กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติจำหน่ายอุปกรณ์สนับสนุนระบบสารสนเทศเชิงยุทธวิธี (tactical information systems) มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวัน นับเป็นความช่วยเหลือด้านการป้องกันตนเองล่าสุดที่อเมริกามอบให้กับไทเป ตามข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
สหรัฐฯ มีข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องสนับสนุนให้ไต้หวันสามารถป้องกันตนเอง ซึ่งการขายอาวุธให้ไทเปในลักษณะนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งที่ยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน
สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา (Defense Security Cooperation Agency – DSCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเพนตากอน ระบุว่า การจำหน่ายเครื่องมือในครั้งนี้ก็เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพด้านการบัญชาการ ควบคุม สื่อสาร และคอมพิวเตอร์ หรือ C4 ของไต้หวันตามวงรอบอายุการใช้งาน
การสนับสนุนนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพของไต้หวัน “ในการรับมือภัยคุกคามทั้งปัจจุบันและอนาคต ด้วยการเสริมความพร้อมด้านการปฏิบัติการ” และคงไว้ซึ่งศักยภาพ C4 ที่ช่วยให้การส่งข้อมูลทางยุทธวิธีเป็นไปอย่างปลอดภัย
ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จะช่วยให้ไทเปสามารถคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของระบบบัญชาการและการควบคุมร่วม และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในสนามรบ
“ปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนที่เกิดขึ้นรอบเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเรา” กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลง พร้อมกล่าวขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือ และเชื่อว่าการจำหน่ายยุทธภัณฑ์รอบนี้จะมีผลเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน
ด้านทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันระบุว่า ข้อตกลงขายอาวุธซึ่งถือเป็นครั้งที่ 12 แล้วภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นั้นให้ความสำคัญยิ่งกับการสนับสนุนศักยภาพในการป้องกันตนเองของไต้หวัน
รัฐบาลไทเปยืนยันว่า อนาคตของไต้หวันต้องให้ชาวไต้หวันเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งไต้หวันก็กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีในวันที่ 13 ม.ค. ปีหน้า ในความเคลื่อนไหวที่หลายฝ่ายจับตามองว่าน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่
ที่มา: รอยเตอร์