ปี 2023 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง ต่อไปนี้คือการประมวลสรุป 10 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งบางเหตุการณ์ยังคงต้องเฝ้าจับตามองว่าจะส่งผลต่อเนื่องอย่างไรบ้างในปี 2024
- แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี
ตุรกีเผชิญเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงต่อเนื่องหลายระลอกตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 19,000 คน และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกนับหมื่นคนทั้งในตุรกีและประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย
แรงสั่นสะเทือนขนาด 7.8 แมกนิจูดในวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เขต Pazarcik สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่ออาคารบ้านเรือนในเมืองคาห์รามันมาราส รวมถึงอีกหลายจังหวัดของตุรกี เช่น กาเซียนเทป ซันลิอูร์ฟา อาดานา อาดิยามัน มาลัตยา ออสมานิเย ฮาเตย์ และคิลิส และต่อมายังเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขนาด 7.6 ที่เขต Elbistan ของคาห์รามันมาราส ตามมาด้วยแผ่นดินไหว 6.0 ที่ Goksun
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ข้อมูลว่า แผ่นดินไหวระลอกแรก 7.8 ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ของตุรกีถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศนี้ในรอบ 80 ปี
- อินเดียแซงจีนกลายเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ตามข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติในวันที่ 20 เม.ย. อินเดียได้กลายเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีน โดยมีจำนวนประชากรราว 1,428.6 ล้านคน เมื่อเทียบกับสถิติประชากรจีน 1,425.7 ล้านคนในขณะนั้น
สถาบันวิจัยพิวระบุว่า ประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งเป็นปีที่ยูเอ็นเริ่มเก็บสถิติประชากรทั่วโลก ในขณะที่จีนนั้นมีประชากรลดน้อยลงเมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นการลดลงของประชากรครั้งแรกตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา
ในปี 2016 รัฐบาลปักกิ่งได้ยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่ใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และเริ่มอนุญาตให้คู่แต่งงานมีบุตรได้ถึง 3 คนในปี 2021
- ความสำเร็จของ “จันทรายาน-3”
องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ส่งยานสำรวจไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ภายใต้ภารกิจที่ชื่อว่า “จันทรายาน-3” (Chandrayaan-3) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีชาติใดทำได้มาก่อน
การลงแตะพื้นผิวดวงจันทร์ของจันทรายาน-3 พร้อมด้วยยานสำรวจ “วิกรม” (Vikram) เมื่อเวลา 18.04 น. ในวันที่ 23 ส.ค. ทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลกที่สามารถนำยานไปลงจอดได้อย่างนุ่มนวลบนดวงจันทร์ และยังเป็นชาติแรกที่ลงจอดบริเวณขั้วใต้ซึ่งถือเป็นส่วนที่ยังไม่เคยผ่านการสำรวจ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจจะมีน้ำแข็งและแร่ธาตุมีค่าต่างๆ ซุกซ่อนอยู่
- รัฐประหารและสงครามกลางเมืองในแอฟริกา
ซูดานซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายตั้งแต่โอมาร์ อัล-บาชีร์ ถูกโค่นลงจากอำนาจ และในที่สุดได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกับกองกำลังกึ่งทหารในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 9,000 คน การสู้รบที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้เครื่องบินหลายลำที่ท่าอากาศยานนานาชาติคาร์ทูมถูกเพลิงไหม้เสียหาย ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศต้องเปิดปฏิบัติการอพยพพลเมืองหนีออกมาทั้งทางบก พื้นดิน และอากาศ
กระแสการปฏิวัติรัฐประหารยังแผ่ลามไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแอฟริกา โดยไนเจอร์ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมฝรั่งเศสและผู้ส่งออกยูเรเนียมรายใหญ่เกิดเหตุกองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ค. และอีก 1 เดือนถัดมาก็ได้เกิดรัฐประหารขึ้นที่กาบองเพื่อล้มประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมายาวนาน
- หายนะยานดำน้ำ ‘ไททัน’
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ยานดำน้ำที่ชื่อ “ไททัน” (Titan) ของบริษัท OceanGate ซึ่งนำผู้โดยสาร 5 คนลงไปสำรวจซากเรือไททานิกได้หายไปน่านน้ำสากลบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือใกล้กับชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา เรือลำนี้ขาดการสื่อสารกับเรือแม่หลังจากที่ดำลงไปยังก้นทะเลเป็นเวลาราว 1 ชม. กับอีก 45 นาที
ปฏิบัติการค้นหาจบลงด้วยข่าวร้ายในวันที่ 4 เมื่อหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ประกาศยืนยันว่า ลูกเรือทั้ง 5 คนบนยานดำน้ำไททันเสียชีวิตทั้งหมด และคาดว่ายานลำนี้ถูกบดขยี้ด้วยการระเบิดแบบ implosion ซึ่งเกิดจากเผชิญแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึก
ซากของยานดำน้ำไททันถูกพบที่บริเวณก้นทะเล ห่างจากซากของไททานิกแค่ราวๆ 500 เมตร
ผู้โดยสารบนเรือทั้ง 5 รายประกอบด้วย ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีชาวอังกฤษวัย 58 ปี ชาห์ซาดา ดาวูด นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถานวัย 48 ปี กับสุเลมาน บุตรชายวัย 19 ปีของเขา ปอล-อ็องรี นาร์จีโอเลต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี และสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ OceanGate Expeditions ที่เป็นเจ้าของเรือ
- ทวิตเตอร์เปลี่ยนชื่อเป็น X
มหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ได้ประกาศพลิกโฉมทวิตเตอร์ครั้งใหญ่ โดยตัดสินใจเลิกใช้โลโก้รูปนกสีฟ้า และรีแบรนด์แพลตฟอร์มโซเชียลแห่งนี้เสียใหม่เป็น ‘X’ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าทำแพลตฟอร์มนี้กลายเป็น SuperApp ที่จะมีทั้งคอนเทนต์ วิดีโอ การส่งข้อความ บริการชำระเงินและการธนาคารคล้ายคลึงกับแอป WeChat ของจีน
นับตั้งแต่ มัสก์ เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยวงเงิน 44,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ธุรกิจโฆษณาบนแพลตฟอร์มก็เริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำจากปฏิกิริยาเชิงลบของบรรดาผู้ซื้อโฆษณาซึ่งไม่พอใจที่ทวิตเตอร์มีการไล่ออกพนักงานจำนวนมากจนส่งผลต่อการตรวจสอบคัดกรองเนื้อหา รวมไปถึงสไตล์การบริหารของ มัสก์ เองด้วย
- ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของ ‘ยูเครน’ ยังไร้ผล
บรรดาชาติที่ให้การสนับสนุนยูเครนเคยคาดหวังกันอย่างมากในช่วงต้นปี 2023 ว่า ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของยูเครน (counteroffensive) จะสามารถผลักดันกองทัพรัสเซียให้ถอยร่น และอาจถึงขั้นทวงคืนดินแดนทางตะวันออก หรือแม้กระทั่งคาบสมุทรไครเมียกลับคืนมาได้ ทว่าปฏิบัติการที่เริ่มเปิดฉากมาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. แม้จะก่อความสูญเสียไม่น้อยต่อกองทัพหมีขาว แต่เส้นแบ่งแนวรบกลับแทบไม่มีการขยับเขยื้อน ซึ่งหมายความว่ายูเครนยังไม่ประสบความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรม ขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกก็เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงที่จะอัดฉีดอาวุธและเงินทองช่วยเหลือเคียฟต่อไป
เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. ผู้บัญชาการทหารยูเครนคนหนึ่งออกมายอมรับว่า สงครามในตอนนี้กำลังเข้าสู่ภาวะ “ทางตัน” และยูเครนคงจะยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบรัสเซียอย่างชัดเจนและสวยงามได้ในอนาคตอันใกล้นี้
จากทิศทางของสงครามที่ดูเหมือนจะเข้าข้างฝ่ายรัสเซียทำให้บรรดานักการทูตเริ่มเกิดคำถามว่า ยูเครน --- อย่าว่าแต่ได้ชัยชนะ --- จะทนต่อสงครามพร่ากำลังนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน? และเริ่มมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้ยูเครนปรับยุทธศาสตร์จากการรุกไปสู่การป้องกันการสูญเสียดินแดนเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัสเซีย แต่ก็มีคำถามอีกเช่นกันว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน จะเต็มใจยุติการสู้รบจริงหรือไม่? และคาดกันว่า ปูติน อาจยื้อเวลาไปจนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ปี 2024 เสียก่อน เพื่อดูว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะมีท่าทีต่อสงครามยูเครนอย่างไร
- สงครามอิสราเอล-ฮามาส
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซาได้ส่งนักรบบุกข้ามแดนเข้าไปโจมตีเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของอิสราเอล และได้สังหารประชาชนไปราว 1,200 คน นอกจากนี้ยังจับชาวอิสราเอลและต่างชาติกลับไปเป็นตัวประกันในกาซาอีกกว่า 200 คน
ตัวประกันผู้หญิง เด็ก และคนต่างชาติกว่า 100 คนได้รับการปล่อยตัวออกมาภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ทว่าจนถึงตอนนี้ยังคงมีตัวประกันถูกกักขังอยู่อีกกว่า 100 คน และสงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ลงมติเรียกร้องให้เพิ่มการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังกาซา ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนีโอ กูเตียร์เรส ระบุว่าปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลได้สร้าง “อุปสรรคใหญ่หลวง” ต่อการกระจายความช่วยเหลือเข้าไปยังพลเรือนในดินแดนแห่งนี้
กระทรวงสาธารณสุขกาซาประกาศอัปเดตตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มเป็นกว่า 20,000 คน บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 53,320 คน จากปฏิบัติการแก้แค้นนานกว่า 11 สัปดาห์ของอิสราเอลที่ทำให้ชาวกาซากว่า 2.3 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน
- ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนยังคงร้อนระอุ
ในช่วงต้นปี 2023 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะเริ่มผ่อนคลายไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้มีโอกาสพบปะหารือซึ่งหน้าในการประชุมซัมมิต G20 ที่เกาะบาหลีเมื่อเดือน พ.ย.ปีกลาย อีกทั้ง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็มีกำหนดเยือนจีนเพื่อหารือ “แนวทางป้องกัน” (guardrails) ไม่ให้การแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อสหรัฐฯ ตรวจพบ “บอลลูนสอดแนมจีน” ลอยผ่านเข้าน่านฟ้าของตนเป็นระยะเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ จนสุดท้ายกองทัพอากาศตัดสินใจส่งเครื่องบินขับไล่ F-22 Raptor ไปยิงบอลลูนตกที่นอกชายฝั่งรัฐเซาท์แคโรไลนา
ปักกิ่งยืนกรานเสียงแข็งว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นเพียงบอลลูนตรวจวัดสภาพอากาศที่ถูกกระแสลมพัดพาออกนอกเส้นทาง ทว่าสหรัฐฯ ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างนี้ และเหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตการทูตซึ่งทำให้ บลิงเคน ต้องเลื่อนแผนเยือนปักกิ่งแบบไม่มีกำหนด และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนปฏิเสธที่จะรับสายโทรศัพท์จาก ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาอันเกิดจากการที่สองมหาอำนาจไม่มีการสื่อสารกันมากพอ
สุดท้ายแม้ บลิงเคน จะไปเยือนจีนได้สำเร็จในเดือน มิ.ย. และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่าย “มีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์” ทว่าการเจรจาครั้งนั้นก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ หยุดใช้มาตรการกีดกันการค้ากับจีน หรือเลิกกดดันปักกิ่งให้เลิกข่มขู่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และกองกำลังสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในทะเลจีนใต้
ไบเดน และ สี ได้จัดการหารือทวิภาคีแบบซึ่งหน้าครั้งแรกในรอบปี ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกครั้งที่ 30 ที่นครซานฟรานซิสโกเมื่อเดือน พ.ย. แต่หลังสิ้นสุดการประชุมทั้ง 2 ฝ่ายก็ทำได้แค่เพียงแถลงความร่วมมือเล็กๆ น้อยๆ ด้านการสื่อสารระหว่างกองทัพ การปราบปรามสารเสพติด และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และยังคงไม่มีหนทางที่จะยุติข้อพิพาทหลักๆ ซึ่งกัดเซาะความสัมพันธ์ระหว่างกันมานานปีได้
- ที่ประชุม COP28 พุ่งเป้าจัดการ “ต้นตอโลกร้อน”
ในขณะที่นักเคลื่อนไหวและนักการทูตเดินทางไปร่วมการประชุมว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งสหประชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ โอกาสสำหรับความคืบหน้านั้นดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและกฎระเบียบด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งสัญญาณง่อนแง่น นอกจากนี้ การจัดประชุมที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งเป็นรัฐผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ก็ยิ่งทำให้โอกาสผลักดันให้โลกลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลดูยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก
แต่แล้ว COP28 ก็สร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่ด้วยการที่นานาชาติลงมติเห็นพ้องกันเป็นครั้งแรกที่จะลดการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดย 198 ประเทศที่เป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change) ได้เห็นชอบต่อคำแถลงร่วมทว่าจะทยอยเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล “ในรูปแบบที่เป็นธรรม เป็นระเบียบ และเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกฝ่าย”