(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Will property implode China’s economy? Not necessarily
By KENNETH ROGOFF
08/12/2023
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนหยั่งรากลึก การเยียวยาแก้ไขจะเป็นไปด้วยความลำบาก และเศรษฐกิจแดนมังกรในอนาคตจะเติบโตเชื่องช้าลงมาก –ทว่าภาคการเงินจะไม่พังครืนลงมาอย่างที่โลกตะวันตกเผชิญในช่วงปี 2007-08 หรอก
ความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 40 ปีได้เปลี่ยนแปลงประเทศจีนให้กลายเป็น 1 ใน 2 ระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
นี่เป็นความสำเร็จอันโดดเด่นที่ได้ยกระดับประชาชนจำนวนหลายร้อยล้านคนให้พ้นออกจากความยากจน และเข้าสู่ฐานะความเป็นชนชั้นกลางระดับโลก เป็นสิ่งที่เหนือล้ำเกินความคาดหมายทั้งหลายมาโดยตลอด และก็สร้างความสับสนพ่ายแพ้ให้แก่ผู้ซึ่งทำนายว่าจะเกิดภาวะล้มเหลวเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจ
ฝีก้าวของความเจริญเติบโตดังกล่าวในเวลานี้กำลังชะลอตัวลงด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เหมือนๆ กับในระบบเศรษฐกิจที่รุดหน้าไปแล้วเป็นจำนวนมาก ประชากรของจีนกำลังแก่ตัวลง –การเปลี่ยนแปลงในทางประชากรศาสตร์ซึ่งยิ่งรุนแรงมากขึ้นจากนโยบายมีลูกคนเดียวที่จีนนำมาใช้ในระหว่างปี 1980 ถึง 2016
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eastasiaforum.org/2023/06/25/asias-demographic-growing-pains/)
ทั่วโลกเวลานี้ยังเกิดการฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจภายหลังโรคระบาดใหญ่โควิด-19 การเติบโตทางการค้าซึ่งอยู่ในอาการย่ำแย่อยู่แล้วจากภาวะอิ่มตัวของตลาด กำลังชะลอตัวลงเนื่องจากพวกอุตสาหกรรมการผลิตในยุโรปและในอเมริกาเหนือพากันหวนกลับคืนมาสู่ฐานเดิมที่บ้านเกิด กระจายแหล่งที่มาแห่งอุปทานของพวกเขาให้หลากหลายออกไป หรือไม่เช่นนั้นรัฐบาลของพวกเขาก็นำมาตรการตั้งกำแพงกีดกันการค้ามาบังคับใช้
แต่ไม่เพียงเท่านั้น การเติบโตของจีนยังเผชิญกับตัวเบรกอีกตัวหนึ่ง เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เศรษฐกิจของประเทศนี้ได้พึ่งพาอาศัยการลงทุนภายในประเทศอย่างมากมายเหลือล้นในด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนเหล่านี้ตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะให้ผลตอบแทนลดน้อยถอยลงอย่างรุนแรง
พวกรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งพึ่งพาการขายที่ดินเพื่อหารายได้ มีความจำเป็นต้องชดใช้หนี้สินของพวกตน อีกทั้งรายรับก็ทรุดฮวบในเมื่อภาวะอสังหาริมทรัพย์บูมกำลังอยู่ในอาการซวนเซ
ผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมา คือเศรษฐกิจของจีนจะล่มสลายกระนั้นหรือ? ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นหรอก –อย่างน้อยที่สุดมันจะไม่เกิดวิกฤตภาคการเงินชนิดที่โลกตะวันตกเคยประสบในช่วงปี 2007-08 แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ การเยียวยารักษาอาจจะลำบากด้วยซ้ำ และผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาก็น่าจะเป็นแนวโน้มความเจริญเติบโตที่เชื่องช้าลงกว่าเดิมมาก
ในการศึกษาวิจัยที่ผมทำร่วมกับหยวนเฉิน หยาง (Yuanchen Yang) นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เราได้ประมาณการเอาไว้ว่าเศรษฐกิจของจีนนั้น พึ่งพาอาศัยอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอยู่มากน้อยแค่ไหน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.economic-policy.org/wp-content/uploads/2023/10/Rogoff-Yang.pdf)
ปรากฏว่าในปี 2021 ผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมซึ่งภาคอสังริมทรัพย์มีต่อเศรษฐกิจของจีนอยู่ที่ 22% ของจีดีพี หรือเป็น 25% เมื่อนำเอาปัจจัยพวกคอนเทนต์นำเข้ามาคำนวณด้วย แล้วหากนำพวกโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น ถนน ระบบขนส่งมวลชน และสายท่อประปา ซึ่งให้บริการแก่อสังหาริมทรัพย์ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและด้านการพาณิชย์เข้ามาด้วย ยอดรวมจะพุ่งขึ้นเป็น 31%
ในช่วงหลายๆ ปีก่อนหน้าโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ตัวเลขยอดรวมนี้กระทั่งสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ ในประวัติศาสตร์ระยะหลังๆ นี้ ระบบเศรษฐกิจที่ก้าวรุดหน้าไปแล้ว ซึ่งมีอัตราส่วนของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์บวกโครงสร้างพื้นฐานในยอดจีดีพีสูงมากๆ เช่นนี้ มีอยู่เพียงรายเดียว ได้แก่ สเปนในระยะเวลาก่อนจะไปถึงวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก ถึงแม้ที่นั่นในช่วงขึ้นสูงสุดก็ยังคงต่ำกว่าระดับ 30% ซึ่งเป็นขีดขั้นที่จีนติดอยู่ไม่ได้ไปไหนโดยนับจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 1 ทศวรรษแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองใหญ่ต่างๆ ของจีนตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีความโดดเด่นเตะตาเป็นอย่างมาก ทว่าเมื่อพิจารณาในแง่การสะสมตัวของอาคารซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว มันก็เป็นที่ชัดเจนว่าเครื่องจักรแห่งการเติบโตขยายตัวด้วยการก่อสร้างนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นตัวให้พลังแก่เศรษฐกิจของจีนเหมือนอย่างที่มันเคยทำได้ในอดีตเสียแล้ว
อสังหาริมทรัพย์เป็นสินค้าคงทน ขณะที่สต๊อกของมันเพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ให้แก่การก่อสร้างจะกลับลดต่ำลง ตัวอย่างเช่น พื้นที่ใช้สอยเฉลี่ยต่อหัวประชากรของที่อยู่อาศัย (floor area per capita of housing) ในประเทศจีนเวลานี้อยู่ในระดับทัดเทียมหรือกระทั่งสูงกว่าของฝรั่งเศส หรือของสหราชอาณาจักรแล้ว
ขณะที่นับจากปี 2011 ถึงปี 2021 สต๊อกที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ยังคงที่อยู่ในระดับราวๆ 65 ตารางเมตรต่อหัวประชากร แต่สต๊อกที่อยู่อาศัยของจีนได้เพิ่มจาก 5 ตารางเมตรต่อหัวประชากรเมื่อปี 1992 เป็นเกือบๆ 49 ตารางเมตรต่อหัวประชากรในปี 2021
สต๊อกที่อยู่อาศัยดังกล่าวนี้ราว 80% ทีเดียวอยู่ในตัวเมืองใหญ่ระดับ 3 (Tier 3 cities) ทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากการประหยัดด้วยผลของการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน (agglomeration effects) อย่างมากมายใกล้เคียงกับพวกเมืองใหญ่ระดับ 1 (Tier 1 cities) เป็นต้นว่า เซินเจิ้น ปักกิ่ง กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งร่ำรวยกว่าและเจริญรุ่งเรืองกว่า หรือแม้กระทั่งพวกเมืองขนาดกลางๆ ในบรรดาเมืองใหญ่ระดับ 2 (mid-ranked Tier 2 cities) อันที่จริงแล้ว จำนวนประชากรในเมืองใหญ่ระดับ 3 กำลังอยูในภาวะลดต่ำลง ระดับราคากำลังตก และห้องว่างบ้านว่างในท้องที่จำนวนมากก็อยู่ในระดับสูง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.china-briefing.com/news/chinas-city-tier-classification-defined/)
มองกันในระดับชาติ อัตราส่วนของจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว กำลังเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงตลาดที่พวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถปิดโครงการอย่างสมบูรณ์แบบได้สืบเนื่องจากขาดแคลนทั้งผู้ซื้อรายสุดท้ายและทั้งเงินทุน
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ประสบปัญหาท้าทายทำนองเดียวกัน การลงทุนในรางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการที่จัดวางเอาไว้ เวลานี้มีฝีก้าวที่ล้ำเกินเลยอัตราเติบโตของจำนวนคนที่ใช้มันเป็นอย่างมาก โดยที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานช่วงหลังๆ นี้ก็รวมศูนย์อยู่ที่พวกเมืองใหญ่ระดับ 3
เวลาเดียวกันนั้น ยอดหนี้สินของพวกรัฐบาลท้องถิ่นได้ทะยานพรวดพราดจากราว 5% ในปี 2006 มาเป็น 30% ในปี 2018 ทั้งนี้แม้กระทั่งเมื่อประมาณการกันแบบอนุรักษนิยมแล้ว พร้อมกันนั้นพวกธนาคารเอกชนระดับภูมิภาคก็มีภาระหนี้สินหนักหนาสาหัส รัฐบาลกลางของจีนย่อมสามารถตัดสินใจลงมือได้เสมอเพื่อช่วยเหลือให้ทุกๆ คนทุกๆ ฝ่ายรอดพ้นจากการล้มละลาย ทว่าการทำเช่นนั้นในขณะที่ต้องคอยประคับประคองอัตราเติบโตของสินเชื่อซึ่งจำเป็นสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้พลังแก่เศรษฐกิจ ย่อมเป็นความท้าทายที่หนักหน่วง
ความมั่งคั่งร่ำรวยของครัวเรือนชาวจีนนั้น รวมศูนย์อยู่ที่อสังหาริมทรัพย์อย่างท่วมท้น กระทั่งว่าปราศจากวิกฤตภาคการเงิน รัฐบาลกลางก็จะถูกบีบบังคับให้ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนเพื่อนำพาเศรษฐกิจของจีนให้ถอยห่างจากการต้องพึ่งพาอาศัยภาคส่วนนี้อยู่นั่นเอง
ปักกิ่งอาจจะใช้อำนาจต่างๆ ที่มีอย่างกว้างขวางของตนไปในการปรับโครงสร้างและในการจัดสรรปันส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียใหม่ อย่างเดียวกับที่ได้เคยทำอย่างมีประสิทธิภาพมาแล้วในอดีต นอกจากนั้น ยังมีนโยบายการคลังหลายๆ อย่างที่สามารถจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ เป็นต้นว่า การเพิ่มการถ่ายโอนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกอบกู้พวกรัฐบาลท้องถิ่นให้พ้นภาวะล้มละลาย หรืออนุญาตให้พวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประกาศจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ –ถึงแม้ว่าอย่างหลังนี้ดูเหมือนยังอยู่นอกเหนือการพิจารณาด้วยเหตุผลทางการเมือง อย่างน้อยก็ในช่วงระยะใกล้ๆ นี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eastasiaforum.org/2023/10/08/has-the-chinese-economy-hit-the-wall/)
รัฐบาลจีนยังสามารถที่จะพยายามปรับเปลี่ยนทิศทางของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไปยังพวกพื้นที่ในเมืองใหญ่ระดับ 3 ซึ่งยังคงมีการลงทุนไม่เพียงพอ เป็นต้นว่า ด้านโรงเรียนและโรงพยาบาล พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่าง 4 ทศวรรษแห่งการเติบโตขยายตัวของตน กระนั้นการรับมือกับปัญหาต่างๆ ชุดนี้ แม้กระทั่งพวกเขาก็จะต้องรู้สึกคร้ามเกรงอยู่ไม่ใช่น้อยๆ เลย
เคนเนธ โรกอฟฟ์ เป็นศาสตราจารย์โธมัส ดี คาบอต ด้านนโยบายสาธารณะ (Thomas D Cabot Professor of Public Policy) และศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมทั้งเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของเครือข่ายวิจัยทางนโยบายว่าด้วยการให้กู้ยืมระหว่างประเทศและหนี้สินภาครัฐ (Research Policy Network on International Lending and Sovereign Debt) ของศูนย์เพื่อการวิจัยนโยบายทางเศรษฐกิจ (Centre for Economic Policy Research หรือ CEPR) เขาเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2001-กันยายน 2003
บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดย อีสต์ เอเชีย ฟอรัม (East Asia Forum) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eastasiaforum.org/2023/12/07/diminishing-returns-on-real-estate-threaten-chinese-economic-growth/