เอพี - ศาลสูงสุดอินเดียวันจันทร์ (11 ธ.ค.) ออกคำตัดสินพิพากษายืนคำสั่งศาลชั้นต้นยืนยันการตัดสินใจรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เมื่อปี 2019 สั่งสิ้นสุดสถานพิเศษการปกครองตนเองแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ไป กลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แดนภารตะที่ได้เห็นดินแดนต้องเสียสถานะความเป็นรัฐไป
เอพีรายงานวานนี้ (11 ธ.ค ) ว่า คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดอินเดียที่มีจำนวน 5 คนวานนี้ (11) ได้พิพาษาให้สถานภาพพิเศษของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ต้องหมดไปตามคำสั่งการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี โดยอ้างว่าสถานะการปกครองตนเองของแคว้นนั้นเป็นสถานะชั่วคราว
ในคำพิพากษาศาลสูงสุดอินเดียยังชี้ว่า คำสั่งยกเลิกสถานะพิเศษที่สามารถปกครองตนเองได้ของแคว้นจัมมูแคชเมียร์ของนิวเดลีปี 2019 นั้นชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญอินเดีย
คำพิพากษาศาลสูงสุดอินเดียต่อสถานะแคว้นจัมมูแคชเมียร์สร้างความผิดหวังให้หลายคนในเขตแคชเมียร์ ที่รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นแคชเมียร์พรรคใหญ่ที่โปรอินเดียซึ่งเป็นคนยื่นฟ้องร้องต่อศาลในคดีนี้เพื่อขอให้กลับคำสั่งนิวเดลีปี 2019 ครั้งประวัติศาสตร์ที่บังคับใช้ภายใต้สถานการณ์ทางความมั่นคงอย่างคาดไม่ถึง และมีการสั่งปิดการสื่อสารนานหลายเดือน
ซึ่งประชาชนแคชเมียร์ส่วนใหญ่มองการยกเลิกสถานะพิเศษนี้ว่าเป็นเสมือน 'การผนวกดินแดน'
คำสั่งของโมดีปี 2019 ยังบัญชาให้แบ่งแยกแคว้นจัมมูแคชเมียร์เดิมออกเป็น 2 เขต ได้แก่เขตลาดัคห์ (Ladakh) และเขตจัมมูแคชเมียร์ โดยดินแดนทั้ง 2 นั้นถูกปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลางนิวเดลีโดยที่ไม่มีสมาชิกรัฐสภาท้องถิ่นของตัวเอง
และยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสต์แดนภารตะที่ได้เห็นดินแดนที่มีฐานะเป็นรัฐถูกลดชั้นลงเป็นแค่ดินแดนของรัฐเท่านั้น
และผลจากคำสั่งทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมถูกปกครองโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สูญเสียธงสัญลักษณ์ประจำรัฐ และประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายรัฐธรรมนูญของตัวเองไป
แต่ทว่าประธานคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดอินเดีย ธนัญชัย ยศวันต์ จันทรจูฑ (Dhananjaya Yeshwant Chandrachud) กล่าวว่า รัฐบาลนิวเดลีได้ให้คำมั่นที่จะคืนสถานะความเป็นรัฐของจัมมูแคชเมียร์กลับมาและสมควรที่จะต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
แต่ทว่าอย่างไรก็ตาม เขตลาดัคห์จะยังคงเป็นดินแดนของรัฐต่อไป
นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังสั่งคณะกรรมการเลือกตั้งอินเดียให้จัดการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นภายในวันที่ 30 ก.ย.ปีหน้า
ที่ผ่านมา นิวเดลียืนยันว่ากลุ่มติดอาวุธแคชเมียร์เป็นการก่อการร้ายที่ปากีสถานให้การสนับสนุน แต่เป็นข้อกล่าวหาที่ทางอิสลามาบัดปฏิเสธ ขณะที่ชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเรียกร้องเอกราชอย่างชอบธรรม
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ได้ออกมาแสดงความยินดีต่อคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์บนแพลตฟอร์ม X ว่า
"คำพิพากษาวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการตัดสินที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทว่ามันยังส่งสัญญาณแห่งความหวัง คำมั่นสัญญาของอนาคตที่สดใสและหลักฐานต่อการแก้ปัญหาร่วมกันของพวกเราในการสร้างอินเดียที่เป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
นอกจากนี้ โมดียังแสดงความชื่นชมว่า การตัดสินของศาลสูงสุดวันจันทร์ (11) เป็นประวัติศาสตร์และยังเป็นคำพิพากษายืนที่ของคำสั่งที่ออกมาจากรัฐสภาอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ประชาชนท้องถิ่นแคชเมียร์มองว่า คำสั่งเป็นเสมือนการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ของภูมิภาค โดยในตอนแรกสมาชิกชุมชนชาวฮินดู และชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยได้ออกมาแสดงความยินดีต่อความเคลื่อนไหว แต่ในเวลาต่อมาคนจำนวนมากจากกลุ่มทั้งสองแสดงความวิตกถึงการอาจเสียที่ดิน และงานภายในภูมิภาคหิมาลัยไป