เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏานและสมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา ทรงพระราชทานพระนามตามหลักศาสนาพุทธนิกายทิเบตของภูฏาน แก่พระราชธิดาพระองค์น้อยชันษา 3 เดือนว่า “เจ้าหญิงโซนัม ยังเดน วังชุก” (Princess Sonam Yangden Wangchuck) ที่มีความหมายว่า เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญ อายุยืน และมีโชค
พีเพิลของสหรัฐฯรายงานวันจันทร์(11 ธ.ค)ว่า ในการประกาศผ่านทางโซเชียลมีเดียสุดสัปดาห์รัฐบาลภูฏานได้ทำการประกาศข่าวพระนามของเจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งราชอาณาจักรอย่างคึกคัก
โดยพระฉายาลักษณ์ของเจ้าหญิงพระองค์ใหม่ที่เพิ่งประสูติเมื่อวันที่ 9 ก.ย ที่ผ่านมาถูกเผยแพร่ไปทั่วเป็นพระฉายาลักษณ์ในขณะที่พระองค์กำลังทรงบรรทมหลับโดยที่ถูกห่อไว้ด้วยผ้าภูษาสีชมพูลายปักตามแบบภูฏานที่งดงาม
บนโซเชียลมีเดียทางการของสมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา ลงวันที่ 9 ธ.ค มีใจความว่า
“เจ้าหญิงทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า โซนัม ยังเดน วังชุก (Princess Sonam Yangden Wangchuck)”
และข้อความได้ระบุว่า “โซนัมเป็นชื่อตามแบบภูฏานที่มีความหมายถึงสัญลักษณ์ผู้มีบุญ อายุยืน และโชคดี ส่วนยังเดนหมายความว่า รัตนชาติที่แสดงความหมายไปถึงความมั่งคั่งและผาสุข”
อ้างอิงจากพีเพิลและวิกีพีเดีย ภูฏานก่อตั้งประเทศมาจากพระลามะทิเบต 5 รูปเมื่อศตวรรษที่ 17 หรือในปี 1634 และส่งผลทำให้ภูฏานผงาดในสายตาชาวโลกในฐานะประเทศที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักศาสนาพุทธนิกายทิเบตทำให้ตามธรรมเนียมประชาชนชาวภูฐานจะไม่มีชื่อสกุลเว้นแต่เจ้าผู้ปกครอง
ภูฏานนั้นโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมด้านวัดวาอารามบนเทือกเขาที่สวยงามและเน้นความสุขทางจิตใจไม่เน้นด้านวัตถุ ตามประวัติศาสตร์ยังถือเป็นหนึ่งไม่กี่ชาติในโลกที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นจากประเทศใดถึงแม้จะมีความพยายามจากจักรวรรดิอังกฤษระหว่างปี 1772 – ปี 1907
เจ้าหญิงโซนัมปัจจุบันมีชันษา 3 เดือนทรงเข้ารับพระราชทานพระนามในพระราชพิธีถวายพระนามที่อาราม Tashichhodzong monastery ที่มีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ร่วมเสด็จเข้าร่วมเกิดขึ้นในวันพิเศษคือวันที่ 9 ธ.ค ตรงกับวันเริ่มต้นรัชสมัยพระราชบิดาของพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกที่ทรงครองราชย์มานาน 17 ปีหลังพระอัยกาเจ้าของเจ้าหญิงโซนามคือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศสละพระราชสมบัติในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2006 เพื่อเปิดทางให้พระราชโอรสทรงขึ้นครองราชย์แทน
ทั้งนี้เจ้าหญิงพระองค์ใหม่ทรงมีพระเชษฐา 2 พระองค์ได้แก่ เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก (Prince Gyalsey Jigme Namgyel Wangchuck มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน วัย 7 พรรษา ที่ทรงได้รับการขนานนามว่า 'เจ้าชายมังกร' และเจ้าชายจิกมี อุกเยน วังชุก (Prince Jigme Ugyen Wangchuck) วัย 3 พรรษา ที่ทรงทอดพระเนตรอย่างน่ารักไปยังพระขนิษฐาพระองค์น้อยในระหว่างพระราชพิธีวันเสาร์(9)
ซึ่งตามธรรมเนียมของราชสำนักภูฏานจะยังไม่มีการประกาศพระนามของสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใหม่จนกว่าพระราชพิธีพระราชทานพระนามจะเกิดขึ้นหลังจากประสูติไปไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
พีเพิลรายงานว่า ถึงแม้ภูฏานถือเป็นประเทศที่ปิดและไม่ข้องเกี่ยวกับโลกภายนอกมากนักแต่ทว่าสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏานและสมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศเช่นกัน
โดยในปีนี้เมื่อวันที่ 6 พ.ค ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชาล์สที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและสมเด็จพระราชินีคามิลลา
นอกจากนี้ทั้งสองพระองค์ยังเสด็จร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่หรูหราและโด่งดังไปทั่วโลกของมกุฎราชกุมารแห่งจอร์แดนเมื่อวันที่ 1 มิ.ยปีนี้ซึ่งในงานนี้เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าหญิงแคทเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จพระดำเนินร่วมเช่นกัน
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยเมื่อครั้งทรงเสด็จมาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในเดือนมิถุนายนปี 2549 ในฐานะพระราชอาคันตุกะ
เจ้าชายจิกมี พระนามในเวลานั้นนอกจากที่จะทรงมีความหล่อเหลาที่ทำให้บรรดาสาวๆหลงไหลแล้วยังทรงมีพระจริยาวัตรที่งดงามสร้างความประทับใจให้คนไทยที่เรียกพระองค์ว่า “แขกของในหลวง” ไปทั่ว ทรงยกพระหัตถ์ทักทายอย่างไม่ถือพระองค์
และทรงยังเคยตรัสว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลพระทัยในการพัฒนาภูฐานให้ยั่งยืน ซึ่งมีความร่วมมือในระดับรัฐระหว่างไทยและภูฏานเกี่ยวกับการทำเกษตรในที่สูงหลังจากนั้น อ้างอิงจากสื่อไทยรายงานเมื่อวันที่ 16 ต.ค ปี 2559