TikTok ประกาศทุ่ม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 53,000 ล้านบาท) ลงทุนในบริษัท GoTo Group ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ในความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะเปิดทางให้บริษัทแห่งนี้สามารถต่อยอดธุรกิจอีคอมเมิร์ซในแดนอิเหนา หลังถูกรัฐบาลจาการ์ตาออกกฎแบนเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การควบรวมกิจการ TikTok Shop กับ Tokopedia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ GoTo โดยที่ TikTok จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
GoTo ระบุว่า “TikTok รับปากทุ่มเม็ดเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวเพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนที่จำเป็นในอนาคตสำหรับธุรกิจนี้ โดยสัดส่วนการถือหุ้นของ GoTo จะไม่ลดลงไปอีก”
“TikTok, Tokopedia และ GoTo จะร่วมกันพลิกโฉมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย และจะสร้างงานเพิ่มอีกหลายล้านตำแหน่งภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า”
GoTo ระบุด้วยว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้จะเริ่มเข้าสู่ “ช่วงทดลอง” โดยมีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะสามารถปิดดีลธุรกิจนี้ได้ภายในปี 2024
TikTok จำต้องปิดตัวร้านค้าออนไลน์ในอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดเมื่อเดือน ต.ค. หลังจากที่รัฐบาลอิเหนาออกกฎห้ามการทำธุรกรรมขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องตลาดและร้านค้าออฟไลน์ในประเทศที่มีอยู่นับล้านๆ ราย
กฎหมายดังกล่าวทำให้บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่สามารถเปิดช่องทางชำระเงินโดยตรงผ่านแพลตฟอร์ม และทำได้แค่เพียงโปรโมตสินค้าเท่านั้น ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการสกัดกั้นความพยายามรุกธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ TikTok
แม้ตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียจะมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่หลายเจ้าด้วยกัน เช่น Tokopedia Shopee และ Lazada เป็นต้น ทว่า TikTok Shop กลับได้รับความนิยมและชิงส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2021
ปัจจุบัน อินโดนีเซียถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของ TikTok รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมียอดผู้ใช้งานรายเดือน (monthly active users) มากถึง 125 ล้านคน
คำสั่งแบนของอินโดนีเซียมีขึ้นท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎควบคุมการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย หลังจากบรรดาผู้ค้าออฟไลน์เริ่มรู้สึกว่าธุรกิจของพวกเขากำลังถูกคุกคามจากสินค้าใน TikTok Shop และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ซึ่งขายในราคาถูกกว่า
กฎหมายฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นการพุ่งเป้าเล่นงาน TikTok โดยตรง หลังจากที่แอปแชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมของไบต์แดนซ์ (ByteDance) โดนเพ่งเล็งอย่างหนักในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ มาแล้วเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ อีกทั้งยังถูกครหาว่ามีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน
ที่มา : เอเอฟพี