ปักกิ่งจะใช้ "ทุกวิถีทาง" ในการขัดขวางการแยกตัวของไต้หวัน จากคำประกาศกร้าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อวันอังคาร (26 ธ.ค.) พร้อมระบุการรวมเกาะแห่งนี้เข้ากับแผ่นดินใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
คำประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวสุนทรพจน์ของสี ต่อคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวาระวันคล้ายวันเกิดครบ 130 ปี ของเหมา เจ๋อตง ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว "แน่นอนว่าเราจะขัดขวางใครก็ตามที่กำลังทำให้ไต้หวันแยกตัวออกจากจีน ด้วยทุกวิถีทาง" ประธานาธิบดีสีกล่าว
สี ยังกล่าวต่อว่า "การรวมชาติจีนโดยสมบูรณ์" เป็น "แนวโน้มที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์กับประเทศชาติและเป็นความปรารถนาของประชาชน นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามส่งเสริมพัฒนาการด้านสันติภาพในความสัมพันธ์กับเกาะแห่งนี้ และส่งเสริมการพัฒนาการแบบบูรณาการเพิ่มเติมในทุกขอบเขต
จีนมองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอธิปไตย และเคยเตือนว่าความพยายามใดๆ ของไต้หวันที่จะประกาศรัฐเอกราชจะหมายถึงการประกาศสงคราม ซึ่ง สี ได้พูดในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ครั้งที่ทั้งคู่พบปะกันในแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนที่แล้ว
ตามรายงานของสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ สี บอกกับ ไบเดน ว่าจีนจะให้พื้นที่มากมายสำหรับการรวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน แต่จะไม่อดทนกับความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนใดๆ โดยไทเป
ไต้หวันมีกำหนดจัดศึกเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดี ในวันที่ 13 มกราคม ในขณะที่ ไล่ชิงเต๋อ (วิลเลียม ไล) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ดูเหมือนเป็นตัวเต็งค่อนข้างชัดเจนว่าจะได้รับชัยชนะ เขาให้คำจำกัดความตนเองในฐานะ "คนทำงานเพื่อความเป็นเอกราชของไต้หวัน" และกล่าวหาปักกิ่งใช้กองกำลังข่มขู่เกาะแห่งนี้
ในถ้อยแถลงเมื่อวันอังคาร (26 ธ.ค.) สี ไม่ได้กล่าวถึงศึกเลือกตั้งของไทเป หรือพูดเกี่ยวกับการใช้กำลังกับไต้หวัน
เกาะไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ราว 180 กิโลเมตร ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่า ฟอร์โมซา โดยจีนเคยยกมันให้ญี่ปุ่น ในฐานะส่วนหนึ่งของค่าปฏิกรรมสงครามปี 1895 ก่อนทวงคืนกลับหลังโตเกียวยอมจำนนในปี 1945
ต่อมา ครั้งที่พวกฝ่ายชาตินิยมจีนพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ของเหมา ในปี 1949 พวกเขาได้อพยพไปยังเกาะแห่งนี้ภายใต้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ และประกาศให้ไทเปเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐจีน
ในปี 1971 สหประชาชาติให้การรับรองรัฐบาลในปักกิ่ง ในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรมตามกฎหมายของจีน กระตุ้นให้หลายชาติถอนการรับรองไต้หวัน และในปี 1972 สหรัฐฯ ยอมรับจุดยืนของปักกิ่ง ที่ระบุว่า "มีเพียงจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)