลวในปีที่ผ่านมา โดยแต่ละครั้ง จรวดส่งดาวเทียมรุ่นใหม่ 'Chollima-1' ดิ่งลงสู่ทะเล
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค และกระตุ้นให้สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยที่เปียงยางยังไม่เผยแพร่ภาพถ่ายใดๆ ที่มาจากดาวเทียมใหม่ มันจึงทำให้พวกนักวิเคราะห์และรัฐบาลต่างชาติพากันถกเถียงกันเกี่ยวกับศักยภาพของมัน
ดูเหมือนว่าความสำเร็จนี้จะมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้ให้สัญญาว่าจะช่วยเกาหลีเหนือสร้างดาวเทียม ขณะที่เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้บอกว่าความช่วยเหลือของรัสเซียช่วยสร้างความแตกต่างในความสำเร็จของภารกิจนี้ แม้พวกผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามอสโกได้มอบความช่วยเหลือแก่เปียงยางในรูปแบบใด
(ที่มา : รอยเตอร์)