เอเอฟพี – ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้
จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญของโลกเกือบทั้งหมด การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นของปักกิ่งในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทยังสร้างความขุ่นเคืองให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงอเมริกา
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอเมริกา และมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับจีนเช่นเดียวกัน กำลังเพิ่มการใช้จ่ายทางการทหารและกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงกับเกาหลีใต้และออสเตรเลีย
ในวันอาทิตย์ (17 ธ.ค.) ผู้นำญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ร่วมประชุมสุดยอดที่โตเกียว ออกแถลงการณ์ร่วมระบุถึงการส่งเสริมการหารือและการร่วมมือเพื่อรักษาความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล ระเบียบทางทะเลที่อิงกับหลักนิติธรรม ซึ่งรวมถึงเสรีภาพและความปลอดภัยในการเดินเรือและการบิน และการค้าขายที่ไม่ถูกปิดกั้น
แถลงการณ์ยังระบุต่อไปโดยไม่ได้พาดพิงถึงจีนโดยตรงว่า ญี่ปุ่นและอาเซียนจะส่งเสริมการตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล ตลอดจนถึงการร่วมมือในหมู่หน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกระชับความร่วมมือในการสร้างขีดความสามารถทางทะเล และการรับประกันการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี โดยไม่ใช้การข่มขู่หรือกำลังภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
เมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ญี่ปุ่นแสดงความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นอันตราย การเผชิญหน้าครั้งล่าสุดระหว่างเรือฟิลิปปินส์กับเรือจีน บริเวณสันดอนที่เป็นข้อพิพาท รวมถึงกรณีที่เรือของสองประเทศชนกัน และกรณีที่เรือจีนใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใส่เรือฟิลิปปินส์
โตเกียวสำทับว่า เห็นด้วยกับจุดยืนยาวนานของฟิลิปปินส์ ในการคัดค้านข้ออ้างทางทะเลอย่างผิดกฎหมาย การประจำการทางทหาร การข่มขู่และคุกคาม รวมทั้งการใช้กำลังในทะเลจีนใต้ของจีน
เดือนที่แล้วญี่ปุ่นตกลงให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์ในการซื้อเรือสำหรับหน่วยยามฝั่ง อีกทั้งยังจัดหาระบบเรดาร์ให้มะนิลา และสองประเทศกำลังหารือเพื่ออนุญาตให้กองกำลังของแต่ละฝ่ายประจำการณ์ในดินแดนของตน
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์ให้สัมภาษณ์สถานีเอ็นเอชเคของญี่ปุ่นเมื่อวันเสาร์ (16 ธ.ค.) ว่าสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ซับซ้อนมากขึ้น และการอ้างสิทธิ์ของจีนเป็นความท้าทายอย่างแท้จริงต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ก่อนสำทับว่า มะนิลาจะกระชับความร่วมมือกับโตเกียว วอชิงตัน และประเทศอื่นๆ ที่มีแนวทางเดียวกันเพื่อจัดการซ้อมรบร่วมกัน
วันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น เผยว่า เห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซีย ในการกระชับความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ และจัดหาอุปกรณ์เตือนภัยและเฝ้าระวังมูลค่า 2.8 ล้านดอลลาร์ให้กัวลาลัมเปอร์
คิชิดะกล่าวว่า ขณะที่โลกมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับคำสัญญาในการร่วมมือกับอาเซียนเพื่อรักษาและเสริมสร้างระเบียบโลกที่เสรีและเปิดกว้างตามหลักนิติธรรม และทำให้แน่ใจว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้รับการปกป้อง ทั้งนี้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และไต้หวัน ล้วนอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้
เมื่อเดือนกันยายน กองทัพของชาติอาเซียนได้ร่วมซ้อมรบเป็นครั้งแรก แม้เจ้าภาพคืออินโดนีเซียยืนยันว่า เป็นการซ้อมรบแบบไม่มีการปะทะ แต่มุ่งเน้นในส่วนการบรรเทาภัยพิบัติและการลาดตระเวนทางทะเลก็ตาม
ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ธ.ค.) เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับซัมมิตอาเซียน กระทรวงต่างประเทศจีนตอบว่า ปักกิ่งเชื่อว่า การร่วมมือใดๆ ควรมีเป้าหมายในการส่งเสริมความไว้วางใจระหว่างกันในหมู่ประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนสำทับว่า จีนหวังว่า ประเทศที่เกี่ยวข้องจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างแท้จริง และการร่วมมือต้องไม่พุ่งเป้าที่บุคคลที่สาม